xs
xsm
sm
md
lg

ฤา จีนจะเป็นประชาธิปไตย?

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันชนชั้นกลางจีนที่มีกำลังซื้อมหาศาลได้เพิ่มจำนวนจนเกินกว่า 300 ล้านคน
วิวาทะหนึ่งซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันมานานคือ จีนจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่? คำอธิบายต่อข้อถกเถียงนี้มักพ่วงคำถามยาวเหยียดอื่น ๆ ว่าด้วย จีนจะเป็นประชาธิปไตยเพราะอะไร? และจะกลายเป็นประชาธิปไตยเมื่อไหร่? นักวิชาการหลายสำนักพยายามตอบคำถามข้างต้น ทว่าแต่ละสำนักต่างมีมุมต่างกันไป

การทำความเข้าใจมุมมองที่แต่ละสำนักคิดมีต่อประชาธิปไตยในจีน ทำให้เข้าใจว่าโลก (ตะวันตก) มองจีนอย่างไร คาดหวังอนาคตจีนอย่างไร และขณะเดียวกันก็ทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจีน

ทฤษฎีการกลายเป็นประชาธิปไตย (Democratization theory)

ก่อนที่จะไปว่าเรื่องจีนจะกลายเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับทฤษฎีการกลายเป็นประชาธิปไตย เนื่องด้วยประชาธิปไตยไม่ได้งอกออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ ทว่าเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

บรรดานักรัฐศาสตร์ได้เสนอทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย ซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลาย ทว่าโดยสรุปอย่างสั้นและกระชับที่สุดได้ดังนี้

ประชาธิปไตยเกิดจากการต่อสู่ช่วงชิงอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง ทุนนิยมสนับสนุนการเติบโตของประชาธิปไตย เนื่องด้วยในระบบทุนนิยมสิทธิในทรัพย์สินของปัจเจกเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจัยข้อนี้นำไปสู่การต่อสู้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ที่สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกได้รับการปกป้อง โดยชนชั้นที่เป็นหัวหอกผลักให้เกิดประชาธิปไตยคือ “ชนชั้นกลาง” ผู้ซึ่งต้องการมีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง โดยความมั่นคงทางเศรษฐกิจนี้ก็มักพ่วงกับการการเมืองอย่างแยกไม่ออก

และท้ายที่สุดการกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ (modernization) -ภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมที่เกิดจากการปะทะของกระบวนการต่าง ๆ อาทิ การกลายเป็นเมือง การเพิ่มของผลผลิต ระดับรายได้ ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น และระดับการศึกษา รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ไฟฟ้า ประปา คมนาคม และโทรคมนาคม)- จะสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มจำนวนของชนชั้นกลาง และทำให้เกิดการกระจายตัวของทรัพยากร ซึ่งทำให้ประชาชนยิ่งต้องการประชาธิปไตย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา

คำอธิบายกระแสหลัก จีนจะเป็นประชาธิปไตย!

ภายใต้การยึดกรอบทฤษฎีการกลายเป็นประชาธิปไตยข้างต้นนี้ นักวิชาการตะวันตกจำนวนมาก ต่างเชื่อมั่นว่าจีนจะกลายเป็นประชาธิปไตย จนถึงขั้นมีการพยากรณ์ระบุปีค.ศ. ที่จีนจะกลายเป็นประชาธิปไตยกันอย่างชัดเจนทีเดียว

บทความ “ทำไมเอเชียตะวันออก-รวมถึงจีน-จะกลายเป็นประชาธิปไตยในชั่วอายุคน” (Why East Asia—Including China—Will Turn Democratic Within a Generation) โดย แลร์รี ไดมอนด์ เป็นภาพสะท้อนที่ดีของทัศนะดังกล่าว

ในบทความนี้ ไดมอนด์ อ้าง ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) กับแนวโน้มประเทศต่าง ๆ ที่กลายมาเป็นประชาธิปไตย จนนำไปสู่ข้อสรุปว่าอัตราตัวเลข GDP กับ HDI ที่เพิ่มขึ้นนี้จะนำจีนไปสู่การกลายเป็นประชาธิปไตยตามประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีการอ้างงานของนักวิชาการที่มีทัศนะไปในทิศทางเดียวกับเขา เช่น เฮนรี่ โรเว่น (Henry Rowen) ว่าตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นนี้จะผลักให้จีนมีคะแนนสิทธิเสรีภาพที่มากขึ้นจนอยู่ในระดับเดียวกับ อินเดีย และอินโดนีเซียในปัจจุบันภายในปี 2025

ข้อสรุปที่ว่าเศรษฐกิจดีขึ้น จะนำไปสู่ประชาธิปไตยนี้ แฝงคติเรื่อง “ชนชั้นกลาง” เป็นหัวหอกสำคัญสู่ประชาธิปไตย ด้วยนักวิชาการเหล่านั้นมักมองว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยม จะทำให้เกิดการเติบโตของชนชั้นกลาง ซึ่งต้องการรักษาสิทธิในทรัพย์สินและการจัดสรรทัพยากรของตน จนเป็นพลังผลักดันให้เกิดประชาธิปไตย ด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางการเมือง ฯลฯ ภายใต้ประชาธิปไตยในด้านหนึ่งเป็นเครื่องการันตีปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา

แต่...ช้าก่อน การพัฒนาเศรษฐกิจ และการขยายตัวของชนชั้นกลางจะนำไปสู่ประชาธิปไตยจริงหรือ?

ใครว่าชนชั้นกลางเป็นหัวหอกสร้างประชาธิปไตย?
การเลือกตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านที่อูข่าน มณฑลกว่างตง ภาพของความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในจีน อันเกิดขึ้นภายหลังการประท้วงของชาวชนบทในอู่ข่าน มิใช่ชนชั้นกลางในเมือง
มุมมองทวนกระแส : ชนชั้นกลางจีนไม่ใช่พลังประชาธิปไตย

กรอบคิดเรื่องทฤษฎีการกลายเป็นประชาธิปไตย ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้อธิบายการกลายเป็นประชาธิปไตยของจีน โดยนักวิชาการข้างต้นมีจุดอ่อนใหญ่หลวงอย่างน้อย 2 ประการคือ 1.เป็นการตีขลุมเหมารวมว่าทุกประเทศจะดำเนินตามขั้นตอนการกลายเป็นประชาธิปไตยตามทฤษฎีเป็นลำดับขั้น 2.เป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยสถิติอย่างแข็งทื่อ โดยละเลยปัจจัยอื่น ๆ

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมจีนย่อมมีความซับซ้อนอยู่มาก จนยากที่จะลดทอนความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวลงเหลือเพียงสถิติตัวเลขง่าย ๆ ขณะเดียวกัน แม้จีนจะเป็นประเทศที่มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับประเทศอื่น ๆ ทว่าจีนเองก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เช่นเดียวกัน

ดังนั้นการอธิบายว่าจีนจะกลายเป็นประชาธิปไตยโดยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยม และการขยายตัวของชนชั้นกลางเป็นพลังผลักดันสำคัญ จึงอาจใช้ไม่ได้

บทความชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมของจีน (China’s Conservative Middle Class) โจนาธาน อังเกอร์ (Jonathan Unger) ชี้ชวนให้มองว่าชนชั้นกลางจีนไม่ใช่พลังประชาธิปไตย

อังเกอร์ ระบุว่า แม้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะทำให้เกิดชนชั้นกลางจำนวนมหาศาล และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อการดำรงชีวิต อาทิ มีการสำรวจทัศนะของวัยรุ่นพบว่าอาชีพในฝันระดับต้น ๆ คือ อาจารย์มหาวิทยาลัย แพทย์ วิศวกร ขณะที่งานรัฐการ และเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ใฝ่ฝันอันดับต้นกลับตกลำดับลงมา แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็มิได้ส่งผลท้าทายพรรคอย่างรุนแรงเท่าไรนัก

เพราะ....พรรคคอมมิวนิสต์รู้เท่าทันกระแสความเปลี่ยนแปลง

รัฐบาลได้สนับสนุนโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับชนชั้นกลาง ทั้งยังมีมาตรการที่เอาอกเอาใจปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัย (ซึ่งจัดอยู่ในชนชั้นกลาง และเคยเป็นแกนนำไปเหตุการณ์เทียนอันเหมิน) จนกระทั่งทำให้ปัญญาชนเหล่านี้นิ่งเงียบ ยากที่จะลุกขึ้นมานำการต่อสู้ นอกจากนี้ชนชั้นกลางจีนซึ่งขณะนี้กำลังมีความสุขกับดอกผลของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเอง ก็ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งซึ่งจะทำให้ชาวบนบทมีสิทธิออกเสียง พวกเขาหวั่นเกรงว่าการออกเสียงของชาวชนบทที่ไร้การศึกษา จะทำให้ให้เกิดความยุ่งยาก ซึ่งจะส่งผลต่อสถานภาพการกินดีอยู่ดีของชนชั้นกลาง

ชนชั้นกลางจีนอาจพูดถึงประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยในหัวของพวกเขาไม่ได้หมายถึงประชาธิปไตย 100% ที่บุคคลพึงมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

สิ่งที่ชนชั้นกลางจีนต้องการ แท้จริงคือ “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ” และ “พื้นที่ส่วนตัว” ในชีวิตประจำวัน ที่รัฐบาลจะไม่เข้ามาแทรกแซง อาทิ สิทธิเสรีภาพในการอ่านนิตยสารที่น่าสนใจ ดูภาพยนตร์ที่สนุก การถกเถียงบางประเด็นในที่สาธารณะ พวกเขาต้องการให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นในเรื่องที่พวกเขาเชี่ยวชาญ เพื่อนำไปสู่การตัดสินทางนโยบาย พวกเขาต้องการการจัดสรรรายได้ที่เป็นธรรม (เป็นธรรมในแง่ที่พวกเขาได้เปรียบ) ในปัจจุบันพวกเขาล้วนได้รับสิ่งเหล่านี้จากรัฐ ผ่านการให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจ และการเมืองระดับหนึ่ง

แม้จะมีสื่อและนักวิชาการจีนที่เปิดโปง วิจารณ์การคอร์รัปชั่น หรือด้านที่ไม่ดีของนโยบายรัฐ ทว่าการวิจารณ์เหล่านั้นล้วนมีจุดประสงค์เพื่อการธำรงระบอบปัจจุบัน และให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย

การที่รัฐเลือกถอยห่างจากการแทรกแซงชีวิตประจำวันของคนในทุกระดับสู่การให้กลไกตลาด และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานระดับล่างจัดการ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ถูกเบี่ยงออกจากผู้นำระดับสูง เช่น หากประชาชนได้รับบริการที่ไม่ดีจากหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน ผู้ที่ถูกประชาชนตำหนิคือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ

นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของผู้นำจีน ยังเป็นภาพลักษณ์ที่สะท้อนและปะเหมาะกับรสนิยมของบรรดาชนชั้นกลาง ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีที่มีการศึกษาได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ไต่เต้าสู่ระดับสูงโดยอาศัยทักษะทักษะความสามารถเฉพาะตัว แถมยังมีทัศนะในทางที่คล้ายคลึงกับชนชั้นกลาง

ชนชั้นปกครองจึงไม่ใช่ศัตรูของพวกเขา ดังนั้นชนชั้นกลางจีนจึงไม่ใช่พลังที่จะนำประชาธิปไตยมาสู่จีนในเร็ววัน

จะเชื่อใครดี?

คำอธิบายที่ต่างกันสุดขั้วนี้ ถามว่าจะเชื่อใครดี? นักวิชาการไม่มีหน้าที่เสนอคำตอบสำเร็จรูป แต่เสนอทางเลือกในการอธิบายสังคมหนึ่ง ๆ จะเลือกเชื่อใครจึงอยู่ที่วิจารณญาณของผู้อ่าน ว่าคำอธิบายของใครเข้าท่ากว่ากัน

มนุษย์ล้วนเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทั้งยังมีความซับซ้อนสูง บางทำตามอารมณ์ บ้างทำตามเหตุผล มีบ้างบางคราวทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ยิ่งมารวมกันเป็นสังคมหนึ่ง ๆ การอธิบายให้ถูกต้องครอบคลุม 100% ยิ่งยากลำบากเข้าไปใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น