xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวข้ามความคิดรอทหารปฏิวัติได้แล้ว

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ผมไม่ไปร่วมม็อบ เสธ.อ้าย ..ได้แต่เชียร์อยู่หน้าจอด้วยความรู้สึกสับสนในตัวเองพอสมควรเพราะทราบดีว่าผู้ที่ไปร่วมล้วนแต่มือเปล่าเจตนาบริสุทธิ์หวังจะเห็นบ้านเมืองที่ดี แต่อีกอารมณ์หนึ่งก็กลัวว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งการชุมนุมจะเลยกรอบการเคลื่อนไหวที่รัฐธรรมนูญรับรอง ดังจะเห็นว่าในช่วงบ่ายมีการส่งเสียงเรียกร้องให้ทหารออกมาช่วยซึ่งหากเกิดมีจุดนั้นจริงเหตุการณ์จะผันแปรและบานปลายออกไป

บอกตรงๆ ก็ได้ ที่เชียร์คือเชียร์มวลชนและการแสดงออกทางการเมือง ส่วนแกนนำท่านนายพล นายพัน นาวาอากาศตรีทั้งหลายผมไม่ได้เชียร์ท่านนะครับ..ซ้ำยังกลัวว่า “เป้าปลายทาง”ที่ท่านคิดและไม่ได้ประกาศ (หรืออุบไว้) มันจะสำเร็จขึ้นมาแม้โอกาสจะมีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็เหอะ

หากทหารมาร่วมแบบฟิลิปปินส์โมเดล ก็คือ ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลมายืนข้างประชาชนในแนวทาง People Power Revolution เหตุการณ์จะยังอลหม่านพอสมควร แต่เหมือนแนวโน้มจะเอียงมาข้างรัฐบาลมากกว่าเพราะเงื่อนไขความสำเร็จขึ้นกับปริมาณผู้คนที่ออกมาแสดงตนต้องมากกว่าที่ปรากฏที่ลานพระรูป ทหารก็เป็นเสมือนกองกำลังติดอาวุธคอยป้องกันประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่กองกำลังยึดอำนาจรัฐประหาร

แต่หากเหตุบานไปถึงขั้นรัฐประหาร ทหารยกออกมาเหมือนที่เคยเป็นมาหลายๆ ครั้งก็อย่านึกว่าจะชนะง่ายๆ ดอกนะครับ เพราะครั้งนี้จะมีการประกาศตั้งกองบัญชาการรัฐบาลต่อสู้การพยายามยึดอำนาจ ที่เชียงใหม่-เชียงราย และหากกระแสแรงก็ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แล้วก็สู้กันเลือดนองท้องช้าง

ผมเชื่อมาตั้งแต่ก่อนชุมนุมว่าอย่างเก่งคงได้แค่จัดชุมนุม 2 วัน ไม่เชื่อหรอกจะมีทหารบ้าจี้ออกมาปฏิวัติเหมือนที่คนอีกหลายคนเชื่อ ก็ได้แต่อนุโมทนาให้กับเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เขาอึดอัดอยากแสดงออกให้ไปแสดงความรู้สึกภายใต้กรอบที่กฎหมายรับรอง คิดว่ายังไงยกนี้ก็ล้มรัฐบาลไม่ได้อยู่แล้ว และวิธีการใช้ทหารปฏิวัตินั้นล้าสมัยไม่ใช่ทางออกแต่ที่ไม่พูดไม่เขียนวิจารณ์ออกมาเพราะไม่อยากถูกครหาว่าเป็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ทำลายน้ำใจคนที่ไปโดยบริสุทธิ์... โดยรวมก็เห็นว่าก็ดีที่ประชาชนได้มีพื้นที่ระบายออกเหมือนน้ำในกาที่กำลังเดือดควรจะมีช่องระบายบ้าง ขอแค่ทหารไม่ออกเป็นใช้ได้

แต่สิ่งที่ไม่คาดเลยคือการปฏิบัติของตำรวจที่ส่อเจตนาชัดเจนว่าต้องการให้เกิดเรื่อง ไม่ว่าการวางกำลังและเตรียมยุทธวิธีแบบยาแรงเกินเหตุ ตอนเช้าที่มัฆวานไม่ควรเกิดเลยเพราะผู้ชุมนุมไม่มีเจตนายึดพื้นที่ถนนราชดำเนิน เขาแค่ต้องการข้ามไปสมทบกับเวทีใหญ่ที่ลานพระรูปแต่รัฐก็หาเหตุเพื่อจะตื้บคนเล่น และดูเหมือนรัฐวางแผนจับคนเพื่อเป็นตัวประกันเอาไว้สำหรับต่อรองในสถานการณ์ถัดๆ ไปด้วยซ้ำ

เมื่อ เสธ.อ้ายประกาศยกเลิกชุมนุมตอน 5 โมงเย็นผมจึงอนุโมทนาสาธุอย่างยิ่ง เห็นด้วยเต็มกำลังเพราะนี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด ผู้นำม็อบที่เล็งความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นสำคัญควรแก่การคารวะ เพราะที่เห็นๆ ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้มีแต่แกนนำกระหายเลือด แกนนำแห่ศพ ที่น่าขยะแขยง

ผมไม่รู้ว่าในสังคมไทยยังมีผู้ที่หวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยทหารถือปืนยึดอำนาจอยู่มากน้อยแค่ไหน ขอให้ท่านเหล่านั้นทราบว่าแนวทางดังกล่าวมันตีบตันลงเรื่อยๆ โลกยุคใหม่ไม่อนุญาตให้ทำ อาจจะยกเว้นกรณีเกิดสถานการณ์พิเศษจริงๆ ขนาดว่าเกิดหายนะภัยน้ำท่วมโลก แผ่นดินไหวระบบของประเทศมันไม่เดิน เหตุการณ์พิเศษแบบนี้แหละครับที่อนุญาตให้รัฐใช้อำนาจพิเศษแบบกำปั้นเหล็กมาจัดการซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการต่อสู้ทางการเมืองแบบที่กำลังกล่าวถึง

ถามว่า แล้วเมืองไทยจะไม่มีทางออกจากระบอบเผด็จการทุนสามานย์โดยใช้ประชาธิปไตยบังหน้าเลยหรือ ? คำตอบคือถ้าผลการทำงานเละเทะมันแสดงออกมาแบบปิดไม่อยู่ไม่ว่าเรื่องจำนำข้าว หรือเรื่องอื่นๆ คนตาสว่างขึ้นก็จะไม่เลือกเอง หรือหากประชาชนเห็นว่าระบบปัจจุบันต่อให้เปลี่ยนขั้วเอาพรรคการเมืองอีกพรรคมาบริหารมันก็ไม่ไปไหนวนเวียนภายใต้ระบบรัฐสภาที่แยกห่างออกจากประโยชน์ประชาชน ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ขึ้นมาสักครั้งในอนาคต

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นประชาชนต้องเข้มแข็งเสียก่อน !

ประชาชนเข้มแข็งตีความกว้างคือทั้งปริมาณ คุณ ภาพ และจุดยืนในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี !!

คือนอกจากมีประชาชนที่ติดตามข่าวสารรอบรู้เท่าทันเหตุการณ์และที่สำคัญต้อง “วางตัวเองอยู่บนสถานะที่ถูกต้อง” เสียก่อน

นึกถึงคืนวันที่ 24 หลังเสธ.อ้ายยกเลิกชุมนุม ส.ว.คำนูณ สิทธิสมานโฟนอินเข้ามารายการคุณเติมศักดิ์ ASTV วิจารณ์เหตุการณ์ม็อบเสธ.อ้าย ความโดยสรุปคือ การเอาชนะรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือระบอบทักษิณ ต้อง “เอาชนะทางการเมือง”เสียก่อน

อธิบายว่าธงที่ทางฝ่ายเสธ.อ้ายชูขึ้นมาก่อนการชุมนุมคือแช่แข็งนักการเมืองและความไม่ชัดเจนในแนวทางต่อไปเสียเปรียบทางการเมืองมาตั้งแต่ต้น พูดให้ชัดคือทำให้อึมครึมเหมือนจะมีทหารออกมารัฐประหารนั้นน่ะไม่ได้เปรียบในทางการเมือง

สิ่งที่ประชาชนอย่างเราท่านควรทำจากนี้ไปคือช่วงชิงและสร้างโอกาสเพื่อให้เกิดความ “ได้เปรียบทางการเมือง” สมมติหากเกิดเหตุการณ์พิเศษใดๆ จากนี้ไปก็เช่น ประชาชนจะมีข้อเสนอที่เหนือกว่าและโดนใจกว่าในทางยุทธศาสตร์การต่อสู้ อย่างเช่น การแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียม ที่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์ไม่เสียเปรียบต่างชาติ หรือ แก้กฎหมายเอาผิดเรื่องเอาผิดคดีคอรัปชั่นโดยไม่มีอายุความ ฯลฯ
ผมคิดว่า การเอาชนะทางการเมืองยังอาจจะหมายถึงยุทธศาสตร์-การวางตำแหน่งของขบวนการประชาชนให้ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่รับรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวาง ว่าคือ

** เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันมีผลจากผู้กุมอำนาจรัฐ อำนาจเศรษฐกิจ เอาเปรียบ เหลื่อมล้ำ

**เป็นเรื่องทำให้สังคมทั้งภายในและโลกภายนอกมองเห็นได้ชัดเจนว่า ฝ่ายที่ก้าวหน้า ขับไล่ ฝ่ายล้าหลัง

**เป็นเรื่องของการพยายามสถาปนาความถูกต้อง-ชอบธรรมอันเป็น “ระบบใหม่” ที่ถูกปฏิเสธมายาวนานภายใต้ “ระบบ” ดั้งเดิมที่ฝ่ายกุมอำนาจบงการได้ ยกตัวอย่าง ระบบภาษี ระบบการจัดการพลังงานและทรัพยากรส่วนรวม ระบบความยุติธรรมและจัดการกับความฉ้อฉล ฯลฯ

** เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนขบวนการที่อิงค่านิยมสากลที่ทั่วโลกยอมรับ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ธรรมาภิบาล ความถูกต้องชอบธรรม และ เท่าเทียม

การชูธงปฎิรูปที่เริ่มมีการก่อตัวของขบวนการผลักดันประเด็นแยกย่อย เช่น การพลังงาน การกระจายการถือครองที่ดิน การกระจายอำนาจ และต่อไปอาจจะมีเรื่องอื่นๆ เช่นการเกษตรสีเขียว เกษตรอินทรีย์ มาตรฐานสุขภาพที่มีรูปธรรมเปรียบเทียบความแตกต่างของระบบเดิมที่เป็นอยู่ ล้วนแต่เป็นหน่อเชื้อของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงคุณภาพทั้งสิ้น

สลัดหลุดจากความคิดรอทหารตบเท้าได้แล้วครับ (สำหรับบางท่านที่ยังคิดแบบนั้นอยู่) พลังของประชาชนฝ่ายก้าวหน้า พลังของแนวคิดปฏิรูปต่างหากคือคำตอบ.
กำลังโหลดความคิดเห็น