xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “กวีจีนแนวเต๋า” โดยทองแถม นาถจำนง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทองแถม นาถจำนง บรรยายพิเศษ กวีจีนแนวเต๋า ณ ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 4 ก.พ. 2555 (ภาพ โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีน มธ.)
Astvผู้จัดการออนไลน์--ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีน นักเขียน อาจารย์พิเศษด้านจีนศึกษา บรรยายพิเศษ หัวเรื่อง “กวีจีนแนวเต๋า” เมื่อวันเสาร์ที่ 4 ก.พ. 2555 จัดโดยโครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีนศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับอาศรมสยาม-จีนวิทยา และ โรงเรียนภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก

อาจารย์ ทองแถม มีผลงานเกี่ยวกับจีน โดยเฉพาะแนววัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แนวคิดปรัชญา วรรณกรรม บทกวี รวมเกือบ 100 เล่ม ตลอดจนงานเขียนด้านชนชาติ ชาติพันธุ์โดยชาติพันธุ์ที่พูดภาษาไท-กะได ได้แก่ชนชาติจ้วงในมณฑลก่วงซี (กวางสี) ของจีน โดยส่วนใหญ่ใช้นามปกกา “โชติช่วง นาดอน” งานเขียนของอาจารย์ทองแถม มีทั้งงานแปลเรียบเรียง หรืองานเขียนที่รวบรวมข้อมูลจากต้นฉบับภาษาจีน ซึ่งล้วนเป็นงานชั้นยอดลุ่มลึก

อาจารย์ทองแถม ได้เปิดเรื่องจากคำว่า “เต๋า” หรือที่สำเนียงจีนกลางเรียก “เต้า” หมายถึง หนทาง มรรคา ผู้อ่านหลายท่านอาจเข้าใจว่ามีความหมายเฉพาะสำนักคิดเต๋า ที่มุ่งเน้นวิถีที่สอดคล้องธรรมชาติ แต่ความจริงแล้ว “เต๋า” เป็นคำทั่วไป สำนักคิดทุกสำนักต่างก็มี เต๋า หรือมีมรรคาไปสู่อุดมคติสูงสุดของตนนั่นเอง

สำนักปรัชญาหญูของขงจื๊อ หรือขงจื่อ ก็มีเต๋า หรือมรรคา สำนักขงจื่อนี้ นับเป็นวัฒนธรรมทางเหนือของจีน ส่วนสำนักคิดฝ่ายเต๋า ที่มีท่านเล่าจื๊อ หรือสำเนียงจีนกลางคือ เหลาจื่อ เป็นผู้ก่อตั้งนั้น เป็นวัฒนธรรมทางใต้ของจีน ถือกำเนิดและเผยแพร่แนวคิดในบริเวณแคว้นฉู่

การบรรยาย ‘กวีจีนแนวเต๋า’ ครั้งนี้ ก็คือ เต๋าที่มุ่งเน้นวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ที่มีท่านเหลาจื่อเป็นผู้ก่อตั้งสำนักฯ ท่านเหลาจื่อมีชีวิตร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า (หรือเมื่อ กว่า 2,500 ปีที่แล้ว) คัมภีร์เต๋าที่รวบรวมแนวคิดคำสั่งสอนของท่าน ก็เป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย คือ เต๋าเต็กเก็ง (หรือภาษาจีนกลางเรียก เต้าเต๋อจิง)

เต๋าเต็กเก็งนับเป็นบทกวีเต๋าชิ้นแรก เป็นคัมภีร์บทกวีที่มีผู้อ่านและผู้แปลมากอันดับสองของโลก รองจากคัมภีร์ไบเบิล สำหรับเต๋าเต็กเก็งฉบับภาษาไทยก็มีหลายสำนวน รวมกว่า 20 สำนวน

อาจารย์ทองแถม ยังได้เล่าถึงคัมภีร์เต๋าอื่นๆ ที่สำคัญ มีคัมภีร์เต๋าของจวงจื่อซึ่งได้พัฒนาต่อยอดจากเต๋าเต็กเก็ง และคัมภีร์เต๋าเล่มสำคัญอีกเล่มคือ เต๋าของเลี่ยจื่อ ที่เสนอแนวคิดอันเป็นที่มาของสำนวน “กระบี่อยู่ที่ใจ”

เต๋า-พุทธ-เซน ที่มาแห่งความละม้าย
พุทธศาสนาเข้าสู่จีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ราว 70-50 ปี ก่อนคริสตกาล การเผยแพร่ศาสนาพุทธในจีนช่วงแรกๆประสบอุปสรรคนานัปการ เมื่อมีการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาออกเป็นภาษาจีน ทำให้ชาวจีนค่อยๆซึมซับพุทธศาสนา จนในปี ค.ศ. 500 จึงได้หยั่งลึกลงในจิตใจคนจีน มีการสร้างวัดอารามตลอดจนศิลปกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาอลังการมากมาย

ด้วยปรัชญาเต๋ามีส่วนละม้ายพุทธศาสนา จึงมีการรจนาคัมภีร์อธิบายปรัชญาเต๋าสอดคล้องเข้ากับพุทธศาสนาได้

เมื่อพระอาจารย์โพธิธรรม (ตั๊กม้อ) ได้เดินทางจากอินเดียมายังประเทศจีนในสมัยพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ (ค.ศ.502-549) ท่านได้ปฏิบัติธรรมและเผยแพร่คำสอน ที่ต่อมาเกิดเป็นนิกายที่สำคัญมากในแผ่นดินจีนและญี่ปุ่น คือ นิกายฌาน (สันสกฤต) หรือนิกายฉาน (จีนกลาง) หรือนิกายเซน (ญี่ปุ่น)

นิกายฉาน หรือเซนนี้ ส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในหมู่ปัญญาชนจีน มีการนำแนวคิดเต๋าทั้งศัพท์แสงในปรัชญาเต๋ามาอธิบายใหม่อย่างลึกซึ้งและเป็นระบบขึ้น “ฉานหรือเซนได้อธิบายพุทธปรัชญาโดยใช้คำศัพท์เต๋า ทำให้ชาวจีนรับได้ง่าย จึงประสบความสำเร็จอย่างสูง กระทั่งปัญญาชนก็ยังแยกเต๋ากับเซนอย่างแจ่มชัดได้ยาก”

บทกวีเต๋ามีสามลักษณะ
1) กลุ่มคนที่ปฏิบัติธรรมเต๋าเต็มตัว เป็นบทกวีอุทานธรรมของกลุ่มนักบวช
2) เต๋าที่ยกตัวเป็นเซียน ยกเต๋าเป็นศาสนา กลุ่มนี้ได้เขียนคำสั่งสอนธรรมะออกมาเป็นบทกวีด้วยเช่นกัน
3) กลุ่มคนทั่วไป ปัญญาชน ปราชญ์ ที่นิยมชมชอบเต๋า จนได้เขียนความรู้สึกออกมาเป็นบทกวีมากมาย

ในการบรรยาย อาจารย์ทองแถม ได้กล่าวถึงกลุ่มกวีและปราชญ์ ที่เขียนความรู้สึกเกี่ยวกับเต๋า โดยบทกวีเต๋าเฟื่องฟูที่สุดในยุคราชวงศ์จิ้นและราชวงศ์ถัง มีกวีที่โดดเด่น ได้แก่ หลี่ไป๋ เป็นทั้งมหากวี และมือกระบี่ฝีมือล้ำเลิศ กวีของหลี่ ไป๋ มีท่วงทำนองแบบเต๋า

กวีที่มีชื่อเสียงอีกท่านคือ ตู้ฟู่ บทกวีของตู้ฟู่มีแนวอนุรักษ์แบบปรัชญาหญู บทกวีมีรูปแบบและคำตามกรอบแบบแผนเปะๆไม่ผิดเพี้ยน โดยเปรียบเทียบแล้ว กับบทกวีของหลี่ไป๋ยังมีความอิสระมากกว่า

ในยุคราชวงศ์ซ่ง ยังมี กวีนามกระเดื่อง คือ ซูตงปัว กวี ซูตงปัวท่านนี้ จัดเป็นกวีเซน

นอกจากนี้ ยังมีบทกวีจีนมากมาย ที่ถูกมองและตีความเป็นบทกวีชมธรรมชาติอย่างตื้นๆ แต่ใคร่ครวญอย่างดีแล้วก็จะเห็นความลึกซึ้งอีกระดับของบทกวี อาทิ หลิ่ว จงหยวน เป็นกวีเอกท่านหนึ่งในยุคราชวงศ์ถัง บทกวีของท่านถูกมองเป็นบทกวีชมทิวทัศน์ ใช้ถ้อยคำเรียบง่าย ให้ภาพทิวทัศน์และอารมณ์ความรู้สึกชัดเจนสะเทือนใจมาก บทกวีของหลิ่ว จงหยวนที่รู้จักกันแพร่หลายมาก คือ แม่น้ำหิมะ กวีบทนี้มองเพียงผิวเผินดูเป็นกวีชมธรรมชาติ เมื่อพินิจด้วยฌานทรรศน์ ก็จะเห็นความลุ่มลึก

สกุณา ลาลับผัน พ้นภูเขา
ไร้รอยเท้า หมื่นถนน ผู้คนหาย
พ่อเฒ่า เปลือยไม้ บนเรือพาย
หนาวหิมะ เดียวดาย นั่งตกปลา

ภาวะที่ “สกุณา ลาลับผัน พ้นภูเขา ไร้รอยเท้า หมื่นถนน ผู้คนหาย” ก็คือ ความว่าง หรือสุญญตา

และภาพ “พ่อเฒ่า เปลือยไม้ บนเรือพาย หนาวหิมะ เดียวดาย นั่งตกปลา” แสดงนัยของการละทิ้งโลกียธรรมทั้งปวง เข้าถึงโมกธรรมแห่ง “ฌาน”   เป็นต้น

ยอดกวี เถา ยวนหมิง
และสุดยอดกวี ที่อาจารย์ทองแถมชื่นชอบ คือเถา ยวนหมิง (พ.ศ. 908-970)เป็นผู้บุกเบิกและล้ำเลิศแห่งแนวกวี “ธรรมชาตินิยม” หรือ “กวีนาสวน” ได้รับสมญาเป็นกวียูโทเปียแบบจีน ซึ่งเป็นอุดมคติแบบเต๋า

เถา ยวนหมิง เกิดในช่วงยุคเสื่อมของราชวงศ์จิ้น (พ.ศ.808-963) บ้านเมืองเต็มไปด้วยศึกสงคราม จัดเป็นกลียุคโดยแท้ยุคหนึ่ง

เถา ยวนหมิง เกิดในตระกูลขุนนางเก่า ท่านเป็นปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาในระบบ และรับราชการในตำแหน่งต่างๆตำแหน่งสุดท้ายคือนายอำเภอ แต่ด้วยทนความฟอนแฟะในวงขุนนางไม่ได้ จึงได้ลาออกมาเป็นชาวไร่ชาวนา ณ เชิงเขาหลูซาน ใช้แรงงานทำนาทำสวนเพื่อยังชีพ ดำรงชีวิตอย่างสามัญชน เป็นคนยากจนจริงๆ ดังนี้เอง เถา ยวนหมิงจึงเป็นแบบอย่างของคนที่ไม่ยอมเลวตามน้ำที่น่ายกย่อง

“เถา ยวนหมิง ทำไร่ไถนาอยู่ตีนดอยหลูซาน ท่านดำรงชีวิตตามอุดมคติเต๋า”
เถา ยวนหมิงมีความลุ่มลึกแตกฉานในปรัชญาเต๋า ระหว่างใช้ชีวิตใช้แรงงานทำไร่ไถนา ท่านได้รจนากวี บทกวีที่โดดเด่นอันสะท้อนจิตใจจิตวิญญาณของเถา ยวนหมิง คือ บทกวี ตำนานธารดอกท้อ เป็นบทกวีที่แพร่หลายที่สุดของเถา ยวนหมิง มักถูกหยิบยกเมื่อมีการกล่าวถึงสังคมยูโทเปีย หรืออุตรกุรุ จากบทกวีนี้เอง เถา ยวนหมิงจึงได้ชื่อเป็น “กวียูโทเปีย” ดังนี้เอง ยอดนักกวีเถา ยวนหมิง จึงได้รับการยกย่องเป็นยอดคนที่ใช้ชีวิตตามความคิดหรืออุดมคติของตนอย่างแท้จริง

อาจารย์ทองแถมยังชี้อีกว่า “ในสังคมจีนโบราณการที่บัณฑิตคบหาสมาคมกับชาวนาเป็นเรื่องแปลก แม้แต่ขงจื๊อเองก็เคยดุว่าศิษย์คนหนึ่งที่คิดอยากศึกษาวิธีการทำนาว่าเป็นคน “ใฝ่ต่ำ” ปราชญ์ผู้ทรงภูมิรู้อย่างเถา ยวนหมิงมาใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวไร่ชาวนา จึงนับเป็นพฤติกรรมที่แหกคอกเอามากๆ”

แต่ด้วยการดำรงชีวิตเยี่ยงนี้เอง ทำให้บทประพันธ์ร้อยแก้วร้อยกรองของท่าน มีท่วงทำนองเรียบง่ายไพเราะสละสลวย บรรยายภาพชีวิตชนบทได้จับใจที่สุด ปราชญ์จีนยกย่องท่านเป็นต้นแบบของ “กวีชนบท” หรือ “กวีกลุ่มนาและสวน” ขนานนามท่านว่า “กวีศรีชาวไร่”

บทกวีที่สะท้อนปรัชญาเต๋าที่ลุ่มลึกชิ้นหนึ่ง คือ รูป เงา และจิต อาจารย์ทองแถมกล่าวว่า ชื่นชอบ กวี รูป เงา และจิต ชิ้นนี้มากกว่ากวีธารดอกท้อ กวี รูป เงา จิตสะท้อนจิตใจและรวบยอดความคิดของเถายวนหมิงได้แจ่มชัดที่สุด เป็นเรื่องราว “รูป เงา จิต” ถามล้อกัน กวีชิ้นนี้แม้ป็นกวีเต๋าก็ใกล้เคียงกับเซนมาก “เงาอยู่คู่กาย กายยังมีจิต แต่ทั้งหมดล้วนเป็นอนิจจัง ไม่ใช่ของเรา”...

รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ วิถีแห่งเต๋า ชีวิตและผลงาน เถายวนหมิง
ผู้เขียน โชติช่วง นาดอน
พิมพ์ครั้งที่ 3 ธันวาคม 2554
สำนักพิมพ์ บีไบรท์
จำนวนหน้า 206 หน้า
ราคา 120 บาท

รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ เกี้ยมแขะ มือกระบี่กวีเซน
ผู้เขียน โชติช่วง นาดอน
พิมพ์ครั้งแรก 2553
สำนักพิมพ์ บีไบรท์
จำนวนหน้า 263 หน้า
ราคา 180 บาท
 


กำลังโหลดความคิดเห็น