xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์ “ทีวีดิจิตอล” ก่อนออนแอร์

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจ ระดับชาติ หรือเรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “ทีวีดิจิตอล” ซึ่งจัดการประมูลเมื่อวันที่ 26-27 ธ.ค. 56 ที่ผ่านมา ทั้งหมด 24 ใบอนุญาต ยอดเงินรวม 50,862 ล้านบาท

โดยพบว่าผู้เล่นในธุรกิจทีวีดิจิตอลเที่ยวนี้ยังเป็นธุรกิจสื่อโทรทัศน์ โดย บีอีซี-มัลติมีเดีย บริษัทในกลุ่มบีอีซี เวิล์ด ของตระกูลมาลีนนท์ คว้าช่องรายการจากการประมูลมากที่สุดถึง 3 ช่องรายการ ได้แก่ ช่องรายการเด็ก ช่องวาไรตี้ธรรมดา และช่องวาไรตี้ เอชดี ซึ่งเสนอราคาสูงที่สุดในหมวด ทั้ง 3 ช่องรวมวงเงิน 6,471 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่าผู้เสนอราคาสูงที่สุดมีโอกาสเลือกหมายเลขช่องก่อน มีคนเดากันไปว่า บีอีซี มัลติมีเดีย เล็งเลขช่องเอชดีเป็นช่อง 33 เอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม สัมปทานช่อง 3 ที่ทำไว้กับ อสมท. จะหมดอายุในปี 2562 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า เป็นไปได้ว่าเนื้อหาของช่อง 3 จะนำมาออกอากาศช่องเอชดี หรือเอสดีอย่างใดอย่างหนึ่งไปก่อน

รองลงมาคือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี ได้ช่องวาไรตี้เอชดี และ จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี ได้ช่องวาไรตี้ธรรมดา รวงวงเงิน 5,610 ล้านบาท, กลุ่มบริษัททรู ส่งบริษัทลูกอย่าง ทรู ดีทีที ได้ช่องวาไรตี้ธรรมดา และ ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) ได้ช่องข่าว รวมวงเงิน 3,631 ล้านบาท

สำหรับ เครือเนชั่น ประมูลทีวีดิจิตอลเที่ยวนี้แตกออกเป็นสองบริษัท โดยเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ตั้งบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง (สองคำแรกแปลว่ากรุงเทพธุรกิจ อิอิอิ) ได้ช่องวาไรตี้รั้งท้าย และบริษัทย่อยอย่าง เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (เอ็นบีซี) ตั้งบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น ได้ช่องข่าวด้วยราคาสูงสุด รวมวงเงิน 3,538 ล้านบาท

อันที่จริงเครือเนชั่นตั้งใจจะประมูลทีวีดิจิตอล 3 ช่อง โดยยังมีบริษัทย่อยอย่าง เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนต์ (ไนน์) ส่งบริษัท เนชั่น คิดส์ ซึ่งผลิตช่องคิดส์โซนอยู่แล้วเข้าร่วมประมูลช่องรายการเด็ก ปรากฏว่าแพ้ประมูล เพราะบีอีซี มัลติมีเดีย, อสมท. และไทยทีวี ของเครือนิตยสารทีวีพูล คว้าใบอนุญาตไป

(ขออนุญาตนอกเรื่องเล็กน้อย หลังทราบข่าวว่าเครือนิตยสารทีวีพูลได้ช่องรายการเด็กแล้วผมแทบจะตะลึง เพราะผมไม่เคยเห็นทีวีพูลทำรายการเด็กมาก่อนเลย พลันนึกถึงรายการหลังข่าวช่องทหารที่มีสาวสอง-สามคนมาเดินเฉิดฉายจัดรายการ กระทั่งซีรีส์เรื่องดังที่ผมเคยดูนำไปทำล้อเลียนก่อนถูกปลดออกจากผัง เชิญชมได้ที่วีดีโอคลิปด้านล่าง)



รายงานข่าวจาก กสทช. ระบุว่าต่อจากนี้หากไม่มีเรื่องร้องเรียน จะรับรองผลการประมูลได้ใน 15 วัน จากนั้นจะต้องเลือกผู้ให้บริการเช่าโครงข่าย (MUX) เลือกหมายเลขช่อง เตรียมจ่ายเงินก้อนแรก 50% ของราคาตั้งต้น พร้อมวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมในการชำระเงินค่าประมูลในงวดที่ 2

หลายคนคงสงสัยว่าแล้วเราจะได้ดูทีวีดิจิตอลกันเมื่อไหร่ เมื่อดูจากกระบวนการแล้วคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน หรืออย่างช้าต้นเดือนมีนาคม 2556 ช่วงนี้ใครที่อยากดูทีวีดิจิตอลก่อนใคร ถ้ามีเงินหาซื้อกล่องรับทีวีดิจิตอลได้แล้วตามห้างร้านทั่วไป แต่ถ้าอยากได้คูปองในการซื้อกล่องรับทีวีดิจิตอล หรือทีวีเครื่องใหม่จาก กสทช. ก็รออีกสักพัก

เพราะหลังจากที่ กสทช. รับเงินก้อนแรกจากผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว ส่วนหนึ่งจะนำเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด รายได้จากการประมูลประมาณครึ่งหนึ่งจะคืนกลับไปเป็นคูปองในการซื้อกล่องรับทีวีดิจิตอล หรือทีวีเครื่องใหม่แก่ประชาชน 22 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะลดประมาณ 6-7 ร้อยบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้เล่นหลักๆ ในทีวีดิจิตอลเที่ยวนี้คงจะเป็นผู้ประกอบการฟรีทีวี ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจโทรทัศน์ได้อย่างน้อย 15 ปี เพราะอย่างช่อง 7 เดิมจะหมดสัมปทานกับกองทัพบกปี 2566 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า แต่กองทัพบกได้เสนอแผนยกเลิกสัมปทานช่อง 7 ภายใน 5 ปี แลกกับใบอนุญาตโครงข่ายเพิ่มอีก 1 ใบ

ขณะที่ช่อง 9 ครั้งหนึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท. เคยแต่งชุดดำประท้วง กสทช. และผู้บริหาร อันเนื่องมาจากกำหนดให้ต้องเข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิตอล เพราะเป็นธุรกิจสื่อสารมวลชน โดยอ้างว่า อสมท. เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องนำรายได้ส่งกระทรวงการคลัง เช่นเดียวกับ แคท และ ทีโอที เท่ากับต้องเสียเงินแข่งกับเอกชนรายอื่น

แต่การประมูลทีวีดิจิตอลเที่ยวนี้ ช่อง 9 ทุ่มเม็ดเงินประมูลชนะไป 2 ช่อง คือ ช่องเอชดี 3,340 ล้านบาท และช่องรายการเด็ก 660 ล้านบาท รวมวงเงิน 4 พันล้านบาท มากที่สุดเป็นอันดับ 4 แม้พนักงานจะอยู่รอดปลอดภัยไปอีก 15 ปี แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสถานภาพองค์กรในอนาคต หากอีก 15 ปีข้างหน้าจะต้องกลับมาประมูลทีวีดิจิตอลอีกครั้ง

สำหรับผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมที่ได้ใบอนุญาต ส่วนใหญ่จะเป็นการนำคอนเทนต์ที่มีอยู่เดิมมาใส่ในทีวีดิจิตอล สองค่ายใหญ่ๆ อย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็จะเอาช่องรายการจีเอ็มเอ็ม วัน มาออกอากาศ หรือกลุ่มทรูก็จะเอาช่องรายการ ทรู เท็น ที่เจาะตลาดฟรีทูแอร์อยู่แล้ว และช่องข่าว ทีเอ็นเอ็น 24 มาฉายผ่านฟรีทีวีเพิ่ม

ส่วนไทย บรอดคาสติ้ง บริษัทลูกของเวิร์คพอยท์ ก็มีช่องเวิร์คพอยท์ทีวี, อาร์.เอส.เทเลวิชั่น ก็มีทีวีช่อง 8 ที่ออกอากาศจนติดตลาดทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีมานานกว่า 2 ปี, อมรินทร์ เทเลวิชั่น ก็มีช่องอมรินทร์ แอคทีฟ ทีวี, โมโน บรอดคาซท์ ก็มีช่องโมโนทีวี, บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง ก็มีช่อง พีพีทีวี และคอนเทนต์ภาษาอังกฤษอิน แชนแนล

ยิ่งเป็นช่องข่าวก็แทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะผู้ประกอบการ 5 ใน 7 ราย ได้แก่ เนชั่น วอยซ์ทีวี สปริงนิวส์ ทีเอ็นเอ็น 24 และ เดลินิวส์ทีวี ต่างก็มีช่องข่าวเป็นของตัวเองอยู่แล้ว คงนำเนื้อหาของช่องดาวเทียมขึ้นมาฉายบนระบบฟรีทีวีทันที โดยอาจจะเปลี่ยนผังรายการเล็กน้อยให้มีสัดส่วนรายการข่าวและสาระร้อยละ 50 ต่อ 50 ตามกฎของ กสทช.

แต่ที่ดูเหมือนจะคึกคักมากที่สุด หลังจากตีปี๊บระดมทุนกันมาระยะหนึ่งก็คือ เครือเนชั่น แม้จะมีประสบการณ์ทำทีวีมาตั้งแต่ผลิตรายการเนชั่นนิวส์ทอล์ค เข้ามาบริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี กระทั่งออกมาทำช่องเนชั่น แชนแนล แต่ในยุคหนึ่งทีวีดาวเทียมเจริญรุ่งเรืองมากเหมือนอสังหาริมทรัพย์ที่มีฟองสบู่ เครือเนชั่นได้เคยทำช่องวาไรตี้มาก่อน คือ แมงโก้ทีวี

โดยแมงโก้ทีวีเป็นการผลิตรายการระหว่างเครือเนชั่น ที่เน้นผลิตรายการข่าวบันเทิง กับพันธมิตรผู้ร่วมผลิตรายการประมาณ 30 ราย ซึ่งคาดหวังว่าผู้ผลิตรายการร่วมมีฐานของแฟนประจำอยู่ก่อนแล้วจึงน่าจะขายโฆษณาได้ ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ จึงกลายมาเป็นคมชัดลึกทีวี โดยนำช่องระวังภัย ซึ่งเป็นช่องข่าวอาชญากรรมมารวมกัน

ล่าสุด คมชัดลึกทีวี ซึ่งออกอากาศผ่านดาวเทียมแทนช่องระวังภัยเดิม ได้ยุติการแพร่สัญญาณภาพและออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลเนชั่นทีวีในเร็วๆ นี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ เครือเนชั่นจะหาพันธมิตรผู้ร่วมผลิตรายการเดิมมาทำช่องวาไรตี้ด้วยกันได้ไม่ยาก

สำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ที่ถูกจับตามองจากกลุ่มธุรกิจทีวีก็คือ ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ หรือ ไทยรัฐทีวี ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หลังจากที่ซุ่มเงียบมานานปีกว่า ใช้เงินลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ล่าสุด จูเนียร์-วัชร วัชรพล ซีอีโอไทยรัฐทีวีเปิดเผยว่า ขณะนี้มีความพร้อมระดับหนึ่ง สามารถออกอากาศได้ แต่คุณภาพยังไม่ถึงระดับที่คาดหวังไว้

ไทยรัฐทีวีได้วางโครงสร้างโดยสามพี่น้องตระกูลวัชรพล โดยจูเนียร์ดูแลฝ่ายเทคนิค รายการข่าว สายงานผลิตและโปรดักชั่นทั้งหมด ร่วมกับ นิค-จิตสุภา วัชรพล น้องสาว ดูแลสายงานกลยุทธ์และการตลาด คุมเกี่ยวกับการตลาด, การขาย, การพัฒนาธุรกิจ, การพัฒนาคอนเทนต์ทีวีกับออนไลน์ และดูแลผังช่อง มีลูกน้อง 20 กว่าคน

ขณะที่น้องสาวอย่าง แนท-ธนวลัย วัชรพล จะช่วยติดต่อประสานงานกับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ และเลือกซื้อรายการจากต่างประเทศ โดยได้พันธมิตรร่วมผลิตรายการกับไทยรัฐทีวี คือ กันตนา, ทีวี ธันเดอร์, เจเอสแอล และที่ขาดไม่ได้คือ โพลีพลัส ของบอสนิด-อรพรรณ วัชรพล ภรรยาของสราวุธ วัชรพล เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ที่ดูแปลกหูขึ้นไปอีกก็คือ สโลแกนของไทยรัฐทีวี ซึ่งมี ยิ่งลักษณ์ วัชรพล ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นคนคิดให้ คือ “เช้าอ่านไทยรัฐ...เย็นดูไทยรัฐ” เพราะเลือกนำเสนอข่าวในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม สวนทางกับช่องอื่นๆ รูปแบบของข่าวก็จะเป็นสไตล์นิวส์โชว์ เน้นความรู้ลึกรู้จริง แต่ผู้ชมคาดเดาได้ยาก

นอกจากไทยรัฐทีวีจะมีอดีตคนข่าวสปริงนิวส์อย่าง “บังซัน-ฉัตรชัย ตะวันธรงค์” และหลานชายอย่าง “ระวี ตะวันธรงค์” แล้ว ทราบว่ายังมี “ป๋าต๋อย-ประณต วิเลปสุวรรณ” อดีตบรรณาธิการข่าวเนชั่นแชนแนล มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง มาวันนี้ได้ย้ายข้ามห้วยจากบางนาไปยังวิภาวดีรังสิตแล้ว และทราบมาว่าในช่วงนี้เนชั่นทีวีมีคนลาออกไปนับสิบคน

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการหลายแห่งประกาศรับสมัครงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ ไทยรัฐทีวี เดลินิวส์ทีวี เนชั่นทีวี ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่มีทั้งสายงานเทคนิค สำหรับคนที่จบจากสายนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ สาขาวิทยุ-โทรทัศน์ และสายงานการตลาด ใครที่มีประสบการณ์สูงก็ได้เวลาอัพเกรดค่าตัวกันอีกรอบ

แต่ผู้เล่นหน้าใหม่ที่ข้ามห้วยมาทำธุรกิจสื่อ คือ บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง ของ กลุ่มปราสาททองโอสถ เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ และเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ก่อนหน้านี้เคยทำช่องภาษาอังกฤษ อิน แชนแนล ทางทรูวิชั่นส์ โดยดึง ม.ล.นันทิกา วรวรรณ ผอ.ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ บางกอกแอร์เวย์มาดูแล

จากนั้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 กลุ่มปราสาททองโอสถได้เปิดตัวช่องฟรีทูแอร์ พีพีทีวี โดยบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดึงทีมงานและคอนเทนต์บางส่วนจากอิน แชนแนลมาออกอากาศ ร่วมกับคอนเทนต์จากช่องแอปปิ้ลแชนแนล ของวีอาร์วัน กรุ๊ป และซื้อรายการบันเทิงจากประเทศเกาหลี

ขณะที่ผู้เล่นจากผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ คือ 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง ผู้ผลิตรายการข่าว 5 หน้า 1 และบันเทิง 5 หน้า 1 ทางช่อง 5 ของ สมชาย-เบญจวรรณ รังษีธนานนท์ ไม่เคยทำช่องข่าวเต็มรูปแบบมาก่อน แม้จะได้อดีตคนข่าวไอทีวีอย่าง วรวีร์ วูวนิช มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการสายงานผลิตก็ตาม แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร

ส่วนผู้เล่นที่มาจากธุรกิจสื่อบันเทิงอย่าง ไทยทีวี บริษัทในเครือ โน้ต พับลิชชิ่ง ซึ่งได้ช่องข่าวและช่องเด็ก แม้จะมองไม่ออกว่า “เจ๊ติ๋ม-พรรทิภา สกุลชัย” จะทำช่องข่าวออกมาอย่างไร แต่ที่ผ่านมาเคยขายแพ็กเกจรายการทีวีที่น่าสนใจไปยังต่างประเทศ จึงหาพันธมิตรร่วมผลิตช่องข่าวได้ไม่ยาก หรือหากจะผลิตช่องข่าวเองก็มีเงินทุนแบบถึงๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทที่แพ้ประมูลเที่ยวนี้ไม่น่าจะกระทบเท่าใดนัก เช่น กลุ่มอินทัช ที่ประมูลทั้งช่องรายการเด็กและวาไรตี้ แต่พลาดหมด ก็ยังเป็นเจ้าของดาวเทียมไทยคม มีดีทีวีซึ่งเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมและผลิตคอนเทนต์เป็นบริษัทในเครือ รวมทั้งยังมีสายสัมพันธ์กับ วอยซ์ทีวี ซึ่งมีรายการบันเทิงบางรายการไปออกช่องดีทีวี

หรือจะเป็น โพสต์ทีวี ของ เครือบางกอกโพสต์ ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมผลิตรายการข่าวกับช่อง 11 มาก่อน แม้จะไม่ได้ช่องข่าว แต่ก็ยังร่วมผลิตรายการข่าวให้กับทีวีดาวเทียมบางช่อง เช่น รายการกระชับวงข่าวทางช่องทีเอ็นเอ็น 24 เป็นไปได้ว่าเครือบางกอกโพสต์อาจได้เป็นพันธมิตรร่วมผลิตรายการข่าวในทีวีดิจิตอลช่องใดช่องหนึ่งก็เป็นได้

และผมมองว่า การเป็นผู้ร่วมผลิตรายการ เจ็บตัวน้อยกว่า การเป็นเจ้าของช่องรายการ เพราะวัดกันที่เรตติ้ง ไม่ได้ก้าวล่วงไปถึงต้นทุนที่ต้องจ่าย ซึ่งการทำคอนเทนต์ให้ออกมาดี เป็นที่ตอบรับของผู้ชม หาโฆษณาได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เป็นสิ่งที่ยาก แต่น้อยกว่าการได้ใบอนุญาตเป็นเจ้าของช่องโทรทัศน์

ขณะที่บริษัท ไอ-สปอร์ต ของเครือสยามกีฬากับสามารถ-ไอโมบาย แม้จะไม่ได้ช่องข่าวตามที่หวัง ก็ยังมีช่องรายการทางทรูวิชั่นส์ 3 ช่อง ซึ่งทรูวิชั่นส์ต้องการรักษาคอนเทนต์สำหรับคอกีฬาเอาไว้ หลังพลาดลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไปให้ ซีทีเอช ของกลุ่มหนังสือพิมพ์ไทยรัฐร่วมกับวิชัย ทองแตง นอกจากนี้ยังมีช่องฟรีทูแอร์อย่าง เอสเอ็มเอ็มทีวี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองตามมาก็คือ ถึงจะได้รับใบอนุญาตแล้ว แม้จะมีปัญญาจ่ายค่าใบอนุญาตในช่วงแรกๆ จากการระดมทุน ซึ่งจะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทั้งหมดภายใน 6 ปี (ไม่ใช่ 15 ปีอย่างที่เข้าใจกัน) แต่การหารายได้จากค่าโฆษณาเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดเป็นเรื่องลำบากยิ่งกว่า เพราะคราวนี้มีคู่แข่งมากถึง 24 ช่อง

ไม่นับรวมทีวีดาวเทียม โดยเฉพาะทีวีการเมืองอย่างบลูสกาย เอเชียอัปเดต และสถานีข่าวทางเลือกอย่างเอเอสทีวี ซึ่งมีฐานผู้ชมอยู่แล้ว และช่องรายการในกล่องรับสัญญาณแต่ละยี่ห้อ อย่าง ทรูวิชั่นส์ จีเอ็มเอ็มแซท พีเอสไอ ไอพีเอ็ม ซึ่งทราบว่าจานรับสัญญาณดาวเทียมเคยขายได้ในช่วงปลายปี 2556 เพราะการชุมนุมของ กปปส. โดยไม่รอทีวีดิจิตอล

นอกจากค่าใบอนุญาตที่ต้องจ่ายทั้งหมดภายใน 6 ปีแล้ว ยังมีค่าบริการโครงข่าย (MUX) เพื่อส่งสัญญาณไปยังต่างจังหวัด ซึ่งมีผู้ประกอบการอย่างไทยพีบีเอสซึ่งถูกที่สุด รองลงมาคือกรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก และ อสมท. ซึ่งแพงที่สุด โดยความคมชัดปกติเสียค่าใช้จ่าย 4.60-4.76 ล้านบาทต่อเดือน และเอชดี 13.81-14.28 ล้านบาทต่อเดือน

และตามกฎ Must Carry ของ กสทช. ยังต้องจ่ายค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมไทยคม ทั้งซีแบนด์และเคยูแบนด์ รวม 2 ล้านบาทต่อเดือน และเมื่อมีรายได้ก็ต้องจ่ายให้ กสทช. อีกร้อยละ 4 ซึ่งร้อยละ 2 จ่ายให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส.

เพราะฉะนั้นเวลานี้ใครสังเกตหุ้นในกลุ่มธุรกิจบันเทิง จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาหลังการประมูลทีวีดิจิตอลราคาตกกันระนาว หลังทราบผลการประมูลทีวีดิจิตอลจากความกังวลเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างเวิร์คพอยท์ (WORK) หุ้นร่วงไป 6% เพราะมีโอกาสที่จะขาดทุนในช่วง 1-2 ปีแรก ส่วนเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) ก็อ่อนตัวลงไม่แพ้กัน

จะมีก็แต่อาร์เอสที่นักลงทุนมองว่าจะมีกำไรจากลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 ส่วน บีอีซี เวิล์ด มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ไม่มีปัญหาด้านเงินทุน เพราะมีกำไรจากการดำเนินงานจริงๆ กว่า 8 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการที่มีคอนเทนต์แข็งแกร่ง และบุคลากรเพียงพอ จะได้เปรียบในการแข่งขัน และ มีแนวโน้มที่จะสามารถเริ่มทำกำไรได้เร็วกว่า

ครั้งหนึ่งผมนั่งกินข้าวกับ คุณวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ คุยเรื่องนี้ก็กล่าวว่า ถึงที่สุดคอนเทนต์ก็สำคัญกว่าช่องทางการออกอากาศ แม้ผู้ประกอบการจะได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลไปแล้ว ถึงช่วงหนึ่งก็จะเกิดการขาดแคลนคอนเทนต์ขึ้นมา พร้อมกับตั้งคำถามว่า แล้วจะเอาอะไรไปออก?

หลังจากวันนั้น ผมก็คิดต่อว่า ถึงจะมีคอนเทนต์ แต่ก็ต้องลุ้นกันว่าเป็นที่โดนใจผู้ชมหรือไม่ เพราะเท่ากับว่าเป็นรายได้ที่จะนำมาหล่อเลี้ยงในสถานี เอาเฉพาะรายการข่าว ทุกวันนี้รายการคุยข่าว เล่าข่าว ตั้งแต่ต้นตำรับอย่างช่อง 3 สรยุทธ์ ลามมาถึงฟรีทีวีทุกช่อง แม้แต่ทีวีดาวเทียม ทุกวันนี้เปิดทีวีไปแล้วเราจะเห็นแต่รายการคุยข่าว มากกว่ารายงานข่าว

ในเมื่อการประมูลทีวีดิจิตอลกลัดกระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว แทนที่จะประมูลแบบบิวตี้คอนเทสต์ ประชันกันที่เนื้อหา กลายเป็นการประมูลกันที่เม็ดเงิน ใครทุ่มเงินสู้ราคาประมูลมากก็ได้ใบอนุญาต ผมรู้สึกสังหรณ์ใจจริงๆ ว่าการแข่งขันทีวีดิจิตอล 24 ช่อง จะต้องมีช่องใดช่องหนึ่งล้มหายตายจาก ไม่ต่างจากไอทีวีที่สู้ค่าสัมปทานไม่ไหว

และผลจากการแข่งขันด้านเม็ดเงินนี่เอง หากการเรียกเรตติ้งยังมีแต่เนื้อหาไม่ต่างจากฟรีทีวีปัจจุบัน ซึ่งมีแต่ละครตบตีกัน รายการดีๆ ขายไม่ได้หรือไม่มีคนดู ผมก็คงได้แต่คิดว่า ถึงระบบออกอากาศจะเปลี่ยนจากอะนาล็อกเป็นดิจิตอล แต่เนื้อหาไม่เปลี่ยน เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แล้วผลที่สุดทีวีดิจิตอลจะให้ปัญญากับคนดูมากน้อยขนาดไหน

กสทช. คงตอบไม่ได้หรอก เอาแค่ปัญหาคาราคาซังอย่างละครที่มีเนื้อหารุนแรง กับการเซ็นเซอร์ตัวเองของช่อง 3 เช่นละครเหนือเมฆ ก็แก้ไขปัญหาเยียวยาผู้ชมไม่ได้ มาวันนี้กำลังจะมีทีวีดิจิตอลภาคธุรกิจ 24 ช่อง ถึงจะออกกฎระเบียบสักกระดาษหนึ่งรีมแล้วจะทำได้จริงขนาดไหน

คนดูทีวีอย่างผมก็ได้แต่ทำใจล่ะครับ...


กำลังโหลดความคิดเห็น