xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์ใหม่วัยรุ่น! สร้างภาพบน "เฟซบุ๊ก" ปลดปล่อยตัวตนบน "อินสตาแกรม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อมูลจาก ศ.ดร.เอิร์ส แกซเซอร์ ผู้อำนวยการบริหาร Beckman Center for Internet and Society มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ เฟซบุ๊กอาจไม่ใช่ที่ที่วัยรุ่นจะสามารถปลดปล่อยความเป็นตัวเองได้อีกต่อไป เพราะสร้างความกังวลเรื่องภาพลักษณ์ทางสังคมมากเกินไป ทำให้ใครหลายคนลงทุนสร้าง account ปลอมๆ ขึ้นมาเพื่อสร้างภาพ หรือไม่ก็หนีไปใช้อินสตาแกรม และโซเชียลมีเดียตัวอื่นแทน



“เฟซบุ๊ก” พื้นที่สร้างภาพเพื่อครอบครัว?
เฟซบุ๊กกลายเป็นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดไปแล้ว ด้วยความที่พอโพสต์แล้ว มันมี React ตอบกลับมาทันที จนถึงขั้นทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถแสดงความเป็นตัวตนจริงๆ ได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป และต้อง present ตัวเองในแง่ดี ฉันมีรูปสวยๆ โพสต์ความคิดเห็นดีๆ เพื่อจะให้ผู้ปกครองที่เป็น friend กันอยู่ เข้ามาเห็นแต่สิ่งดีๆ อย่างที่อยากให้เห็น

ศ.ดร.เอิร์ส แกซเซอร์ (Urs Gasser) ผู้อำนวยการบริหาร Beckman Center for Internet and Society มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา จุดประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ในงานเสวนา “วัยรุ่น สื่อสังคม และอนาคตของความเป็นส่วนตัว” ซึ่งจัดขึ้นที่ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ผ่านมา

ไม่ใช่การตั้งสมมติฐานเพียงลมปากเท่านั้น แต่มีสถิติยืนยันชัดเจน จากผลการศึกษาในอเมริกาปี 2012 ระบุว่าถึงแม้เฟซบุ๊กจะยังคงเป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่ ณ ขณะนี้ คือมีผู้ใช้สูงถึง 94 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ทวิตเตอร์ คิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ และ อินสตาแกรม 11 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่กำลังจะทำให้เฟซบุ๊กลดความนิยมลงในหมู่วัยรุ่นคือ การรับผู้ปกครองมาอยู่ในรายชื่อ Friend ด้วยนั่นเอง

“90 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่น จะมีผู้ปกครองและเครือญาติเป็น Friend อยู่ด้วย” สถิติบอกเอาไว้อย่างนั้น ทีมผู้วิจัยซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียด ค้นพบว่ารายชื่อเพื่อนในเฟซบุ๊กกับโซเชียลมีเดียตัวอื่นต่างกันตรงที่ “พ่อแม่ ญาติๆ และ ครู ส่วนใหญ่ รู้จักและเล่นแต่เฟซบุ๊ก พยายามคอยเข้ามาตรวจสอบ อยากรู้ว่าลูกปลอดภัย ไม่ไปมั่วสุม เข้ามาคอนเนกต์กับลูกผ่านทางเฟซบุ๊ก ทั้งที่บางครั้ง ไปอ่านดู 20 คอมเมนต์ที่เด็กคุยกัน แล้วเข้าไม่ถึง ไม่เข้าใจก็มี  
ส่วนเด็กๆ ก็หาทางหนีไปเล่นโซเชียลมีเดียตัวอื่นแทน เพื่อที่จะได้ปลดปล่อยตัวเองบนพื้นที่อื่น โดยที่ผู้ใหญ่ยังเล่นตัวเดิม ตามเทคโนโลยีไม่ทันกันอยู่เลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าตลกมาก และนี่คือจุดแรกในการจุดประกายให้เรามองเห็นว่า ทำไมคนถึงเปลี่ยนจากการใช้โซเชียลมีเดียตัวหนึ่ง เป็นอีกตัวหนึ่ง”




“อินสตาแกรม” โตพุ่ง แหล่งปล่อยผี!
ที่น่าสนใจคือ การเติบโตของเฟซบุ๊กใกล้จะหยุดนิ่งแล้ว วัดจากตัวเลขในปี 2012 จะเห็นว่าโตขึ้นจากปี 2011 เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ (จาก 93 เปอร์เซ็นต์ เป็น 94 เปอร์เซ็นต์) แต่ทวิตเตอร์ กลับโตขึ้นกว่าสองเท่า (จาก 12 เปอร์เซ็นต์ในปี 2011 เพิ่มเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ในปี 2012) และอินสตาแกรม ที่มาแรงแซงโค้งที่สุด จากตอนสำรวจโซเชียลมีเดียในปี 2011 ไม่มีใครให้ความสนใจเก็บข้อมูลเลย จนมามียอดผู้ใช้พุ่งขึ้นแบบม้ามืด กระโดดมาเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ในปี 2012

มาดูอัตราการเติบโตในปี 2012-2013 เฉพาะประเทศไทยดูบ้าง จะพบว่าถึงแม้เฟซบุ๊กจะยังครองอันดับหนึ่งโซเชียลมีเดียที่มีคนใช้มากที่สุด แต่การเติบโตจากปี 2012 ถึงปีนี้กลับมีเพียง 28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คือจากเดิม 14.5 ล้าน เป็น 18 ล้าน, ขณะที่ทวิตเตอร์มีอัตราการโตเกินครึ่ง คิดเป็น 54 เปอร์เซ็นต์ คือจากเดิม 1.3 ล้าน เป็น 3 ล้าน, โซเชียลมีเดียตัวที่ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันคือยูทูป ตัวเลขชี้ว่าโตขึ้นถึง 125 เปอร์เซ็นต์ คือจาก 2.8 แสน เป็น 6.3 แสน และตัวที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจคือ อินสตาแกรม พุ่งสูงถึง 163 เปอร์เซ็นต์ คือจากเดิม 2.4 แสน เป็น 6.2 แสน

ส่วนหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นหนีไปปล่อยผี-ปลดปล่อยตัวตนบนอินสตาแกรมมากขึ้น แทนที่จะเลือกโซเชียลมีเดียชนิดอื่น เหตุผลข้อหนึ่งคือตัวโปรแกรมใช้งานง่าย เน้นการโพสต์ภาพเป็นหลัก และเหตุผลอีกส่วนหนึ่ง ที่คนส่วนหนึ่งเริ่มหนีจากแหล่งเดิม คาดว่าน่าจะมาจากความกังวลในเรื่องผลกระทบต่อการใช้โซเชียลมีเดียที่ชื่อว่า “เฟซบุ๊ก” นั่นเอง ซึ่งสถิตินี้น่าจะเป็นเคำตอบได้ดีที่สุด

จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้บนเฟซบุ๊กพบว่า ส่วนใหญ่หันมาควบคุมภาพลักษณ์ของตัวเองมากขึ้น โดยการจัดการกับสิ่งที่ตัวเองโพสต์และสิ่งที่เพื่อนกระทำ มี 74 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเคยลบเพื่อน (Delete Friend) ทิ้งไป, 59 เปอร์เซ็นต์ ต้องกลับมาจัดการกับโพสต์เดิมๆ, 53 เปอร์เซ็นต์ง่วนกับการตรวจสอบคอมเมนต์, 45 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเคยเอา Tag ที่เพื่อนร้องขอออก (Untagged) และมีการบล็อกเพื่อนในลิสต์และคนอื่นๆ ในโซเชียลมีเดียชนิดนี้ คิดเป็น 58 เปอร์เซ็นต์

ลองให้ผู้เชี่ยวชาญบนโลกเน็ตเวิร์กในไทยอย่าง อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักวิจัยเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Netizen) วิเคราะห์ปรากฏการณ์เหล่านี้ดูบ้าง เขามองว่าการที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนหนึ่งรู้สึกกระอักกระอ่วนจนต้องย้ายไปปลดปล่อยในอินสตาแกรมแทนนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นพฤติกรรมการแสดงออกในสังคมที่มีมานานแล้ว

“ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยครับ เวลาไปอยู่ในสังคมไหน เราทุกคนก็ต้องเลือกจะวางตัวอยู่แล้ว เวลาอยู่กับครอบครัวเราก็วางตัวอีกแบบ ใช้คำพูดอีกแบบ อยู่กับเพื่อนก็อีกแบบ อยู่กับสังคมที่ทำงานก็อีกแบบ แต่ที่พฤติกรรมแบบนี้มาเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์เพราะตอนนี้โซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อกระแสหลักที่ได้รับความนิยมไปเรียบร้อยแล้ว เหมือนตอนแรก เราอยู่ในสังคมเฉพาะกลุ่ม เราสามารถทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องสนใจใครมากนัก แต่พอวันหนึ่ง เริ่มมีคนแปลกหน้าเข้ามามากขึ้น คนใช้เฟซบุ๊กมากขึ้น คนที่ไม่สะดวกใจก็ต้องไปหาที่ใหม่เป็นธรรมดา

อย่างเมื่อก่อน ถ.ข้าวสาร จะมีที่พักสงบๆ แถวรามบุตรี ที่นักท่องเที่ยวชอบไป พอมีคนไปพักมากขึ้น ร้านค้าไปตั้ง คนนิยม เสียงก็เริ่มดังขึ้น ไม่เหมือนเดิม คนที่ชอบแบบเดิมๆ ก็ขยับไปอยู่แถวบางลำพู ปรากฏการณ์บนเฟซบุ๊กก็น่าจะคล้ายๆ กันนี่แหละครับ ต่างกันตรงที่เป็นสังคมออฟไลน์กับออนไลน์แค่นั้นเอง




โปรไฟล์จอมปลอม และ เพจหยาบคาย
ถามว่าทำไมผู้ใช้ถึงรู้สึกกังวลเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียกันขนาดนั้น ผลการสำรวจจาก “Pew Research Center Internet & American Life Project Teen and Privacy Survey” ระหว่างวันที่ 26 ก.ค.-30 ก.ย. 2555 โดยสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองซึ่งมีบุตรหลานอายุระหว่าง 12-17 ปี จำนวน 802 ราย และกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองซึ่งมีบุตรหลานเล่นอินเทอร์เน็ต จำนวน 781 ร่อนแบบสอบถามทั้งภาษาอังกฤษและสเปน ทั้งแบบเดินแจกและโทร.สอบถาม พบว่า คนส่วนใหญ่กังวลว่าโซเชียลมีเดียจะมีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว

โดยมีถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ที่รู้สึกกังวลว่าสิ่งที่แชร์กันอาจมีผลต่อหน้าที่การงานในอนาคต โดยแบ่งระดับความกังวลออกเป็น กังวลมาก 44 เปอร์เซ็นต์, กังวลปานกลาง 26 เปอร์เซ็นต์, กังวลเล็กน้อย 18 เปอร์เซ็นต์ และ ไม่กังวลเลย 11 เปอร์เซ็นต์

81 เปอร์เซ็นต์ กังวลว่าข้อมูลบนโซเชียลมีเดียจะถูกทางบริษัทโฆษณานำไปใช้ประโยชน์ โดยตอบว่า กังวลมาก 46 เปอร์เซ็นต์, กังวลปานกลาง 35 เปอร์เซ็นต์, กังวลเล็กน้อย 12 เปอร์เซ็นต์ และ ไม่กังวลเลย 7 เปอร์เซ็นต์

69 เปอร์เซ็นต์ กลัวว่าจะมีผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ในสังคม โดยมีผู้รู้สึกกังวลมาก 49 เปอร์เซ็นต์, กังวลปานกลาง 20 เปอร์เซ็นต์, กังวลเล็กน้อย 16 เปอร์เซ็นต์ และไม่กังวลเลย 15 เปอร์เซ็นต์

ส่วนอีก 71 เปอร์เซ็นต์ กังวลเรื่องอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการแชร์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ผู้ที่ตอบว่ากังวลมากมี 53 เปอร์เซ็นต์, กังวลปานกลาง 19 เปอร์เซ็นต์, กังวลเล็กน้อย 10 เปอร์เซ็นต์, ไม่กังวลเลย 9 เปอร์เซ็นต์ และ คิดว่าไม่เกี่ยวข้อง 8 เปอร์เซ็นต์

ความกังวลชนิดเดียวกันนี้เองเป็นบ่อเกิดให้คนบางส่วนยอมสร้าง account ปลอมๆ ขึ้นมาบนเฟซบุ๊กเพื่อเอาไว้ใช้ติดต่อกับคนที่ทำงานหรือทางบ้าน ส่วนเฟซบุ๊กอีกอัน เอาไว้ใช้ปลดปล่อยตัวตนจริงๆ ที่ไม่อยากให้คนนอกได้เห็น

“เห็นหลายคนมี 2 account เอาไว้ใช้ แต่บางคนก็ใช้ตัวเดียว แต่เปลี่ยนการตั้งค่า privacy แทนว่าอยากให้ใครเห็นโพสต์ไหนบ้าง ไม่อยากให้พ่อแม่เห็นรูปนี้ก็ซ่อนไว้ได้ ถ้ามองในมุมมองผู้ปกครองอาจน่าน้อยใจ พยายามคอนเนกต์กับลูกผ่านเฟซบุ๊ก แต่ลูกยังหนีไปอีก แต่มองในแง่วัยรุ่นดู ก็อาจจะต้องเข้าใจครับว่าเขาเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากเพื่อน ไม่อยากถูกจับตามองตลอดเวลา เด็กๆ ก็ยังรักพ่อแม่อยู่นั่นแหละครับ แต่อาจจะไม่อยากให้รู้ทุกเรื่อง ถ้ามาคอมเมนต์มากเกินไป เขาจะคุยกับกลุ่มเพื่อน ก็จะเริ่มรู้สึกว่าถูกรุกล้ำละ เพราะฉะนั้น ถ้าจะตามดู ผู้ปกครองต้องทำแบบเนียนๆ ครับ เด็กจะได้ไม่หนีไปมี account ใหม่

หรือมองในแง่ดี คิดเสียว่าเป็นการฝึกให้เด็กๆ รู้จักกับการจัดการความสัมพันธ์ จะได้รู้ว่าเวลาอยู่กับเพื่อน อยู่กับผู้ใหญ่ อยู่กับกลุ่มสังคมที่แตกต่าง เราแสดงออกเหมือนกันไม่ได้ สุดท้าย มันก็คือเรื่องกาลเทศะน่ะแหละครับ เรามีของอยู่ 10 อย่าง จะให้พูดถึงทั้ง 10 อย่างกับทุกคนก็คงไม่ใช่”

ส่วนเรื่องการตั้งเพจเพราะอยากแสดงตัวตนแต่ไม่อยากเปิดเผยว่าเป็นใคร ก็ถือเป็นทางออกอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับบางคน ถือว่าเป็นการปลดปล่อยความคิดบางอย่างที่อาจจะไม่สามารถพูดออกมาได้ถ้าเปิดหน้า ถึงอาจจะทำให้เกิดเพจหยาบคายไปบ้าง แต่ถ้าไม่มีคนกดไลค์ ไปแชร์ต่อ ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่ถ้ามีคนกดไลค์ แสดงว่า เพจนั้นสามารถพูดแทนใจคนที่อยากจะพูดแต่พูดไม่ได้เหมือนกัน




ออนไลน์ = อันตรายที่มองไม่เห็น
เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการระมัดระวัง “ความเป็นส่วนตัว” บนโลกออนไลน์ของผู้ใช้ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
เด็กวัยรุ่น ค่อนข้างกังวลเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ในเฟซบุ๊ก หน้าตาในสังคม ชื่อเสียง แต่อีกด้านหนึ่ง เรื่องความปลอดภัย พวกเขากลับไม่สนใจอะไรเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ วิธีการกดไลค์เพจของพวกเขาก็ไม่ได้คิดอะไรมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกีฬา บันเทิง ศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ และพวกเขาก็ดูเหมือนกดไลค์เพจเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยที่หลายคนไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่า ในระยะยาว ข้อมูลที่พวกเขาไลค์ โพสต์และแชร์จะมีคนเอาไปใช้อะไรได้บ้าง บริษัทและโฆษณาอาจจะเอาข้อมูลมาจากการเสิร์ชบนโซเชียลมีเดียนี่แหละ” ศ.ดร.เอิร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทิ้งข้อกังวลเอาไว้ให้คิด

ถ้าข้อมูลของพวกเขา ถูกนำไปใช้ด้านการตลาดก็อาจจะไม่ร้ายแรงเท่าใดนัก แต่เมื่อไหร่ที่ถูกคนร้ายสะกดรอยจากการ Check-in หรือโพสต์รูปแสดงฐานะทางการเงินของครอบครัว เมื่อนั้นโลกออนไลน์จะอันตรายมากสำหรับเด็ก ถ้าเป็นไปได้ ทีมผู้วิจัยก็ต้องการให้ผู้ออกแบบโซเชียลมีเดียทั้งหลายช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องนี้ และออกแบบการตั้งค่าที่รัดกุมสำหรับพวกเขาอย่างเพียงพอ

“แต่จะให้รอผลการวิจัยมันก็ยากมากครับ เพราะกว่าจะได้ผลที่น่าเชื่อถือได้ออกมาอย่างเป็นทางการ เทคโนโลยีมันก็เปลี่ยนไปแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ ผลการวิจัยชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียคือ my space ครับ (หัวเราะ) ซึ่งตอนนี้ไม่มีใครใช้กันแล้ว


ทางที่ดี ผู้ปกครองต้องช่วยให้ลูกหลานตระหนักถึงความสำคัญในการเซต privacy บนโลกออนไลน์ว่าควรจะให้ใครเข้าถึงข้อมูลได้บ้าง เพราะเด็กส่วนใหญ่จะคิดว่าดูแลตัวเองได้ แต่สุดท้ายด้วยวัยวุฒิที่มี ทำให้ประมาทเลินเล่อไปหลายต่อหลายครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น นักวิจัยจากเครือข่ายพลเมืองเน็ตก็เตือนว่า อย่าไปกะเกณฑ์เด็กๆ นักเลย เดี๋ยวยิ่งห้ามจะยิ่งเตลิด ปล่อยให้เขาโพสต์และแชร์ไปเลยตามใจ แค่ต้องบอกให้เขารู้ว่าต้องรับผลของมันให้ได้ด้วยแล้วกัน

“ตอนนี้ โพสต์ภาพนี้ น้องอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่พอ 5 ปี 10 ปี ต่อจากนี้ มีคนมาเสิร์ชข้อมูลของน้องย้อนหลัง เจอภาพเสียๆ หายๆ แบบนี้เข้าไป เขาอาจจะไม่รับเราเข้าทำงานก็ได้ อันนี้เรื่องจริงครับ ผมเคยถามเพื่อนที่ทำงานเป็นฝ่ายคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานหลายคน เดี๋ยวนี้เขาใช้เฟซบุ๊กเป็นแหล่งสืบค้นกันแล้ว อย่างบางรัฐในอเมริกา หนักถึงขั้นขอพาสเวิร์ดของลูกจ้างไว้ เพื่อจะได้เข้าไปตรวจสอบโซเชียลมีเดียที่ใช้อยู่ จนกลายเป็นประเด็นต้องออกกฎหมาย ห้ามไม่ให้บริษัทขอพาสเวิร์ดลูกจ้าง โซเชียลมีเดียมันมีผลขนาดนั้น และในอนาคตอาจจะมีผลยิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้ก็ได้ ในประเทศเรา ต้องระวังไว้ครับ”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


งานเสวนา “วัยรุ่น สื่อสังคม และอนาคตของความเป็นส่วนตัว”






ขอบคุณภาพจากเพจ Infographic Thailand บนเฟซบุ๊ก
กำลังโหลดความคิดเห็น