xs
xsm
sm
md
lg

มิตรภาพสำคัญกว่าการเมือง?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ลูกพี่เก่าผมซึ่งเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยกัน เข้าพิธีมงคลสมรส แน่นอนว่าภายในงานนอกจากแขกผู้มีเกียรติแล้ว ยังได้พบปะกับพี่ๆ และเพื่อนๆ ถึงวันนี้ต่างคนต่างก็เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง แต่เมื่อได้พูดคุยแล้ว แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็รู้สึกได้ถึงมิตรภาพในวันเก่าๆ ที่เคยรวมหัวจมท้ายกันมา ถึงในวันนี้บรรยากาศเก่าๆ เป็นไปได้ยากที่จะหวนกลับมาก็ตาม

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2549 ในช่วงที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ผมได้สัมผัสกับพี่ๆ เพื่อนๆ ที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกัน แนวคิดต่างกันแต่จุดยืนเดียวกัน หรือแม้กระทั่งในช่วงที่เคลื่อนไหวประเด็นย่อย เช่น คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ก็เคยเจอแนวคิดและจุดยืนตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงมาแล้ว ซึ่งพอเอาเข้าจริงเวลาอยู่ในบรรยากาศสังสรรค์ หรือพูดคุยกันในเรื่องไร้สาระ ก็เฮฮาครึกครื้นไม่ต่างไปจากเพื่อนโดยทั่วไป

มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์สังคม เกิดมาเพื่อจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สิ่งที่ทุกคนรับรู้และเข้าใจดี คือ ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ นอกจากด้านชีวภาพและกายภาพแล้ว ด้านจิตใจและสังคมก็เป็นความต้องการที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทุกคนก็ต้องการมีเพื่อนเพื่อแสวงหาความรัก ความนับถือ สนองความต้องการทางจิตใจ นานวันเข้าก็ต้องการยกย่องจากบุคคลอื่น เพื่อขึ้นมาสู่อำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง แม้กระทั่งทรัพย์สมบัติ

แต่ละกลุ่มพลังทางการเมือง เมื่อต่างคนต่างเข้ามารวมกันเป็นสังคม ทั้งในการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองผ่านช่องทางต่างๆ ย่อมมีความต้องการที่จะร่วมสร้างระบบความสัมพันธ์ เพื่อให้สังคมของตนเองดำรงอยู่ได้ พัฒนาไปสู่ระบบการสื่อสาร ระบบการผลิต การกระจายข้อมูลข่าวสารและแนวคิดระหว่างกัน และมีระบบสังคมที่จะป้องกันมวลชนจากภัยอันตรายทั้งปวง

เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การชุมนุมในช่วงเวลาหนึ่ง หากแต่ทุกวันนี้เวลาเดินทางไปต่างจังหวัด แต่ละครัวเรือนมักจะมีสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสังคมของตนเอง เช่น การเปิดแช่ทีวีดาวเทียม การแสดงสัญลักษณ์ทั้งเสื้อผ้า ธงสัญลักษณ์ สติ๊กเกอร์ หรือการจัดเวทีปราศรัยในต่างจังหวัด ก็จะมีประชาชนผู้สนับสนุนกลุ่มนั้นๆ เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งรับฟังการปราศรัย การทำอาหารเลี้ยงผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือการบริจาคเงินสนับสนุนการเคลื่อนไหว

ในยุคที่มีการเลือกข้างทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แน่นอนว่าอาจมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับภาพของความแตกแยก แต่หากพิจารณากันดีๆ ความขัดแย้งทางการเมืองถือเป็นเรื่องธรรมดามากในสังคมประชาธิปไตย ไม่ต่างไปจากความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือองค์กร สำคัญตรงที่ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง การใช้กำลัง ถึงขั้นจลาจลทางการเมือง ซึ่งมีทั้งมวลชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และมวลชนปะทะมวลชน

การที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกให้ประชาชนสามัคคีกัน เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเชื่อฟัง เพราะเท่ากับเป็นการทำร้ายจิตใจ ในเมื่อแต่ละคนต่างก็มีกรอบความคิดเป็นของตัวเอง เมื่อบางสิ่งบางอย่างยังไม่เป็นที่พิสูจน์ชัด ผู้คนก็มีทางเลือกที่จะประคับประคองสังคมและมิตรภาพแตกต่างกันไป อาทิ เลือกคุยเรื่องการเมืองเฉพาะคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเลือกที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างอดทน หรือวางเฉย หรือระบายผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์แบบไม่เปิดเผยตัวตน

เมื่อไม่นานมานี้ มีเพื่อนในเฟซบุ๊กคนหนึ่งที่รู้จักกัน เคยทักผมและขอคำปรึกษาว่า เพื่อนเขาโพสต์ข้อความแย่ๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนที่มาคอมเมนต์เป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน เลยไม่อยากไปยุ่งกับเขา ทีนี้เพื่อนคนนี้เขารู้จักกันดี ถ้าไม่มีเรื่องนี้ก็เป็นเพื่อนที่นิสัยดีน่าคบคนหนึ่ง เขาถามผมว่าควรจะทำอย่างไรกับเพื่อนคนนี้ จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม หรือจะปล่อยเขาไป โดยที่สักวันเขาจะได้รับผลกรรมเอง

ผมก็ตอบเพื่อให้เป็นแนวทางไปว่า ใจจริงผมก็ปล่อยเพื่อนคนนี้ไป เพราะเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ถ้าไปแจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ลำบาก เพราะเขาก็เป็นเพื่อนเรา ทีนี้ในข้อความที่ผมได้เห็น มีคนเข้ามาคอมเมนต์ทำนองว่า จะวิจารณ์อะไรก็ควรทำด้วยความเคารพ ผมก็เสนอเพื่อนไปว่า ถ้าข้อความนั้นหยาบคายไป เวลาเพื่อนปรามหรือเตือนสติ เราช่วยโน้มน้าวเขาบ้างก็ดี ถ้ามีคนปรามเยอะๆ เขาก็จะรู้สึกละอายใจบ้าง

พี่ที่ทำงานยังเคยบอกกับผมว่า ใครจะตำหนิแรงๆ ยังไง ก็ไม่รู้สึกเจ็บเท่ากับเพื่อนหรือคนกันเองเป็นคนตำหนิ เพราะอย่างน้อยเขาก็เริ่มรู้สึกว่าเคยเป็นเพื่อนกัน เคยพึ่งพาอาศัยกัน มีบุญคุณต่อกัน ต่างคนต่างรู้จักนิสัยใจคอ เมื่อเขาได้ทบทวนก็น่าจะรู้สึกเจ็บ คิดได้เองว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นถูกหรือผิด อะไรควรไม่ควร

จากประสบการณ์ที่เห็นความแตกต่างในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองมาตลอด 6-7 ปี ผมพอจะมีวิธีปรับตัวในเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองอยู่บ้าง หากเป็นเรื่องสถานการณ์ปัจจุบัน ผมเลือกที่จะพูดคุยกับเพื่อนหรือพี่ที่มีแนวคิดทางการเมืองเดียวกัน หรือคนที่ยอมรับฟังความคิดของเราได้ ซึ่งบ่อยครั้งผมก็ได้รับฟังมุมมองที่แตกต่างจากอีกฝ่ายกลับไป แต่หากเป็นการสนทนาเรื่องหนักๆ เช่น เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเลือกที่จะฟังอย่างเดียวโดยไม่ขอวิจารณ์

ผมถือว่าการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังเป็นเรื่องที่ไม่พร้อมในสังคมไทย ตราบใดที่สถาบันไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาใดๆ รวมทั้งคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีอคติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางคนถึงกับใส่อารมณ์ด้วยความเคียดแค้นชิงชัง ซึ่งถ้าผมเห็นแบบนี้ผมจะเลิกฟังแล้วหันหลังหนีทันที เพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ พูดจาไม่ให้เกียรติผู้อื่น ไม่มีมารยาท ไม่ให้ความเคารพต่อผู้ฟัง

ส่วนในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก น่าสังเกตว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองแบบแรงๆ มักจะไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นใคร มาจากไหน ยิ่งคนที่มีแนวคิดแอนตี้สถาบันพระมหากษัตริย์ โปรไฟล์ของเขามักจะวนเวียนอยู่กับลิงก์ข่าว อินโฟกราฟิกส์ และสัญลักษณ์ทางการเมือง ซึ่งผมไม่อยากรับเป็นเพื่อนสักเท่าไหร่ เพราะผมอยากคุยกับคนที่มีตัวตนจริงๆ มากกว่า แม้จะได้พบเห็นเพียงแค่ตัวอักษร ภาพถ่าย หรือวิดีโอคลิปมากกว่าตัวจริง เสียงจริงก็ตาม แต่อย่างน้อยการเปิดเผยตัวตนคือการแสดงความคิดเห็นอย่างรับผิดชอบ ซึ่งมักจะคึกคะนองน้อยกว่าคนที่ไม่เปิดเผยตัวตน

ส่วนการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผม ส่วนใหญ่มักจะในแนวตลกขบขันแต่พองามเพื่อความฮา แน่นอนว่าย่อมมีคนที่ไม่พอใจอยู่บ้าง บางคนถึงกับเลิกเป็นเพื่อนก็มี บางคนตอบกลับแบบยียวน ผมก็ยกเลิกเป็นเพื่อนด้วยตัวเองก็มี ซึ่งเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ แต่ถึงกระนั้นยังมีวิธีคุยกันในประเด็นเฉพาะกับกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มเพื่อนร่วมรุ่น ใครมีอะไรก็แจ้งข่าวกันในนี้ เป็นวิธีที่ทำให้เราได้รับรู้ความเป็นไปของเพื่อนอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยแยกความเป็นส่วนตัวที่ปนไปกับความคิดเห็นทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกเป็นห่วงกับการแสดงออกทางการเมืองแบบชนิดที่ว่า สะใจแต่ไร้มารยาท ซึ่งเมื่อก่อนผมเคยมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยกันเมื่อปี 2549 เมื่อต่างคนต่างเดิน ผมเป็นรอยัลลิสต์ เขาเป็นลิเบอรัล แอนตี้สถาบันพระมหากษัตริย์ วันหนึ่งเพื่อนในเฟซบุ๊กเอาภาพที่เขาเข้าไปเคลื่อนไหวคล้ายกับไปยั่วยุในงานเสวนาของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ แล้วแท็กภาพมาถึงผม จึงแสดงความคิดเห็นไปเพียงสั้นๆ ว่า “มันมายั่วยุ อย่าไปทำอะไรเค้า”

ปรากฏว่าเขาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ตัดพ้อถึงผมในทำนองว่า น้อยใจที่ผมเรียกว่า “มัน” ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นผมเป็นศัตรู ไม่เคยเรียกผมว่ามันแบบที่ผมเรียกเขาเลยสักครั้ง ผมจึงตอบกลับไปยาวๆ ทำนองว่า ต้องขอขอบคุณตรงจุดนี้ แต่ผมเลือกที่จะอยู่เฉยๆ กับความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ของเขา กับความไม่พอใจที่มีต่อตัวเขา เหมือนกับคนที่มีแนวคิดแอนตี้รอยัลลิสต์คนอื่นๆ เพราะผมเลือกที่จะวิจารณ์ที่การกระทำมากกว่า เหมือนกับที่ผมวิจารณ์นักการเมือง

ขณะเดียวกัน ผมยังเตือนสติเขาไปด้วยว่า คนเราเวลาแสดงออกอะไร แม้กับคนรอบข้างจะมองว่าไม่เป็นอะไร เป็นเสรีภาพในการแสดงออก แต่กับคนอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีแนวคิดเดียวกัน เมื่อเขาทำแบบนี้ให้คนอื่นเห็น เวลาคนอื่นไม่พอใจมันก็เกิดกระแสตีกลับเข้ามา ซึ่งเขาก็ต้องรับผลกระทบตรงจุดนี้ด้วย ก่อนที่จะทิ้งท้ายไปว่า ผมจะเป็นยังไง ผมก็ยังเป็นตัวผมอยู่เหมือนเดิม ถ้าเขากล้าที่จะทักผมก็ทักกันไป ไม่ได้ว่าอะไร คิดว่าครั้งหนึ่งเคยรู้จักกัน

ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง คือ ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม มักจะใช้ข้อความแรงๆ ไปจนถึงขั้นหยาบคาย วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองแบบไม่เกรงใจใคร ส่วนใหญ่คนเหล่านี้มักจะมีเพื่อนเยอะ มีผู้ติดตามอยู่มาก พอรู้สึกว่าตัวเองมีพวก มีก๊กมีเหล่า ก็เริ่มรู้สึกว่ามีความกล้า ยิ่งมีคนกดไลค์ คนรีทวีตเยอะๆ ก็จะยิ่งชื่นชอบความรุนแรง และโพสต์ข้อความแรงขึ้น อยากด่าใครด่าเลย ไม่ต้องกลัวเกรงอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้นอกจากจะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นคดีความแล้ว คนที่มีแนวคิดกลางๆ เมื่อได้เห็นข้อความแล้วก็รู้สึกไม่สบายใจ บางคนถึงกับเลิกเป็นเพื่อนไปก็มี

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นทางการเมืองไปในทางไหน หากเราอยากที่จะรักษามิตรภาพที่ดี รู้จักที่จะถนอมน้ำใจผู้อื่น ก็ควรที่จะเคารพแนวทางซึ่งกันและกัน เพราะในโลกนี้คงไม่มีใครเห็นด้วยหรือถูกใจกับเราทุกเรื่องทั้งหมด แม้จะคิดว่าเรื่องชาติบ้านเมืองสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็ตาม ผมเชื่อว่าคนที่ผ่านการใช้ความรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว ถึงจุดหนึ่งเมื่อทบทวนตัวเองจะพบว่า ความรุนแรงไม่ได้ช่วยให้เหตุผลตัวเองมีน้ำหนักแต่อย่างใดเลย

อย่างที่ครั้งหนึ่ง กรุงเทพมหานครเคยขึ้นป้ายโฆษณาตามท้องถนนด้วยข้อความที่ว่า “คนทั่วไปมักนึกว่า คนกำลังพินาศ เพราะวิวาททุ่มเถียงกัน ส่วนผู้รู้ความจริงเช่นนั้น ย่อมไม่ทะเลาะกันอีกต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น