xs
xsm
sm
md
lg

ดูผลโอลิมปิคเกาหลีใต้-ไทย (แล้วย้อนดูตัว)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

มาตรฐานทางกีฬาของชาติต่างๆ สะท้อนกลับให้เห็นระดับพัฒนาการของการเมืองเศรษฐกิจสังคมของชาตินั้นๆ ไปในตัว

ชาติที่เป็นมหาอำนาจอย่างจีน กับ อเมริกา กำลังแย่งเหรียญทองกันเพื่อพิสูจน์ความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่ง โดยนัยก็คือการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจในสมรภูมิของการกีฬา ซึ่งจะสะท้อนความแข็งแรงของประชากร ไปจนถึงเทคนิคการเรียนรู้ การฝึกฝนและการฝึกสอน และที่สำคัญที่สุดงานนี้อเมริกายอมไม่ได้แน่เพราะกีฬาซึ่งสะท้อนมายังอารมณ์ความรู้สึกภาคภูมิใจของคนในชาติมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองด้วย

ปลายปีนี้อเมริกากำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทั้งโอบาม่าและนางคลินตันกำลังทำงานอย่างหนักในกิจการด้านต่างประเทศเพื่อโชว์ให้คนของเขาเห็นว่าอเมริกาเอาจริงเอาจังกับจีนในฐานะคู่แข่งขันมหาอำนาจรายใหม่ที่มาแทนโซเวียตรัสเซีย หากอเมริกาได้เหรียญทองน้อยกว่าจีนไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไรก็ตาม ผลดังกล่าวสะท้อนกลับมายังหีบเลือกตั้งระหว่างรีพัลลิกันกับเดโมแครตโดยตรง

อย่างที่บอกว่ากีฬามีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกร่วมของประชากรในสังคมรัฐชาตินั้นๆ ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์ก็คงไม่สนุกนักที่ทัพนักกีฬาไทยได้จำนวนเหรียญน้อยกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ไทยเคยได้เหรียญทองพร้อมกันมาแล้ว 3 เหรียญทอง 1 เงิน 4 ทองแดงที่เอเธนส์ เวลาเฮดีใจกับเหรียญเงินเหรียญทองแดงมันก็เฮไม่เต็มปาก ไม่ตื่นเต้นเท่ากับที่เคยได้

ดูอารมณ์ข่าวขบวนที่ไปต้อนรับน้องแต้วกลับขอนแก่นเปรียบเทียบกับเมื่อ 4 ปีก่อน 8 ปีก่อนสิครับ !

รัฐบาลปูจึงแทบไม่ได้อานิสงส์จากโอลิมปิครอบนี้ ไม่เหมือนคราวก่อนโน้นที่รัฐมนตรีแย่งกันเอาหน้าถึงกับพยายามฉกเหรียญนักกีฬาก็มี (ฮา)

อย่างที่เกริ่นว่าพัฒนาการด้านการกีฬาสะท้อนกลับมายังพัฒนาการด้านเศรษฐกิจสังคมการเมืองของชาตินั้นๆ ผลของโอลิมปิครอบนี้คงได้ไม่เท่าปี 2004 และ 2008 สะท้อนว่าประเทศของเราทิ้งเวลาให้จมหายไปกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองนานเกินไปแล้วจริงๆ

บางประเทศเจอวิกฤตการเมืองรอบแรก แล้วเดินผิดทาง ยิ่งจมลงๆ แต่บางประเทศทำเวลาหายไป แม้จะจมอยู่กับปัญหาระยะหนึ่งแต่ก็ฟื้นกลับมาได้เช่น เกาหลีใต้ ที่ผงาดกลับมาใช้เวลาไม่ถึงครึ่งอายุคนกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกไม่ว่าจะด้วยทางเศรษฐกิจ สังคม และการกีฬา

จำนวนเหรียญที่เกาหลีใต้ได้รับครั้ง 2012 นี้ยืนเบียดแทรกกับมหาอำนาจยุโรปได้อย่างสง่าผ่าเผยและเป็นฝีมือจริงๆ ไม่เหมือนเมื่อปี 1988 ที่เป็นเจ้าภาพนักมวยเกาหลีถูกรอย โจนส์ ต่อยแทบคลานผลกลับมาดั้นเมฆกรรมการยกมือให้เกาหลีใต้ชนะเฉย เวลา 24 ปีเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมาย แม้กระทั่งความเป็นมหาอำนาจทางกีฬา

เกาหลีใต้มีพื้นที่ไม่ถึง 1 แสนตร.กม.ครับเล็กกว่าประเทศเรา 5 เท่าประชากรก็น้อยกว่าเรามีแค่ 50 ล้านคน แต่เดิมนั้นตอนหลังสงครามโลกมีพัฒนาการแย่กว่าเราด้วยซ้ำ ในช่วงแรก ๆ ชาติของเราจมอยู่กับสงคราม และผลของสงครามเย็น ต่อมาก็เจอปัญหาการเมืองภายในจากการปกครองแบบเผด็จการของปักจุงฮี ชุนดูฮวาน และแม้จะมีเลือกตั้งแต่ก็ได้พรรคพวกของเผด็จการแบบโร แต วูมาปกครองประเทศ

ระบบการเมืองแบบพรรคพวก บรรษัทใหญ่กินรวบที่ต่อเนื่องมาเป็นปัจจัยกดดันให้เกิดการระเบิดก็คือประชาชนเริ่มตาสว่างและก่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ขึ้นมาในยุคของ คิม ยัง ซัม (ที่จริงเป็นผลมาจากยุคของ คิม แด จุง ที่วางรากฐานด้วย)

หลักๆ ของปฏิรูปเกาหลีเมื่อทศวรรษ 1980 ก็คือ การทำการเมืองใหญ่ให้โปร่งใส เช่นเกิดพรบ.จริยธรรมเจ้าหน้าที่สาธารณะ พรบ.เงินทุนการเมือง ตลอดถึงการกระจายอำนาจครั้งใหญ่ ทุกวันนี้เกาหลีใต้มีการปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่ภายใต้เขตปกครองใหญ่ มีจังหวัดปกครองตนเองพิเศษ 1 แห่ง นครปกครองตนเองพิเศษ 1 แห่ง นครพิเศษ 1 แห่ง มีการจัดการแบบมหานคร (Metropolis) 6 แห่ง และจังหวัดอีก 6 ซึ่งภายในจังหวัดนั้นก็มีอปท.เล็ก ๆ อยู่เต็มพื้นที่

ทำให้ต่อมาสามารถเอาผิดนักการเมืองใช้อำนาจ บ้าอำนาจ เหิมอำนาจและคดโกงย้อนหลังได้ หลักๆ ก็เช่นประหารชีวิตอดีตประธานาธิบดี ชุน ดูฮวาน และจำคุกตลอดชีวิตอดีตประธานาธิบดี โร แต วู เขายึดจริยธรรมทางการเมือง รับผิดชอบต่อประชาชนระดับผู้บริหารขอลาออกจากตำแหน่งเพราะไปตีกอล์ฟขณะที่บ้านเมืองเกิดปัญหา

นึกเล่นๆ ว่าหากเป็นเกาหลีใต้ อย่างน้อยที่สุดผู้นำของเขาคงต้องดาหน้ากันมาขอโทษประชาชนกันยกใหญ่ที่ไม่มีสติ ไม่ทันยั้งคิดยังเดินหน้าร้องเพลงสุขกันเถอะเราทั้งๆ ที่ทราบข่าวเหตุร้ายแรงที่ภาคใต้ นี่เป็นความแตกต่างจากการปฎิรูปการเมืองและสร้างมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองขึ้นมาบังคับในฐานะวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ในช่วงแค่ 30 ปี

หากจะตั้งคำถามว่าเอาเกาหลีใต้ที่เขาก้าวหน้าไปถึงไหนๆ ระดับที่ฟ้องร้องแข่งกับแอปเปิ้ลชิงความเป็นเจ้าตลาดแทปเลตมาแข่งกับไทยให้เมื่อยทำไม ?

ขอตอบว่าเอามาเปรียบให้เห็นเพื่อชี้ว่า สังคมหนึ่งย่อมมีช่วงเวลาที่หายไปจากเหตุอะไรไม่รู้ เช่นเกาหลีใต้ที่นับจากสงครามโลกครั้งสองมาจนถึง 1980 คือประมาณปีที่พล.อ.เปรมลงจากตำแหน่งนายกฯ แต่เขาก็กลับตัวตั้งหลัก มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่เข้าท่าทั้งหลายขึ้นใหม่ในนามของการปฏิรูปครั้งใหญ่ ที่ไม่เฉพาะแค่การเมือง หรือวัฒนธรรมทางการเมืองเท่านั้น ยังมีการปฏิรูประบบการบริหารแผ่นดินหรือการปกครองมีการกระจายอำนาจครั้งใหญ่ รวมไปถึงการปฏิรูปการศึกษาที่ครั้งหนึ่งดร.รุ่ง แก้วแดง โดยคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติยังเคยแปลมาเผยแพร่ในชื่อ “การปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่21” ให้กับคนในแวดวงการศึกษาบ้านเราอ่านกันเลย

แต่ละประเทศย่อมมีห้วงเวลาที่หายไป หรือทศวรรษที่หายไปอยู่บ้าง ไม่เฉพาะเกาหลีใต้อย่างญี่ปุ่นพี่เบิ้มเศรษฐกิจเอเชียเองก็มีช่วงเวลาที่หายไปในทางเศรษฐกิจก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งใหญ่ออกมาสู่เอเชียอาคเนย์ แต่สำหรับเพื่อนบ้านเขาเราบางประเทศเวลาที่หายไปนั้นนานเหลือเกินจนไม่แน่ว่าจะกลับคืนสู่เส้นทางได้หรือไม่อย่างเช่นฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ยิ่งเห็นผลงานของเกาหลีใต้ยิ่งต้องสนใจการปฏิรูปครั้งใหญ่ของเขาเมื่อทศวรรษ 1980 แล้วยิ่งต้องย้อนมองดูตัวเองอย่างจริงจังให้มากขึ้น !
กำลังโหลดความคิดเห็น