xs
xsm
sm
md
lg

1 ปีรัฐบาลเพื่อไทย – ถึงจุดเริ่มเสื่อมโดยตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

รัฐบาลเพื่อไทยผ่านระยะทำงานครบ 1 ปีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแต่จนบัดนี้ยังไม่ได้แถลงผลงานอย่างเป็นทางการได้แต่เพียงเงื้อง่าราคาแพง แต่ก็ดูเหมือนตัวเลขความล้มเหลวต่างๆ ได้ถูกนำเสนอไปล่วงหน้าก่อนแล้ว

การพลาดเป้าหมายจัดเก็บรายได้ พลาดเป้าหมายส่งออกจนเป็นผลให้เกิด White Lie แก้ตัวของ รมว.คลัง หรือกระทั่งนโยบายเร่งด่วนที่เคยแถลงต่อรัฐสภาก็ทำไม่ได้ตามนั้น ยิ่งย้อนไปดูที่เคยตากฝนปราศรัยหาเสียงยิ่งแล้วใหญ่เพราะบางเรื่องถึงขั้นโกหกซึ่งหน้าเช่นคำประกาศยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือเรื่องเขตปกครองตนเองนครปัตตานี รวมไปถึงเรื่องโจ๊กๆ เช่นจะสังคายนาพระพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลกเชิญคนทั่วโลกมานั่งสมาธิ ฯลฯ

อำนาจเป็นบ่อเกิดของความเสื่อม เวลาช่วยให้คนจำนวนหนึ่งตาสว่างกับพรรคเพื่อไทยที่เป็นความหวังของมวลชนคนเสื้อแดงว่าที่แท้มันก็คือพรรคของนักเลือกตั้งธรรมดาไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มเลือกตั้งอื่นๆ เลย ขนาดที่ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความ “อนาคตทางการเมืองของคนเสื้อแดง” ลงในมติชน ตั้งคำถามถึงคนเสื้อแดงว่าพรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ดีของคนเสื้อแดงอยู่หรือไม่เพราะผลงานที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าอยู่ไปก็เพื่ออำนาจของตนเองและกลุ่มแล้วก็ทิ้งท้ายทำนองว่า คนเสื้อแดงจะกำหนดบทบาทการเมืองของกลุ่มอย่างไรเช่น ไปสนุนพรรคอื่น ไปตั้งพรรคการเมืองของตนเอง หรือหาทางควบคุมพรรคเพื่อไทยให้มากขึ้นเช่นกดดันให้เกิดระบบไพรมารี่ขึ้นในพรรค

ไม่ใช่แค่อาจารย์นิธิหรอกครับ ถ้ายังจำได้นักวิชาการที่อึดอัดกับท่วงทำนองเดินของพรรคเพื่อไทยที่ได้แสดงออกมาก่อนหน้าคือ เกษียร เตชะพีระ นี่คือตัวอย่างในสายวิชาการ และเมื่อมาดูสถานการณ์การเมืองจริง การเลือกตั้งซ่อม ส.ก.ที่เขตดอนเมืองซึ่งเป็นพื้นที่แดงเข้มมาก่อนสะท้อนอะไรบางอย่างได้พอสมควร นี่จึงมีผลต่อวงประชุมคัดเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.ของพรรคเพื่อไทยที่ยังต้องยื้อไปก่อน เพราะหากแพ้รอบนี้มีผลโยงถึงอนาคตเลือกตั้งใหญ่ด้วยซ้ำ

ก่อนหน้านี้สัก 1 ปีพรรคเพื่อไทยมีกิจกรรมอะไรไม่ต้องเกณฑ์คนหรอกมวลชนแดงจะแห่แหนไปกันมาตอนนี้เริ่มซาลง เอาล่ะมีบ้างที่ไปเที่ยวยกป้ายไล่อภิสิทธิ์แต่จำนวนก็น้อยลงมากเอาเป็นว่าเหลือแต่แดงเข้มฮาร์ดคอร์เข้าไส้จริงๆ ส่วนระดับชาวบ้านร้านตลาดจริงๆ ต่างวุ่นวายกับการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องต่อสู้กับเศรษฐกิจกันไป แม้จะผิดหวังกับรัฐบาลบ้างแต่ก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าเพราะถือว่าปชป.เป็นศัตรูถาวรไปแล้ว ชาวบ้านจริงๆ น่ะเขาหวังว่ายิ่งลักษณ์จะเหมือนพี่ชายที่นำความอู้ฟู่มีอะไรแปลกใหม่มาให้ แล้วค่อยเข้าใจกันเองว่านามสกุลชินวัตรมีทั้งเก่งทั้งไม่เก่ง มีทั้งฉลาดมีทั้งโง่

หม่อมปลื้ม - ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล นี่ก็อีกคนไปอภิปรายที่ข่าวสด บอกว่าการที่คนเลือกเพื่อไทยเนื่องจากไม่มีพรรคอื่นที่ดีกว่าอีกแล้ว แต่ก็ออกตัวตีกรรเชียงว่า “หากพิจารณาดูแล้วประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไร เพราะเขาก็ไม่ได้ทำตามที่ประชาชนต้องการ หรือทำตามที่ประชาชนเรียกร้อง เช่น กระทรวงไอซีทีในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์กับรัฐบาลเพื่อไทยก็ยังคงบล๊อกหรือปิดกั้นเว็บไซต์จำนวนมากเท่าๆ กัน อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ประชาชนควรจะเปลี่ยนโจทย์จากการรอพรรคการเมือง หรือรอรัฐบาลทำในสิ่งที่คุณต้องการ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะรัฐบาลทำเพื่อให้ตนเองอยู่รอดมากกว่าความต้องการประชาชน”

พูดให้ชัดขึ้นหม่อมปลื้มคงจะหมายว่า คนเสื้อแดงเอยรัฐบาลเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์แท้จริงแล้วไม่ได้แตกต่างกันหรอก อย่ารอสิ่งที่รัฐบาลประเคนให้เลยเพราะมันไม่เป็นจริง

จะว่าไป 1 ปีของรัฐบาลทำงานมาย่อมมากพอที่จะเห็นอะไรๆ ได้ชัดขึ้น ใครบ้าอำนาจ ใครเหิมอำนาจ ใครทำอะไรไม่ดีไว้ หรือใครไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยก็ได้เห็นกันตอนนี้ เสียงวิจารณ์จากคนที่เคย “รู้สึกดี” กับรัฐบาลน่ะบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง แต่ที่แน่ๆ เมื่อประกอบกับตัวเลขประกอบการ และประกอบการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมครั้งโน่นทีนี่ มันแสดงให้เห็นถึง “ความเสื่อม” ในตัวรัฐบาลออกมา

คนที่มีทฤษฎีมองโลกการเมืองแบบการแย่งชิงอำนาจจะมองแค่เพียงว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ? ปชป.จะโค่นรัฐบาลได้หรือไม่ หรือจะพลิกกลับสู่อำนาจหรือไม่ ? กระแนะกระแหนว่า มีคนทนไม่ได้ที่เห็นรัฐบาลยังเดินหน้าอยู่ในอำนาจ ทุรนทุรายเพราะทำอะไรไม่ได้ โค่นล้มเขาก็ไม่ได้ คนคิดและมองแบบนี้เยอะนะ อย่าง “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ชื่อดังก็มีกรอบการมองลักษณะนี้เป็นหลัก

สายตาของคนที่มองโลกการเมืองแบบนี้ ก็คล้ายกับอุปมาว่า สังคมนี้มีแต่เรื่องหมากัดกันเพื่อแย่งกระดูกท่อนเดียว ที่เหลือมีแต่กองเชียร์รวมทั้งพรรคพวกของหมา ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วสังคมการเมืองแบบหมาๆ ยังมีทั้งพวกที่ไม่สนใจหมาสองตัวกัดกัน ไม่ได้สังกัดกองเชียร์ถือหาง บ้างก็ไปคุ้ยหาถังขยะหากินเองไม่รอเศษกระดูกจากตัวที่ชนะ แล้วก็พวกยืนมองความสนุกจากวงนอก

ผมไม่เห็นด้วยกับ นิธิ-ใบตองแห้ง

ผมรู้ว่าอาจารย์นิธิมีความเข้าใจเรื่องโครงสร้างสังคมประชาธิปไตยเรื่องประชาสังคมและพลังของภาคประชาชนฯลฯ แต่ข้อเสนอของอาจารย์นิธิในบทความเรื่อง “อนาคตทางการเมืองของคนเสื้อแดง” กลับยังอยู่ในกรอบของการทำการเมืองแบบในกรอบ คือยังไม่หนีทฤษฎีหมากัดกัน โดยยุให้กองเชียร์เข้าแทรกแซงกลวิธีการกัด โดยนัยก็คือหวังให้กองเชียร์อยู่ในเกมแย่งชิงกระดูกต่อโดยมีแนวทางเลือกไว้ 3 แนวทางเท่านั้น คือ 1.ไปเชียร์หมาตรงข้าม 2.ตั้งตัวเป็นนักกีฬาหมาลงไปกัดแย่งกระดูกเอง 3.ใช้ฐานะกองเชียร์แทรกแซงกระบวนท่าการกัดของนักกีฬาหมา

ผมจึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ/แนวทาง/มุมมอง แบบทั้งใบตองแห้ง และแบบอาจารย์นิธิ เพราะโดยหลักแล้วการมีบทบาททางการเมืองของประชาชนหรือกลุ่มชนนั้นมีมากกว่าการเป็นกองเชียร์ กองหนุน หรือผู้เล่นเอง และที่สำคัญอาจไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์กระดูกก้อนโตก้อนนั้นก็ได้ ขอเพียงแต่จ่าฝูงผู้ชนะ(หรือกองเชียร์สาวกหมา) อย่าได้มารังควานพื้นที่หากินหรือรังแกกัน(เกินเหตุ)ก็พอ

สังคมไทยเราติดกับลัทธิเลือกตั้งมากไปหรือเปล่า มากจนเหมือนกับกองเชียร์กีฬาสี พอตัวเองชนะก็ไชโยโห่ฮิ้วบอกพวกแพ้อย่าสะเออะพูด พอวิจารณ์อะไรทีก็อ้างแต่ว่าพวกขี้แพ้อิจฉาฝ่ายชนะ อเมริกากำลังหาเสียงชิงประธานาธิบดีปลายปีนี้อย่างเข้มข้น เชื่อไหมครับว่า โดยทั่วไปประชากรอเมริกันที่มีสิทธิ์เกือบครึ่งไม่ไปใช้สิทธิ์ อย่างเมื่อปี 2008 ที่ถือว่ามีคนมาลงคะแนนมากแล้วยังมีแค่ 54% เท่านั้น ตัวเลขการลงคะแนนของอเมริกาบอกเล่าความเป็นสังคมประชาธิปไตยตามความหมายแบบที่โลกเขายอมรับกันได้ดีพอสมควร

อเมริกามีประชากร 299,398,484 คน ตีว่า 300 ล้านกลมๆ ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน( 18 ปีขึ้นไป)จำนวน 225,746,457 คน และที่ไปลงคะแนนเมื่อรอบที่แล้วมีแค่ 122,394,724 คนเท่านั้น (54%)

ถามว่าคนที่ไม่ไปใช้สิทธิ์ 100 กว่าล้านคนที่เหลือได้รับสิทธิเสรีภาพและการบริการของรัฐน้อยกว่าผู้ลงคะแนน หรือน้อยกว่าพวกเดโมแครตที่เป็นฝ่ายชนะหรือไม่ ? ตอบว่าไม่ เพราะต่อให้เลือกหรือไม่ไปเลือกเขาก็ได้รับประกันสิทธิและบริการตามนโยบายรัฐเท่าเทียมกัน

ไม่เพียงเท่านั้นการเลือกตั้งทุกครั้ง ผู้สมัครทั้งสองฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจหรือที่เรียกว่า Swing Vote อย่างสูง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ และเป็นตัวชี้วัดแพ้ชนะ

ลำพังสาวกดั้งเดิมที่เตรียมหย่อนบัตรให้ตั้งแต่ต้นประเภทเดโมแครตจ๋า หรือ รีพับลิกันจ๋าน่ะมี แต่ไม่พอ แต่ละฝ่ายจึงต้องงัดกลยุทธ์มาสู่ตลาดเป้าหมายกลุ่มย่อยประเภทที่ยังลังเลอยู่เป็นสำคัญ โอบาม่าเคยได้เสียงคนเชื้อสายลาตินหรือฮิสปันนิกและอาเชียนอเมริกันมาก รอบนี้ก็ยังเน้นเช่นเอานายกเทศมนตรีฮิสปันนิกหนุ่ม Julian Castro จาก San Antonio, Texas มาปราศรัย เป็นต้น พวกสวิงโหวตมีมากมาย ไม่เฉพาะที่เป็นกลางจัดเท่านั้นหรอก liberal Republicans หรือ conservative Democrats ก็มี

คนเหล่านี้รอดูนโยบายที่เป็นประโยชน์กับตัวเขา หรือกลุ่มของเขามีพลังกดดันและต่อรองพอสมควร ยิ่งการแข่งขันสูสีเท่าใดพรรคการเมืองยิ่งต้องตามง้อกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยกลุ่มเชื้อสายสีผิว ฯลฯ มากเท่านั้น สมมติความตามทฤษฎีหมากัดกัน คนเหล่านี้ย่อมไม่ใช่หมากองเชียร์ หมาไปแทรกแซงกลวิธีหรือต่อรอง Primary หากเป็นสมาชิกในสังคมหมาด้วยกันนี่แหละแต่เลือกวิธีไม่เชียร์ ไม่ช่วย รวมกลุ่มกันเป็นอิสระจากกลุ่มที่กำลังแย่งกระดูก เป็นสำคัญ

การเลือกตั้งปีที่แล้วของไทยเป็นช่วงเสื้อสีแดงกำลังพุ่งเลยได้ชัยชนะถล่มทลายไป แต่คนชนะอย่าได้เที่ยวชี้หน้าว่าพวกที่ไม่ชอบรัฐบาลจ้องจะล้มรัฐบาลประสาพวกอิจฉา ทุรนทุรายทนไม่ได้นะครับ เพราะสังคมไทยไม่ได้มีแค่ถ้าไม่ใช่เสื้อแดงก็เป็นฝ่ายตรงกันข้าม โดยเฉพาะการเหมาว่าถ้าด่าแบบนี้คือพวกโค่นรัฐบาลแน่แล้ว

ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดคือผมเอง ! ผมคนนึงล่ะที่ประกาศล่วงหน้าว่าไม่เลือกใคร ไม่เชียร์ไม่ชอบยิ่งลักษณ์แต่ก็ไม่เลือก ปชป. แล้วก็เล็งผลอยู่ว่ายังไงยิ่งลักษณ์คงชนะ หวังเพียงลึกๆ ว่าคงต้องใช้เวลาสักพักเพื่อพิสูจน์ว่า “ชินวัตร” นั้นไม่ได้บันดาลความสุขความมั่งคั่งเป็นผู้นำอัจฉริยะในฝันอย่างที่หลายคนคิด

ถ้าคิดเทียบแค่ว่า มีรัฐบาลเพื่อไทย มีฝ่ายค้านปชป.ที่ป้อแป้ทำอะไรไม่ได้ แล้วก็มีทหารที่ไม่สามารถรัฐประหารได้อีก คือความเข้มแข็งของพรรคเพื่อไทย ผมคิดว่าความคิดแบบนี้ไม่ถูกหรอก นั่นเพราะขาดการมองปัจจัยที่สำคัญที่สุดไปตัวนึงนั่นก็คือ ประชาชนและกระแสสังคม

จากจุดเสื่อมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงจุดกำเนิดพลังประชาชนที่เป็นอิสระ?

ในอนาคตอันใกล้ หรืออาจจะหลายๆ ปี ที่สุดแล้วสังคมไทยจะปรับตัวจากสังคมเสื้อสองสีหรือสามสีอย่างแน่นอน ซึ่งหากเปรียบกับพัฒนาการทางการเมืองของสังคมต่างประเทศอาจจะไปสู่กลุ่มก้อนหลากหลายที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Interest Group รวมกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยกลุ่มประชาสังคม เคลื่อนไหวผลักดันแนวคิดของตนได้ก็ทำไป เลือกที่จะหนุน จะไม่หนุน จะเป็นมิตร หรือไม่เป็นมิตรกับพรรคการเมืองอย่างอิสระ นี่ต่างหากคือการต่อรองที่พลังที่แท้จริงของประชาชนที่เป็นไปได้จริงของสังคมการเมืองไทย

นั่นเพราะว่าทั้งประชาธิปัตย์ และเพื่อไทยเองยังพิสูจน์ตัวเองไม่ได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่เป็นแหล่งรวม “อุดมการณ์ทางการเมือง” แบบของตน

พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นซ้าย ไม่ได้เป็นเสรีนิยมจริง และที่สำคัญนโยบายของเขาไม่ได้สะท้อนอุดมการณ์ชนชั้นล่างเลยด้วยซ้ำไป ขณะที่ประชาธิปัตย์ถือกำเนิดมาจากกลุ่มผู้ดีเก่าและอำมาตย์ในช่วงที่คณะราษฎรอยู่ในขาลง อันที่จริงประชาธิปัตย์น่าจะแสดงชุดนโยบายแบบอนุรักษ์นิยมใหม่ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องล้าหลังเลย) แต่ก็เพิ่งจะมามีชุดนโยบายจับต้องได้จริงก็เมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา แถมหนักไปทางประชานิยมอีกต่างหาก

การเมืองไทยจะออกจากวิกฤตได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเข้มแข็งขึ้นมาระดับหนึ่ง มีสวิงโหวตที่เป็นทั้งแบบปัจเจกและทั้งที่จัดตั้งเป็นกลุ่มก้อน เช่นกลุ่มปัญหาที่ดิน กลุ่มชาวนา กลุ่มรถโดยสาร กลุ่มผู้บริโภคพลังงาน ชนกลุ่มน้อยเผ่าหรือเชื้อชาติต่างๆ ชาวประมง ฯลฯ มีสติปัญญามากพอชั่วน้ำหนักไม่ให้ถูกนักการเมืองหลอกใช้ หลอกไปตาย หลอกเป็นฐานอำนาจ

สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนกลุ่มน้อย หรือคนที่ไม่ได้เลือกรัฐบาล (คือไม่เป็นเสื้อแดง) ได้รับประกันสิทธิเสรีภาพและการบริการที่เท่าเทียม ไม่ถูกมะเขือเทศรังแก และไม่จัดเป็นประชากรประเภทสองตามแนวทางใครเลือกเราให้คนนั้นก่อน ประชากรอเมริกันที่เลือกโอบาม่ามีแค่ 70 ล้านกลมๆ จาก 300 ล้านคนนะครับ แต่คนที่เหลือได้รับหลักประกันที่เท่าเทียมกับเดโมแครตที่ไปหย่อนบัตร นี่คือ Minority Right ที่ยังไม่เป็นจริงนักในสังคมการเมืองไทย

สรุป - 1 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ บ่งบอกว่าแนวร่วมแนวหนุนเดิมของพรรคเพื่อไทยเริ่มมีปัญหา นี่เป็นสัญญาณของอาการเสื่อมของอำนาจ ยิ่งใช้อำนาจยิ่งเหิมอำนาจยิ่งเสื่อมเท่านั้น สังคมการเมืองจากนี้เป็นช่วงปรับตัวกันอีกครั้ง ใครที่ยังตาไม่สว่างก็อาจจะสว่างขึ้น อย่างไรก็ตามผมกลับไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดว่า ประชาชนจะต้องเข้าไปในวงจรการต่อสู้โรมรันแย่งชิงอำนาจในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง หรือการทำการเมืองเองโดยตรง นั่นเพราะว่ากลุ่มก้อนอำนาจของประชาชนที่เป็นอิสระพอสมควรจากพรรคการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญของระบอบประชาธิปไตยยุคใหม่

คิดเล่นๆ ว่าหากมีสวิงโหวตอย่างกลุ่มปัญหาที่ดิน กลุ่มปัญหาพลังงาน กลุ่มปัญหาเกษตร สัก 5 ล้านคน - การเมืองไทยเปลี่ยนไปในทางดีแน่ๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น