xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีสมคบคิดไทย-จีน: รถไฟและจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ประเด็นที่สังคมไทยไม่ค่อยได้พูดถึงอันเป็นผลจากการมาเยือนของนายเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายนไล่หลังประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ก็คือข้อตกลงว่าด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย เพื่อจะเชื่อมต่อเข้าเวียงจันทน์-คุนหมิงต่อไป

รถไฟความเร็วสูงสายนี้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของจีนในคาบสมุทรอาเซียน ต่อให้โอบาม่ามาทำตาหวานกับผู้นำไทยอีกสักสองรอบก็ไม่เป็นไรหากว่ามีการเดินหน้าก่อสร้างชัดเจน จีนมาไทยไล่หลังโอบาม่ารอบนี้ได้ประโยชน์กลับไปเป็นกอบเป็นกำ

ตอนที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงมุ่งแต่คะแนนภายในประเทศ ไม่ได้สนใจยุทธศาสตร์การต่างประเทศอะไรเลย จึงมีแค่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่เอาใจคนเชียงใหม่ที่เรียกร้องมานาน ผลจากการนั้นทำให้โครงการก่อสร้างรถไฟจากคุนหมิง-เวียงจันทน์ ที่รัฐบาลจีนเตรียมจะเริ่มสร้างในปลายปี 2553 ชะงักงันลงไปเพื่อรอความชัดเจนจากไทยว่าวางยุทธศาสตร์ทางรถไฟอาเซียนเส้นทางใดกันแน่ เพราะหากเดินหน้าเส้นเชียงใหม่ ก็มีความเป็นไปได้จะออกทางเชียงตุง พม่าไปเข้าจีนทางต้าล่อ-สิบสองปันนาแทน

เอกสารข่าวว่าด้วยรถไฟจีน-ลาวชะงักมีมามายครับทั้งภาษาไทยและลาว จะไม่นำมาอ้างในที่นี่ เอาเป็นว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยกระทบกับผลประโยชน์ของจีนเข้าอย่างจัง และลาวเพื่อนบ้านใกล้ชิดก็ถูกกระทบชิ่งแคนนอนเหมือนกัน

รัฐบาลเพื่อนบ้านและมหาอำนาจต่างก็รู้ดีว่า ผู้มีอำนาจตัวจริงของรัฐบาลไทยคือคนดูไบ ไม่เพียงเท่านั้นการตัดสินใจทางต่างประเทศก็ต้องเจรจากับทักษิณ รัฐมนตรีปึ้ง สุรพงษ์น่ะแค่ผู้ช่วยดำเนินการของทักษิณเท่านั้น เขาจึงเชิญทักษิณไปเยือนลาวเมื่อสงกรานต์เมษายนที่ผ่านมา

หลังจากนั้นหลังเดือนพฤษภาคม ภาพของโครงการรถไฟอาเซียนคุนหมิง-ลาว-หนองคาย-ไทย ก็เริ่มชัดเจนขึ้นมาอีกครั้ง ยิ่งลักษณ์พูดระหว่างประชุมเวิลด์อีคอนอมิคฟอรั่มภาคเอเชียตะวันออกที่กรุงเทพฯ เดือนมิถุนายนว่าไทยให้ความสำคัญกับเส้นทางรถไฟเชื่อมเวียงจันทน์-คุนหมิง พร้อมๆ กันนั้นประเทศจีนก็ได้ลงมือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟ 2 สายคือ สายเชียงใหม่และสายหนองคาย ผลการศึกษาดังกล่าวส่งถึงกระทรวงคมนาคมไทยเมื่อเดือนตุลาคม ก่อนหน้านายกรัฐมนตรีเวิน เจีย เป่ามาเยือนไทย

สรุปได้ว่าแม้รัฐบาลเพื่อไทยจะไม่ได้บรรจุโครงการทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคายไว้ในนโยบาย แต่ด้วยผลจากการทูตของพี่เบิ้มและเพื่อนบ้านผ่าน “ผู้มีบารมีนอกทำเนียบคนแดนไกล ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตัวจริง” ทำให้โครงการนี้จึงเป็นจริงขึ้นมา ตามที่จีนต้องการ แถมยังมีลูกเล่นโชว์ชาวโลกด้วยการประกาศว่าจะให้มีการประมูล (ไม่ใช่ประเคนให้จีนฟรีๆ) และยังบอกว่าให้เปิดแข่งขันอย่างโปร่งใสเป็นธรรมอีกต่างหาก (ฮา-ดีมั้ยนี่)

ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ มูลค่าก่อสร้าง เอกสารการศึกษาของจีนระบุว่า โครงการกรุงเทพฯหนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนก่อสร้าง 180,000 ล้านบาท หากสร้างถึงแค่โคราชก่อน ระยะทาง 256 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 96,826 ล้านบาท

เงินแสนล้านไม่ได้มากอะไรสำหรับประเทศไทยหรอก (เพราะจำนำข้าวก็ปาไป 3-4 แสนล้าน) ปัญหานี่เป็นโครงการที่จู่ๆ ก็เพิ่มขึ้นมาไม่ได้เตรียมไว้ก่อน หากจะกู้ต้องคิดถึงเพดานเงินกู้ของประเทศไทยเริ่มจะมีปัญหา ความเป็นไปได้ทางหนึ่งคือให้เอกชน (จีนแน่นอนอย่าหลอกตัวเองกันเลย) ลงทุนแบบ PPP ซึ่งก็จะเข้าอีกหรอบเดียวกับประเทศลาวที่ไม่มีเงินมากพอ ต้องให้จีนควักลงทุน 70% ส่วนตัวเองจ่ายเป็นค่าที่ดิน แร่ธาตุทรัพยากรไปแลกแทน อีกทางหนึ่งคือเอาสมบัติเราไปแลกเป็นแบบจีทูจี ดังจะปรากฏในข่าวสารมาก่อนหน้าว่ามีความพยายามเอาข้าวไปแลกแต่ก็ล้มเหลวไป

ผมมีความคิด (แบบส่วนตัว) ว่า ทักษิณนั้นมีความคิดแบบพ่อค้าถนัดในการเจรจามาก่อน เขาไม่น่าจะคิดเรื่องจำนำข้าวแค่ให้เสี่ยเปี๋ยงหากินหรือหาคะแนนจากชาวนาเท่านั้น

ลองสังเกตดูสิครับ น่าประหลาดใจที่โครงการหาเสียงอื่นๆ นั้นหากว่าไม่เข้าท่าทำไม่ได้จริงก็จะถอยหรือเลี่ยงบาลีไปเช่นคำประกาศยกเลิกกองทุนน้ำมันก็ไม่ยก ประกาศแจกแท็ปเล็ตถ้วนหน้ากลายเป็นนำร่อง หรือค่าแรง 300 บาทก็รอเวลาอยู่นาน..ไม่ได้เดินหน้าทะลุ่มทะลุยพุ่งชนดื้อๆ เหมือนโครงการจำนำข้าวที่แม้จะมีเสียงค้านดังแค่ไหน ป้าปู-บุญทรงก็ยังประสานเสียงเดินหน้าลุยไม่เปลี่ยนแปลง

เหมือนรัฐบาลจะได้สัญญาณจาก ฯพณฯ คนแดนไกลผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลให้เดินหน้าต่อไม่ต้องสนใจใคร ปมนี่แหละที่ต้องตีความว่ามาจากเหตุใด

หนึ่ง-ทักษิณเชื่อหมอดูใครๆ ก็รู้ หรือว่าเขาเชื่อเรื่องพิบัติโลกซึ่งจะทำให้อาหารราคาแพงพรวดกลายเป็นทองคำ

สอง-ทักษิณพลิกแพลงจำนำข้าวให้เกิดประโยชน์จากการแลกเปลี่ยน เริ่มจากเดิมเจรจาขายล็อตใหญ่ 5 ล้านตันแลกสัญญาโครงการที่จีนต้องการ ซึ่งก็คือรถไฟความเร็วสูง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เสียท่าให้กับปักกิ่ง เพราะแต่การณ์ไม่เป็นไปตามคาด ที่แน่ๆ คือรัฐบาลจีนไม่ใช่หมูให้ใครมัดมือชก การปฏิเสธว่าไม่มีสัญญาจีทูจี มีแต่ MOU รับซื้อข้าวไม่ระบุปริมาณและราคา อ่านได้ว่าปักกิ่งยื่นเงื่อนไขจะซื้อข้าวให้ก็ได้แต่ยูต้องเป็นเด็กดีให้เห็นเสียก่อน เริ่มจากแสดงให้เห็นว่าโครงการรถไฟสายหนองคายมีความคืบหน้าจริง เริ่มก่อสร้างเฟสแรกไปโคราชจริง ฯลฯ เสียก่อน ซึ่งยังไงก็ตาม ยังพอมีหวังว่าจีนจะยังเป็นแหล่งระบายข้าวที่เก็บไว้ หากแต่เพิ่มเงื่อนไขการแลกเปลี่ยนมากขึ้น

ภายใต้เงื่อนไขหากต้องระบายข้าวได้ จะต้องเป็นเด็กดีของปักกิ่งเสียก่อนดังที่กล่าว เราท่านจึงอย่าได้หวังจะเห็นรายละเอียดสัญญา ข้อตกลง เงื่อนไข ราคาขายเลย เพราะมันยังไม่เกิดและจะผันแปรไปตามสถานการณ์ต่อรองแลกเปลี่ยน ให้ลืมๆ คำที่รัฐบาลโม้ว่ามีสัญญาจีทูจีแล้วจำนวนกี่สัญญา เป็นเงินเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงทั้งสิ้น

เรื่องดังกล่าวยังบ่งบอกเราต่ออีกว่าอย่าไปเชื่อคำประกาศว่าจะมีการประมูลแข่งขันอย่างโปร่งใส จะมีการคัดเลือกเอกชนก่อสร้างทางรถไฟหรือเขื่อนกั้นอ่าวไทย หรือแม้แต่โครงการระบบน้ำ นั่นเพราะธงของรัฐบาลไทยผูกปัญหาการระบายข้าวไว้ที่การเจรจาแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ

ไปๆ มาๆ ดูเหมือนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ภายใต้การบงการของ ฯพณฯ ผู้มีบารมีต่างแดนจะปลดปัญหาระบายข้าวได้จริงจังโดยไม่ต้องเป็นเบี้ยล่างใครก็ต่อเมื่อเกิดพิบัติภัยอย่างรุนแรงระดับภูมิภาคหรือระดับโลกแล้วเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น