xs
xsm
sm
md
lg

“มันอยู่ได้ให้มันอยู่ไป ยิงเข้าไปๆ เดินเข้าไป ลุยเข้าไป” ความจริง ในคำพิพากษาคดี 7 ตุลาฯ

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฏหมาย

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า คำสั่ง “สตช.-สำนักนายกฯ” สลายชุมนุมพันธมิตรฯ 7 ต.ค. 51 มิชอบ ชี้ละเมิดไม่ปฏิบัติตามหลักสากล ยิงอาวุธร้ายแรงใส่ประชาชน ยิงใส่รถพยาบาล ไม่เตรียมช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บ มีผลต่อร่างกายร้ายแรง เห็นสอดคล้อง ป.ป.ช.-กสม.ที่ระบุ "สมชาย-ชวลิต -พัชรวาท" กระทำผิดฐานเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรอง สั่งชดเชยกว่า 32 ล้านบาท

น่าสนใจมากครับ คดีนี้มีผู้ฟ้องคดีจำนวนมากถึงสองร้อยห้าสิบคน ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดสำเนาคำพิพากษาทั้งหมดได้จากเว็บไซต์ คำพิพากษาทั้งหมดมีความยาว 84 หน้า เป็นคำพิพากษา ศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1569/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ 1862/2555 เมื่อ วันที่ 5 ตุลาคม 2555

ผู้ถูกฟ้องคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคนฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคนเป็นประชาชนผู้มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองโดนสงบและปราศจากอาวุธตามสิทธิที่ได้รับการรับรองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 (หน้า 11)

โดยเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลลาคม 2551 ขณะผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคนร่วมชุมนุมอยู่บริเวณรอบรัฐสภา ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา วัตถุระเบิด อาวุธสงครามและอาวุธอื่นๆยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ประชาชนบางรายเสียชีวิต และประชาชนจำนวนมากรวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคนได้รับความเสียหายแก่ร่างกายและทรัพย์สิน(หน้า 12)

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามมาตรา ข้อเท็จจริงทั้งรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิต คำให้การของสื่อมวลชน และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ ได้ให้ถ้อยคำที่สอดคล้องตรงกันว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 นับแต่เวลา 05.00 –24.00 น.ได้นำอาวุธปืน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้นำอาวุธปืน วัตถุระเบิดชนิดต่างๆอันมีอันตรายโดยสภาพมาใช้ในการสลายการชุมนุมโดยมิได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานของสากล(หน้า 61)

การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการกระทำโดยจงใจ กระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม

คำพิพากษาระบุว่า66 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด ของนายสมชายฯ พลเอกชวลิตฯและพลตำรวจเอกพัชรวาทฯจึงต้องรับผิดชอบในผลแห่งการละเมิดอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (หน้า 66)

เจือสมกับข้อเท็จจริงชองปปช.สอบสวนและมีความเห็นว่านายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายกู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบสวนและมีความเห็นว่า บุคคลทั้งสามกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส(หน้า 67)ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา และละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิด (หน้า 67-68) ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคน รวม 32 ล้านบาท

คำพิพากษาในคดีนี้ แม้จะใช้เวลารอคอยกันมานานถึงสี่ปี แต่อย่างน้อยประชาชนยังเห็นได้ว่า กระบวนยุติธรรมในสังคมไทย ยังมีคนดี ยังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่บ้าง แม้จะจุดเล็กๆ แต่ก็เป็นฐานสำคัญสำหรับการต่อสู้คดีต่อเนื่องที่ต่อเนื่องกับคดี 7 ตุลาฯต่อไป

ในคำพิพากษาคดีนี้ มีรายละเอียดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมอย่างละเอียด เชื่อมโยงกับสถานการณ์การเมืองที่นำไปสู่เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ จากพยานหลักฐางทางวัตถุจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาวุธ แก๊สน้ำตา และระเบิดที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม รายงานทางนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์ การพิสูจน์ชันสูตรผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของแพทย์ และการให้ถ้อยคำจากพยานบุคคลทั้งผู้ร่วมชุมนุมและสื่อมวลชนอีกมากมาย

ผมว่าการฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง คดีที่มีผู้ฟ้องจำนวนมากถึงสองร้อยห้าสิบคน การดำเนินงานกว่าจะลุล่วง ใช้เวลาถึงสี่ปี จึงบรรลุผลได้ในวันนี้ ก็ด้วยความสามารถ จุดยืนที่มั่นคง ความจริงใจ ทำงานอย่างเสียสละจริงจังของทนายความของพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความทุกท่านและทีมงาน ต้องขอขอบพระคุณและคารวะทุกท่าน ท่านทำให้ประชาชนที่ต่อสู้ร่วมกับพันธมิตรอุ่นใจเสมอ และต้องขอบคุณพี่น้องพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ที่เสียสละร่วมมือกันฝ่าฝันมาตลอดสี่ปีจนถึงวันนี้

คำพิพากษาของศาลปกครองกลางครั้งนี้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามรายงานของปปช.และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ในกรณีเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลา ว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำต่อประชาชนอย่างเหี้ยมโหด จิตใจที่ไร้มนุษยธรรม วาจาเลวทราม

ภาพเหตุการณ์ที่สื่อกระแสหลักไม่เคยถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับรู้ คำพูดของสัตว์ในเครื่องแบบที่พูดกับประชาชนผู้ร่วมชุมนุมขณะระดมยิงและขว้างเข้าใส่ ได้ถูกบันทึกไว้ในคำพิพากษาอย่างเช่น”มึงอยากเสือกนัก”

เมื่อลุยผ่านผู้บาดเจ็บ นอกจากไม่ช่วยเหลือ แล้ว ฆาตกรในเครื่องแบบยังเหี้ยม ”มันอยู่ได้ให้มันอยู่ไป ยิงเข้าไปๆ เดินเข้าไป ลุยเข้าไป” หรือ “บาดแผลแค่นี้ไม่ตายหรอก”

หนำซ้ำหากเจ้าหน้าที่คนใดจะเข้าช่วยเหลือ นายตำรวจที่ถือเครื่องขยายเสียงจะพูดข่มขู่ ” นายตำรวจ คุณมีหน้าที่เคลียร์ถนน ปล่อยทุกอย่าง วางทุกอย่าง เคลียร์ถนน” เมื่อมีตำรวจชั้นผู้น้อยพยายามช่วยผู้บาดเจ็บยังถูกสำทับต่อ “นายตำรวจคุณมีหน้าที่เคลียร์ถนน อยากลองกับผมหรือ”( หน้า 56 และ 62)

คำพิพากษาฉบับนี้จะเป็นอีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ได้บันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาฯเอาไว้ เป็นบทเรียนของสังคมไทย เป็นข้อเตือนใจสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งเจ้าหน้าที่ระดับล่างเจ้าหน้าที่ที่มีจิตใจดีบางคน สำหรับเจ้าหน้าที่เลวๆความคิดพฤติกรรมเหี้ยมโหดที่กระทำกับประชาชนคนดีๆผู้รักชาติบ้านเมือง ขอให้รับรู้เถิดว่า ความชั่วของพวกคุณ ไม่มีวันเก็บซุกซ่อนปิดบังอำพรางไว้ได้

ความชั่วช้าเลวทรามของพวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง ผู้มีอำนาจสั่งการ ออกคำสั่งในการสลายการชุมนุม อย่างสมชาย ชวลิต พัชรวาท และลิ่วล้อ จะต้องถูกเปิดเผยออกมาให้หมดเปลือก และพวกเขาจะต้องได้รับโทษทัณฑ์

ชุมนุมทางการเมืองแทบทุกครั้ง มักมีเหตุการณ์การใช้กำลังความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน ผู้มีอำนาจรัฐควรพิจรณาควรคำนึงถึงสิทธิของประชาชนในการชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติปราศจากอาวุธ และในการแสดงความคิดเห็น แม้จะมาจากคนที่มีความคิดที่แตกต่างกันกับนักการเมืองผู้มีอำนาจ

จริงๆแล้วการที่คนเรามีความคิดเห็นแตกต่างกันนั้นเป็นสีสันของประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่น่าดีใจมากกว่าน่ารังเกียจ เมื่อไรสังคมไทยจะก้าวข้ามพ้นเส้นขีดแบ่งนี้เสียที

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นหนึ่งเท่านั้น ประชาชนยังต้องสามัคคีร่วมมือกันเดินหน้าต่อไปเพื่อความเป็นธรรม ถึงจะเหนื่อยยาก แต่ก็น่าภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการบันทึกประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น