xs
xsm
sm
md
lg

นับวันยิ่งน่ากลัว! "เฟซบุ๊ก" เครื่องทุ่นแรงแก๊งมิจฉาชีพ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจกล่าวได้ว่า ยุคสมัยนี้ แทบจะไม่มีใครไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง "เฟซบุ๊ก" ซึ่งหากพูดกันตามจริงแล้ว เครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยมตัวนี้ ได้กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สามารถแบ่งปันความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกไปให้คนอื่นรู้ เสมือนเป็นโทรโข่งป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า ฉันคิด และกำลังทำอะไรอยู่ ขณะเดียวกันก็ได้รับรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือสมาร์ทโฟนด้วยเช่นเดียวกัน

แต่ในระหว่างที่ตั้งสเตตัสอะไรออกไป หรือแม้กระทั่งกดไลค์ กดแชร์ และคอมเมนต์ รู้หรือไม่ว่าใครบางคนกำลังถ้ำมองคุณอยู่ และหนึ่งในนั้น อาจจะมีผู้ไม่หวังดีขโมยตัวตน และอัตลักษณ์ของคุณไปใช้ในทางเสีย ๆ หาย ๆ ก็เป็นได้ แม้จะเป็นเรื่องที่ใครหลายคนรู้ และระวังตัวเองกันอย่างดี แต่นับวัน เฟซบุ๊ก ยิ่งเป็นภัยแก่ตัวผู้ใช้เข้าไปทุกที

"เฟซบุ๊ก" พื้นที่หากินของนักต้มตุ๋น

เป็นที่รู้กันดีว่า "การขโมยตัวตน" เป็นการกระทำที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ได้ใช้หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนตัว เช่น ข้อมูลวันเดือนปีเกิด รูปภาพส่วนตัว เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลที่อยู่ทั้งสถานที่บ้าน และอีเมล หรืออื่น ๆ เพื่อแอบอ้าง ทำการฉ้อโกง หรือกระทำใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย

ทว่าในยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บวกกับความฉลาดล้ำลึกของมนุษย์บางกลุ่มที่ยากจะหยั่งถึง การขโมยตัวตน และข้อมูลต่าง ๆ ของผู้คนในเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก กลับมีความซับซ้อน และแยบยลมากยิ่งขึ้น

ถึงขนาด แฟรงก์ อาบาเนล อดีตนักต้มตุ๋นในช่วงยุค'60 ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง ยังออกมาเตือน และชี้ให้เห็นอันตรายของการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนหน้าเฟซบุ๊กเลยว่า ข้อมูลต่าง ๆ ที่ใครหลายคนโพสต์บนเฟซบุ๊ก เปรียบเสมือนกับคำเชื้อเชิญให้นักต้มตุ๋นอย่างเขาเปิดประตูบ้าน และขโมยตัวตนไปใช้ได้ตามใจชอบ ทั้งยังบอกอีกว่า เล่ห์กลเพทุบายต่าง ๆ ที่เขาเคยใช้เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วในสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น เฟซบุ๊กช่วยให้สามารถทำได้ง่ายกว่าเดิมถึง 4,000 เท่า

"ถ้าคุณเปิดเผยข้อมูลวันเกิดและสถานที่เกิดของคุณให้แก่ผมทางหน้าเพจเฟซบุ๊ก ผมเชื่อมั่นถึง 98% ว่าผมจะขโมยตัวตนของคุณไป" นี่คือคำพูดของแฟรงค์ อาบาเนล วัย 64 ปี อดีตนักต้มตุ๋นก้องโลกที่ปัจจุบันกลับใจมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ)

เตือนผู้ใช้ "เฟซบุ๊ก" ระวังตกเป็นเหยื่อ

ประเด็นเดียวกันนี้ ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญทางระบบคอมพิวเตอร์ และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security) บอกผ่านทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมเสี่ยงของการแชร์ข้อมูลที่มากเกินไป เช่น มีการให้ข้อมูลวัน/เดือน/ปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่อีเมล หรืออื่น ๆ ที่ลงรายละเอียดมากไปกว่านั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญอะไร แต่ก็เป็นประโยชน์ไม่น้อยสำหรับนักต้มตุ๋นยุคไฮเทคไว้ใช้ล้วงข้อมูลส่วนบุคคลในแบบที่คาดไม่ถึง นับเป็นภัยที่ควรตระหนัก และรู้เท่าทันให้มากขึ้น

ไม่เพียงแต่ข้อมูลส่วนตัวที่บ่งบอกถึงสถานะ หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเองแล้ว การเช็กอินตามสถานที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่การโพสต์รูปอวดทรัพย์สิน สิ่งของเครื่องใช้หรู ๆ ตลอดจนการโพสต์บอกถึงการอยู่คนเดียวที่บ้านพร้อมระบุพิกัดสถานที่ไว้เสร็จสรรพ อาจเป็นประตูบานใหญ่เปิดให้นักต้มตุ๋นเข้ามาหาถึงบ้านได้ เพราะด้วยระบบโลเกชันบนเฟซบุ๊กจะช่วยให้ใครก็ตามสามารถรู้ตำแหน่งปัจจุบันของผู้โพสต์ โดยที่ไม่ต้องเช็กอิน (check-in) เลยด้วยซ้ำ ขอเพียงแค่เปิดระบบ โลเกชั่น เซอร์วิส เพื่อระบุตำแหน่งทิ้งไว้ ซึ่งหลายคนก็เปิดระบบนี้ทิ้งไว้เป็นปกติอยู่แล้ว

"ตรงนี้น่ากลัวครับ เสี่ยง และอันตรายมาก เพราะเราไม่รู้ว่าใครจ้องจะทำอันตรายเราอยู่ การเปิดเผยว่าอยู่ตำแหน่งไหนสถานที่ใด และยิ่งมีการโพสต์บอกว่า อยู่บ้านคนเดียวด้วยแล้ว ยิ่งน่ากลัวครับ ทางที่ดี ควรเลี่ยงที่จะโพสต์ข้อความในลักษณะนี้ หรือเข้าไปปิดการแสดงตำแหน่งสถานที่เพื่อความปลอดภัยบนมือถือ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหลาย เนื่องจากหลายคนไม่รู้ และอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย" ผู้เชี่ยวชาญทางระบบคอมพิวเตอร์ และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศเตือน

ดังนั้น ก่อนจะระบุพิกัดสถานที่ หรือโพสต์บอกอะไร ควรคิดให้ดีก่อนโพสต์ เพราะวันดีคืนดี กลุ่มมิจฉาชีพสุดไฮเทค อาจแวะเวียนมาหาที่บ้าน เพื่อหยิบยืมเงิน และสิ่งของเครื่องใช้ก็เป็นได้ หรือบางคนถึงกับศึกษาพฤติกรรมเหยื่ออยู่ก่อนแล้ว เมื่อรู้ว่าเหยื่อเป็นเซเลบฯ มีเงินมีทองมากมาย ก็อาจหาโอกาสบุกเข้าไปหาถึงที่หมายได้เหมือนกัน

ลึกลงไปในประเด็นเรื่องกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญทางระบบคอมพิวเตอร์ และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ บอกว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจนในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล หรือสิทธิในความเป็นส่วนตัว (privacy) ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ยังคงไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ขณะที่ประเทศหลาย ๆ ประเทศ เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของกฎหมายตัวนี้กันมากขึ้น เช่น ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ส่งผลให้สิทธิส่วนบุคคลในเรื่องฐานข้อมูลผู้บริโภคและการแบ่งปันข้อมูลกลายเป็นเรื่องที่อาจนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ง่าย

ปุ่ม Like มีอะไรมากกว่าที่คิด

ท่ามกลางสังคมที่ผู้คนสมาทานให้กับการนั่งแชต กดไลค์ หรือคอยให้ใครมากดไลค์อยู่ตลอดเวลา รู้หรือไม่ว่า แค่การกดไลท์ นั่นเท่ากับเป็นการบอกข้อมูลส่วนตัวของเราให้คนอื่นได้รับรู้ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังด้านเชื้อชาติ ประวัติการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งรสนิยมทางเพศ

เรื่องนี้ไม่ได้กล่าวอ้างกันลอย ๆ เพราะมีรายงานการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มี.ค.2556 เผยถึงผลการศึกษาที่น่าประหลาดใจว่า เพียงแค่การกดไลท์ สามารถทำนายศาสนา แนวคิดทางการเมือง เชื้อชาติ และเพศสภาพของผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังพบอีกว่า การกดไลค์ในเฟซบุ๊ก สามารถเชื่อมโยงไปถึง เพศสภาพ อายุ ชาติพันธุ์ ไอคิว ศาสนา แนวคิดทางการเมือง การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาเสพติด อีกทั้งสถานภาพความสัมพันธ์ จำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊กด้วย

กระนั้น ผลการศึกษาดังกล่าว อาจเป็นผลดีต่อบริษัทด้านสื่อสังคมออนไลน์ ที่อาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการจูงใจผู้ใช้ผ่านช่องทางการตลาดส่วนบุคคล แต่นักวิจัยเตือนว่าผู้ใช้อาจต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามความเป็นส่วนบุคคล โดยเฉพาะการถูกนำข้อมูลไปใช้ในการคาดเดาแนวคิดทางการเมือง หรือความเป็นเพศสภาพของผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกหรือกระทั่งชีวิตส่วนบุคคลได้

แต่ถ้าไม่อยากให้ผู้อื่นนำข้อมูลไปใช้ในทางไม่ดี ผู้ใช้เองต้องเลือกที่จะเปิดเผยและไม่เปิดเผยข้อมูลของตนเองต่อสาธารณะ และที่คาดว่าการตั้งค่าในระบบ "ไพรเวซี เซตติ้ง" ในเฟซบุ๊กเป็นวิธีที่ช่วยปกป้องข้อมูลในออนไลน์ แต่ควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า ข้อมูลที่โพสต์ และบอกความเป็นตัวเรามากเท่าไร ยิ่งเผยตัวตนของเราออกสู่สาธารณะมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนไม่ส่งผลกระทบอะไร แต่อาจทำให้บุคคลบางกลุ่มนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดประเภทและทำนายพฤติกรรมในวิธีที่เกินเลยและอ่อนไหวกว่าที่เราคาดคิดก็เป็นได้

ทั้งหมดนี้ เป็นการนำเสนอเพื่อชี้ให้เห็นถึงภัยที่จะตามมาจากการให้ข้อมูล และแชร์ข้อมูลต่าง ๆ บนเฟซบุ๊ก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่สามารถโทษใครได้ นอกจากตัวผู้ใช้เองที่ขาดสำนึกและสติในการป้องกันความปลอดภัย

ทางที่ดี ก่อนตั้งสเตตัส กดไลค์ กดแชร์ หรือคอมเมนต์ใด ๆ พึงระลึกไว้เสมอว่า มีคนแอบซุ่มโป่งมองคุณอยู่ ซึ่งไม่ใช่แค่คนกลุ่มเดียว ทว่า ยังมีคนอีกจำนวนมหาศาลที่จะรู้จักคุณผ่านทางสังคมออนไลน์ตัวนี้ และหนึ่งในคนจำนวนมหาศาลนั้น อาจเป็นผู้ไม่หวังดีกับคุณก็เป็นได้

////////////////////////

ข้อมูลประกอบข่าว

ตั้งค่าส่วนตัว เพิ่มความปลอดภัย

พูดถึง Location Services เป็นการระบุพิกัดดาวเทียม (GPS) บนแผนที่ สำหรับมือถือระบบ IOS ถ้าไม่อยากให้แอปฯ ใด ๆ ระบุตำแหน่งแผนที่ได้ ก็ควรเลือกปิดที่ Location Services บนสุดอันเดียว ซึ่งเป็นรายการย่อยที่อยู่ใน Privacy โดยจะหลบซ่อนอยู่ในเมนูตั้งค่าหลักบนมือถือ

ส่วนการเปิด-ปิดใช้งาน Location Service บนมือถือระบบ Android ให้เข้าไปที่ Settings -> Location Services -> ถ้าต้องการปิดเอาเครื่องหมายถูกออกจาก Google’s location service ซึ่งการปิดฟังก์ชันดังกล่าว นอกจากความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังช่วยประหยัดแบตเตอรี่ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี การที่เฟซบุ๊กไม่สามารถ Check in ได้หรือ ระบุตำแหน่ง GPS ในรูปไม่ได้ ก็อาจเพราะหัวข้อนี้ถูกปิดอยู่ แต่บางแอปฯ ที่ไม่ค่อยมีความจำเป็นเท่าใดแต่ก็ชอบเปิดการหาตำแหน่งตลอดเวลา อาจทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วขึ้นได้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live





กำลังโหลดความคิดเห็น