xs
xsm
sm
md
lg

ผักชีโรยหน้า “เต้น” ไม่เข้าท่า "โช(ว์)ห่วย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ออกมาเต้น “โช(ว์)ห่วย” กันได้ไม่กี่น้ำ ทีมกระทรวงพาณิชย์ นำโดย รมช.“เต้น-ณัฐวุฒิ” ก็ทนกระแสก่นด่าความห่วยต่อไปไม่ไหว ต้องลบคลิป "ครบสองเดือน โชห่วย โชว์สวย" ออกไปจากยูทูป เพราะคำวิจารณ์จากฟากประชาชน ตั้งคำถามถึงความน่าภาคภูมิใจของตัวโครงการว่าอยู่ที่ตรงไหน? จะช่วยให้ร้านโชห่วยรอดวิกฤตจริงอย่างที่เต้นยืดอกกันอย่างน่าชื่นตาบานได้หรือไม่ หรือจะเป็นแค่ “โชว์ห่วยๆ” จบ “ไม่สวย” อีหรอบเดิม...


Dislike ลิปซิงก์ “เต้น” โช(ว์)ห่วย 
“ร้านโชห่วย โชว์สวยแล้วดูสิ ค่าไฟ ค่าน้ำมาจ่าย โอนเงินได้ ของถูกมี ร้านโชห่วย Legend of Thailand ช่วยกันบอกทุกคน ตั้งใจว่าต่อไปนี้... ซื้อของร้านโชห่วย”
 
นี่คือเนื้อเพลงบางส่วนจากคลิปร้อนแห่งสัปดาห์ซึ่งถูกลบออกไปจาก account ดั้งเดิมเรียบร้อยแล้ว เพราะทนกระแสก่นด่าอย่างรุนแรงบนโลกออนไลน์ต่อไปไม่ไหว คิดดูว่าแค่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังอัปโหลด มีคนกดเข้าไปดูกว่า 50,000 วิว และคลิก Dislike ไปเกิน 90 เปอร์เซ็นต์!!
 
เรื่องราวในคลิปวิดีโอตั้งแต่ต้นจนจบ บอกเล่าวัตถุประสงค์ของโครงการ “โชว์ห่วย โชว์สวย ทั่วไทย รวมใจช่วยสังคม” รายงานผลว่าตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา มีร้านค้าต้นแบบทั้งหมด 124 ร้าน และมีร้านโชห่วยเข้าร่วมแล้วถึง 5,000 ราย ซึ่งดูเหมือนว่าตัวเลขดังกล่าวจะทำให้ “เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลาบปลื้มใจกับผลงานชิ้นโบแดงของตัวเองเป็นอย่างมาก จนต้องแสดงริ้วรอยแช่มชื่นเอาไว้บนสีหน้า พร้อมกับลิปซิงก์และเต้นออกมาด้วยลีลาเกินจะบรรยาย
 
“ปัจจัยหรือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้อยู่ที่สมาคมค้าส่ง-ค้าปลีก หรืออยู่ที่ภาคเอกชน แต่อยู่ที่หัวใจของคนเป็นผู้ประกอบการ โดยก้าวแรกของโครงการนี้ ผมตั้งใจจะชวนผู้ประกอบการให้สู้กับตัวเองเสียก่อน” รมช.กระทรวงพาณิชย์ประกาศกร้าวเอาไว้ด้วยสำเนียงทองแดง ก่อนปล่อยตัวเองให้ลอยล่องไปกับเสียงดนตรีบรรเลงตามสไตล์ “ต เต้น พาณิชย์”


เปลี่ยน “โชห่วย” ให้ “โชว์สวย” ยกเซต 
5 เรื่องหลักๆ ที่โครงการนี้วางกรอบเอาไว้คือ 1.การเสริมสร้างความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ เปิดให้ได้รับการอบรมวิธีจัดการร้านค้า เช่น การจัดหน้าร้าน การจัดเรียงสินค้า ระบบทำบัญชี และการตลาด ฯลฯ 2.การปรับภาพลักษณ์ของร้านค้าตามหลัก 5 ส. คือ สวย สะอาด สว่าง สะดวก และสบาย ซึ่งจะมีทั้งวิธีที่เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปช่วยเหลือแนะนำปรับร้านจากพื้นที่เดิม หรือจะปรับปรุงร้านครั้งใหญ่ โดยจะมีโมเดลร้านต้นแบบให้ 2-3 แบบ ขนาดร้าน 4x6 เมตร ลงทุนประมาณ 41,000 บาท, ขนาดร้าน 6x8 เมตร ลงทุนประมาณ 55,000 บาท
 
3.สนับสนุนให้มีการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ให้ลูกค้า โดยคิดอัตราค่าบริการ 10 บาท ราคาเดียวกับร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง 4.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ หาแหล่งให้กู้ยืมพร้อมเงื่อนไขพิเศษ และ 5.จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับผู้แทนจำหน่ายและผู้ผลิต
 
ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการให้โชห่วยไปแข่งกับร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ หรือธุรกิจโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) แค่ต้องการให้ผู้ประกอบการแข่งกับตัวเอง ลุกขึ้นมาปรับปรุงธุรกิจให้มีศักยภาพสูงขึ้น จะได้อยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดได้ อย่างที่ท่อนหนึ่งในเนื้อเพลงบอกเล่าเอาไว้นั่นเอง
 
“มีร้านโชห่วยทั่วไป ทั้งเล็กทั้งใหญ่มานับร้อยปี คนขายซี้กับลูกค้า เรียกลุง เรียกป้า อาเฮีย อาตี๋ แต่ก่อนคนแน่นยังกะมด ทั้งซื้อเงินสด ทั้งขอติดหนี้ ตอนนี้ยักษ์ใหญ่มีทั่ว โชห่วยต้องรวมตัว สู้ให้สมศักดิ์ศรี”


เบื่อ... ห่วยซ้ำๆ ผักชีโรยหน้าเดิมๆ
“อีหรอบเดียวกัน ผมเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์มาตั้งแต่สมัยท่านพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) และท่านชาติชาย (ชุณหะวัณ) ด้วย ก็เลยมีความเข้าใจว่ากี่รัฐบาลก็เหมือนกัน คือเป็นโครงการผักชีโรยหน้า สร้างภาพให้รัฐบาลว่าเอาใจใส่ในปัญหาค่าครองชีพของประชาชน เป็นฉากเพื่อเสริมนโยบายของรัฐบาล แต่มันไม่มีประสิทธิภาพหรอกครับ
 
คือมันเป็นความคิดที่ดีนะ ความคิดที่จะให้สินค้าราคาถูก ช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อยให้อยู่รอด โดยเฉพาะการแข่งกับเซเว่นฯ, บิ๊กซี, โลตัสเอ็กซ์เพลส ตัวแนวคิดดีครับ แต่มันทำไม่ได้ในความเป็นจริง” ไม่ได้แค่แสดงความคิดเห็นมั่วนิ่ม แต่ ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พูดจากประสบการณ์ตรงในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์มาแล้วถึงสองสมัย

“ผมเข้าใจว่ามันเป็นไอเดียของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เองนั่นแหละที่อยากจะโชว์ผลงาน เพราะกระทรวงนี้จะมีกรมการค้าภายในอยู่ในสังกัด ดูแลเรื่องระดับราคาสินค้า ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาปกครองประเทศ”

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีโครงการลักษณะเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า “สินค้าสินไทย” เอายาสีฟัน ผงซักฟอก ของใช้จำเป็นทั้งหลายมาติดป้ายคำว่า “สินไทย” ลงไปแล้วขายแบบลดราคา “แต่ทำอยู่ได้ไม่นาน ปีเดียวก็เจ๊ง” อาจารย์ทวี เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงติดตลก

ต่อมาก็มีโครงการ “ตลาดธงฟ้า” ทั้งรูปแบบตลาดนัดและร้านหาบเร่แผงลอย เป็นร้านที่ทางกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือไป ให้ร้านค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบ ลดราคาลงมาสักจานละ 10-15 บาท ตามมาด้วยโครงการ “ร้านถูกใจ” ซึ่งมีต้นคิดมาจากฝั่งประชาธิปัตย์ขณะนั่งแท่นในตำแหน่งผู้บริหารประเทศ “แต่ก็ไปไม่รอดเพราะไม่สามารถลดราคาสินค้าได้หมดทุกตัว” 

ไหนจะโครงการที่เคยทำในอดีต พัฒนาเกี่ยวกับการกระจายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ให้มีความรวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง เพื่อแข่งกับร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ แต่สุดท้ายก็สู้ไม่ไหว ต้องพับไป ล่าสุดรัฐบาลนี้ก็มี “โชห่วย โชวสวยฯ” ออกมาอีก “บอกได้คำเดียวว่า ผักชีโรยหน้า กันทั้งนั้น!!”


อยู่ไม่ได้ “สวย” ไม่รอด
แม้จะพยายามวางนโยบาย ปรับภาพ “โชห่วย” ให้เปลี่ยนมา “โชว์สวย” แค่ไหนก็ตาม แต่ฟันธงได้เลยว่าคงสวยไม่รอด ดีไม่ดีจะ “ซวย” ก่อนได้เห็นความ “สวย” เสียด้วยซ้ำ เพราะร้านโชห่วยมีระบบการทำงานที่แตกต่างจากร้านสะดวกซื้อชื่อติดตลาดมาโดยตลอด แล้ววันหนึ่งจะเปลี่ยนให้มาดำเนินการอยู่บนฐานระบบเดียวกันแบบ “โมเดิร์นเทรด” มองหาทางรอดแล้ว หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก

“พยายามทำตัวเองให้มาอยู่ในระบบแบบเดียวกับรายใหญ่ มันทำยากนะ เพราะร้านโชห่วยส่วนใหญ่ คนที่ดูแลร้านคืออากง อาม่า คุณป้า คุณน้า ที่อยู่บ้านว่างๆ มานั่งขาย งานขายของจิปาถะแบบนี้มันจุกจิก ต้องหาของ เติมของ ทำบาร์โคด เทียบกับในเซเว่นฯ โลตัสฯ จ้างแต่คนหนุ่มสาว ท่าทางกระฉับกระเฉงมาทำงาน รับนู่นนี่เพิ่มมั้ยคะ เทคนิคการขายมันต่างกัน ความพร้อมในตัวบุคลากรของร้านก็ต่างกัน

ถ้าเป็นร้านโชห่วย วันไหนขายดีก็มีความสุข อารมณ์ดี หน้าตาสดใส แต่วันไหนขายไม่ดีก็ทุกข์ละ แต่พนักงานในร้านรายใหญ่ จะมาทุกข์ไม่ได้ ขายได้ไม่ได้ก็ต้องยิ้ม และพนักงานเขาก็ไม่ได้เดือดร้อนกับผลการขายด้วยว่าวันนี้จะได้กำไรเท่าไหร่ เพราะเขาไม่ใช่เจ้าของ พอคนขายไม่ทุกข์ ยิ้มรับ พูด คะ-ขา ตลอด บรรยากาศมันก็น่าเข้า”

เรื่องระบบการจัดการสินค้าเป็นปัญหาใหญ่อีกหนึ่งข้อที่ทำให้ระบบโชห่วยไปไม่รอด เพราะร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ทุกวันนี้สามารถเติมสินค้าตัวที่ขาดภายในร้านได้เลยไม่เกิน 12 ชั่วโมง ด้วยระบบลอจิสติกส์ที่วางเอาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เงินทุนหนาจึงไม่มีปัญหา แต่ร้านโชห่วยกว่าจะเติมสินค้าได้ ต้องรอนานกว่า แถมเรื่องราคายังไม่แน่ใจเลยว่าจะทำให้ถูกกว่าได้หรือไม่ เพราะแม้แต่ร้านค้าส่งขนาดใหญ่ที่ออกตัวว่าเป็น “มิตรแท้โชห่วย” อย่างแม็คโครก็ถูกเทกโอเวอร์ไปเรียบร้อยแล้วด้วยน้ำมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ เจ้าของเดียวกับร้านสะดวกซื้อชื่อดังนั่นเอง

“ถ้าจะทำต้องวางระบบ ต้องใช้เวลา ใช้เงินเป็นพันๆ ล้าน ซึ่งสุดท้ายมันก็สู้เขาไม่ได้อยู่ดีเพราะทุนไม่มี แล้วโครงการก็จะล่มไปตามรัฐบาลชุดนั้นที่หมดวาระไปนั่นแหละครับ เดี๋ยวรัฐบาลชุดนี้ไปก็ไปแล้ว มันเป็นแค่โครงการเอาใจรัฐบาล เอาผลงานไปรับความดีความชอบ ไม่ได้จริงใจต่อประชาชนเท่าไหร่หรอก” อดีตที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ฟันธง


ไม่อยาก “ห่วย” ต้องช่วย “คิด”
รัฐบาลไทย เวลามีมาตรการอะไรออกมา จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งนั้น ไม่เคยแก้กันที่แก่น โครงการที่กำลังพูดถึงอยู่นี่ก็เหมือนกัน เปรียบเทียบดู เวลาคนไม่มีกิน คุณควรจะโยนปลาแจกเขาหรือเปล่า ไม่นะ คุณควรจะโยนเบ็ดให้เขาต่างหาก เขาจะได้ตกปลาเป็น ไม่อย่างนั้นก็ต้องโยนปลาให้กินอยู่อย่างนั้นทุกวัน ไม่จบไม่สิ้น”

ทางออกของร้านโชห่วยที่ยั่งยืนที่สุดคือต้อง “คิดให้เป็น” ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ เจ้าของบริษัท แกะดำ ทำธุรกิจ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจขนาดเล็กที่มีลูกค้าระดับบิ๊กต่อคิวเข้าใช้บริการ ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจ เจ้าของแนวคิดสนับสนุนให้ SMEs “คิดต่าง” เพื่อให้โตแบบก้าวกระโดด ชี้ทางสว่างบางๆ เอาไว้

“จะช่วยให้คนอยู่รอดได้แบบยั่งยืน ต้องแก้กันที่แก่น แก้กันตั้งแต่ระบบความคิดครับ ถามว่าทำไมประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีธุรกิจขนาดใหญ่เยอะมาก แต่ SMEs เขายังอยู่รอดได้อย่างแข็งแรง เพราะแต่ละคนมีวิธีคิดที่แข็งแรง แต่ผิดกับเมืองไทยที่ทำธุรกิจโดยตั้งอยู่บนแนวคิด “ลอกเลียนแบบ” พอมีคนทำโมเดลนี้สำเร็จ 1 คน อีกหมื่นคนก็จะมาทำแบบเดียวกัน แล้วจะให้ไปรอดได้ยังไง ถ้ายังไม่หาวิธีคิดของตัวเอง ต่อให้กู้เงินมาพัฒนาธุรกิจเท่าไหร่มันก็ไม่มีประโยชน์หรอกครับ ไปไม่รอด

ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะพัฒนาให้คนมีความคิดก่อน คนเราจะเอาตัวรอดได้ต้องมีวิชาความรู้บวกกับวิธีคิด อย่างกรณีโชห่วย ผมคงไม่มีสูตรสำเร็จบอกว่าแต่ละรายต้องแก้ปัญหาตัวเองยังไง แต่ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถดึงจุดเด่นของตัวเองออกมาได้ ดูอย่างรายการทีวีแชมเปียน จะเห็นว่าญี่ปุ่นเขามีร้านอาหารเป็นสิบๆ ร้านในทุกเมือง แต่ทำไมเขาอยู่รอดได้ เพราะแต่ละร้านเขาคิดเป็น สามารถสร้างสูตรของตัวเองขึ้นมาดึงดูดคนได้ คุณจะกินเมนูนี้ รสชาติแบบนี้ ต้องมาร้านนี้เท่านั้น”


โชห่วย... เสน่ห์ที่หลงเหลืออยู่
หากให้ยกตัวอย่างร้านโชห่วยที่มีจุดขายชัดเจนสักร้าน คงหนีไม่พ้น “จีฉ่อย” ร้านโชห่วยเก่าแก่แห่งตลาดสามย่านที่ขายของตามคอนเซ็ปต์ “อยากได้อะไร มีหมด” ดูภายนอกแล้วตัวร้านไม่ต่างไปจากซอกหลืบแห่งความลี้ลับ ด้วยขนาดความกว้างไม่ถึง 1 คูหาบวกกับสินค้าภายในร้านที่อัดแน่นทับซ้อนกันอยู่จนไม่น่าเชื่อว่าจะหาเจอ แต่อาซิ้มเจ้าของร้านก็หาเจอ ทำให้ร้านเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นตำนาน เต็มไปด้วยเรื่องเล่าน่ารักๆ ระหว่างคนซื้อกับคนขาย กลายเป็นกระทู้แชร์ความรู้สึกรำลึกความหลังเอาไว้บนโลกออนไลน์

“เคยไปซื้อยางลบกับเพื่อนๆ ตอนนั้นจีฉ่อยบอกว่าก้อนละ 5 บาท พวกเราบอกแพงจัง เคยซื้อร้านข้างหน้าขายแค่ 4 บาทเอง แล้วก็เอายางลบคืนจีฉ่อย พอไปร้านข้างหน้า ปรากฏขายก้อนละ 5 บาทเหมือนกัน พวกเราก็เดินกลับมาที่จีฉ่อย แล้วบอกว่าร้านนั้นขายเท่ากัน แต่พูดจาไม่ดี เลยเปลี่ยนใจกลับมาหาซื้อจีฉ่อย จีฉ่อยก็หยิบยางลบก้อนเดิมมาให้แล้วบอกว่า โอเค งั้นขายให้ 4 บาท แล้ววันหลังมาซื้อที่นี่นะ" Apaporn Rangdal

“ตอนผมเรียน เคยลองดีกับจีฉ่อย ขอซื้อข้าวผัดหมูห่อนึง แล้วก็หามาให้ได้จริงๆ รอไม่นานด้วย หลังจากนั้นเลยไม่กล้าลองดีอีกเลย” ยืม login แฟนมาตอบ (กาแฟขม)

ถึงแม้ทุกวันนี้ร้านจะถูกทุบทิ้งและย้ายไปตั้งในที่ใหม่ แต่ความผูกพันแบบเดิมๆ ก็ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในช่วงก่อนร้านจะถูกทุบทิ้ง มีนิสิตจุฬาฯ และลูกค้าขาประจำละแวกนั้นออกมาช่วยต่อต้านคัดค้านเจ้าของพื้นที่อย่างสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกันอย่างคับคั่งสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างร้านโชห่วยกับคนซื้อว่าเกิดขึ้นได้จริง ร้านค้าไม่ต้องสวย ไม่ต้องหรู ไม่ต้องใหญ่ ก็สามารถเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าได้เหมือนกัน แค่ต้องใช้ความคิดและหาจุดยืนของตัวเองให้เจอ อย่างที่เจ้าของบริษัท แกะดำ ทำธุรกิจ วิเคราะห์สถานการณ์ด้วยความห่วงใยทิ้งท้ายเอาไว้

“ปัญหาคือคนในประเทศเราไม่ชอบคิดด้วยตัวเอง ชอบใช้ตัวช่วย อยากได้คำตอบสำเร็จรูป ฉันลำบากแล้ว ช่วยบอกฉันหน่อยว่าต้องทำยังไงให้รอด นี่คือปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยเลย ไม่ชอบพึ่งพาตัวเอง ถึงเวลาก็ต้องพึ่งพิงรัฐ ให้รัฐช่วย กลายเป็นปัญหาสังคม พอรัฐเข้ามาช่วยก็ต้องใช้เงิน ซึ่งก็เป็นเงินภาษีของพวกเราทุกคนนั่นแหละ

แล้วสิ่งที่รัฐมอบให้ ที่เรียกว่าช่วย แต่จริงๆ แล้ว มันยิ่งทำให้คนเป็นทุกข์เข้าไปอีก บอกว่าต้องกู้เพิ่มเพื่อจะได้มาปรับปรุงร้านโชห่วย แต่ถ้ากู้แล้ว ปรับร้านแล้ว คนไม่เข้า กำไรไม่มา จ่ายหนี้ไม่ได้ก็กลายเป็นหนี้เน่า ปัญหาก็จะยิ่งเละยิ่งกว่าเดิม ผมพูดได้เลยว่าโครงการแบบนี้ถือว่าเป็นการ “มอมเมาประชาชน” มันเป็นทางลัดทำให้รัฐบาลมีความนิยมภายในระยะเวลาสั้นๆ ให้มองเห็นว่าช่วยประชาชน แต่จริงๆ เป็นการหยิบยาพิษไปให้คนต่างหาก” 





---ล้อมกรอบ---
“โชห่วย” สันนิษฐานว่ามาจากภาษาจีนกลางในคำว่า “ชู ฮั่ว” โดยคำว่า “ชู” หมายถึง ใหญ่ๆ หรือหยาบ และ “ฮั่ว” หมายถึงสินค้า เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงมีความหมายว่า มีของขายเยอะแยะมากมาย 
ส่วนที่เพี้ยนเสียงมาเป็นคำในปัจจุบัน เป็นเพราะชาวจีนที่มาค้าขายรุ่นแรกๆ ในไทยแถบปีนัง มาเลย์ และภูเก็ต ออกเสียงว่า “โชฮ่วย” หรือ “ชุกห่วย” นั่นเอง

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สับเละ! คลิป "โชห่วย โชว์สวย" จวก รมต.ปัญญาอ่อน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดอบรม "โชว์ห่วย โชว์สวย" ที่เชียงใหม่ ไร้เงา "ณัฐวุฒิ" ร่วมงาน
ตามไปดู “โชห่วย โชว์สวย” ช่วย ‘โชห่วยไทย’ รอดตายได้จริงหรือ?
 
ลีลาเกินบรรยาย





ผู้ประกอบการร่วมด้วย



คลิปถูกลบ ยอดคน Dislike ถล่มทลาย
ร้านโชห่วย



จีฉ่อย (เดิม) ร้านโชห่วยในตำนาน


จีฉ่อย โฉมใหม่
3 ทหารเสือสาว ฟ้ากระจ่างดาว ตอนที่ 3
3 ทหารเสือสาว ฟ้ากระจ่างดาว ตอนที่ 3
ด้านสาระวารีเดินหงุดหงิดกลับมาบ่นกับมีคณาที่มุมตึก “เหยื่อเกือบติดกับดักแล้วเชียว สงสัยจะไหวตัวทัน” “ฉันไม่เห็นจะมีอะไรเลย” “เธออย่ามาออกรับแทนเค้าหน่อยเลย ไม่เห็นเรอะว่าเค้ามองตามขาอ่อนฉันจนไปนั่ง แล้วยังยิ้มให้ฉันอีก” “ก็เธอขาสวย แล้วมายืนล่ออยู่ต่อหน้า ฉันเป็นผู้หญิงก็มองเหมือนกัน แล้วสารวัตรแกเป็นคนยิ้มเก่งอยู่แล้ว ไม่เห็นจะแปลก” สาระวารีเจ็บใจมาก “เข้าข้างกันดีจริงจิ๊ง ฉันขอลองอีกที ตานี่มันตัวพ่อติดเบ็ดยากหน่อย คราวนี้ไม่พลาดแน่” “พอเถอะวารี” สาระวารีไม่สนใจ สีหน้าอยากเอาชนะ เดินกลับออกไปใหม่ มีคณาถอนใจพรวดออกมาที่เพื่อนมีอคติกับตำรวจอย่างเป็นจริงเป็นจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น