xs
xsm
sm
md
lg

จะปฏิรูปอะไร

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สิ่งที่จำเป็นสำหรับขบวนการผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยก็คือ ตัวอย่างที่สัมผัสได้ อธิบายได้ มองเห็นภาพและเห็นประโยชน์ความจำเป็นของมันเพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนสนับสนุนอย่างกว้างขวางที่สุดเพราะไม่เคยมีการปฏิรูปครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ที่สำเร็จอย่างง่ายดาย

คนที่อ่านนิยายจีนอาจคุ้นเคยกับการปฏิรูปของซางเอียง ก่อให้เกิดการปรับปรุงการกฏหมายและระบบปกครองรัฐฉินอย่างขนานใหญ่ ซึ่งแน่นอนแม้การปฏิรูปครั้งนี้ลุล่วงด้วยการสนับสนุนของเจ้ารัฐอย่างเต็มที่แต่มันก็ไม่ได้ราบรื่นเพราะต้องกระทบกับขุนนางเชื้อพระวงศ์รัฐฉินที่เคยชินกับขนบหรือระบอบเดิม ผลจากการนี้รัฐฉินได้รับการวางรากฐานเหนือกว่ารัฐอื่นๆ จนทำให้จิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินได้ในที่สุด ขณะที่ซางเอียงกลับถูกเจ้ารัฐคนใหม่จับประหารโดยใช้ม้าแยกร่างออกเป็นห้าส่วน ไม่ได้อยู่เห็นความสำเร็จที่เขาวางรากฐานเอาไว้

การปฏิรูปครั้งใด ๆ หากไม่มีแรงสนับสนุนจากผู้มีอำนาจเหนือสุด ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่กว้างขวางที่สุด เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่รวมอำนาจมาศูนย์กลาง (Centralization) เพราะเหตุจำเป็นของการเมืองโลกยุคอาณานิคม นอกจากการตั้งกระทรวงทบวงและระบบมณฑลเทศาภิบาลกระชับอำนาจการปกครองและการงบประมาณ-ภาษีอากร ยังมีขบวนการทำให้บ้านเมืองทันสมัยตัดถนนหนทางมีรถไฟ โทรเลข นำมาสู่การยกระดับพลังการผลิตในระบบเศรษฐกิจตามมา การปฏิรูประบบราชการครั้งนั้นเป็นรากฐานของระบบการบริหารราชการแผ่นดินสืบทอดมาจนทุกวันนี้คืออีกกว่า 100 ปีให้หลัง หากมองลึกลงไปในวิธีการและกระบวนการปฏิรูปของพระองค์จะพบว่าไม่ได้ทรงแค่ใช้อำนาจตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเท่านั้น หากยังต้องมีกุศโลบาย กลยุทธ์วิธีการที่เหมาะควรจัดการกับปัญหาแต่ละส่วนรวมไปถึงการแต่งงานก็เป็นกุศโลบายหนึ่ง อย่างไรก็ตามก็หาใช่จะราบรื่นนักดังจะเห็นจากมีเหตุการณ์กบฎต่อต้านอำนาจส่วนกลางเกิดขึ้นหลายครั้ง

การปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก่อให้เกิดขบวนการธงเขียวร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 เป็นการปฏิรูปทั้งในความหมายของ “การปฏิรูปแบบรัฐธรรมนูญนิยม” และในเชิงกระบวนการทางสังคม การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ได้มีสาระแค่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพิ่มเติมหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพครั้งสำคัญและปรับปรุงโครงสร้างกลไกถ่วงดุลอำนาจขึ้นมา หากยังประกอบด้วยการขับเคลื่อนทางสังคมครั้งใหญ่ของประชาชนธงเขียว ดึงอำนาจมาจากมือนักการเมืองเพื่อมาร่างกติกากันใหม่ แม้จะให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้สูง แต่ก็พยายามวางกลไกการกำกับตรวจสอบเอาไว้มากขึ้น

การปฎิรูปการเมืองครั้งนั้นต้องอาศัยพลังอำนาจทางสังคมของประชาชนครั้งใหญ่เป็นแรงกดดันต่อนักการเมือง ขนาดที่นักการเมืองใหญ่ต้องหลั่งน้ำตายอมรับรัฐธรรมนูญที่ตนไม่ชอบกลางสภามาแล้ว

นับจากครั้งนั้นเป็นต้นมา ประเทศของเราไม่เคยมีการปฏิรูปครั้งสำคัญอีกเลย แม้รัฐบาลทักษิณจะปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมจับแยกกรมเพิ่มกระทรวงครั้งใหญ่เมื่อปี 2545 แต่ก็ยังเป็นแค่การเปลี่ยนขวดใหม่ให้กับเหล้าเก่า บนฐานระบบบริหารราชการรวมศูนย์อำนาจแบบเดิม ไม่สามารถนับเป็นการปฏิรูปที่แท้จริงได้ แม้กระทั่งที่เรียกว่าการปฏิรูปการศึกษาก็แค่เพิ่มหน่วยงานองค์กรและวิธีการในโครงสร้างเก่า ผลลัพธ์ของการปฏิรูปการศึกษาของไทยจึงไม่น่าเอ่ยอ้าง พูดตรงๆ ก็คือล้มเหลว

มาถึงพ.ศ.นี้เราก็เริ่มได้ยินเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปดังขึ้นมาอีก อันที่จริงมันเป็นที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองระยะ 4-5 ปีมานี้ มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเวศ-อานันท์ มีข้อเสนอออกมา 2-3 เรื่องที่สำคัญแต่ที่สุดคณะกรรมการนี้ก็ไม่ได้รับการต่ออายุในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ก็มีการเคลื่อนไหวผลักดันการกระจายอำนาจในนามของ “ท้องถิ่นจัดการตนเอง” ที่ขยายแนวร่วมอย่างรวดเร็วกว้างขวางอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ระดับที่กระทรวงมหาดไทยอยู่ไม่ติดก็แล้วกัน นี่ก็คือว่าเป็นกระแสขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจที่สัมผัสได้ และมีทั้งเป้าหมายทิศทางรูปธรรมจับต้องได้นั่นก็คือ การพยายามร่างพรบ.ท้องถิ่นจัดการตนเองขึ้นมาในชื่อต่างๆ แล้วแต่ละจังหวัดจะเสนอกันแบบไหน

สิ่งที่ควรพิจารณาอย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยมี 2 ประการหลักคือ

1.ปฏิรูปอะไร หมายถึงกรอบ ประเด็น

2.วิธีการ ยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อน

ถ้าเอาตามคณะกรรมการปฏิรูปหลักๆ ก็คือ ปฏิรูปการเมืองโดยการแก้รัฐธรรมนูญพุ่งเป้าที่รัฐสภาให้มีประสิทิภาพและรับผิดชอบต่อประชาชนขึ้นและเพิ่มโครงสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเข้าไป รายละเอียดหาอ่านได้ตามเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งของคณะกรรมการปฏิรูปเองและที่สถาบันพระปกเกล้าจะไม่ขออธิบายรายละเอียด เรื่อง 2 เรื่องสำคัญต่อไปคือการปฎิรูปการคือครองที่ดิน ให้กระจายการถือครองจากนายทุนเศรษฐีกำหนดภาษีก้าวหน้าแพงๆ ให้คายที่ดินออกมา และการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจนั่นก็คือการกระจายอำนาจครั้งใหญ่ ทำรัฐบาลส่วนกลางให้เล็กลง

แต่หากนำข้อเสนอของคณะรณรงค์จังหวัดจัดการตนเองที่เคลื่อนไหวเรื่องกระจายอำนาจมาพิจารณาจะพบว่า มีข้อเสนอย่อยอยู่ในโครงสร้างที่เสนอนั่นคือ การปฏิรูปตำรวจ และการศึกษา ให้มาอยู่ภายใต้องค์การปกครองท้องถิ่น

ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็คือการปฏิรูประบบบริหารราชการครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี จากรวมศูนย์อำนาจมาสู่การกระจายอำนาจนั่นเอง

ผมอยากเห็นกรอบที่ชัดเจนของคณะรณรงค์ปฏิรูปประเทศไทยรอบด้าน ทำให้ประชาชนทั่วไปจับต้องและสัมผัสได้ว่าเนื้อหาของการปฏิรูปจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เช่น

การปฏิรูปตำรวจ ให้ขึ้นกับองค์กรท้องถิ่น ตัดอำนาจรวมศูนย์ที่ทำให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงวิ่งเต้นตำแหน่ง ทำงานบนความต้องการของการเมืองมากกว่าพิทักษ์สันติราษฎร์

การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งประเทศไทยดำเนินการมาไล่เรี่ยกับเกาหลีใต้แต่ปัจจุบันเกาหลีก้าวไปถึงไหนต่อไหน ไม่เฉพาะแค่ปฏิรูปการศึกษาเท่านั้นหากแต่เป็นการปฏิรูปรอบด้านทั้งการเมือง การเศรษฐกิจ ที่ก้าวหน้ากว่าของเราเยอะ จริงหรือไม่ที่เราปฏิรูปการศึกษาโดยมีการจัดโครงสร้างองค์ประกอบต่างๆใส่ลงไปได้ไม่แพ้ใคร แต่มันไม่ประสบความสำเร็จเพราะวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ และไม่ได้กระจายอำนาจจริง เฉพาะมิติเรื่องอำนาจนะครับปัจจุบันระบบการศึกษาขึ้นกับเขตการศึกษาซึ่งแท้จริงแล้วมันก็คือการรวมศูนย์อำนาจปกครองที่มีวัฒนธรรมอุปถัมภ์ยืนพื้นนั่นเอง ลองนึกดูหากท้องถิ่นได้เป็นเจ้าของโรงเรียน ประชาชนของท้เองถิ่นนั้นๆ ย่อมต้องการให้โรงเรียนของตนเก่งก้าวหน้ามีประสิทธิภาพเป็นเลิศในด้านต่างๆ ให้ทัดเทียมกับหัวเมืองใหญ่หรือในกรุงเทพฯ หากให้งบประมาณมากพอกับท้องถิ่นและกระจายอำนาจออกไป ประชาชนในสกลนคร ชัยภูมิ พะเยา อุตรดิตถ์ พัทลุง ย่อมต้องการให้โรงเรียนของตนพัฒนาเท่าเทียมที่อื่นผู้บริหารท้องถิ่นยังไงต้องขวนขวายพัฒนาตามที่ฐานเสียงต้องการ จะจ้างฝรั่ง จีนมาสอนภาษาก็ยังต้องทำ

การปฏิรูประบบราชการ จะปฏิรูปใหญ่บนฐานของการกระจายอำนาจ ตัดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจและเงินให้ท้องถิ่นตามภาษาที่คณะกรรมการปฏิรูปเรียกว่าปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ หรือตามแนวทางใด หรือจะมุ่งเน้นที่การยกเครื่องประสิทธิภาพ ระบบคุณธรรม และการลงโทษ รวมถึงระบบการป้องกันการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง

การปฏิรูปการเมือง คำๆ นี้เราใช้กันมาจนชักไม่แน่ใจว่าผู้ที่พูดในแต่ละวงจะเข้าใจหรือสื่อความหมายตรงกันหรือไม่ ข้อเสนอของคพป. เน้นที่กระบวนการรัฐธรรมนูญนิยม คือมุ่งแก้กฏกติกาใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับตอนที่ผลักดันร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งแท้จริงแล้วค่อนข้างยากหากไม่มีกระแสสังคมกดดันไปยังนักการเมือง

สภาพการณ์ที่เป็นจริงเวลานี้ เป็นช่วงที่พลิกผันจากยุคปฏิรูปการเมือง 2540 อย่างตาลปัตร ในครั้งนั้นประชาชนลุกขึ้นกดดันและดึงอำนาจมาจากมือนักการเมือง ช่วยกันกำหนดกติกาใหม่บนหลักการที่อนุญาตให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเพราะจะได้นำชาติบ้านเมืองไปข้างหน้าไม่ต้องมาติดหล่มการต่อรองในสภา พร้อมกันนั้นก็เพิ่มอำนาจให้ประชาชนและกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล (แต่นักการเมืองก็ศรีธนนไชยมากพอที่จะลองช่องกติกาทำลายกลไกถ่วงดุลไปหมด) แต่มาบัดนี้กลายเป็น นักการเมืองดึงอำนาจไปร่างกติกาใหม่ให้กับพวกตนเองฝ่ายเดียว ในนามของระบบประชาธิปไตยทั้งๆ ที่ใครก็รู้ว่าการกำหนดจำนวนสสร. เขตละ 1-2 คน สามารถบล็อกโหวตกำหนดตัวคนได้ล่วงหน้า

การปฏิรูปการเมืองที่เป็นจริงจึงต้องการพลังอำนาจที่มากกว่าพลังของนักการเมืองและทุนการเมืองที่กำลังครองอำนาจในเวลานี้

อันที่จริงคนเสื้อแดงที่พอจะมีสติปัญญาอยู่บ้างควรรู้ไว้ว่าไม่มีแมวตัวใดอยากเอากระพรวนมาผูกคอตัวเองหรอก บางทีพวกคุณต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพียงเพราะมันเป็นผลมาจากรัฐประหารเข้าใจว่าพอแก้แล้วจะเป็นประชาธิปไตยขึ้น หารู้ไม่ว่าแนวโน้มมันจะกลายเป็น กติกาใหม่ที่เอื้อให้การคดโกงของฝ่ายการเมืองทำได้สะดวกขึ้นเพราะกลไกตรวจสอบถูกทำลายไปแล้ว

การปฏิรูปประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ หรือว่าเราอยากจะให้เกิดสิ่งๆ นี้ขึ้นมาอย่างแท้จริงป้องกันการผูกขาด ฉ้อฉลของฝ่ายทุนการเมือง อันที่จริงคำๆ นี้เป็นคำพูดของปรีดี พนมยงค์ ที่บอกว่าจะต้องมีประชาธิปไตยที่สมดุล 3 ด้านคือ ประชาธิปไตยทางการเมือง ทางสังคมและทางเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่ประกาศว่าตัวเองก้าวหน้าปัญญาชนหลายคนศรัทธาในตัวท่านปรีดี แต่พอเอาเข้าจริงกลับละเลยหลักการสำคัญที่ทำให้สังคมประชาธิปไตยสมดุล นั่นคือละเลยหลักประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ไปหนุนไปเอื้อให้ทุนสามานย์ที่คุมการเมืองมีอำนาจ บิดเบือนหลักความเท่าเทียม หลักความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ไม่สนใจเรื่องปตท. ไม่สนใจว่าแกนนำเสื้อแดงจะทำมาหากินที่ผิดหลักประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจอย่างไร คนบอกว่าตัวเองก้าวหน้าไม่ควรรักท่านปรีดีแต่ปาก แต่ไม่เคยศึกษาหลักความคิดให้ครบด้าน

ที่ยกตัวอย่างมาล้วนแต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องยกเครื่องด้วยกันทั้งสิ้น แต่พอเอาเข้าจริงในขั้นรายละเอียดกลับมีมากมาย ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนก็มีแนวคิดแตกกันไปเป็นแขนงต่างๆ ยากที่จะนำเสนอเป็นรูปธรรมเพื่อการผลักดันที่ได้ผลจริง กรอบความคิดและประเด็นการผลักดันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพูดกันในกลุ่มผู้สนใจกระแสปฏิรูปประเทศไทย

ในเรื่องต่อมาคือวิธีการและขั้นตอนในเชิงยุทธวิธีการผลักดัน เพราะที่สุดแล้วการปฏิรูปครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์แต่ละครั้งจำเป็นต้องอาศัย “พลังอำนาจ” พิเศษเหนือกว่าปกติ ถ้าในยุคกษัตริย์ต้องอาศัยอำนาจกษัตริย์ที่แม้จะยิ่งใหญ่เด็ดขาดแค่ไหนก็ยังคงมีแรงเสียดทาน และหากเป็นยุคปัจจุบันก็ต้องอาศัยพลังอำนาจพิเศษของประชาชนจำนวนมากเป็นกระแสเรียกร้องต้องการที่มีพลังให้ได้

อย่างที่บอกครับว่า ก่อนหน้านี้และระหว่างนี้ก็มีขบวนการผลักดันขับเคลื่อนการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไหวมาก่อน เรื่องที่ดินเรื่องถือครองที่ดินและภาษีที่ดินก็มีเครือข่ายขบวนการผลักดันอยู่ เรื่องการกระจายอำนาจก็มีคนและขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ และที่สำคัญมีทั้งเหลืองแดงและสีต่างๆ อยู่ภายในนั้น

นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีตลอดถึงกุศโลบายผลักดันเคลื่อนไหว ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเบื้องต้นผมคิดว่า ต้องไม่มีใคร หน่วยงาน หรือกลุ่มคนใดที่เป็นเจ้าของ “กระแสเรียกร้องการปฏิรูป” กระแสดังกล่าวต้องเป็นของคนทุกหน่วยทุกฝ่ายทั้งที่มาก่อนมาหลัง ทั้งที่ผลักดันประเด็นเล็ก หรือประเด็นกว้าง ทั้งที่ผลักดันประเด็นเดียวหรือหลายประเด็น
กำลังโหลดความคิดเห็น