xs
xsm
sm
md
lg

“อุดรธานี” เมืองหลวงเสื้อแดงกับความเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เป็นสนามบินที่ใช้ร่วมกันระหว่างกรมการบินพลเรือน กับกองบิน 23 กองทัพอากาศ ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 5 กิโลเมตร แต่เนื่องจากที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง จึงนับว่าเป็นสนามบินใจกลางเมืองไปโดยปริยาย ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยราว 2,000 คนต่อวัน โดยมีทั้งจากจังหวัดในภาคอีสาน และชาวลาวที่ข้ามฝั่งมาขึ้นเครื่องที่นี่เพราะค่าโดยสารถูกกว่า มีสายการบินมากกว่า
“อยากพาทัวร์เมืองหลวงเสื้อแดงจะแย่อยู่แล้วนะ...”

ข้อความที่เพื่อนชาวอุดรธานีในทวิตเตอร์บ่นกับผมเมื่อนานมาแล้ว ผมก็รับปากว่าถ้าแอร์เอเชียมีโปรโมชั่นลดราคาแล้วจะบินไปหาที่อุดรธานี จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงของคนเสื้อแดง” โดยผู้มากบารมีอย่าง “ขวัญชัย ไพรพนา” แกนนำชมรมคนรักอุดร เจ้าของสถานีวิทยุชุมชนที่มีฐานเสียงคนเสื้อแดงจำนวนมาก

ผมรู้จักเพื่อนรุ่นน้องชาวอุดรธานีคนหนึ่ง ปัจจุบันเรียนปริญญาโทนิติศาสตร์ มักจะแชร์เรื่องราวในอุดรธานีในเฟซบุ๊กบ่อยครั้ง ในช่วงการชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 เคยพาผมทานข้าวกับอาจารย์ที่ลงมาร่วมชุมนุม มื้อนั้นมีน้ำพริกอะไรสักอย่างผสมปลาร้าปรุงสุก ทานกับข้าวเหนียวซึ่งอร่อยมาก อาจารย์ยังบอกว่าเป็นสินค้าที่ขายในสนามบินด้วย

นับตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ที่ผมซื้อตั๋วราคาโปรโมชั่น จ่ายเฉพาะค่ารูดบัตรเครดิตและภาษีสนามบินสามร้อยกว่าบาท แปดเดือนผ่านไปก็พาตัวเองมาถึงอุดรธานีตามเสียงเรียกร้องของเพื่อนในทวิตเตอร์เสียที แม้ที่บ้านจะซักถามเสมือนไม่อยากให้ไป ไม่อยากให้ไปเจอคนแปลกหน้า แต่ก็พยายามอธิบายว่าไปอยู่ที่โน่นจะทำตัวโลว์โปร์ไฟล์ให้มากที่สุด

ผมมาถึงสนามบินอุดรธานีในช่วงเที่ยงวัน ก่อนเครื่องบินจะลงจอดสังเกตเห็นตึกรามบ้านช่องเป็นหย่อมๆ นับว่าเมืองนี้เดินทางไปไหนมาไหนง่าย เพราะมีรถสองแถวประจำทางหลายสิบสายให้บริการ แต่ผมพลาดตรงที่เดินออกมาหน้าสนามบินแล้วไม่มีรถสองแถวผ่าน ต้องเดินไปถึงสี่แยกไฟแดง ถึงจะเห็นรถสองแถวสาย 15 สีน้ำตาลเรียงกันเป็นคิว

ในที่สุดเมื่อมาถึงโรงแรมที่พัก จัดการสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ผมก็ไปพบเพื่อนในทวิตเตอร์ตัวจริง เป็นข้าราชการหนุ่มวัยสามสิบต้นๆ และรุ่นน้องวัยยี่สิบต้นๆ ทำงานฟรีแลนซ์ด้านไอที ทั้งสองจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีเหมือนกัน และรู้จักกันมานานแล้ว คราวนี้เขาอาสาพาทัวร์เมืองหลวงเสื้อแดงด้วยตัวเองตลอด 2 วัน 1 คืนที่มาเยือนที่นี่

ระหว่างที่ผมกำลังนั่งรถชมเมือง สิ่งหนึ่งที่ทำให้ความคิดของผมซึ่งมองว่า อุดรธานีเป็นเมืองหลวงเสื้อแดงที่เจริญอย่างยิ่งใหญ่นั้นต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะข้าราชการหนุ่มเปรยกับผมว่า “ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งจังหวัด ดึงงบเข้ามาพัฒนาจังหวัดไม่ได้ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นอย่างขอนแก่น”

เขากล่าวว่า เวลามีงบประมาณก็เอามาให้ขอนแก่นทั้งหมด ยกตัวอย่างถนนเลี่ยงเมืองขอนแก่น ซึ่งอ้อมและเปลี่ยวมาก กลางคืนไม่มีใครใช้ แต่ที่อุดรธานีแม้แต่ถนนชำรุดทรุดโทรมก็ไม่มีการซ่อมแซม ที่สำคัญเวลาแบ่งกลุ่มจังหวัด อย่างกลุ่มอีสานกลางมีขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ปรากฎว่างบประมาณก็ไปลงที่ขอนแก่นหมด

ช่วงที่ผมอยู่อุดรธานีพวกเราคุยกันเรื่องความเหลื่อมล้ำเยอะมาก สอดคล้องกับสิ่งที่ผมเห็นด้วยตาเปล่าก็คือ สภาพถนนในเขตเทศบาลนครอุดรธานี นอกจากการจราจรจะติดขัดในช่วงเย็นแล้ว ถนนยังมีสภาพเก่า ผิวจราจรไม่เรียบ เทียบกับจังหวัดอื่นที่ป่านนี้ราดยางมะตอยทับและตีเส้นจราจรสวยงามหมดแล้ว

ผมถามว่านายกเทศมนตรีของที่นี่เป็นใคร ได้คำตอบว่าเป็น คุณอิทธิพนธ์ ตรีวัตนสุวรรณ ซึ่งมีแนวคิดต่างจากนักการเมืองในพื้นที่ แต่เมื่อมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสายตรงของคนเสื้อแดง ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งจังหวัด และนายก อบจ.อุดรธานีอย่าง วิเชียร ขาวขำ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ล้วนมาจากฐานเสียงคนเสื้อแดง เวลาทำงานจึงต้องปรับตัว

เมื่อออกไปนอกเมือง อย่างถนนสายอุดรธานี-หนองหาน ที่จะไปมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์สามพร้าว ปรากฏว่าตลอดเส้นทางเป็นถนนลาดยาง สภาพเก่าเป็นคอขวด ซึ่งข้าราชการหนุ่มอธิบายราวกับบ่นว่า เป็นเพราะสำนักทางหลวงอยู่ที่ขอนแก่น ที่อุดรธานีมีแต่แขวงการทาง งบประมาณทำถนนจึงตกไปอยู่ขอนแก่นทั้งหมด

เขากล่าวว่า ในขณะที่ขอนแก่นมีอุโมงค์ทางลอด มีถนนวงแหวนที่สร้างให้ควายเดิน แต่ที่อุดรธานีอย่าว่าแต่ถนนวงแหวนยังไม่มีเลย ถนนมิตรภาพรอบเมืองแค่ 4 เลนก็ยังไม่ขยับขยาย การจราจรติดขัดทุกวัน สะพานข้ามแยกก็มีเพียงแค่สี่แยกสันติพล ถนนนิตโยข้ามถนนมิตรภาพแห่งเดียวเท่านั้น แถมใช้เวลาก่อสร้างเจ็ดชั่วโคตรเพราะเจอผู้รับเหมาทิ้งงานอีก

ส่วนรุ่นน้องที่นั่งรถด้วยกันก็กล่าวเสริมว่า นักการเมืองต้องการให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบน เช่นศูนย์ข่าวช่อง 11, มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งแต่ก่อนอะไรๆ ก็จะอยู่ที่ขอนแก่น จังหวัดรอบข้างยังไม่เจริญ อย่างอุดรธานี หนองคาย สกลนคร หรือจังหวัดรอบข้างขอนแก่นต้องคอยรอจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางของภาค คือขอนแก่นอีกที

เวลาจังหวัดขอนแก่นทำเรื่องของบประมาณ ก็มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นสนับสนุนการวิจัย มีนักวิชาการวิเคราะห์ออกแบบโครงการ เมื่อก่อนอุดรธานีก็เคยร้องขอให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษา ซึ่งบางทีนักวิชาการพวกนี้ไม่ได้มาสัมผัสเมืองอุดรธานีอย่างแท้จริง แต่ถึงกระนั้น อุดรธานีที่โตได้ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุน

“อุดรธานีเจริญได้ก็เพราะเอกชน” ข้าราชการหนุ่มกล่าวย้ำกับผม

ความเจริญของอุดรธานีเห็นได้ชัดจากการที่เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมในภาคอีสาน เพราะมีสนามบินนานาชาติอุดรธานี ชาวเวียงจันทน์ที่ต้องไปติดต่อธุระหรือท่องเที่ยวนิยมมาขึ้นเครื่องที่อุดรธานีเพราะค่าโดยสารถูกกว่า มีสายการบินในไทยให้บริการเกือบครบทุกเจ้า ทั้งการบินไทยสไมล์ ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ และกำลังจะมีบางกอกแอร์เวยส์

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก ทั้งจากส่วนกลางและค้าปลีกข้ามชาติก็มาตั้งสาขาในอุดรธานีเช่นกัน อย่างเครือเซ็นทรัลพัฒนาที่ซื้อกิจการโรงแรมและศูนย์การค้าจากกลุ่มอุดรเจริญศรี ของตระกูลทีฆธนานนท์ รีโนเวตใหม่เป็น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า และโรงแรมเซ็นทารา อุดรธานี ซึ่งมีจุดขายที่ตัวอาคารโดดเด่น บริเวณถนนประจักษ์ศิลปาคม

ถัดมาก็จะเป็นยูดี ทาวน์ ถนนทองใหญ่ ใกล้กับสถานีรถไฟอุดรธานี เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ทั้งสองกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เจ้าของตัวจริงคือ พินิจ จารุสมบัติ แกนนำกลุ่มวังพญานาค แต่มี ธนกร วีรชาติยานุกูล เป็นผู้บริหาร เช่าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 30 ปี มีเทสโก้ โลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นแมกเนต

นอกจากนี้ ยังมีห้างที่รีโนเวตใหม่ เฉกเช่น แลนด์มาร์ค พลาซ่า ซึ่งปรับปรุงจากตึกคอม อุดรธานีเดิม โดยมีวิลล่ามาร์เก็ต และโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีนีม่าซิตี้ เป็นแมกเนต รวมทั้งยังมีห้างอื่นๆ เช่น ไอทีเนวาด้า ห้างค้าปลีกทั้งเทสโก้ โลตัสและบิ๊กซีที่มีถึง 2 สาขา โฮมโปร ไทวัสดุ โกลบอลเฮ้าส์ อินเด็กซ์ลีฟวิ่งมอลล์ บริเวณถนนมิตรภาพวงแหวนรอบเมือง

ผมเข้าไปสัมผัสยูดีทาวน์ครั้งแรกในชีวิต ยอมรับว่าเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่กว้างมาก เพราะส่วนใหญ่แต่ละร้านตั้งแบบสแตนด์อะโลนเดี่ยวๆ มีทางเดินด้านใน ที่นี่เจ้าของชาเขียวดังอย่าง คุณตัน ภาสกรนที ก็มาเปิดร้านตันตัน อิซากายะบุฟเฟ่ต์ และร้านเมลมี ซึ่งลูกค้าแน่นพอสมควร และยังมีแมคโดนัลด์ ไดร์ฟทรู 24 ชั่วโมงด้านหน้าห้างอีกด้วย

ข้าราชการหนุ่มบอกกับผมว่า ไลฟ์สไตล์ของคนที่นี่คือ ช่วงกลางวันคนจะเดินเซ็นทรัลกันเยอะที่สุด นักเรียน นักศึกษาหลังเลิกเรียนจะนัดเจอกันที่นั่น ตกเย็นถึงกลางคืนจะนิยมเดินยูดีทาวน์ เพราะมีร้านค้าและอาหารมากมาย ด้านข้างเป็นตลาดกลางคืนและไนท์บาร์ซ่า ส่วนแลนด์มาร์คพลาซ่าซึ่งมีสินค้าไอทีจะนิยมเดินกันช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

ระหว่างสั่งอาหารรับประทานพร้อมกับข้าราชการหนุ่มและรุ่นน้องจากทวิตเตอร์ มองเห็นโรงพยาบาลที่อยู่ตรงหน้า คือโรงพยาบาลกรุงเทพอุดร ซึ่งเทคโอเวอร์มาจากโรงพยาบาลปัญญาเวชอินเตอร์เนชั่นแนล แข่งกับโรงพยาบาลเจ้าถิ่นอย่างโรงพยาบาลเอกอุดร และโรงพยาบาลนอร์ท อีสเทิร์น วัฒนาอุดรธานี ซึ่งที่นี่มีโรงพยาบาลเอกชนนับสิบแห่ง

ไม่นับรวมคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะแบรนด์จากส่วนกลางเข้ามาเปิดโครงการอย่างไม่ขาดสาย ทั้งซีพีแลนด์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เอพี ลุมพินี แสนสิริ ลงมาแข่งกับทุนท้องถิ่นในทำเลใจกลางเมือง ถึงกระนั้นข้าราชการหนุ่มเล่าให้ฟังว่าข้อจำกัดของเมืองอุดรธานีคือสร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 14 ชั้น เนื่องจากใกล้สนามบินและพื้นที่ของกองทัพอากาศ

แต่จากความเจริญที่พบเห็น ก็มีเสียงสะท้อนจากสื่อมวลชนในพื้นที่ บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ข่าวท้องถิ่น ได้กล่าวถึงการเจริญเติบโตของเมืองอุดรธานีจนภาคท้องถิ่น ราชการ และประชาสังคมไม่สามารถปรับตัวได้ทัน การแก้ปัญหามุ่งไปที่การใช้งบประมาณทำโครงการอย่างไม่มีแบบแผน ไร้ทิศทาง เชื่อว่าอาจทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก

ขณะที่คอลัมน์สังคมระบุว่า “การเมืองในพื้นที่อุดรธานียังคงเป็นไปในรูปแบบเดิมๆ ความคิดเดิมๆ ที่ประชาชนตัดสินกันที่จำนวนค่าน้ำใจว่าใครให้มากกว่าก็เลือกคนนั้น แต่ก็มีเรื่องของการเลือกข้างเลือกสีเข้ามามีบทบาท แม้จะเป็นฐานใหญ่ของเสื้อแดง แต่ก็เป็นแค่นอกเมือง ส่วนในเขตไข่แดง พื้นที่เขตเทศบาลนครอุดรธานีบารมีคนเสื้อแดงยังเข้าไม่ถึง

แม้จะยึดกุมพื้นที่จังหวัดอุดรธานีจากการที่วิเชียร ขาวขำ ชิงตำแหน่งนายก อบจ.มาจาก หาญชัย ทีฆธนานนท์ มาได้ก็ตาม แต่บทบาทของนายก อบจ.ก็ยังไม่โดดเด่นเท่านายกเทศมนตรีนครอุดรธานี เพราะเทศบาลนครอุดรธานีเปรียบเหมือนเมืองหลวงของจังหวัด เป็นเป้าหมายสูงสุดที่คนเสื้อแดงต้องยึดมาให้ได้

ถึงกระนั้น ตำแหน่งนี้ก็เป็นเขตเลือกตั้งที่หินสุดๆ ไม่ใช่แค่เงินแล้วจะชนะได้ ไม่ใช่อำนาจเท่านั้นที่จะมาโค่นคนเดิมลงได้ แต่เป็นความผูกพันที่ฝังรากลึก ทั้งในกลุ่มพ่อค้าคหบดี และประชาชนในชุมชนต่างๆ หากเสื้อแดงต้องการยึดกุมตำแหน่งนี้ ต้องหาคนที่เปรียบเสมือนตัวแทนของคนเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย”

ความเหลื่อมล้ำในอุดรธานี พลันให้นึกถึงช่วงหนึ่งที่เรามีนายกรัฐมนตรีชื่อ บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย (ในยุคนั้น) ปรากฏว่ายุคนั้นเป็นที่โจษจันว่างบประมาณมักนำมาลงที่สุพรรณบุรีบ้านเกิด มีทั้งหอคอยบรรหาร-แจ่มใส ถนนสายสุพรรณบุรีที่ราบเรียบ ถนนในหมู่บ้านลาดยางแทบทุกเส้น เป็นที่อิจฉาของคนจังหวัดอื่น

ทุกวันนี้ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อพรรคชาติไทยพัฒนาได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เคยกักเก็บน้ำให้ชาวนาภาคกลางทำนา แต่เจอพายุเข้าต้องรีบปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ที่สุดก็ท่วมภาคกลางถึงกรุงเทพฯ เสียหายประเมินค่าไม่ได้ และเป็นที่โจษจันว่าพยายามไม่ให้น้ำท่วมสุพรรณบุรี จนเป็นจังหวัดเสียหายน้อยที่สุด

อีกด้านหนึ่ง พรรคชาติไทยพัฒนา ยังคุมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สังเกตได้ว่าอีเวนท์ใหญ่ๆ มักจะถูกดึงลงมาที่จังหวัดสุพรรณบุรี อย่างเทศกาลตรุษจีนมังกรสวรรค์ที่เกิดพลุระเบิดสนั่นหวั่นไหว ก็ใช้งบการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนับล้าน ขณะที่จังหวัดอื่นกลับได้น้อยลง อย่างประเพณีแห่เทียนพรรษาที่อุบลราชธานีก็เหลือแค่สามแสนบาทเท่านั้น

ล่าสุดในปีงบประมาณ 2557 พบว่ามีการตั้งงบประมาณให้จังหวัดสุพรรณบุรีหลายรายการ โดยเฉพาะการนำสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ลงดินจากสี่แยกแขวงการทางถึงหน้าเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี 120 ล้านบาท ซึ่งน่ากังขาว่าใช่หน้าที่ของกระทรวงหรือไม่ และการก่อสร้างศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการแห่งชาติ 170 ล้านบาท ทำไมต้องก่อสร้างในสุพรรณบุรี

ที่น่าสนใจคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เคยระบุไว้ใน “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ซึ่งมิได้จัดทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท

หากจัดทำตามคำขอของหน่วยราชการที่กำหนดขึ้นโดยภารกิจของรัฐ เป็นการจัดสรรงบประมาณที่ใช้กรมเป็นฐาน มิได้ใช้พื้นที่หรือจังหวัดเป็นฐาน กรมที่ได้รับงบประมาณไปก็คำนึงถึงภารกิจของตน มิได้คำนึงถึงความต้องการของประชาชน ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณางบประมาณและมิได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้งบประมาณ

เรื่องงบประมาณที่จังหวัดนี้ได้น้อยกว่า อีกจังหวัดหนึ่งได้มากกว่า ผมคงไม่อยากจะโทษคนอุดรธานี หรือคนขอนแก่น คนสุพรรณบุรีที่ขออภัยหากพาดพิงถึง หากแต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือการกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น ที่มีนักการเมืองทั้งในระดับชาติ และระดับกลุ่มจังหวัดด้วยกันพยายามช่วงชิงงบประมาณผ่านการทำโครงการต่างๆ

แต่ประโยคที่ว่า “อุดรธานีเจริญได้ก็เพราะเอกชน” น่าจะเป็นแบบอย่างให้จังหวัดอื่นมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง เพราะความเจริญและการพัฒนาที่เกิดจากศักยภาพที่มีอยู่ของจังหวัด ย่อมเป็นความภาคภูมิใจที่คนอุดรธานีสร้างเมืองให้เจริญขึ้นโดยพึ่งพารัฐน้อยที่สุด และอาจนำไปสู่การเรียกร้องขอจัดการตนเองในอนาคต
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า อุดรธานี เปิดให้บริการเมื่อเดือนมีนาคม 2555 หลังจากที่เครือเซ็นทรัลพัฒนาได้ซื้อกิจการศูนย์การค้าและโรงแรมระดับ 4 ดาวจากกลุ่มอุดรเจริญศรี ของตระกูลทีฆธนานนท์ เจ้าของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ตลาดสด และอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภาคอีสาน เป็นจำนวนกว่า 5 พันล้านบาท นับเป็นศูนย์การค้าและโรงแรมใหญ่ที่สุดในอุดรธานี
อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ริเริ่มก่อตั้งจังหวัดอุดรธานี จากที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้ง ในปี พ.ศ. 2436 จากหมู่บ้านชนบทกลายเป็นเมืองอุดร และต่อมาได้ยกฐานะเป็นจังหวัด อนุสาวรีย์แห่งนี้ถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ ที่สมัยก่อนรถที่มาทางถนนมิตรภาพ จาก จ.ขอนแก่น มุ่งหน้าไปยัง จ.หนองคาย จะต้องผ่านอนุสาวรีย์แห่งนี้
สวนสาธารณะหนองประจักษ์ หนองน้ำขนาดใหญ่ มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งเมืองอุดรธานี เดิมเรียกว่าหนองนาเกลือ ปัจจุบันเป็นสถานที่พักผ่อน เปรียบเสมือนปอดขนาดใหญ่ของคนอุดรธานี เบื้องหน้าของหนองน้ำจะเห็นอาคารโรงพยาบาลอุดรธานี และวัดโพธิสมภรณ์ อย่างไรก็ตาม ในตัวเมืองอุดรธานียังมีหนองน้ำอีกหลายแห่ง อาทิ หนองสิม หนองบัว และหนองเหล็ก อยู่ในพื้นที่ชานเมืองอุดรธานี
ศูนย์การค้ายูดีทาวน์ ถนนทองใหญ่ ระหว่างสถานีรถไฟอุดรธานีกับถนนโพธิ์ศรี เป็นโอเพ่นมอลล์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ศูนย์รวมของร้านค้าแบบแฟลกชิพสโตร์ กว่า 90 ร้านค้า รวมทั้งเทสโก้ โลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ต และยูดีบาร์ซ่า บนเนื้อที่ 25 ไร่ ซึ่งได้เช่าที่ดินระยะยาวกับการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลา 30 ปี มีผู้คนในอุดรธานีเข้ามาจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคักในช่วงเย็น และวันหยุดสุดสัปดาห์
สถานีรถไฟอุดรธานี ตั้งอยู่กลางเมืองอุดรธานี สุดถนนประจักษ์ศิลปาคมด้านทิศตะวันออก เป็นสถานีรถไฟชั้น 1 ของทางรถไฟสายอีสาน ตัวอาคารสถานี หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาดผู้ล่วงลับ สร้างปรับปรุงซ่อมแซมเมื่อปี 2541 ถือเป็นพระนักพัฒนาตัวอย่าง เพราะยังเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาก่อสร้างอาคาร 96 ปี หลวงตามหาบัวฯ อาคารผู้ป่วยใน ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลอุดรธานีอีกด้วย
สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร ตั้งอยู่ที่บ้านหนองลีหู ต.สามพร้าว อ.เมืองฯ จ.อุดรธานี ถือเป็นกระบอกเสียงสำคัญของนายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา นักจัดรายการวิทยุผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงใน จ.อุดรธานี มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับประเทศ ซึ่งที่นี่ยังได้ขึ้นป้ายขนาดใหญ่ ระบุเด่นชัดว่า “อาณาจักรคนเสื้อแดง”
ป้ายหาเสียงของพรรคพลังอุดร ตั้งอยู่บนถนนสายอุดรธานี-หนองหาน เยื้องที่ทำการชมรมคนรักอุดร พรรคการเมืองนี้มีนายธนยศ รักกิจศิริ เจ้าของธุรกิจไฟแนนซ์ชลประทานลิสซิ่งเป็นหัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้ง ส.ส. ยุคนี้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นทางเลือก และมีความหวังที่จะเข้ามามีบทบาทในการเมืองเหมือนพรรคใหญ่มากขึ้น เฉกเช่นพรรคพลังชล พรรครักประเทศไทย และพรรคประชาธิปไตยใหม่
มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์สามพร้าว ตั้งอยู่ที่โคกขุมปูน ต.สามพร้าว อ.เมืองฯ จ.อุดรธานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดสอนคณะคุรุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยมีนักศึกษาราว 3,000 คน รวมทั้งกำลังก่อสร้างสนามกีฬาและหอประชุมสำหรับจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่มหาวิทยาลัยราชภัฎในภาคอีสานทั้งหมด
เคาน์เตอร์เช็กอินในท่าอากาศยานอุดรธานี ปัจจุบันมี 4 สายการบินให้บริการรวม 16 เที่ยวบินต่อวัน ได้แก่ การบินไทยสไมล์ จากสุวรรณภูมิ 3 เที่ยวบิน ไทยแอร์เอเชียจากดอนเมือง 3 เที่ยวบิน และภูเก็ต 1 เที่ยวบิน นกแอร์จากดอนเมือง 6 เที่ยวบิน และนกมินิจากเชียงใหม่ 3 เที่ยวบิน เร็วๆ นี้จะมีบางกอกแอร์เวย์สจากสุวรรณภูมิ 2 เที่ยวบิน เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางอากาศในภาคอีสาน เชื่อมต่อไปยังประเทศลาว
กำลังโหลดความคิดเห็น