ป.ป.ช.ฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ชี้ “สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท” สั่งสลายการชุมนุม 7 ต.ค. 51 ทำเกินกว่าเหตุ หลังอัยการพิจารณาไม่ส่งฟ้องศาล “วิชา” เตรียมประสานสภาทนายความ ขอตัวทนายความทำสำนวน
วันนี้ (9 ต.ค.) นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาไม่ส่งฟ้องศาล และได้ตีกลับสำนวนคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่รัฐสภา วันที่ 7 ต.ค. 2551 ซึ่ง ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดไปว่า ล่าสุดที่ประชุม ป.ป.ช.ได้มีมติให้ประสานกับสภาทนายความ เพื่อสนับสนุนทนายความในการทำสำนวนเพื่อฟ้องต่อศาลเอง โดยได้มีการส่งชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่มาแล้ว และอยู่ในระหว่างนัดหมายทางทนายความเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของสำนวน คาดว่าในเร็วๆ นี้ ป.ป.ช.จะสามารถส่งฟ้องต่อศาลได้
อีกด้านหนึ่ง เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงแถลงความคืบหน้าของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 โดยมีใจความว่า จากการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 52 และได้พิจารณาสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพวก สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตํารวจใช้อาวุธปราบปรามประชาชนที่กําลังชุมนุมโดยปราศจากอาวุธบริเวณ หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 เป็นเหตุให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางอาญานายสมชาย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายรักษาความมั่นคง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการนครบาล ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 70 ต่อไปนั้น
อัยการสูงสุด ได้พิจารณาสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้วเห็นว่า มีข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะฟ้องคดีได้ จึงได้มีหนังสือแจ้งข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดําเนินคดีอาญาในเรื่องดังกล่าวมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ ในการนี้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้แต่งตั้งคณะทํางานผู้แทนร่วมกันเพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์และรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งหลังจากที่คณะทำงานรวบรวมข้อมูลแล้ว คณะทำงานผู้แทนอัยการสูงสุดจึงมีความเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 เป็นไปตามขั้นตอนและเป็นการใช้ดุลพินิจในการควบคุมสถานการณ์ที่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้วไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริตจึงเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 กระทําผิดตามข้อกล่าวหา จึงเห็นควรไม่ดําเนินคดีฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ตามที่ถูกกล่าวหา
ส่วนคณะทํางานผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนตามฐานความผิดและบทมาตราที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่คณะทํางานของทั้งสองฝ่ายไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 11 คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีอํานาจยื่นฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 11 วรรคสอง
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง ได้มีคําพิพากษาในคดีหมายเลขดําที่ 1569/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 1862/2555 วันที่ 5 ตุลาคม 2555 คดีระหว่างผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 รวม 250 คน ผู้ฟ้องคดี สํานักงานตํารวจแห่งชาติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สํานักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยศาลปกครองกลางได้มีคําพิพากษา ตอนหนึ่งว่า “การปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายหากเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กระทําตามคําสั่ง พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.อ. ชวลิต ภายใต้แผนกรกฎ 48 เมื่อเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัยของผู้ร่วมชุมนุม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของนายสมชาย พล.อ.ชวลิต และพล.ต.อ.พัชรวาท จึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดอันเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ตํารวจ โดยเฉพาะเมื่อพิเคราะห์ถึงการสลายการชุมนุมซึ่งเกิดรวม 4 ครั้ง ทั้งการที่นายสมชายแถลงนโยบายในรัฐสภาทั้งที่มีการสลายการชุมนุมอยู่บริเวณหน้ารัฐสภาทำให้ประชาชนบาดเจ็บ แต่นายสมชายไม่ให้ความใส่ใจ และแม้ว่าการประชุมแล้วเสร็จแล้วแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงใช้กําลังและอาวุธสลายการชุมนุมเป็นครั้งที่ 2-4 แต่บุคคลทั้ง 3 กลับมิได้สนใจใยดีหรือสั่งห้ามการกระทําอันละเมิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบสวน มีความเห็นว่า บุคคลทั้ง 3 กระทําผิด ฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา และละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องรับผิดในผลแห่งการกระทําละเมิดตามที่นายสมชาย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพล.ต.อ.พัชรวาท สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตํารวจปฏิบัติการเพื่อสลายการชุมนุมตามขั้นตอนแผนกรกฎ/48 แต่เป็นการกระทําเกินกว่าเหตุ ดังได้วินิจฉัยมาโดยลําดับ อันเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 มาตรา 10 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539”
ดังนั้น ในส่วนของการดําเนินคดีอาญา สํานักงาน ป.ป.ช.จะได้เร่งรัดในการติดต่อประสานงานให้สภาทนายความเสนอรายชื่อทนายความซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และมีความซื่อสัตย์ สุจริตให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแต่งตั้งเพื่อฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองโดยเร็วต่อไป