เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยเป็นที่กล่าวถึงอย่างสม่ำเสมอในสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี และหลังจากเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะทักษิณ ชินวัตร รู้จักใช้ประโยชน์จากสื่อ เขารู้ดีว่าสื่อต้องการอะไรและเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการปรากฏในสื่อ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สื่อกับทักษิณ ชินวัตร ต่างฝ่ายต่างสนองประโยชน์แก่กันและกัน
เนื่องมาจากทักษิณ ชินวัตร เป็นนักธุรกิจผู้ร่ำรวยมาก่อน การก้าวเข้ามาทำงานการเมืองจึงใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดที่ประสบความสำเร็จมาใช้ในงานการเมือง ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าและที่ยังไม่เป็นลูกค้า ให้รับรู้ เข้าใจ และสนใจในบริการ จนในที่สุดก็กลายมาเป็นลูกค้า การเมืองก็เช่นกัน ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้กลยุทธการสื่อสารการตลาดมาปรับใช้ในงานการเมือง ด้วยการผลิตสินค้า คือนโยบายประชานิยมที่รู้จักกันในนาม “คิดใหม่ทำใหม่” แล้วนำเสนอแก่ประชาชนผ่านช่องทางการสื่อสารทุกประเภท จากการสื่อสารการตลาดที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ จึงกลายเป็นการสื่อสารทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน ผลก็คือ ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นนายกรัฐมนตรีไทยในขณะที่เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยติดอันดับโลก
ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อได้ทุกสถานการณ์ แม้ว่าสื่อนั้นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเขา แม้ว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจาการเลือกตั้งที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เขาก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจาการเลือกตั้งที่มีท่าทีข่มขู่คุกคามสื่อมากคนหนึ่ง ผ่านนโยบายปฏิรูปสื่อที่รับผิดชอบโดย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ จักรภพ เพ็ญแข จนทำให้สื่อเป็นจำนวนมากต่างรู้สึกว่าได้รับการคุกคามเสรีภาพในการทำหน้าที่ของตน
ถึงแม้สื่อจะรู้สึกว่าทักษิณ ชินวัตร จะคุกคามด้วยการดำเนินการกระบวนการปฏิรูปสื่อซึ่งก็คือการหาทางควบคุมสื่อไม่ให้ต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและรัฐบาล และสื่อก็ไม่ชอบการกระทำดังกล่าว แต่สื่อก็ไม่สามารถปฏิเสธความคงอยู่ของทักษิณในฐานะแหล่งข่าวชั้นเลิศได้ ดังนั้นแม้จะไม่ชอบทักษิณเพียงใดแต่สื่อก็ยังจำเป็นต้องอาศัยทักษิณในฐานะแหล่งกำเนิดข่าวซึ่งข่าวนั้นก็คือสินค้าของสื่อ ดังนั้น ทักษิณจึงใช้สถานะนี้ต่อรองถ่วงดุลสื่อ ไม่ให้สื่อล้ำเส้นหรือคุกคามตนเช่นกัน
หลังจากถูกปลดจากตำแหน่งโดยคณะรัฐประหาร ทักษิณก็ยังใช้สื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ตนอยู่ในความสนใจของสาธรณชนเสมอมา ซึ่งปัจจุบันทักษิณก็ยังพยายามใช้ประโยชน์จากสื่อในการประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวของตนอยู่เช่นเดิม
ทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งที่บุคคลธรรมดาสามารถใช้สื่อสาธารณะเพื่อประโยชน์ของตนเองได้ประสบความสำเร็จ ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง ปรากฏการณ์ทักษิณ ชินวัตร สื่อกับการเมืองทางวัฒนธรรม ณ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ เขียนโดย ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์พับลิคบุเคอรี เมื่อปี 2552) เป็นรวมบทความคัดสรรจากคอลัมน์ นาฏกรรมสังคม ที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงทำให้เห็นภาพปะติดปะต่อของความสัมพันธ์ระหว่างสื่อในฐานะที่เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างและรักษาอำนาจกับผู้ที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ใช้สื่อสร้างและรักษาอำนาจของตน แม้ว่าคนนั้นจะไม่ได้เป็นเจ้าของสื่อ รวมทั้ง ทักษิณ ชินวัตร ด้วย โดยหนังสือเล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วน ๆ คือ
ภาค 1 การเมืองตำรับทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงทักษิณ ชินวัตรในแง่มุมต่าง ๆที่เกี่ยวข้องการการสื่อสารและการใช้สื่อ
ภาค 2 สื่อกับอำนาจ กล่าวถึงความสำพันธ์ของสื่อกับการเมือง โดยมีบทความที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะที่เป็นข่าว รวมอยู่ด้วย ซึ่งสนธิ ลิ้มทองกุล มีความเกี่ยวเนื่องกับทักษิณทั้งในฐานะมิตรทางธุรกิจในกาลก่อนและศัตรูทางการเมืองในภายหลัง
ภาค 3 สู่การปฏิรูปสื่อโทรทัศน์ โดยได้ตรวจสอบการทำหน้าที่ วิเคราะห์ วิจารณ์และเสนอแนวทางให้สื่อโทรทัศน์สามารถทำหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะให้มากยิ่งขึ้น
ภาค 4 คลื่นสังคม กล่าวถึงเรื่องราวของบุคคลสาธารณะที่ตกเป็นข่าว รวมถึงปัญหาบางอย่างของสังคมที่สื่อมวลชนนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ บทบาทของสื่อและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อบุคคลที่เป็นข่าวและต่อสังคม
ภาค 5 การเมืองกับวัฒนธรรมสื่อในต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องบทบาทของสื่อในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องการการเมืองและวัฒนธรรม รวมถึงปรากฏการณ์ของสื่อใหม่ ๆที่มีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น สถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา ( Al-jazeera International) ของประเทศกลุ่มอาหรับ ซึ่งได้รับฉายาว่า เป็น CNN แห่งอาหรับ
ภาคพิเศษเป็นรวมบทสัมภาษณ์ที่ ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา ให้สัมภาษณ์สื่อ ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์เรื่อง บทบาทใหม่ของตะวันตกในสงครามนอกรูปแบบ, นิตยสารรุ่นใหม่ บริบทและปรัชญาทางสังคม, สื่อกับทุนนิยมยุคทักษิณ ชินวัตร และเรื่องสุดท้าย ปฏิรูปสื่อไฟฟ้าเพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่
ทั้งหมดทั้งปวงที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ คือข้อข้อมูล ความคิดเห็นและสังเกตของนักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของไทย เป็นการนำเสนอบทบาทหน้าที่ของสื่อในสังคม ความสัมพันธ์ของอำนาจทางการเมืองกับสื่อ และความสัมพันธ์ของสื่อกับชีวิตของคนในสังคม เป็นหนังสือที่ชี้นำแนวทาในการทำความเข้าใจสื่อที่ดีเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะนักสื่อสารมวลชน นักเรียนนิเทศศาสตร์ น่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง
สำหรับผู้ที่สนใจทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่ชอบและไม่ชอบทักษิณ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็จะเข้าใจว่าทำไมทักษิณจึงเป็นที่รักของคนจำนวนไม่น้อยและเป็นที่ชังของคนจำนวนใกล้เคียงกัน สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือสื่อ ซึ่งมีส่วนทั้งสร้างและทำลาย ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง