xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.คำนูณ กับนิยามปิโตรเลียมของรัฐ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ส.ว.คำนูณ สิทธิสมานแสดงเจตนารมณ์ว่าจะผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญนิยามให้ปิโตรเลียมและแร่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ การจัดสรรรวมทั้งบริหารจัดการต้องกระทำโดยองค์กรอิสระที่มีภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย

ไม่ง่ายเลยครับ ! การผลักดันของคุณคำนูณยังมีเส้นทางอยู่อีกไกลเพราะตอนนี้ยังตั้งสสร.เลย และที่สำคัญไม่รู้เขาจะเอาด้วยหรือเปล่า ยังไงเสียสสร.ชุดนี้มันก็คงถูกเสกให้ยกมือตามผู้กำกับจากฝ่ายการเมืองอยู่ดี การแก้นิยามดังกล่าวมีผลโดยตรงกับ “อำนาจและผลประโยชน์” ของเทคโนแครตและนักการเมืองโดยตรงโอกาสที่ “พวกเขา”จะบรรจุและผ่านประเด็นนี้เหมือนกับเมื่อครั้ง สสร.1 นิยามคลื่นกระจายเสียงให้เป็นสาธารณะคงเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ ยกเว้นประชาชนจะเรียกร้องเรื่องนี้เป็นกระแสใหญ่ขึ้นมา

ข้อเสนอของคุณคำนูณครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ลึกไปลงไปถึงระดับโครงสร้างของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และไม่ได้เกินเลยนักหากจะบอกว่านี่เป็นข้อเสนอเพื่อ “ปฏิรูปการปิโตรเลียม” และทรัพยากรแร่ธาตุของประเทศไทย

ปมที่เป็นหัวใจของข้อเสนอนี้อยู่ที่ “คำนิยามใหม่”ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใน 3 ประเด็นกระบวนการและวิธีปฏิบัติของรัฐไทยที่สำคัญคือ 1-/ ความเป็นเจ้าของทรัพยากรที่ชัดเจนขึ้น 2-/ การจัดการส่วนแบ่งผลประโยชน์แบบใหม่ที่ไม่ใช่กลไกแบบปัจจุบันและ 3-/ กระบวนการจัดการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่วางอยู่บนฐานประโยชน์ส่วนรวมของรัฐและประชาชนส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ตกในมือนักการเมืองและขุนนางพลังงานเช่นทุกวัน)

แน่นอนครับข้อเสนอแบบนี้ย่อมนำมาสู่การวิวาทะถกเถียง เช่นอาจมีผู้โต้ว่าแล้วแบบที่เป็นอยู่มันไม่ดีตรงไหน เพราะระบบการจัดการผลประโยชน์ปิโตรเลียมในโลกนี้มีหลักๆ ก็แค่ 2 ระบบนั่นคือ ระบบสัมปทาน และ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งต่างก็มีจุดดีจุดด้อยของตนเอง และที่สำคัญประเทศไหนๆ ทั่วโลกเขานิยามกันว่า “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” กันแทบทั้งนั้นยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่เขามีแบบแผนจากจารีตที่ให้สิทธิผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมหลายระดับ รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นมาจนถึงเอกชนเจ้าของที่ดิน เพราะเขาถือหลักสิทธิครอบครองเหนือขึ้นไปในอากาศและลึกลงไปใต้ดิน persons who owned real property owned "from the depths to the heavens"

มันเป็นการเถียงคนละมุม ซึ่งก็ไม่ผิดหรอกครับเพราะทรัพยากรธรรมชาติทั้งแร่ธาตุน้ำป่าไปจนถึงคลื่นเสียงควรจะเป็นสมบัติกลางหรือใช้คำว่า “ของรัฐ” แต่ทว่า “รัฐที่ดี” ควรจะบริหารจัดการทรัพยากรส่วนกลางดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและต่อประชาชนส่วนใหญ่ – ใช่หรือไม่ ? หากทำไม่ได้หรือมีปัญหาก็สมควรจะกำหนดเงื่อนไขหรือนิยามความหมายให้ชัดเจนหรือครอบคลุมขึ้น

อย่างเช่นประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวซ แห่งเวเนซูเอล่าอ้างความที่รัฐเป็นเจ้าของปิโตรเลียม ประกาศให้ผู้รับสัมปทานน้ำมันมาเจรจาต่อรองผลประโยชน์ใหม่ กลายเป็นแบ่งให้รัฐ 80% เอกชนผู้รับสัมปทานเอาไป 20% แล้วรายได้ดังกล่าวตกเป็นของ “รัฐ” เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแห่งรัฐอย่างแท้จริง

ในทางกลับกัน ประเทศสารขัณฑ์นามว่าไทยที่นิยามความหมายว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ แทนที่จะจัดการให้ “รัฐ” ที่หมายถึงผลประโยชน์ส่วนรวมโดยเฉพาะประชาชนได้ประโยชน์กลับบริหารจัดการกิจการปิโตรเลียมแบบที่ยิ่งทำประชาชนยิ่งไม่ได้ประโยชน์ ผู้ที่ได้ส่วนแบ่งอันหอมหวานกลับเป็นเอกชนต่างชาติ ส่วนคนในชาติที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ กลับเป็นพ่อค้าเทคโนแครตนักการเมืองจำนวนไม่กี่คน

พรบ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 แก้ไขมาหลายรอบจนกระทั่งรอบล่าสุดเมื่อ 2550 มีฐานคิดว่าประเทศของเราไม่ได้เป็นแหล่งน้ำมันไม่ได้เป็นผู้ผลิต กฎหมายออกมาในยุคนั้นก็แค่การพยายามช่วยเหลือตัวเองในกิจการด้านนี้เท่าที่ทำได้เช่นเพิ่งจะพยายามตั้งโรงกลั่นน้ำมันสั่งน้ำมันดิบมากลั่นใช้เอง หรือพยายามขุดเจาะสำรวจ การแก้ไขกฏหมายแต่ละรอบก็เพื่ออำนวยความสะดวกหรือการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน อย่างไรก็ตามบรรพชนของเราก็ใช่จะขายตัวขายชาติไปเสียทุกคน เนื้อหาของกฏหมายนี้พยายามจะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐเท่าที่จะทำได้

ปัญหาเกิดขึ้นชัดเจนในยุคหลัง คือยุคที่เราเริ่มเห็นน้ำเห็นเนื้อจากการสำรวจว่าประเทศของเราเป็นแหล่งทรัพยากรพลังงานที่แม้จะไม่มากมหาศาลเหมือนตะวันออกกลางแต่ก็มากพอที่จะทำเงินเป็นแสนล้านให้กับผู้เกี่ยวข้อง ผลประจักษ์ที่มีรูปธรรมมากมาย แสดงให้พวกเราประชาชนชาวไทยเห็นว่า ฝ่ายบริหารคือนักการเมือง+ ขุนนางข้าราชการเทคโนแครตไม่ได้ดำเนินการในการกำกับบริหารควบคุมดูแลกิจการด้านปิโตรเลียมให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐ (ที่หมายถึง ประเทศชาติส่วนรวมและประชาชนส่วนใหญ่) อย่างแท้จริง

ถ้าบริหารกิจการปิโตรเลียมโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ประชาชนจริง การประกาศเชิญชวนเอกชนต่างชาติมาขอสัมปทานสำรวจและขุดเจาะต้องเปิดเผยโปร่งใสอยู่บนหลักการคัดเลือกที่ประเทศชาติได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะกิจการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เป็นพันเป็นหมื่นล้าน

การคัดเลือกตั้งต้องตั้งบนความสามารถ และข้อเสนอที่ดีที่สุดให้กับรัฐ ไม่ใช่แค่เพราะเป็นเพื่อนหรือพวกของนักการเมือง

กรณีบริษัทของโมฮัมเหม็ด อัลฟาเยด เพื่อนของทักษิณ ชินวัตร ที่มีข่าวบินมาคุยกันเรื่องพลังงานในช่วงปลายยุคทักษิณ แล้วต่อมาตั้งบริษัทชื่อ “Harrods Energy” ได้สัมปทานสำรวจขุดเจาะ 4 แปลงในอ่าวไทย อีกแปลงได้สัมปทานบังหน้าแต่วงการเขาบอกว่าสำรวจแหล่งแร่แถวชายฝั่งพังงา สรุปว่า แฮรอดส์ เอนเนอร์ยี่ ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันและต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น “เพิร์ลออยล์” Pearl Oil ยังได้ต่ออายุสัญญาสัมปทานไปอีก (ทั้งๆที่ช่วงแรกไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรเลย)

ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองและขุนนางเทคโนแครต ถือว่า “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” ย่อมต้องกำกับควบคุมอนุญาตและดำเนินการให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของ “รัฐ” ที่หมายถึงประเทศชาติส่วนรวมและประชาชนส่วนใหญ่ รายละเอียดสัญญาสัมปทานต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้ แต่สัญญาสัมปทานปิโตรเลียมบริษัทไหนได้สิทธิ์ยกเว้นอะไรบ้าง ฯลฯ ไม่เคยโผล่มาให้ประชาชนเห็น จะมีก็แค่ประกาศเป็นการสรุปในแต่ละช่วงซึ่งก็ไม่ใช่รายละเอียดสัญญาจริง

ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองทำหน้าที่บนผลประโยชน์ของประชาชนจริง ต้องระวังอย่างยิ่งกับการให้สัมปทานบริษัทหน้าใหม่เพิ่งตั้งใหม่สด ๆ ร้อนๆ เสนอตัวเข้ามาหากินกับทรัพย์สมบัติของประเทศ ทั้งๆ ที่ในกฎหมายเขาก็บอกว่าไว้ผู้เสนอตัวต้องมีประสบการณ์มีอะไรต่อมิอะไรมากมายเป็นเงื่อนไข บริษัทหน้าใหม่เหล่านี้ก็ได้งานไปสบายๆ

กรณีบริษัทมิตรา เอ็นเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด ที่กำลังขุดเจาะที่เขตทวีวัฒนาก็เหมือนกัน เป็นกลุ่มบริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนใหม่วางตัวเองไว้ที่การสำรวจขุดเจาะละแวกเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันได้งานที่อินโดนีเซีย เวียดนามมากมายส่วนของไทยมีสัดส่วนนิดเดียว ปัญหาก็คือ บริษัทนี้จดทะเบียนมาปุ๊บก็ได้งานของไทยเป็นลำดับแรกๆ แล้วค่อยใช้ฐานโปรไฟล์ดังกล่าวไปคว้าสัมปทานในประเทศเพื่อนบ้าน กรณีของมิตราฯก็เช่นเดียวกันยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดสัญญาสัมปทานให้สาธารณะรับรู้ คำว่ารายละเอียดคือตัวสัญญา ไม่ใช่บรรยายสรุปแค่ว่าได้งานแปลงอะไรไปตั้งแต่ปีอะไรและคืนมาจำนวนเท่าไหร่ หากแต่เป็นรายละเอียดข้อผูกพันระหว่าง “รัฐไทย” กับ “บริษัทเอกชนต่างชาติ” ที่คนไทยควรจะเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับคุณสมบัติที่ผ่านการพิจารณาตามมาตรา 24 แห่งพรบ.ปิโตรเลียม ว่าเคยมีประสบการณ์อะไรมา เชื่อมั่นได้แค่ไหน

เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นข้อมูลลับเฉพาะที่มีแต่ขุนนางพลังงานกับนักการเมืองเท่านั้นที่รู้ ซึ่งมันไม่เป็นธรรมกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าพวกท่านยังคิดว่าประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรดังกล่าว

การขอเปลี่ยนแปลงนิยามของปิโตรเลียมให้ชัดเจนขึ้นว่าเป็นทรัพยากรที่ประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าของบรรจุในรัฐธรรมนูญใหม่เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 นิยามความหมายของคลื่นความถี่ให้เป็นของสาธารณะ จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการดำเนินการ วิธีคิด วิธีปฏิบัติเสียใหม่

อย่างน้อยต้องวางอยู่บนผลประโยชน์ และความรับรู้ของประชาชนส่วนใหญ่

ซึ่งแน่นอนมันจะยกเลิกวิธีการแบบที่บริษัทโน้นเป็นเพื่อนนักการเมืองใหญ่คนนี้ มีประกาศสัมปทานแปลงใหม่ๆ ก็งุบงิบพิจารณากัน รายละเอียดผลตอบแทนเงื่อนไขลดหย่อนต่างๆ ไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะ

ประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่นับจากยุคอาณานิคมเป็นต้นมาล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการไล่ล่าทรัพยากรจากต่างแดนเพื่อประโยชน์ของมหาอำนาจไม่กี่ประเทศ ในยุคหนึ่งประเทศไทยถูกบังคับกลายๆ ให้เปิดสัมปทานป่าไม้ให้บริษัทฝรั่ง จนกระทั่งไม้สักหมดไปจากป่าภาคเหนือ รวมไปถึงการขุดเหมืองทำแร่ดีบุกเพื่อส่งออกให้ฝรั่งเป็นล่ำเป็นสันในภาคใต้ ซึ่งตอนนั้นอาจจะมีคนบอกว่าก็เราแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์กัน ฝรั่งได้ไม้สักไปส่วนเราได้เงินส่วนแบ่งกลับมาเข้ารัฐ ก็เป็นธรรมดีแล้วนี่ ...เราลองใช้สายตาของศตวรรษที่ 21 มองย้อนกลับไปสิครับว่ามันเป็นธรรมหรือไม่ เอาเรือปืนมาจ่อบอกให้เปิดสัมปทานป่าไม้ให้ แรงงานกุลีถ้าขึ้นทะเบียนเป็นคนในบังคับเขาทำผิดอะไรก็ไม่ต้องขึ้นศาลไทย ฯลฯ

มาวันนี้ วันที่ปิโตรเลียมกลายเป็นลมหายใจของโลกยุคใหม่ ทุกชาติทั้งมหาอำนาจกระจอกอำนาจต้องวุ่นวายกับเรื่องน้ำมันถึงขั้นต้องก่อสงครามเพื่อฮุบประโยชน์ส่วนนี้ ประเทศไทยของเรายังติดกลุ่มประเทศผู้เก็บอัตราภาษีและส่วนแบ่งปิโตรเลียมต่ำมากประเทศหนึ่ง โดยไม่มีใครคิดจะปรับเปลี่ยนอะไร ซึ่งทำให้ผมนึกถึงในยุคที่ฝรั่งมาตัดไม้สักบ้านเราแล้วอาจจะมีคนบอกว่าคิดภาษีเขาเท่านี้ก็พอ เพราะเพื่อนบ้านก็คิดกันเท่าๆ นี้แหละ

เหมือนกันเลยกับกรณีสัมปทานปิโตรเลียม ชาติที่เขาหัวแข็งรู้สันดานฝรั่งเขาจึงไม่ยอมให้มาตักตวงประโยชน์จากบ้านเขาง่ายๆ ตั้งกำแพงเงื่อนไขไว้สูงๆ แต่สำหรับบ้านเรากลับเดินตามแบบที่ถูกกำหนดไว้เช่น อัตรามาตรฐานส่วนแบ่งและภาษีปิโตรเลียมควรจะเป็นเท่านั้นเท่านี้ เหมือนกับเกรงว่าไม่มีใครจะมาลงทุนขุดเจาะ ปุดโธ่! ยุคนี้มีแต่คนแย่งกัน โดยเฉพาะนักการเมืองไทยนักการเมืองเพื่อนบ้านนี่แหละตัวดีสมคบกับฝรั่งจะเข้ามาเอาสัมปทานให้ได้

เอาเฉพาะเรื่องอัตราภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและค่าภาคหลวงก็สามารถเขียนต่อได้อีกเยอะเลย ข้อเขียนว่าด้วยปิโตรเลียมและความพยายาม “ปฏิรูปการปิโตรเลียม” ผ่านนิยามกฏหมายในลักษณะเดียวกับคลื่นความถี่ยังต้องว่ากันยาวอีกหลายยกครับ ให้ถือว่าฉบับนี้เป็นบทไหว้ครูก็แล้วกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น