xs
xsm
sm
md
lg

วิวาทะ “คอร์เนล” การเมืองไทย : ภายใต้ปีกพญาอินทรี (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

โดย : ยุค ศรีอาริยะ

ผลงานชิ้นนี้มีที่มาที่แปลกๆ สักนิด ต้นเรื่องมาจากการที่ผมได้มีโอกาสไปพูดออกรายการของ ASTV

วันรุ่งขึ้น ผมก็ถูกกระหน่ำตีจากพลังฝ่ายสีแดง...แดงๆ และจากนักวิชาการบางท่านอย่างหนักหน่วงมาก มีนักวิชาการท่านหนึ่งถึงกับเสนอว่า สิ่งที่ผมนำเสนอในรายการทั้งหมดล้วนเพ้อเจ้อและไร้สาระอย่างสิ้นเชิง

เพื่อนๆ ผมบางคนพยายามจะโต้แย้งแทน แต่ไม่รู้ว่าผมพูดอะไร จึงพยายามค้นหาว่าผมพูดอะไรบ้างวันนั้น ปรากฏว่า หาได้เพียงประโยค หรือข้อความที่ถูกตัดต่อเป็นช่วงๆ เท่านั้น เพื่อนบางคนพยายามเปิดดูย้อนเข้าไปในรายการทีวีที่ถูกบันทึกไว้ เสียงพูดของผมก็ฟังได้ไม่ชัดว่าพูดอะไร

เพื่อนสนิทคนหนึ่งจึงสรุปว่า

“ที่พวกเขาตีคุณ เพราะคิดว่าคุณเป็นพวกพันธมิตรฯ หรือ ASTV และไม่ได้ฟังที่คุณพูดจริงๆ หรอก”

เพื่อนคนนี้จึงขอให้ผมช่วยเขียนเล่าเรื่องที่ผมพูดขึ้นมาเป็นผลงานสักชิ้น

ผมเองก็สงสัยว่านักวิชาการจำนวนหนึ่งที่โจมตีผมก็อาจไม่ได้ฟังรายการที่ผมพูดจริงๆ เพียงแต่คิดว่าสิ่งที่ผมพูดน่าจะไปกระทบพวกเขาเข้าแน่ๆ แล้ว จึงพากันโจมตีกันตามกระแส เมื่อมีกระแสโจมตี ก็ช่วยกันตี เพราะถือหางฝ่ายเดียวกัน

ผมไม่ว่าอะไรหรอก ใครจะด่าจะว่าผมอย่างไร

ขอเพียงแต่ว่า ก่อนจะกระหน่ำ โจมตี ครั้งต่อไป กรุณาช่วยกันอ่านงานชิ้นนี้ก่อนให้ชัดๆ ว่า “ผมคิดอะไร” และ “คิดอย่างไรจริงๆ”

ผมคงต้องเกริ่นก่อนว่า ผลงานที่ผมจะเขียนชิ้นนี้จะถือว่าเป็นงานเชิงวิชาการไม่ได้ แต่น่าจะเป็นเพียงบทสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ เท่านั้น

ในรายการโทรทัศน์ ผมพูดถึงภาพมหาอำนาจอเมริกาแบบกว้างๆ และเสนอว่า จักรวรรดิอเมริกา มีส่วนประกอบ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งผมจะเรียกว่า Hard Power อย่างเช่น กองทัพ ตำรวจ อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า Soft Power ซึ่งประกอบด้วยบรรดาสื่อและบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ

ผมยกตัวอย่างว่า อย่างเช่น มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ที่โด่งดัง ก็ทำหน้าที่เป็นฐานผลิตทางทฤษฎี และทางวิชาการ ให้แก่จักรวรรดิอเมริกา

ผมต้องขอโทษบรรดานักวิชาการที่ “จบ” คอร์เนลด้วย ผมไม่น่าไปเอ่ยถึงเลย เพราะมีนักศึกษาไทยที่เก่งๆ และมีชื่อเสียงจบที่นี่ หลายคน จึงกลายเป็นสถาบันที่ไม่อาจจะแตะต้อง หรือไม่อาจจะกล่าวถึงได้

แต่คงต้องระวังสักนิด ผมไม่ได้กล่าวว่า สิ่งที่ผมเรียกว่า “Soft Power” คือ ความเลวร้ายนะ

กล่าวคือ ผมไม่ได้มองโลกแบบสุดขั้ว ที่แยกเป็นขาวกับดำ ดี หรือเลว และผมก็ไม่ได้บอกว่า จักรวรรดิอเมริกาต้องเลวร้ายเช่นกัน เพียงแต่ผมเชื่อว่า ทุกประเทศ หรือทุกอาณาจักร ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ผลประโยชน์” ที่รัฐหรือประเทศนั้นๆ ต้องรักษา

เมืองไทยก็มีมหาวิทยาลัยมากมาย มีที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งทำหน้าที่ผลิต นักวิชาการ จำนวนมาก

กล่าวไม่ได้หรือว่า “มหาวิทยาลัยเหล่านี้ คือ Soft Power ของรัฐไทย” เช่นกัน

อาจารย์เกษียรแย้งความคิดผมอย่างมีเหตุมีผล ท่านแย้งว่า สิ่งที่ผมกล่าวอ้างนั้น “ดูจะเกินจริงไปมากๆ” เพราะท่านอาจารย์ (Adviser) ซึ่งมีฐานะเป็นที่ปรึกษาหลักของผมเอง คือ James Petras ท่านถือว่าเป็น อาจารย์ที่มีความคิดแบบสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงมาก ยังสามารถสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ที่ผมศึกษาเล่าเรียน

ความจริงแล้ว สถาบันที่ผมเรียนชื่อว่า สถาบันระบบโลก สถาบันแห่งนี้ถือว่าเป็น “ที่รวมของบรรดาอาจารย์ผู้มีแนวคิดทางสังคมนิยม” คล้ายๆ อาจารย์ Petras และถือว่าเป็น “ที่รวมของนักคิดสังคมนิยมที่มีชื่อเสียง และมีแนวคิดที่ต่อต้านแนวคิดแบบจักรวรรดินิยมอย่างมาก”

ในช่วงที่ผมเรียน (ประมาณปี ค.ศ. 1985 ถึง 1990) แนวคิดระบบโลก ถือว่าเป็นแนวคิดทางสังคมศาสตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก จนส่งผลทำให้ผู้นำเสนอแนวคิดระบบโลก คือ ท่านอาจารย์ Wallerstein ได้รับการยกย่อง และได้เป็นถึงประธานสมาคมสังคมศาสตร์โลก

หลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์ของอาจารย์ คือ ท่านอาจารย์ Braudel ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

ถ้าคิดแบบอาจารย์เกษียร สถาบันระบบโลก และบรรดาอาจารย์ที่สอนที่สถาบันระบบโลก ไม่น่าจะกลายเป็น Soft Power ของจักรวรรดิอเมริกาได้

แต่... ผมไม่ได้คิดแบบอาจารย์เกษียร

ผมคิดอย่างไร... ผมจะอธิบายในผลงานชิ้นนี้

ดังนั้น ผลงานชิ้นนี้มีเจตนาเพื่อตอบคำแย้งของอาจารย์เกษียร และมีเจตนาเพื่อชี้ว่า “เป็นไปได้อย่างไร ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ซึ่งจัดว่าเป็น Soft Power ที่สำคัญของจักรวรรดิอเมริกา ส่งเสริมการศึกษาแบบสังคมนิยม”

นอกจากนี้ เพื่อให้บรรดาเพื่อนๆ เข้าใจว่า “ผมคิดอะไร” ให้ชัดๆ ผลงานชิ้นนี้จะมุ่งเป้าขยายภาพสิ่งที่ผมเรียกว่า “จักรวรรดิอเมริกา”

ในรายการทีวีของ ASTV นอกจากผมจะพูดเรื่อง “ระบบจักรวรรดิอเมริกา” แล้ว ผมยังเสนอภาพว่า “ปัจจุบันประเทศไทยได้ตกอยู่ภายใต้อุ้งปีกพญาอินทรี หรืออำนาจของสหรัฐอเมริกา มากน้อยแค่ไหน อย่างไร”

หลังเกิดกระแสโจมตี เพื่อนผมท่านหนึ่งซึ่งทำงานด้านสื่อมาเป็นเวลานานมาก ท่านได้โทร.มาสนับสนุนแนวคิดของผม

ท่านกล่าวว่า

“ที่ผ่านมา อเมริกายุ่งทุกเรื่อง (การเมือง) โดยทั่วไปจะวางตัวเป็น นายใหญ่ ชอบสั่งแต่ไม่เปิดเผย ถือว่าเป็น นายใหญ่ ใหญ่กว่าคุณทักษิณเสียอีก”

ท่านเสนอความเห็นต่อว่า

“แต่ที่แปลกคือ คนไทยมองไม่เห็นภาพ ไทย ซึ่งตกอยู่ใต้ปีกพญาอินทรี”

อย่างเช่น ในช่วงเกิดวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของภาควิชาการและประชาชนต่อต้านทักษิโณมิกส์ จนกระทั่งเกิดกรณีการเผาบ้านเผาเมือง

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างมากๆ ก็คือ นักวิชาการไทย และบรรดาสื่อไทย จะมองหรือเข้าใจวิกฤตในระดับประเทศไทยเท่านั้น

ดังนั้น วิกฤตการเมืองที่ผ่านมาจึงกลายเป็นเรื่อง “สงครามระหว่างไพร่กับเจ้า” รวมทั้ง “ระบบอำมาตย์” “สงครามระหว่างเหลืองกับแดง” เรื่อง “เอาทักษิณ ไม่เอาทักษิณ”

นี่คือ กรอบของความรับรู้และความเข้าใจ ซึ่งคนไทยจำนวนหนึ่งเชื่อว่าคือ “ความจริงวันนี้”

นักวิชาการ หรือคนไทย เพียงตระหนักกันว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกมากยิ่งขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง แต่คนไทยทั่วไปกลับไม่สามารถอธิบายได้ว่า สงครามการเมืองที่ก่อรูปขึ้นภายในประเทศเกี่ยวพันกับอเมริกา หรือการเมืองโลก แค่ไหน และอย่างไร

แต่ถึงอย่างไร การอธิบายการเมืองในกรอบที่เกินกว่าประเทศ เป็นเรื่องยากมาก เพราะพื้นที่หรือกรอบการศึกษาต้องกว้างอย่างมาก และข้อเท็จจริงบางเรื่อง (ทางการเมือง) ก็ถือว่าเป็นเรื่องลับ ที่เรียกว่า “เกินกว่าที่จะหาหลักฐานทั่วไปมายืนยันได้”

จนกลายเป็นว่า เวลาวิเคราะห์การเมืองโลก หรือวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริกา คำอธิบายทั้งหมดไม่ว่าจะมีเหตุผลสนับสนุนแค่ไหน ก็กลายเป็นเพียงการสร้างนิยายที่เรียกว่า “น่าสงสัย” และ “ไม่น่าเชื่อ”

เวลาวิเคราะห์ระบบโลก ผมจึงชอบนำเสนอการวิเคราะห์แบบการสร้าง “เค้าโครง” เท่านั้น ไม่ได้บอกว่า “จริง”

การวิเคราะห์แบบนี้จะคล้ายๆ กับการนำเสนอสมมติฐานก่อนการเขียนงานวิทยานิพนธ์ ที่ต้องมีชุดเหตุผลและข้อมูลประกอบบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากนัก

ผมพบว่า การนำเสนอแบบนี้มีประโยชน์พอสมควร เพราะสามารถสร้างประเด็นโต้เถียงกันแบบสนุกๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องยืนยันว่า “จริง” หรือ “ไม่จริง” แบบ 100 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ การเสนองานลักษณะนี้จะช่วยให้บรรดาผู้อ่านที่ไม่มีเวลามาก และไม่ชอบอ่านหนังสือยาวๆ สามารถเข้าใจโลกที่มีความสลับซับซ้อนได้อย่างง่ายๆ

ที่สำคัญ การเสนอแบบนี้ เมื่อมีเจตนาเพียงตั้งประเด็น ก็คือ ชวนให้คิด ชวนให้ศึกษาต่อเท่านั้น

ผู้อ่านเอง ต้องอ่านอย่างวิเคราะห์ ระวังสักนิด ช่วยกันคิดต่อ และต่อยอด หรือชวนกันถกเถียง โต้แย้ง และแย้งต่อ

“การเมืองโลก” ในยุคสงครามเย็น


เวลาจะศึกษา การเมืองไทยภายใต้เงาพญาอินทรี ผมคงต้องขอมองย้อนประวัติศาสตร์สักนิด เพราะไทยเคยตกอยู่ภายใต้อุ้งปีกพญาอินทรีตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

ย้อนไปประมาณสักปี พ.ศ. 2500 ถึง 2514 ในยุคนั้น รัฐทหารไทยมีฐานะเป็นรัฐชายขอบ ซึ่งถือว่าเป็นระบบเครือข่ายรัฐซึ่งสามารถเชื่อมตรงหรือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐจักรวรรดิอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐศูนย์กลาง

ในช่วงเวลานั้น รัฐทหารไทยและคนไทยได้ถูกลากเข้าสู่สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทหารไทยต้องสละชีวิตในสงคราม ทั้งในและนอกประเทศ (เพื่อชัยชนะของอเมริกา) จำนวนนับพันๆ คน โดยที่ทหารไทยทั่วไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “อะไรคือคอมมิวนิสต์”

คนไทยทั่วไปมักจะไม่สนใจเรื่อง “ที่ตั้ง” และ “แผนที่”

ถ้าเราดูแผนที่ ประเทศไทย จะเห็นว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ทางใต้ของจีน หากเราดูแผนที่เป็น เราจะพบฐานะทาง “ยุทธศาสตร์” ของประเทศไทย

ไม่ใช่ “ฐานะ” ทางยุทธศาสตร์ของไทยเอง แต่เป็น “ฐานะ” ทางยุทธศาสตร์ของอเมริกา

หลังจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 สหรัฐอเมริกาต้องยอมถอนฐานทัพออกจากประเทศไทย แต่อำนาจของรัฐอเมริกาเหนือรัฐไทยยังคงดำรงอยู่

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 สะท้อนภาพชัดว่า ที่แท้แล้วจักรวรรดิอเมริกายังบงการอยู่เบื้องหลังการสั่งฆ่านักศึกษาและประชาชนที่ธรรมศาสตร์ และยังคงมีอำนาจเหนือรัฐไทย

ดูราวว่า กองทัพอเมริกาจะถูกถอนออก แต่ก็น่าสงสัยว่า ถ้าเกิดวิกฤตใหญ่ หรือ เกิดสงครามระหว่างจีนกับอเมริกา สหรัฐอเมริกาน่าจะมีสิทธิ “พิเศษ” เข้ามา “ใช้” ฐานทัพเรือที่อู่ตะเภาได้

ผมแค่ “สงสัย” แต่ไม่มี “ข้อเท็จจริง” ยืนยันเรื่องเหล่านี้

นอกจากนี้ ยังมีปฏิบัติการทางการเมือง และทางทหาร หลายๆ จุด ถือว่าเป็น “ปฏิบัติการร่วม” ตัวอย่างเช่น ในย่านพรมแดนไทยกับพม่า ในการช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยรบกับรัฐบาลทหารของพม่า

ปฏิบัติการเหล่านี้ เกี่ยวเนื่องกับการ “ค้าอาวุธ” และการ “ค้ายาเสพติด” ทั้งในประเทศไทยเองและข้ามชาติ

นี่คือ “ความจริง” ที่ไม่อาจจะกล่าวได้ว่า “จริง” ถึงจะพูดไปก็ไม่มีใครเชื่อว่า “จริง” (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น