xs
xsm
sm
md
lg

จับกระแส ‘บูรพาภิวัฒน์’ เมื่อจีนเป็นมหาอำนาจ ไทยจะตกขบวนหรือก้าวไปด้วยกัน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้นำทั้ง 4 รุ่นของจีน เหมา เจ๋อตุง, เติ้ง เสี่ยวผิง, เจียง เจ๋อหมิน และ หู จิ่นเทา
 
การผลัดเปลี่ยนจากผู้นำรุ่นที่ 4 อย่างหู จิ่น เทา สู่ผู้นำรุ่นที่ 5 อย่างสี จิ้น ผิง ที่ได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของจีนภายใต้ทิศทางของการพัฒนาประเทศที่มุ่งไปสู่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะการขยายธุรกิจพลังงาน รวมทั้งเทคโนโลยีชั้นสูงในหลากหลายแขนงนับแต่การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง จวบจนการพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศ ขณะเดียวกัน การวางตัวทางการเมืองระหว่างประเทศที่ใช้นโยบาย "ไม่แทรกแซง" การเมืองในประเทศอื่นใด โดยวางตัวเป็นมิตรกับทั้งรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลประชาธิปไตยด้วยดีเสมอมา ทั้งหลายทั้งปวงนั้น คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนในโมงยามนี้ กำลังเป็นที่จับตาของเหล่ามหาอำนาจแห่งโลกตะวันตก กระทั่งเกิดคำกล่าวขานว่าการผงาดของจีนคือการมาถึงของยุคสมัยแห่ง ‘บูรพาภิวัฒน์’ กอปรกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โจนทะยานจนแม้แต่สหภาพยุโรปและ 'พี่เบิ้ม' หน้าเก่าอย่างสหรัฐอเมริกายังต้องเกรงขามและหวาดหวั่นกับการก้าวขึ้นมาสู่สถานะ 'มหาอำนาจ' ของพญามังกร
รองประธานาธิบดีของจีน สี จิ้น ผิง ผู้ถูกวางตัวเป็นผู้นำรุ่นที่ 5 ต่อจาก หู จิ่น เทา
 
เมื่อมหาอำนาจหน้าใหม่ คือ ‘พี่เบิ้มแห่งโลกตะวันออก’ อีกทั้งมีนโยบายที่ตรงข้ามกับสหรัฐฯ ซึ่งมักจะแทรกแซงการเมืองประเทศต่างๆ อยู่เสมอ อีกทั้งความสัมพันธ์อันดีที่จีนสานไว้อย่างมั่นคงกับกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งรวมถึงไทยเราด้วยนั้น เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านของจีนจากยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียสู่มหาอำนาจโลกแล้วไทยจึงย่อมได้รับผลจากความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดังทัศนะของสันติ ตั้งรพีพากร ซึ่งฝากไว้ในบทความชื่อ ‘จีนสากล อเมริกันจนแต้ม’ จากคอลัมน์พลวัตจีนที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของจีน สหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มอาเซียนว่า

"ในท่ามกลางสายตาชาวโลก สหรัฐฯ ยังคงดำเนินนโยบาย “ตำรวจโลก” ตั้งเป้าทำสงครามกับขบวนการก่อการร้ายสากล บีบคั้นผู้นำประเทศ “ชั่วร้าย-ล้าหลัง” กะเกณฑ์พรรคพวกยกทัพตะลุยเข้าสู่ดินแดนผู้ก่อการร้าย โค่นล้มคณะผู้นำที่ “ชั่วร้าย-ล้าหลัง” แล้วสถาปนาคณะผู้นำชุดใหม่ พร้อมกับมอบชุดกิจกรรมทางการเมืองสำเร็จรูปให้พวกเขาไปยึดถือปฏิบัติ โดยได้สิทธิสัมปทานบ่อน้ำมันของประเทศนั้นๆ เป็นสิ่งตอบแทน เป็นต้น

"อีกด้านหนึ่งก็ทำตัวเป็นอาจารย์ใหญ่ร่ายคาถา “ประชาธิปไตย” ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่ฝักใฝ่ตะวันตก รวมทั้งนักวิชาการหัวตะวันตก เคลื่อนไหวก่อหวอด สร้างสถานการณ์ บั่นทอน ล้มล้างอำนาจปกครองที่เป็นอยู่ แล้วหาจังหวะเข้าแทรกแซง ตามหลัก “กวนน้ำให้ขุ่น” แล้วไล่ล้วงจับปลา

"วันนี้ก็ประกาศอีกแล้วว่า “ฉันจะกลับมาใหญ่ในเอเชีย” ระดมประเทศต่างๆ ทั้งที่เคยเป็นพันธมิตรและศัตรู ตั้งแต่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนเกือบทั้งหมดมาเข้า “โหมด” ของตน วาดหวังว่า ด้วยมาดของ “นักเลงโตเจ้าเก่า” จะสามารถเบียดจีนให้ตกขอบไปได้

"ในทัศนะของผู้เขียน สหรัฐฯ กลับมาได้ แต่มาใหญ่อย่างเดิมไม่ได้ เพราะเอเชียวันนี้ดำรงอยู่ด้วยเครือข่ายความร่วมมือที่เกิดขึ้นบนฐานผลประโยชน์ร่วมกันในระดับภูมิภาค เช่น “อาเซียน+3” และ เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เป็นต้น สิ่งที่สหรัฐฯ จะทำได้ดีที่สุดก็คือ การปรับตัวเองให้เข้าสภาวะของ “เอเชียใหม่” ที่มากด้วยพลวัต และกำลังแสดงบทบาทเป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกยิ่งกว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป สหรัฐฯ จะต้องยอมรับความจริงว่า ณ วันนี้ ตนเองกำลังตกที่นั่งลำบากจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่ระเบิดจากภายใน ทั้งยืดเยื้อ หนักหน่วง และยังมองไม่เห็นทางออก หากจะแก้ด้วยการมา “กวนน้ำให้ขุ่น” ในเอเชีย ก็คงไม่สำเร็จ เพราะคงไม่มีรัฐบาลประเทศไหนโง่พอที่จะยอมให้สหรัฐฯ ชักจูง ไปทำในสิ่งที่เป็นพิษภัยแก่ภูมิภาคเอเชีย...
หู จิ่น เทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนคนปัจจุบัน ที่กำลังอยู่ในช่วงถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองสู่ผู้นำรุ่นถัดไป
"การผงาดขึ้นของจีน จึงหมายถึงการเกิดขึ้นของปัจจัยแห่งสันติภาพ ดังนั้น การที่สหรัฐฯ จะกลับมา “กวน” เอเชีย สร้างความตึงเครียดขึ้นในเอเชีย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ดีไม่ดี จะถูกชาวเอเชียโห่ไล่ หน้าแตกเย็บไม่ติด

"อีกนัยหนึ่ง ประเทศเอเชียด้วยกัน ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะกีดกันหรือต่อต้านจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของเกือบทุกประเทศ และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นทั้งทางปริมาณและคุณภาพ ขณะที่สหรัฐฯ กำลังย่ำแย่อยู่กับวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน อ่อนเปลี้ยเพลียแรงสิ้นดี การ “กลับสู่เอเชีย” จึงมีนัยอยู่ที่การสร้างความตึงเครียด เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้ออาวุธ ซึ่งสหรัฐฯ ขนมารอ “เร่ขาย” อยู่แล้ว"

การมาถึงของ ‘บูรพาภิวัฒน์’ เมื่อ ‘อัสดงคตาภิวัฒน์’ เสื่อมถอย

แต่นอกเหนือไปจากการเตรียมตั้งรับการก้าวเข้ามาก้าวก่ายของสหรัฐและโลกตะวันตก ที่กำลังหวาดกลัวจีนและเอเชียจนต้องหาทางบั่นทอนละยุแยงให้ขาดเอกภาพแล้ว ไทยก็ควรจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อไม่ให้เรากลายเป็นประเทศล้าหลังหรือตกขบวน เมื่อบูรพาภิวัฒน์เถลิงอำนาจกลายเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกใบนี้

ดังบทสัมภาษณ์ที่อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอมุมมองแก่ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่าด้วยการยืนหยัดของไทยในหลากหลายแง่มุมได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

“ผมคิดว่าปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นวัฏจักรที่ย้อนกลับมาสู่ความรุ่งเรืองของตะวันออก ผมพูดเช่นนี้ก็เพราะว่าสมัยที่จีนมีความรุ่งเรืองยิ่งกว่าปัจจุบัน คือเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน หรือสมัยราชวงศ์ถัง ตะวันตกยังอยู่ในยุคมืดและเสื่อมถอย เขาไม่มีความเจริญเท่าจีน แต่เมื่อปลายๆ ยุคมืด ตะวันตกเรื่มแสวงหาองค์ความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งภูมิปัญญาของจีนก็เป็นองค์ความรู้หนึ่งที่ตะวันตกรับไปแล้วนำไปต่อยอด นำไปใช้ จนสิ่งที่ตัวเองต่อยอดนั้น มีความก้าวหน้ากว่าที่จีนทำอยู่ในฐานะผู้ริเริ่ม ดังนั้น ถ้าพูดสรุปในตอนนี้ก็คือเมื่อหนึ่งพันกว่าปีก่อนตอนที่จีนรุ่งเรือง ความทันสมัยหรือความเป็นสมัยใหม่อยู่ที่ตะวันออก เมื่อตะวันตกมาเห็นตะวันออก ซึ่งผมไม่ได้หมายถึงจีนที่เดียว แต่หมายความรวมถึงทั้งตะวันออกกลาง หมายถึงอาหรับ รวมทั้งหมายถึงตะวันออกอย่างอินเดียด้วย ประเทศเหล่านี้ล้วนมีภูมิปัญญาที่ตะวันตกนำไปต่อยอด กล่าวได้ว่าในสมัยนั้น ‘ความทันสมัย’ ก็คือตะวันออก และนั่นแหละ คือ ‘บูรพาภิวัฒน์’ ”
รศ.ดร.วรศักดิ์ มหัทธโนบล
 
เมื่อบูรพาภิวัฒน์ที่โลกตะวันตกและทั่วโลกกำลังกล่าวขานถึงในโมงยามนี้ กลับเป็นสิ่งที่อาจารย์วรศักดิ์มองว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเมื่อราวหนึ่งพันกว่าปีก่อน โลกตะวันตกก็เคยทึ่งกับวิทยาการและภูมิปัญญาอันล้ำหน้าของจีนมาแล้ว ทว่า แม้บูรพาภิวัฒน์จะเคยเกิดขึ้นบนโลกเมื่อนานแสนนาน กระนั้น อาจารย์วรศักดิ์ก็ไม่ลืมที่จะเอ่ยถึงภาวะเสื่อมถอยของวิทยาการในซีกโลกตะวันออก และปัจจัยที่ทำให้ตะวันตกล้ำหน้ากระทั่งก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำหรือครอบครองสถานะแห่งความทันสมัย จนสามารถนำพาโลกให้ก้าวเข้าสู่ยุคของ ‘เวสเทิร์น ไนส์เซชั่น’ หรือ ‘อัสดงคตาภิวัฒน์’ ที่นำพาตะวันตกให้ก้าวขึ้นไปยืนอยู่บนหัวแถวของยุค ‘โมเดิร์นไนส์เซชั่น’ รวมทั้งการเอ่ยถึงปัจจัยที่ทำให้จีนต้องพลาดตำแหน่ง ‘ผู้นำแห่งความทันสมัย’ ที่ตนเคยครอบครอง ทำให้ความเป็นผู้นำตกมาสู่มือของโลกตะวันตกนับแต่นั้น

“เนื่องจากจีนเอง หลังจากที่พัฒนามาถึงขีดสุดแล้วก็หยุดนิ่ง คือในสมัยราชวงศ์ซ่งก็ยังพัฒนาอยู่ แต่หลังยุคราชวงศ์ซ่งแล้ว สิ่งที่จีนพัฒนามาก็เริ่มหยุดนิ่ง ซึ่งขณะที่จีนหยุดนิ่งนั้น ตะวันตกยังคงพัฒนาต่อไป โดยนำองค์ความรู้ของตะวันออกไปพัฒนาต่อยอดจนก้าวหน้า เมื่อข้างหนึ่งหยุดนิ่ง อีกข้างหนึ่งก้าวหน้า ในที่สุดฝ่ายที่หยุดนิ่งก็กลายเป็นล้าหลังและด้อยพัฒนา เมื่อตะวันตกกลับเข้ามาในจีน เขาก็นำสิ่งที่คิดต่อยอดมาให้จีน จีนเองในด้านหนึ่งก็ตกใจ ตื่นเต้นกับความทันสมัย แต่อีกด้านหนึ่งจีนก็ดูถูกตะวันตกว่าเราเคยมีมาก่อน แต่ไม่ว่าอย่างไร โลกทั้งใบก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาสู่ความทันสมัย ที่มีโลกตะวันตกเป็นตัวตั้ง แล้วมีความพยายามทำให้ตัวเองเป็นแบบตะวันตก ซึ่งก็คือยุค ‘อัสดงคตาภิวัฒน์’ หรือ ‘เวสเทิร์นไนซ์เซชั่น’ ( อย่าลืมทับศัพท์ ) ดังนั้น ใครที่มีความเป็นเวสเทิร์นไนซ์เซชั่นอยู่แล้ว นานวันเข้าก็กลายเป็นความทันสมัยหรือ ‘สมัยใหม่’ หรือ ‘โมเดิร์นไนส์เซชั่น’ "

 
“โดยสรุป ความทันสมัยที่เอ่ยถึงในมุมนี้ เราใช้เกณฑ์ความเจริญของตะวันตกเป็นตัวตั้ง แล้วจากวันนั้นจนถึงเดี๋ยวนี้ เราก็จะพบว่าตอนนี้ตะวันตกเสื่อมถอย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ตรงกันข้ามกับจีนที่กลับรุ่งเรือง หลายๆ คนจึงรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับปรากฏการณ์นี้ ถึงกับมองเห็นว่าคราวนี้บูรพาภิวัฒน์มาแล้ว เป็น ‘อีสเทิร์น ไนส์เซชั่น’ และเมื่ออีสเทิร์นไนส์เซชั่นสามารถครอบงำไปทั้งโลกแล้ว ต่อไปอีสเทิร์นไนส์เซชั่นก็คือโมเดิร์นไนส์เซชั่น ใครจะไปนึก ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าจริงหรือ? ที่คนตะวันตกจะเปลี่ยนมาถือตะเกียบ ผมว่าคงยาก เหมือนกับที่คนตะวันตกไม่สามารถทำให้คนจีนเลิกถือตะเกียบได้ แต่ในแง่ของการเปลี่ยนวิธีคิดต่างหากที่ทำให้ผมเห็นว่ามันน่าสนใจ เช่น คนตะวันตกอาจหันมาสนใจลัทธิขงจื๊อ สนใจศาสนาพุทธ สนใจพราหมณ์มากขึ้น ซึ่งศาสนาพุทธนั้นตะวันตกสนใจมานานแล้ว แต่ขงจื๊อนี่ยังไม่มากนัก ผมจึงคิดว่าน่าสนใจว่าตะวันตกจะหันมาสนใจศึกษาแนวทางของขงจื๊อมากขึ้นไหม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจะพอบอกว่าเป็นบูรพาภิวัฒน์ได้ แต่ถ้าให้ผมบอกตอนนี้ ต้องบอกว่ายาก เพราะสำหรับจีนเอง ความคิดที่เฝ้าเพียรเฝ้าบอกคนของตนเองมานับสิบปีให้หันมานับถือขงจื๊อก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ”

จากที่อาจารย์วรศักดิ์กล่าวมาทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า หรือในมุมมองของเขา เขาเห็นว่า ‘ปรัชญา’ คือรากเหง้าของเอเชียหรือของจีน เพราะเหตุนั้น ต่อเมื่อเมื่อมีการขบคิด ตีความ และสนใจปรัชญาตะวันออกอย่างลึกซึ้ง เมื่อนั้น ตัวเขาจึงจะยอมรับว่านั่นเป็นยุคสมัยของบูรพาภิวัฒน์อย่างแท้จริง ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากวรศักดิ์ก็คือ

“ปรัชญามันเป็นเพียงแค่ส่วนเดียว ผมเพียงแค่ยกตัวอย่างเท่านั้นเอง มันยังมีส่วนประกอบอื่นๆ อีกเยอะ ที่ผมเอ่ยถึงขงจื๊อเพราะปรัชญาของขงจื๊อเข้าไปสู่สำนึกรับรู้ของคนตะวันตกน้อย ไม่ต่างจากศาสนาอิสลามหรือศาสนาพุทธที่ตะวันตกแสดงความสนใจอย่างเปิดเผย พราหมณ์ก็เช่นเดียวกัน เพราะสังคมตะวันตกเป็นสังคมเปิด แต่ขงจื๊อก็ยังไม่แพร่หลายในตะวันตก เขายังรู้จักน้อย แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่ง มันยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ไม่ใช่แค่ปรัชญา มีตัวอย่างอะไรอีกบ้างล่ะ ที่ตะวันตกรับไปจากตะวันออก ที่เป็นไปได้ก็อย่างเช่นการแพทย์แผนจีน หรือการแพทย์แผนตะวันออก ซึ่งก็มีความร่วมมือกันอยู่ระหว่างโลกตะวันตกและเอเชีย แต่นอกเหนือไปจากนี้ ผมก็ยังมองไม่เห็นว่าจีนจะ ‘ต่อยอด’ สิ่งที่เป็นวิทยาการของตะวันตกที่มันก้าวหน้าอย่างมากในทุกวันนี้ต่อไปอย่างไร ให้เป็นที่ยอมรับของตะวันตก ถ้าเป็นอย่างนั้น จึงจะแสดงให้เห็นได้ว่าตะวันตกได้รับอิทธิพลของจีน"

“นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้ผมไม่แน่ใจในความเป็นบูรพาภิวัฒน์ก็คือว่า เมื่อครั้งที่เป็น ‘อัสดงคตาภิวัฒน์’ หรือความเป็นตะวันตกแทรกเข้ามาในตะวันออกนั้น สิ่งที่เข้ามามันใหม่จริงๆ ในสายตาคนตะวันออก แต่ตอนนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่า นอกจากสิ่งที่ผมเอ่ยมาแล้ว มันจะยังมีอะไรที่ใหม่ในสายตาของคนตะวันตก ที่จะทำให้เขารับเอามาและเคารพ เหมือนที่ทุกวันนี้เราชื่นชมค่านิยมในทางที่ดีของตะวันตกในหลายๆ เรื่อง ดังนั้น มันก็เหลืออยู่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมมองว่า เพราะเหตุใด จึงมีผู้มองว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคบูรพาภิวัฒน์ ซึ่งโดยหลักแล้ว เขามองอยู่สองเรื่องใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจและกำลังทางทหาร เขาคงมองว่าต่อไปในอนาคตจีนจะมี ‘Power’ หรือมีอำนาจในทางนี้ เมื่อมีอำนาจในทางนี้ ถนนทุกสายก็จะมุ่งมาหาจีน ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็น ‘พี่เบิ้ม’ ที่อาจจะศักดิ์สิทธิ์กว่าปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผมเห็นว่ายังไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในวันนี้”


เมื่อจีนและอินเดียก้าวสู่ยุคทอง ไทยจะก้าวสู่ยุคไหน?

แม้ไม่อาจปฏิเสธว่า เวลานี้ จีนถือเป็นหัวหอกสำคัญ เป็นพี่ใหญ่ของเอเชียที่โลกตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา กำลังพยายามสานสัมพันธไมตรีภายใต้ท่าทีให้เกียรติและเกรงขามมากกว่าเคย หลังจากเศรษฐกิจของทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ตกต่ำอย่างหนัก แต่นอกจากจีนแล้ว ยังมีอีกประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชียที่กำลังมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างน่าจับตา โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติที่เดินทางเข้าไปขยายธุรกิจและฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่ว่านั้นก็คืออินเดีย

และเป็นความจริงอีกเช่นกันว่ากระแสที่นักวิเคราะห์การเมืองโลกต่างคาดการณ์หรือจับตามองว่ายุคสมัยแห่ง ‘บูรพาภิวัฒน์’ ใกล้จะมาถึงนั้น การมีตัวอย่างแค่จีนเพียงอย่างเดียว อาจยังไม่ทำให้กระแสดังกล่าวเข้มแข็งพอ เพราะเหตุนั้น อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่เปี่ยมไปด้วยทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยี และกำลังทางการผลิต จึงเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ถูกมองว่าจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกเคียงคู่กับจีนในอนาคตอันใกล้ เป็นเสมือนสองคู่หูที่นำพาโลกบูรพาให้อภิวัฒน์และแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก เพราะเหตุนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่เราจะลองมาวิเคราะห์กันว่า เมื่อถึงวันนั้น ไทยควรจะมีทีท่าอย่างไรต่อทั้งจีนและอินเดีย ความสัมพันธ์ที่มีจะยิ่งแน่นแฟ้นหรือไม่ สำคัญกว่านั้น ‘ไทย’ จะสามารถพัฒนาศักยภาพของประเทศให้ก้าวขึ้นมาทัดเทียมจนยืนอยู่แถวหน้าของบูรพาภิวัฒน์ได้หรือไม่? ซึ่งในประด็นดังกล่าว วรศักดิ์ มีคำตอบที่น่าสนใจไม่น้อย

“ถ้าจะให้เปรียบเทียบไทยกับจีนและอินเดีย สำหรับจีนและอินเดียเขามีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแข็ง ซึ่งคุณจะไปเปลี่ยนแปลงเขาได้ยากมาก ทั้งสองประเทศนี้ไม่เหมือนสังคมไทย สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่อ่อน ซึ่งทำให้เราเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกภายนอกได้ง่าย ซึ่ง คำว่า ‘อ่อน’ ในความหมายของผมนี่คือคำว่า ‘ซอฟท์’ นะ แต่เมื่ออ่อนมากๆ บางเรื่องก็กลายเป็น ‘วีค’ หรือ ‘อ่อนแอ’ ซึ่งความโอนอ่อนกับอ่อนแอนั้นต่างกัน ความอ่อนแอในความหมายของผมก็คือสังคมไทยมักจะรับเอาสิ่งไม่ดีของตะวันตกมา แต่สิ่งดีๆ ก็มักจะไม่ค่อยรับ เช่น สิ่งดีๆ ของตะวันตกก็คือการที่เขามักจะคิดค้น คอยหาคำตอบของสิ่งที่อยู่รอบตัวเสมอ ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องอ่านหนังสือ แค่ปัญหา ‘การอ่าน’ อย่างเดียว ก็ทำให้ผมพบว่ามันคงไม่ทำให้สังคมไทยพัฒนาขึ้นสักเท่าไหร่ ผิดกับจีนและอินเดียซึ่งเป็นสังคมที่คนอ่านหนังสือกันเยอะมาก หรือจะมองไปประเทศที่อ่านหนังสือน้อยกว่าจีนและอินเดีย ซึ่งก็คือเวียดนาม ในหนึ่งปี มีรายงานระบุว่าคนเวียดนาม โดยเฉพาะเยาวชนของเขาอ่านหนังสือหลายสิบเล่มต่อปี ขณะที่คนไทยอ่านปีละ 12 บรรทัด

“เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่าถ้าเราไม่นับจุดอ่อนตรงนี้แล้ว ความอ่อนของเราก็มีความหมายที่ดี ทำให้เมืองไทยเรายังมีเสน่ห์มากกว่าหลายๆ ประเทศ เพราะถ้าตะวันตกไปจีน เขาอาจจะรู้สึกอึดอัดกับวัฒนธรรมบางอย่าง เพราะทั้งจีนและอินเดียมีวัฒนธรรมที่แข็งแต่เมื่อเขามาไทยเขาจะรู้สึกดีกับความอ่อนของเรา ซึ่งผมหมายถึงอากัปกิริยา ท่าที ท่วงทำนอง คำพูดคำจา เรื่อยไปจนกระทั่งสิ่งที่แสดงออกผ่าน อาหาร ความมีน้ำใจ ความยิ้มแย้ม และการเอาใจใส่ ดังนั้น ถ้าถามผมว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นจุดแข็งของไทย ผมว่านั่นก็คือการมีวัฒนธรรมที่โอนอ่อน และสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของสังคมไทยก็คือเรื่องของน้ำใจ ซึ่งน้ำใจนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถวัดได้จากความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงทางทหาร นี่เป็นสิ่งที่ตะวันตกมองเห็น และไม่ใช่เพียงตะวันตกมองเห็นทั้งจีนและอินเดียก็มองเห็น”

แต่นอกจากน้ำใจแล้ว ไทยยังมีข้อดี หรือมีศักยภาพเฉพาะตัวในด้านอื่นใดอีกบ้าง? ที่น่าจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เราก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาในกลุ่มบูรพาภิวัฒน์ได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งในความเห็นของวรศํกดิ์ ปัจจัยสำคัญที่จะนำพาไทยให้ก้าวหน้าและก้าวไกลต่อไปในอนาคตนั้น มิใช่การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี เศรษฐกิจอย่างไร้ทิศทาง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในความเห็นของเขาก็คือ ‘ภูมิปัญญาดั้งเดิม’ ของไทยในหลากหลายแขนงที่สืบต่อกันมาช้านานนั่นเอง จะเป็นสิ่งที่ทำให้ไทยเติบโตและพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“ภูมิปัญญาไทยนั้นมีมาก เพียงแต่มันถูกทำลายไปโดยชนชั้นปกครองรุ่นใหม่ ภูมิปัญญาที่ถูกทำลายนั้นมีตั้งแต่งานช่าง ดนตรี อาหาร เพราะอาหารไทยที่เราเห็นนี่เป็นอาหารที่ประกอบง่าย เพราะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งในอดีต เรามีวัตถุดิบมากกว่านี้ แต่ปัจจุบัน วัตถุดิบหายไปมาก ทำให้อาหารหลายอย่างของเราสูญหายไปด้วย ดังนั้น คุณลองคิดดู แค่อาหารเพียงเรื่องเดียว ถ้าไทยเรายังมีวัตถุดิบครบ เราจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่น่าเสียดาย ที่ชนชั้นปกครองสมัยใหม่ไม่ได้เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ ผมไม่ได้หมายถึงชนชั้นปกครองสมัยก่อนนะ แต่หมายถึงชนชั้นปกครองสมัยใหม่ที่ไม่ได้เห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านี้ ครั้นพอจะเห็นขึ้นมาบ้างก็กลับไปทำเรื่องโอท็อป

“จริงอยู่ โอท็อปนั้นเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง แต่โดยดั้งเดิมแล้ว สินค้าหรือของดีในแต่ละท้องถิ่นเป็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น มีพืชผักบางอย่างเกิดขึ้นมาตามฤดูกาลเท่านั้น เมื่อเขานำมาใช้จึงมีราคาแพง เพราะไม่ได้มีตลอด แต่สินค้าโอท้อปบางอย่างนั้น กลับกลายเป็นว่าถูกทำขึ้นโดยไม่สนใจวัตถุดิบ แต่ไปให้ความสนใจที่น่าตาสินค้าโดยทำให้เหมือนกัน แต่วัตถุดิบมีราคาถูก หรือแม้แต่งานไม้แบบไทยๆ แม้ปัจจุบันยังมีอยู่ แต่ชนชั้นปกครองรุ่นใหม่ๆ ในส่วนกลางหรือต่างจังหวัด ไม่ได้มีความฉลาดมากถึงขนาดจะส่งเสริม พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพูดถึงบูรพาภิวัฒน์ ไทยไม่ได้สนใจเลย มิหนำซ้ำยังทำลายตัวเองไปในหลายๆ เรื่อง”

เมื่อเรายังอ่อนด้อยในหลายด้าน ทั้งยังทอดทิ้งภูมิปัญญาอันเป็นรากเหง้าและวิถีชีวิตของคนในแผ่นดินไปไม่น้อย เช่นนั้นแล้ว หากมองไปที่ความยิ่งใหญ่ของจีนและอินเดีย เราจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อหื้ทัดเทียมเขาหรือไม่ หรือควรจะแสดงท่าที บทบาท หรือเตรียมรับมือกับความรุ่งเรืองของมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างไร?

“ถ้าคุณยกตัวอย่างสามประเทศนี้คือ อินเดีย จีน และไทย ทั้งสามประเทศล้วนมีจุดแข็ง-จุดอ่อนต่างกัน อย่างจีน เศรษฐกิจดี แต่คุณต้องตั้งคำถามด้วยว่าดีแบบไหน? ในเบื้องต้นนะ เหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากและทำให้เศรษฐกิจจีนดีนั่นก็เพราะจีนมีการลงทุนทางสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เขาไม่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเลย ซึ่งถ้าเขายังมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในระยะยาวจีนก็จะเจอกับการขาดทุนในที่สุด เพราะทรัพยากรต่างๆ จะถูกทำลายหมด

สารเคมีที่เขาปล่อยลงสู่แม่น้ำ ในบางปีมากถึง 30 - 40 กิโลด้วยซ้ำ
แต่ถ้าถามถึงเศรษฐกิจไทย ในแง่ของระบบ ผมมองว่าเราแข็งแรงนะ เราเรียนรู้เยอะขึ้น นับแต่เจอวิกฤติต้มยำกุ้ง

“แต่สำหรับอินเดียนั้นยิ่งต่างออกไป เขาปกครองในรูปแบบมลรัฐ บางรัฐยากจนถึงขัดขอดน้ำปลากิน บางรัฐฟู่ฟ่ารวยเป็นฮอลลีวู้ด ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันราวฟ้ากับเหว และหลายรัฐก็มีระบอบเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยม คือไม่ค่อยตอบสนองรูปแบบเศรษฐกิจตะวันตกมากนัก ต้อนรับสิ่งใหม่ๆ น้อยมาก เขาเริ่มเปิดกว้างเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง เพราะกลัวจะแข่งสู้จีนไม่ได้ แต่โดยส่วนใหญ่เขาก็ยังอนุรักษ์นิยม ดังนั้น ผมว่า เรามีศักยภาพทางการแข่งขันที่ไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าจะเลือกแบบไหน ส่วนในด้านความสัมพันธ์ ผมคิดว่า ตอนนี้ทั้งกับจีนและอินเดีย ไทยเราไม่มีปัญหา เพราะไม่ว่าในยุคเผด็จการทหารหรือประชาธิปไตยก็แล้วแต่ โดยพื้นฐานนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย เราค่อนข้างที่จะเปิด เรามีอยู่เรื่องเดียวที่ปิดมานาน ตัวอย่างเช่น ลัทธิแปลกปลอมอย่างคอมมิวนิสต์ ซึ่งจีนก็เข้าใจไม่แทรกแซง นอกเหนือไปจากนี้ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร หรือถ้าจะมีปัญหา ผมก็อยากจะเรียกว่าเป็นปัญหาชั่วคราว เชิงสัมพัทธ์ คือ ขึ้นอยู่กับผู้นำของเราในแต่ละยุคแต่ละสมัย ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำเรา ‘เป็นมวย’ หรือ ‘ไม่เป็นมวย’ เรื่องต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน”


ไทยจะก้าวไกล ถ้า ‘รากเหง้า’ ไม่เสื่อมสลาย

ก่อนจะนึกไปไกลถึงการแข่งขันเพื่อให้ประเทศชาติก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่นๆ ซึ่งย่อมต้องมีหลากหลายปัจจัยมาส่งเสริมแล้ว ในทางกลับกัน สิ่งแรกๆ ที่ชนชั้นปกครองหรือเหล่าผู้บริหารประเทศควรจะคำนึงถึงก็คือ การหันกลับมาใส่ใจในรากฐานสำคัญของสังคมที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาเนิ่นนาน ทว่า กลับถูกลดคุณค่าและถูกทำลายไปไม่น้อย สิ่งนั้นก็คือ ภูมิปัญญาทั้งในเชิงช่างและการดำรงชีวิต ที่บรรพชนได้สั่งสมสืบต่อกันมาเนิ่นนาน

“การใส่ใจภูมิปัญญาดั้งเดิมในความหมายที่ผมพูดถึงนี่ ผมไม่ได้พูดในแง่ของการอนุรักษ์หรือรักษาไว้ เพราะทุกวันนี้ ภูมิปัญญาไทยยังได้รับการอนุรักษ์ แต่ผมหมายถึงว่าทำอย่างไร? สิ่งเหล่านั้นจึงจะถูกนำมาใช้เป็นปรกติในชีวิตประจำวัน เพราะการอนุรักษ์มันบ่งบอกความหมายว่า สิ่งเหล่านั้นกำลังจะสูญหายไปจึงต้องได้รับการอนุรักษ์ เหมือนสัตว์เดรัจฉานที่อยู่ในป่า เมื่อคุณเห็นว่ามันกำลังจะหมดไป คุณก็จับมันมาอยู่ในเขาดิน นั่นก็คืออนุรักษ์ ซึ่งถ้าวันหนึ่งคุณอยากเห็นของพวกนี้ คุณก็คงต้องไปดูในพิพิธภัณฑ์ ไม่ต่างจากสัตว์ป่าในกรงที่อยู่ในเขาดิน การอนุรักษ์นั้นสมควรอยู่แล้ว แต่อยากให้มีการสานต่อ ไม่ใช่แค่อนุรักษ์อย่างเดียว ซึ่งภูมิปัญญาที่ได้รับการสานต่อในทุกวันนี้ก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มี เช่น การนวดแผนไทย ซึ่งผมคิดว่าเป็นรูปธรรมที่สุด แต่สิ่งที่ผมคิดก็คือ ทำอย่างไรให้คนคิดถึงการนวดแผนไทยในแบบอื่นๆ บ้าง เหตุที่คนสนใจการนวดแผนไทยเพราะมันทำเงิน แต่ทำไมคนไทยไม่คิดว่าภูมิปัญญาอย่างอื่นก็ทำเงินเหมือนกัน ถ้ามีแรงจูงใจ ก็คงทำให้คนไทยหันมาสนใจอดีต ใส่ใจในสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของเรามากขึ้น

“หลายสิบปีที่ผ่านมา คนไทยมักสนใจความเจริญทางด้านวัตถุมากกว่า ชนชั้นปกครองของไทยเขายึดแนวทางหลักในการพัฒนาคือให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรม แล้วก็ตะบี้ตะบันทำไป ซึ่งถ้าประเทศเป็นอุตสาหกรรมมากเท่าไหร่ สิ่งเดิมๆ ก็ยิ่งต้องถูกทำลายไปมากเท่านั้น หรือเขามักจะสนใจความเจริญทางวัตถุ มุ่งไปที่การสร้างตึกรามบ้านช่อง หรือการที่ทำให้ทุกคนมีแทบเล็ตใช้ ส่งเสิรมวัตถุและเทคโนโลยี แต่กลับไม่มาสานต่อภูมิปัญญา ซึ่งจริงๆ แล้ว ในหลายสิ่งที่เขามุ่งหน้าไปนั้น ถ้าจะนำภูมิปัญญาเดิมมารับใช้ ก็ทำได้หลายทาง แต่เขาไม่คิด

“ยกตัวอย่างในบางเรื่อง เช่นมีการรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่าสัตว์น้ำหรืออาชีพประมงชายฝั่งเริ่มถูกทำลายไป เริ่มตายไป พร้อมกับธรรมชาติของทะเลที่ถูกทำลายโดยอวนลากของเรือขนาดใหญ่ ทั้งที่กฏหมายเขาก็ห้าม แต่ไม่เป็นผลเพราะการใช้อวนขนาดใหญ่มันสนองตอบอุตสาหกรรมแปรรูป ดังนั้น ต่อไป ภูมิปัญญาในการทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลคงอยู่ ก็จะต้องถูกทำลายไป ภูมิปัญญาในการรู้จักฤดูกาลของสัตว์น้ำ การเติบโต การเจริญพันธ์ของสัตว์น้ำเพื่อรู้ว่าต้องใช้เวลานานขนาดไหนสัตว์จึงจะโตให้เราได้กิน ภูมิปัญญาเหล่านั้นจะสูญหายไป ทุกวันนี้ เราจึงกินปลาทูที่เล็กกว่าเมื่อ 30-40 ปีก่อน เพราะความไม่เข้าใจในภูมิปัญญา”

ครั้นถามว่าประเทศเราจะล่มสลายไหม? หากเราไม่สานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้เลย คำตอบจากวรศักดิ์ก็คือ

“ไม่หรอก ไม่มีรัฐไหนที่จะล่มสลายเพราะทำลายภูมิปัญญาดั้งเดิม เพียงแต่รัฐนั้นมันจะอยู่ด้วยหน้าตาแบบไหนเท่านั้นเอง? แต่ที่แน่ๆ มันคงเป็นหน้าตาแบบที่ไปรับเอาสิ่งหนึ่งว่ามีคุณค่ากับตัวเอง หลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งนั้น โดยไม่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ มีคุณค่ามากกว่าสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐแบบนี้มันจะยังตั้งอยู่ได้ มันก็คงเป็นภาพที่แล้วแต่คนจะมอง ซึ่งผมมองว่ามันคงเป็นภาพที่อัปลักษณ์ ขณะที่อีกคนอาจมองว่ามันเป็นภาพที่สวยงาม อย่างเช่น การที่คนรุ่นใหม่บางคน เขาไม่มีมารยาท ไม่มีสัมมาคารวะ เขาอาจคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่งดงาม”

ผู้บริหารประเทศชาติต้องไม่เป็น “เศษสวะที่ลอยอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา”

ต่อเนื่องจากประเด็นเรื่องภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้สามารถนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตในปัจจุบันทั้งที่สามารถทำได้แล้ว วรศักดิ์ยังวิพากษ์ชนชั้นปกครองที่ขาดวิสัยทัศน์อย่างตรงไปตรงมาว่า

“ชนชั้นปกครองรุ่นนี้ ไม่เคยทำให้ภูมิปัญญาไทยมีมูลค่าเพิ่ม เช่น ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ อยากแต่งชุดไทย อยากเล่นดนตรีไทย ถามว่ามีใครส่งเสริมไหม? หมายถึงในเชิงอาชีพนะ แต่ถ้าคุณแต่งตัวเฟี้ยวๆ ร้องเพลงป๊อบคัลเจอร์ มันก็ทำกำไรให้คุณ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่รักวัฒนธรรมไทยนะ เพียงแต่ผมไม่เห็นว่าค่ายใหญ่ๆ ค่ายไหนจะส่งเสริม หรือถ้าส่งเสริมก็ขายไม่ได้ เพลงของศิลปินวงฟองน้ำนี่ผมมีครบทุกชุดนะ แต่หาซื้อยากมาก แต่เพลงป๊อบๆ หาซื้อง่ายมาก ตรงกันข้าม ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อะไรที่เป็นของดั้งเดิมเขายังส่งเสริม สนับสนุน

“ในเรื่องการส่งเสริมภูมิปัญญามีสิ่งหนึ่งที่รัฐเกือบจะทำสำเร็จคือโอท็อป แต่เพราะต้องการปริมาณมากเกินไป มันจึงส่งผลกระทบ นอกจากนั้น ภูมิปัญญาอื่นๆ ที่ยังได้รับการสืบต่อก็มีทั้งผ้าไทย หรือสปาที่เพิ่งได้รับความนิยมเมื่อประมาณสิบปีมานี้ เราก็มีมานานแล้วคือลูกประคบที่มีกลิ่นหอม แต่ขอโทษนะการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสิ่งที่ผมพูดมามักไม่เคยริเริ่มจากรัฐ แต่มักจะเริ่มจากชาวบ้าน เริ่มจากคนธรรมดา แล้วต่างชาติมาเห็น เชื่อไหม? ว่านวดแผนไทย โกอินเตอร์เยอะเลย หรือสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาแล้วโกอินเตอร์ในยุคแรกๆ ก็มี นั่นคือทักษะในเชิงช่างไม้ของไทย ตอนนี้ช่างไม้ที่มีฝีมือหลายคนทำงานในต่างประเทศเยอะ เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะสูง และได้รับความชื่นชมมาก”

ครั้นถามว่าจะมีวิธีไหนบ้าง? ที่ทำให้ชนชั้นปกครองหันมาใส่ใจภูมิปัญญาไทยซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ถูกมองข้ามมานาน วรศักดิ์มองว่า

“คงยาก เพราะคุณต้องหันกลับไปดูภูมิหลังของชนชั้นปกครองไทย นับแต่ระบอบประชาธิปไตยเริ่มฝังรากลึก ชนชั้นปกครองเริ่มเปลี่ยนหน้าไป จากที่เป็นข้าราชการเสียส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนเป็นชนชั้นปกครองที่เป็นเอกชนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น เมื่อก่อนนี้ หากดูสัดส่วนของ สส. ในสภานะ จะพบว่าคนที่มีภูมิหลังเป็นทหารเป็นข้าราชการพลเรือน จะมีสัดส่วนอยู่สูงในสภา ขณะที่นักธุรกิจ พ่อค้าทั้งที่มาจากต่างจังหวัดยังมีน้อย แต่หลัง พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ คนที่มีภูมิหลังเป็นข้าราชการทหาร พลเรือนจะน้อย แต่เป็นนักธุรกิจซะเยอะ

"ซึ่งนักธุรกิจที่ผมเอ่ยถึงนี่มาจากทั่วประเทศ ซึ่งภูมิหลังเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะโน้มนำให้คนเหล่านี้ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองจะต้องมาคิดอะไรเรื่องภูมิปัญญา สิ่งที่เขาคิดเมื่อเขาได้รับเลือกมาเป็นชนชั้นปกครองก็คือเขาจะคิดในสิ่งที่เขาถนัด นั่นคือการพัฒนาธุรกิจ พัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งไปๆ มาๆ ก็ทำให้หลายคนหนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จะให้เขาไปคิดเรื่องภูมิปัญญา เขาไม่คิดตั้งแต่แรกแล้ว เขาคิดแต่เรื่องที่ทำให้เขารวยเร็ว คิดเรื่องที่เขาถนัด เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้ที่เป็นชนชั้นปกครอง มีจำนวนไม่น้อยที่ดูถูกภูมิปัญญาดั้งเดิม”

แล้วถ้าการที่ชนชั้นปกครองรุ่นใหม่ของเราไม่คิดรักษาหรือสานต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ กระทั่งนำไปสู่การพัฒนาที่ขาดรากเหง้า ไร้อัตลักษณ์ดั้งเดิม หากถึงวันนั้น โลกทั้งโลกยอมรับในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีนและอินเดีย ยอมรับในบูรพาภิวัฒน์อย่างเต็มตัว เราจะกลายเป็นประเทศล้าหลังหรือไม่? เมื่อภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอจากรัฐ จนทำให้ประเทศพัฒนาอย่างไร้ราก ไร้ทิศทางที่ยั่งยืน ซึ่งมุมมองของวรศักดิ์ที่มีต่อประเด็นดังกล่าวก็คือ

“คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะตราบใดที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ชนชั้นปกครองแบบนี้ก็จะไม่ต่างอะไรกับเศษสวะที่ลอยอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะการที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยถูกนำมาสานต่อและสร้างมูลค่าเพิ่มมันมาจากประชาชนทั้งันั้น ไม่ได้มาจากนักการเมืองคนไหนชูขึ้นมา ซึ่งผมขำมาก คำว่า ‘ภูมิปัญญา’ นี่มันเริ่มจากภาคประชาชนที่ตื่นเต้นกับภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่ต่อมาภาครัฐและนักการเมืองก็นำมาใช้โดยไม่ได้มีความเข้าใจอะไร”

แต่ถึงแม้การสนับสนุนของภาครัฐที่มีต่อองค์ความรู้จากบรรพชน จะยังดูมืดหม่น ไม่ค่อยได้รับการใส่ใจ กระนั้น วรศักดิ์ก็ยังเชื่อมั่นว่า ยังมีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง ที่จะยังเป็นรากที่แข็งแรง คอยค้ำจุนเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตัวของไทยเอาไว้ไม่ให้ล้มครืน นอกเสียจากว่าสิ่งที่ว่านี้จะถูกทำลาย เมื่อนั้น เอกลักษณ์ความเป็นไทยซึ่งนับเป็นหนึ่งในชาติที่เปี่ยมเสน่ห์ของเอเชียก็อาจถูกทำลายได้โดยง่าย

“ผมคิดว่ามีอยู่เพียงไม่กี่สิ่งที่มันเป็นสิ่งเล็กๆ ที่มีพลังและเชื่อมโยงความเป็นบูรพาภิวัฒน์ของไทยเอาไว้ได้ นั่นคือปฏิสัมพันธ์ของวัฒนธรรมไทยโดยดั้งเดิม คือรากเหง้ากับศาสนาพุทธ ซึ่งนี่แหละคือสิ่งผมตั้งคำถามไว้ว่า หากวันหนึ่งรากเหง้าที่ว่านี้สูญสลายไป ชาติของเราจะไปรอดไหม? จะตั้งอยู่ได้ไหม? วันนั้น บ้านเมืองเราก็คงจะพัง แล้วถ้าคุณถามว่า อ้าว! ไหนเมื่อกี้อาจารย์บอกว่าไม่พัง ผมก็จะตอบว่ามันพังทางจิตวิญญาณ ดังนั้น สิ่งที่มันยังอยู่ในวันนั้น มันก็อาจไม่ใช่จิตวิญญาณดั้งเดิม ขึ้นอยู่กับว่าคุณเลือกที่จะอยู่ในจิตวิญญาณแบบไหน”


โฉมหน้าไทยเมื่อจีนเป็น ‘พี่เบิ้ม’ และโลกมีขั้วอำนาจใหม่

นอกจากการเสนอมุมมองว่าด้วยการหันมาให้คุณค่าและเล็งเห็นถึงความสำคัญขององค์ความรู้และวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าสำคัญ โดยนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านั้น มีลมหายใจสืบต่อไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปแล้ว ท้าท้ายที่สุดอาจารย์วรศักดิ์ก็ไม่ลืมวิเคราะห์ถึงอนาคตของเมืองไทยในวันที่จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างเต็มตัว ทั้งไม่ลืมที่จะคาดการณ์ถึงสถานการณ์โลกเมื่อมีขั้วอำนาจใหม่เกิดขึ้นมา นอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศหน้าเดิมๆ ในโลกตะวันตกที่เราคุ้นเคย

ซึ่งวรศักดิ์มองว่าถ้าโลกก้าวสู่ยุคบูรพาภิวัฒน์จริงๆ ผลประโยชน์โดยรวมของไทยและจีนค่อนข้างมั่นคง เพราะเราไม่มีวาระซ่อนเร้น ขณะเดียวกันก็ไม่มีวาระใดที่จะทำให้ไทยกับจีนเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ยกเว้นปัญหาจากผลกระทบทางอ้อม เช่น ปัญหาที่จีนมีกับเพื่อนบ้านบางประเทศของเราในทะเลจีนใต้ ซึ่งไทยเองก็เป็นสมาชิกอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้เหล่านั้นก็เป็นอาเซียน

“ส่วนอีกเรื่องที่จะมีผลกระทบกับเราหรือเปล่านั้น ผมไม่แน่ใจ แต่ถ้าถามว่ากระทบกับจีนไหม ผมว่ากระทบแน่นอน นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงในพม่าซึ่งปรกติจีนจะผูกขาดทางการค้ากับพม่า เพราะพม่าโดนคว่ำบาตรจากนานาชาติ แต่ตอนนี้ทั้งผู้นำสหรัฐและสหภาพยุโรปก็เลิกคว่ำบาตรพม่า ผู้นำหลายประเทศต่างเดินทางพบปะเจรจากับพม่า ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีนะ แต่จีนก็อาจรู้สึกว่ากำลังมีคู่แข่งโดยเฉพาะการเป็นคู่แข่งทางพลังงาน ซึ่งนโยบายความร่วมมือทางพลังงานของไทยก็ผูกพันอยู่กับทั้งจีนและพม่า อย่างเช่น โครงการด้านพลังงานผ่านแม่น้ำสาละวิน สำหรับกรณีของสหรัฐเรามักจะเคยชินกับการแทรกแซง แต่กับจีน จีนมีนโยบายไม่แทรกแซงทางการเมือง แต่หากเขาต้องการในสิ่งใด จีนจะใช้วิธีโน้มน้าว"
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้นำที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ทั้งจากการแข่งขันชิงตำแหน่งทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงคะแนนนิยมที่ดิ่งลงเรื่อยๆ จนต้องหา ประเด็น ใหม่ๆ มาเรียกความสนใจจากพลเมืองอเมริกัน โดยเฉพาะการแสดงความแข็งกร้าวในการต่อต้านผู้ก่อการร้าย และการรุกคืบสู่เอเชียอาคเนย์เพื่อผลประโยชน์ด้านพลังงานและเพื่อคานอำนาจของจีน ในภูมิภาคนี้
“การเป็นมหาอำนาจนั้น มิติหนึ่งคือมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง เช่นพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ ด้านอาวุธนิวเคลียร์ สิ่งที่ซ่อนเร้นหรือเป็นนัยสำคัญก็คือถ้าเทคโนโลยีเหล่านั้นสำเร็จขึ้นจริง นั่นหมายความว่าความสำเร็จนั้นจะถูกพัฒนาขึ้นและนำไปเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางด้านการทหาร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงไม่แปลกว่าทำไม? ก่อนหน้านี้สหรัฐจึงตีโพยตีพายใส่จีน ยิ่งถ้าใครตกอยู่ใต้อิทธิพลของสื่อตะวันตก ก็คงจะมองว่าจีนบ้าอำนาจ จีนสะสมอาวุธ จีนพัฒนานิวเคลียร์ไม่รู้จบ ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ นั้น งบประมาณการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นแต่ละปีนั้นมากกว่าจีนอีก แต่กลับไม่มีใครห้ามสหรัฐฯ  ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้สหรัฐฯ นั้นไร้มารยาท คือพอทีตัวเองทำนั้น ทำได้ เพราะก้นบึ้งในจิตใจของสหรัฐฯ นั้น สหรัฐฯ ต้องการให้โลกนี้มีอำนาจเพียงขั้วเดียวคือตนเอง แต่ตอนนี้พูดไม่ได้แล้ว เพราะเศรษฐกิจของตัวเองถดถอย ขณะเดียวกันจะหันไปพึ่งพาเพื่อนร่วมค่ายอย่างEUก็ทำไม่ได้อีก ตอนนี้ก็เหลือแต่จีนที่กำลังมีเศรษฐกิจดี สหรัฐฯ ก็เลยไม่ค่อยได้พูดเรื่องอาวุธกับจีนแล้ว”

ไม่เพียงอาจารย์วรศักดิ์เท่านั้นที่มองว่าการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน ย่อมส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ  แม้แต่ รศ.ดร. จรัญ มะลูลีม คณาจารย์ภาควิชาการระหว่างประเทศและการฑูต คณะรัฐศาสตร์ มหาวทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์การเมืองโลกอย่างใกล้ชิด ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ตั้งคำถามถึงการเข้ามาของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า

“ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ มีความพยายามต้องการเข้ามาดูแลความมั่นคงปลอดภัยในช่องแคบมะละกา เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางด้านการค้า ทั้งเรียกร้องประเทศในอาเซียนให้ร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อช่วยกันดูแลความปลอดภัยของช่องแคบมะละกาด้วย แต่ในบรรดากลุ่มประเทศกลุ่มอาเซียนมีเพียงฟิลิบปินส์กับสิงคโปร์เท่านั้นที่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม การกลับมายังภูมิภาคนี้อีกครั้งของสหรัฐฯ เมื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเป็นประชาคมอาเซียน ก็ยิ่งทำให้น่าจับตาว่าอะไรคือจุดมุ่งหหมายที่สหรัฐ ฯ มีต่อประเทศในแถบนี้ จากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐห่างเหิน และไปยุ่งเกี่ยวอยู่ในตะวันออกกลางมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน”
รศ.ดร. จรัญ มะลูลีม
รศ. ดร. จรัญมองว่านับแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็มักเกี่ยวพันอยู่กับทฤษฎีผลประโยชน์แห่งชาติที่จะถูกรักษาไว้เสมอ ทั้งต้องการให้อิทธิพลของตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพยายามผลักดันแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยให้แผ่ขยายออกไป เช่นเดียวกับความพยายามเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อพม่ามีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่ทั้ง จีนและอินเดีย ก้าวเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และส่วนอื่นๆ ในเอเชีย สหรัฐจึงรู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ของตัวเองที่จะต้องก้าวเข้ามาคานอำนาจ

ในความเห็นของ รศ.ดร. จรัญนั้น ยุคนี้คือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของเอเชียที่แสดงให้เห็นถึงพลังในการขับเคลื่อนและพัฒนาโลก เป็นความยิ่งใหญ่ที่ชาติตะวันตกกำลังให้ความสนใจ จึงกล่าวได้ว่ายุคสมัยแห่งบูรพาภิวัฒน์นั้น ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแม้แต่น้อย

และนอกจากอิทธิพลของจีนที่สั่นคลอนอำนาจสหรัฐตามมุมมองของนักวิชาการทั้งสองท่านแล้วในมุมมอของกลุ่มการเมืองระดับโลกก็มีความเห็นไม่ต่างกัน

ดังข้อมูลที่เดวิด รอธคอพฟ์ อดีตผู้ช่วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เคยระบุข้อมูลสำคัญไว้ในบทบันทึกเล่มหนาที่ชื่อ SUPERCLASS THE GLOBAL POWER ELITE AND THE WORLD THEY ARE MAKING โดยมีใจความตอนหนึ่งเผยว่าอับดุลลาห์ จัมมาห์ ซีอีโอและประธานบริษัทซาอุดีอรัมโคที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีปริมาณน้ำมันสำรองราว 1ใน4 ของโลก และเป็นบริษัทพลังงานที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับ4 ของโลก ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับจีนจนถึงขั้นที่ตัวอับดุลลาห์ จัมมาห์ เคยเอ่ยปากว่าความสัมพันธ์ทางพลังงานระหว่างจีนและซาอุดิอาระเบียนั้น เป็นความสัมพันธ์ทางพลังงานที่สำคัญที่สุดในโลก ทั้งมีนโยบายที่จะคงความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับจีนไปจนตราบศตวรรษหน้า
เหวิน เจียเป่า เมื่อครั้งเยือนตะวันออกกลางอย่างเป็นทางการ เพื่อลงนามทำความตกลงทางการค้าและเศรษฐกิจร่วมกับซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE)
ใช่เพียงเท่านั้น บริษัทอรัมโคภายใต้การนำของจัมมาห์ผู้นี้ ยังมุ่งมั่นในการสานสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่างๆ ในเอเชียด้วย โดยเฉพาะประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างอินเดีย ดังในปี ค.ศ. 2005 อรัมโคส่งออกน้ำมันดิบไปยังอินเดียถึงวันละ 450,000 บาร์เรลต่อวัน และส่งน้ำมันดิบไปจีนสูงถึง 500,000 บาร์เรลต่อวัน

และด้วยสายสัมพันธ์ทางพลังงานอันทรงพลานุภาพระหว่างซาอุดิอาระเบียกับมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างจีนนี่เอง ทำให้สหรัฐฯ เกิดอาการ ‘นั่งไปติด’ เพราะแม้สหรัฐฯจะมีความสัมพันธ์อันง่อนแง่นกับหลายประเทศในตะวันออกกลางและโลกอาหรับ แต่สำหรับซาอุฯ ผู้เปรียบเสมือนราชาของสภาความมั่นคงแห่งอ่าวเปอร์เซียนั้น สหรัฐฯ กลับมีทีท่าทีเกรงอกเกรงใจเสมอมา เนื่องจากซาอุฯ เป็นขุมพลังงานสำคัญแห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในหมู่สมาชิกกลุ่มโอเปกหรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน

ดังนั้น เมื่อซาอุฯ ก้าวเข้ามามีบทบาทและสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นทางธุรกิจพลังงานกับชาติในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐฯ จึงเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งหาโอกาสบ่อนทำลายความยิ่งใหญ่ของจีนในธุรกิจพลังงาน หรือหาโอกาสแทรกแซงความพยายามในการขยายธุรกิจพลังงานของจีนอยู่เสมอ ดังเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ.2005 สภาคองเกรสของสหรัฐพยายามล็อบบี้ยูโนแคล จนในที่สุด ฝู เฉิงหยู ประธานและซีอีโอบริษัทน้ำมันนอกชายฝั่งแห่งชาติของจีน (CNOOC ) ต้องประสบความล้มเหลวในการเข้าซื้อกิจการบริษัทยูโนแคล ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ หวาดกลัวเพียงใดต่อการแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน

โดยกรณีดังกล่าวนี้ตรงกับทัศนะของอดีตวิศวกรวางท่อส่งน้ำมันผู้หนึ่งที่รู้ตื้นลึกหนาบางในแวดวงธุรกิจพลังงาน เคยกล่าวกับ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า

“ประมาณ 4-5 ปีก่อน บริษัทยูโนแคลเป็นผู้ได้รับสัมปทานพลังงานเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีความพยายามให้ปตท. สผ. เข้าไปถือหุ้นด้วยในหลายๆ หลุม แล้วเมื่อเขาจะขายบริษัท ก็มีบริษัทพลังงานของจีนเข้ามาซื้อ และมีคู่แข่งจากอเมริกาคือเชฟรอนเข้ามาซื้อด้วย ซึ่งครั้งนั้นบริษัทจากจีนปิดราคาสูงสุด แต่คองเกรสมีคำสั่งว่าไม่ให้ขายจีน ขอให้ยูโนแคลขายในราคาที่ถูกกว่าให้เชฟรอน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของอเมริกา”

แต่ไม่ว่าความหวาดระแวงที่สหรัฐฯ มีต่อนานาประเทศจะสร้างความกดดันแก่สหรัฐฯ มากน้อยแค่ไหน หรือความพยายามก้าวเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีนัยซับซ้อนซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ‘ประเทศไทย’ ในฐานะประชาคมโลกและในฐานะประเทศที่มีเอกราชและอธิปไตยมาช้านาน ย่อมต้องเตรียมตั้งรับและแสดงท่าทีที่เหมาะสม แต่จะเหมาะสมอย่างไรนั้น รศ.ดร. จรัญ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า

“ทั้งอาเซียนและไทยต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง แม้เราจะเป็นพันธมิตรที่ดีกับสหรัฐฯ แต่เราก็ต้องดำนเนินนโยบายของตนเองอย่างเป็นอิสระ เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และความสำคัญของประเทศชาติเป็นหลัก และต้องมีความเป็นตัวของตัวเองในการมีส่วนร่วมบนเวทีโลก ขณะเดียวกันก็มีวิสัยทัศน์ที่เป็นสากล ไทยต้องผสานดุลยภาพทั้งการมีสัมพันธภาพกับชาติอื่นๆ เรียนรู้และสานสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของใคร

“นี่คือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เอเชียจะเริ่มมีบทบาทอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะอู่อารยธรรมของโลก ในที่สุด ‘บูรพาภิวัฒน์’ จะก้าวขึ้นมาแทนที่มหาอำนาจเดิม ยุคสมัยที่ว่านั้นมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นจริง และมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้น เราต้องภูมิใจในความเป็นเอเชีย ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกันความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศทั่วโลก”

ส่วนในมุมมองของอาจารย์วรศักดิ์ หากถามว่าไทยควรจะมีทีท่าอย่างไรต่อทั้งสหรัฐและจีน?

วรศักดิ์มองว่าไทยยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสองชาตินี้ และยังมีจุดแข็งคือตราบขนปัจจุบันไทยก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองประเทศ ยกเว้นถ้าสองประเทศนี้ต้องการรังแกไทยแบบมหาอำนาจ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถามว่าไทยไปสู้รบปรบมือกับใครได้ไหม? คำตอบคือ “สู้ไม่ได้หรอก ปรมาณูเราก็ไม่มี จะไปสู้อะไรกับเขาได้ ดังนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับมโนธรรม จริยธรรมของมหาอำนาจ”

แต่อย่างที่รู้กันว่าสหรัฐพยายามผูกขาดอำนาจขั้วเดียวไว้กับตนเองเสมอมา ถ้าเช่นนั้น เมื่อโลกเปลี่ยนไป หรือมีบูรพาภิวัฒน์เกิดขึ้นจริงๆ การที่มีขั้วอำนาจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาจะส่งผลอย่างไรแก่ประชาคมโลกบ้าง?

“จริงๆ แล้วกระแสโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าในอียูหรือแม้แต่จีน ต่างก็อยากให้โลกมีมหาอำนาจหลายขั้ว ซึ่งในอนาคตหากโลกมีหลายขั้วอำนาจ ขั้วอำนาจต่างๆ ก็จะคอยถ่วงดุลกัน ไม่มีใครกล้าทำอะไรใคร แต่ถ้ามองโลกในแง่ร้าย เราก็คงต้องมองว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่จะกลายเป็นสิ่งยั่วยุให้แต่ละขั้วอำนาจหันมาทำลายกัน ซึ่งในอดีตนั้น ก็จะมีเรื่องของผลประโยชน์ผ่านชาติอาณานิคมซึ่งนำมาสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง นั่นเป็นความขัดแย้งของมหาอำนาจรุ่นก่อน

“แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้ามีมหาอำนาจหลายๆ ขั้ว แล้วจะมีอะไรที่ทำให้เกิดการแตกหักหรือสงครามหรือการเผชิญหน้าท้าทายกัน เท่าที่ผมมองออกนะผมคิดว่ามันมีอยู่เพียงประเด็นเดียวคือประเด็นด้านศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ ซึ่งเรื่องแบบนี้คือเรื่องละเอียดอ่อน เช่น เรื่องศาสนาก็นำไปสู่ความแข็งกร้าว และความแข็งกร้าวของรัฐอิสลามบางรัฐเช่นอิหร่านก็อาจทำให้สหรัฐกับอิสราเอลไม่พอใจจนเปิดสงครามกับอิหร่าน เรื่องนี้แหละเป็นตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นว่าถ้าในอนคตโลกของเรามีหลายขั้วอำนาจ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น หลายๆ ขั้วอาจจะถูกกระหน่ำให้ ‘เลือกข้าง’ หรือเปล่า หรือจะเกิดสงครามโลกขึ้นมาได้หรือเปล่า? เพียงแค่ในอาณาบริเวณภูมิภาคนั้นก็คงพังยับเยินแล้ว เพราะฉะนั้น การมีอำนาจหลายขั้วในมุมหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ใช่ว่าจะปราศจากจุดอ่อนเสียทีเดียว

“จริงๆ แล้ว ทุกครั้งที่เกิดสงครามโลก หากถามว่าสาเหตุแห่งการเกิดสงครามนั้น สามารถระงับได้ไหม? คำตอบคือสาเหตุนั้นถูกระงับได้ทั้งสองครั้ง เพียงแต่มันถูกยั่วยุไม่ให้ระงับ จะด้วยมิจฉาทิฐิหรือทิฐิมานะอะไรก็ตามแต่ ดังนั้น คำถามที่ว่าสงครามโลกครั้งที่สามจะเกิดไหม? ถ้าสหรัฐกับอิสราเอลหวาดระแวงอิหร่านอยู่ แล้วรักษาความหวาดระแวงไว้เป็นเพียงเรื่องสามเส้าของความสัมพันธ์ ไม่ขยายวงออกไป สงครามมันก็จะไม่เกิด ซึ่งอิหร่านเองก็เป็นประเทศที่แข็งกร้าว ถ้าเกิดเขาไม่ยอมแล้วขยายปริมณฑลของสงครามออกไป คราวนี้แหละน่ากลัว ดังนั้น ทั้งสามเส้านี้จึงย่อมขึ้นอยู่กับทิฐิมานะ ฉะนั้น ผมคิดว่า ถ้าพลังหรือผลบุญของศาสนธรรมมีอยู่จริง ผมก็หวังว่าศาสนธรรมของทั้งสามชาตินี้ จะช่วยยับยั้งไม่ให้มีสงครามเกิดขึ้น”

หลังจากวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงอนาคตเอเชียและอนาคตการเมืองโลกแล้ว วรศักดิ์ก็ไม่ลืมที่จะหันกลับมาวิเคราะห์ถึงความอยู่รอดของไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกเหล่านั้น

“ไม่มีประเทศไหนในโลกหรอกที่จะพัฒนาประเทศตนไปสู่ความมืดมิด ผมเป็นคนมองโลกอย่างมีความหวังนะและมีความเชื่อว่าในที่สุดมันคงมีกระบวนการคัดสรรหรือมีการเลือกผู้แทนที่มีการกลั่นกรองมากขึ้น และคงทำให้การคัดเลือกผู้แทนพัฒนาไปมากขึ้นๆ เพราะลองมองดูก่อนหน้านี้ แม้เราจะเลือกผู้แทนอย่างไม่มีความรู้กันเลย เราก็ยังอยู่รอดกันมาได้ แต่ที่สำคัญคือ เรามองเห็นปัญหาแล้วใช่ไหม เราจึงพยายามแก้ปัญหานั้น ซึงปัญหาที่เราแก้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ นะ รัฐธรรมนูญปี 2540 เราใช้เวลาร่วม 10 ปี เป็นความใฝ่ฝันเลย แต่เมื่อได้มาแล้ว มันก็ยังมิวายมีนักการเมืองใช้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้น ในระยะยาว เราก็ยังต้องแก้ปัญหากันไปเรื่อยๆ จนกว่าการเมืองไทยจะลงตัว ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2475 จนถึงวันนี้นะ พัฒนาการของประชาธิปไตยในไทยยังมีอายุไม่ถึงร้อยปีเลย ขณะที่หลายๆ ประเทศในโลกนี้ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 100-200 ปี"

“ตอนนี้ ไทยมีจุดอ่อนเพียงเรื่องเดียว คือปัญหาทางการเมืองภายใน ถ้าไม่มีปัญหานี้ ไทยคงจะทำอะไรได้เยอะ เนื่องจากไทยเรามีที่ตั้งที่แปลกประหลาด และมีภูมิหลังที่ต่างจากเพื่อนบ้านแทบทุกประเทศเลยมั้ง ยกเว้นมาเลเซียกับบรูไน ที่เขายังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกนั้นก็แตกต่างกันไป ดังนั้น ภูมิหลังเหล่านี้ รวมทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มันจึงทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ยาวนาน เพราะฉะนั้นไม่ว่าความสัมพันธ์ของจีนกับอาเซียนจะเป็นอย่างไร ถึงที่สุดแล้วในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่งก็ต้องผ่านไทย ดังนั้น ไทยจะใช้ประโยชน์จากการเป็นประตูเชื่อมเส้นทางการค้านี้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน ก็ย่อมขึ้นอยู่กับว่าการเมืองไทยจะถูกแก้ไขหรือคลี่คลายไปได้ด้วยดีมากน้อยเพียงใด?

"และหากอนาคต ‘บูรพาภิวัฒน์’ เกิดขึ้นจริง ผมว่าโลกคงเต็มไปด้วยภาพที่น่าแปลกตาแปลกใจถ้าเราได้เห็นคนตะวันตกมีความสนใจโน้มเอียงมาทางตะวันออก เหมือนเมื่อเกือบๆ พันปีก่อน ที่มาโคโปโลมาถึงจีนแล้วนำบะหมี่กลับไป ภาพที่ชาวตะวันออกเห็นชาวตะวันตกกินอาหารเป็นเส้นๆ ก็คงเป็นภาพที่ตลก รู้สึกแปลกๆ แล้วจนถึงตอนนี้ ถ้าจะมีอะไรเปลี่ยนไปกว่านี้ผมว่ามันคงเป็นภาพที่น่ารักมากนะถ้าคนตะวันตกจะถกเถียงกันด้วยเรื่องปรัชญาขงจื๊อ จากเดิมที่ตนเองมีวิถีชีวิตดำเนินไปตามปรัชญาตะวันตกอย่างเช่นของโสเครติส เพลโต อริสโตเติล ส่วนเมืองไทยนั้น ผมว่าไทยเราจะได้อานิสงค์มากกว่า เพราะเรามีพื้นฐานความเป็นตะวันออกเหมือนกันและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเสมอมา”

                                
                                                ...........
กำลังโหลดความคิดเห็น