xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.แบบม้วนเดียวจบสไตล์ทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

คืนวันที่ 25 ก.พ.นี้ ทักษิณ ชินวัตร มีกำหนดโฟนอินในงานชุมนุมนปช.ที่เขาใหญ่วาระใหญ่ของงานนี้ก็คือการประกาศเดินหน้าสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่วาระรองคือการจุดพลุปลุกกระแสคนเสื้อแดงขึ้นมาอีกรอบไม่ให้เฉาอิ่มยิ้มฝันหวานนานเกินไป เพราะการเมืองนับจากนี้มีงานที่ต้องอาศัยแรงหนุนจากมวลชนมากขึ้น

การเมืองนับจากนี้ไปทักษิณและพรรคเพื่อไทยน่าจะต้องอาศัยแรงของมวลชนคนเสื้อแดงมากขึ้น เป็นการเตรียมไว้ทั้งเกมรุกและรับ...ด้านเกมรุกก็คือการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ การป้องปรามรัฐประหาร(ที่ยากจะเกิดแต่แกนนำอยากเลี้ยงกระแสนี้ไว้) ที่สำคัญสมมติว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พรก.กู้เงินผิดรัฐธรรมนูญล่ะก็..มวลชนที่เตรียมวอร์มอัพไว้แต่เนิ่นจะมีประโยชน์มากเพราะมีข่าววงในพรรคยืนยันออกมาตั้งแต่ไก่โห่ว่าต่อให้ศาลตัดสินยังไงรัฐบาลก็จะไม่ลาออก ขณะที่อีกฟากหนึ่งจะมองว่ารัฐบาลต้องแสดงสปิริตเมื่อเกิดความผิดพลาดในการดำเนินการเกี่ยวกับกฏหมายสำคัญซึ่งเป็นธรรมเนียมของประชาธิปไตยยุคใหม่แน่นอนว่าหนีไม่พ้นจะมีการมวลชนออกมากดดันรัฐบาล นี่จึงเป็นเหตุผลของการเป่านกหวีดวอร์มอัพมวลชนในยุทธวิธีด้านรับ

ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ดูตามหน้าเสื่อรัฐบาลเตรียมการสำหรับเรื่องนี้แบบต้องการม้วนเดียวจบตัดเงื่อนไขผันแปรออกไปเท่าที่จะทำได้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แสดงให้เห็นชัดเจนถึงเบื้องหลังวิธีคิดและวิธีออกแบบกิจกรรม

1./ จำนวน ส.ส.ร. ให้เลือกตั้งตรงจังหวัดละ 1 คน ซึ่งแปลความได้ว่า เพื่อไทยต้องการเสียงข้างมากในสภา ส.ส.ร. แบบไม่อยากเหนื่อยมากเพราะคำนวณจากฐานเสียงเดิมที่มีทั้งภาคเหนือและอีสาน ยังไงๆ ก็กำหนดตัวสสร. ล่วงหน้าได้ เพราะหากกำหนดให้มีจำนวน ส.ส.ร. ตามสัดส่วนประชากรเช่น 3-4 แสนคน/ 1 ส.ส.ร. หรือกำหนดจังหวัดละ 2-3 คนจะทำให้บล็อกเสียงยากมากขึ้นโดยเฉพาะหากเลือกแบบวันแมนวันโหวตเสียงจะกระจาย เช่น จังหวัดใหญ่อาจจะมีจากฐานเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ จังหวัดละคน ส่งผลปลายทางทำให้ควบคุมบล็อกโหวตในสภายากขึ้น

2./ การกำหนดจำนวนวันเอาไว้ 180 วัน บวกลงประชามติอีกไม่เกิน 45 วัน หมายถึงว่า พรรคเพื่อไทยวางเป้าหมายจะมีรัฐธรรมนูญใหม่คลอดออกมาประมาณต้นปีหน้า ซึ่งแท้จริงก็คือเป็นการร่างแบบไม่เปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น เวลาแค่นั้นแทบไม่มีการไปรับฟังความเห็น การประมวลความเห็นหรือเปิดให้มีการมีส่วนร่วมอะไรนักหรอก ตัวอย่างเมื่อ ส.ส.ร.2 ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มีเวลาประมาณนี้กระบวนการต่างๆ จึงเป็นแค่พิธีกรรมหน้าฉาก โดยสรุปคือ พวกที่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นวาระสำคัญที่เปิดให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีส่วนร่วม มีการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ ฯลฯ อย่าได้คิดหวังอะไรกับการแก้ไขครั้งนี้ เพราะไม่มีจริงหรอกกระบวนการมีส่วนร่วมน่ะ

3./ การกำหนดให้มีการลงประชามติหลังจากยกร่างแล้วเสร็จ ขั้นตอนนี้ไม่เหมือนการร่างปี 2540 ที่ ส.ส.ร.1 จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาลงมติ แต่มาครั้งนี้จะใช้วิธีการลงประชามติแบบปี 50 นั่นเพราะว่า พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญปี 50 มาโดยตลอด การจะมีของใหม่มาแทนแบบเบ็ดเสร็จนอกจากจะต้องผ่านข้นตอนกฏหมายแล้ว ยังควรจะมีการประชามติอีกครั้งเพื่อลบเงื่อนไข หรือข้ออ้างใด ๆ จากฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ และที่สำคัญพรรคเพื่อไทยมั่นใจฐานคะแนนเสียงของตนว่าจะผ่านมติได้ เพราะมีคนกลางๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวายตามมาจากความขัดแย้ง

4./ ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่บรรรจุในสภาเวลานี้มี 5 ร่างที่ยื่นเข้าไปยังไม่มีของประชาธิปัตย์ เป็นของเครือข่ายเพื่อไทยและคนเสื้อแดง 3 ร่าง มีข้อเสนอแบบเดียวกันคือ ให้มีเลือกตั้ง ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คน ต่างกันเพียงรายละเอียดจำนวนผู้เชี่ยวชาญ รวมกันแล้วมี ส.ส.ร.3 ระหว่าง 99-101 คน เมื่อมีการบรรจุวาระ แน่นอนสภาฯจะโหวตให้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นร่างหลัก และมีกรรมาธิการหนี ไม่พ้นสัดส่วนพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง นี่คือหัวใจสำคัญของการล็อกสภา ส.ส.ร.เอาไว้ในมือผ่านการเลือกตั้งแบบเสียงจัดตั้ง ดังนั้น สสร.3 ที่จะเกิดขึ้นจึงเป็น ส.ส.ร.ในมือพรรคเพื่อไทย ที่สามารถกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญได้ล่วงหน้า ปราชญ์ท่านว่าไว้ ชนชั้นใดร่างกฏหมายก็จะรับใช้ชนชั้นนั้น .. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่หนีไม่พ้นการเอื้อต่อทุนการเมือง ทำให้ความเข้มของระบบการตรวจสอบถ่วงดุลลดลงจากปี 50 อย่างแน่นอน

5./ เนื่องจากมีการแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.และการเลือกตั้งรวมถึงม.190 มาแล้วดังนั้นในครั้งนี้จะเน้นไปที่การลดอำนาจการตรวจสอบขององค์กรอิสระและตัดแขนตัดขาเครือข่ายคนที่เขาเรียกว่าอำมาตย์ คาดว่าจะเป็นแก้โดยยึดปี 2540 เป็นหลัก มาตราสำคัญที่เป็นเป้าการแก้คือ มาตรา 309 บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 237 การยุบพรรคการเมือง มาตรา 113-114 ที่มาของวุฒิสภประเภทสรรหา รวมถึงมาตราในหมวดการคัดเลือกองค์กรอิสระต่างๆ และหากวัดพลังภายนอกที่คัดค้านไม่กล้าแข็งพอจะข้ามไปแตะมาตรา 219 ว่าด้วยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีกรอบอำนาจและอิทธิฤทธิ์ลดลง

6./ การกำหนดยุทธศาสตร์แก้รัฐธรรมนูญแบบม้วนเดียวจบดังกล่าวหัวใจอยู่ที่ร่างแก้ไขมาตรา 291 ที่จะกำหนดสเป็คสสร.แบบจังหวัดละคน กำหนดเงื่อนเวลาแบบสั้นที่สุด 180 วันตัดวงจรแทรกซ้อนจากกลุ่มอำนาจอื่นๆ มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่กำหนดได้ยากคือขั้นลงประชามติที่จำเป็นต้องมี หากต้องการลบล้างเงื่อนปมของรัฐธรรมนูญปี 2550 แบบสิ้นเชิง (มิฉะนั้นจะมีข้อแย้งต่อเช่นปี 50 ผ่านประชามติของใหม่ไม่ผ่าน จึงไม่ชอบธรรม ฯลฯ) เพราะฉะนั้นหากจะขัดขาดักคอแนวทางของพรรคเพื่อไทยมีช่องทางพอจะทำในขั้นตอนนี้คือคัดค้านในชั้นกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ประกอบกับเสียงกดดันจากภายนอกสภาซึ่งดูแนวโน้มแล้วนี่คือสมรภูมิสำคัญทางการเมืองในระยะ 2-3 เดือนที่จะถึงนี้

7./ แท้จริงแล้วแนวทางของพรรคเพื่อไทยที่เน้นยุทธศาสตร์ม้วนเดียวจบครั้งนี้ แม้จะมีจุดเด่นที่ควบคุมง่ายออกแบบให้กระชับจบเร็ว แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่สสร.จังหวัดละคน จะมาจากฐานอำนาจการเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดการแสดงออกของตัวแทนพลังอำนาจต่างๆ ของสังคมออกไปจากวงจรแก้รัฐธรรมนูญ เอาแค่การส่งคนเข้าประกวดเป็น ส.ส.ร.แต่ละจังหวัดคนในพรรคเดียวกันก็คงจะทะเลาะกันใหญ่ต้องอาศัยอำนาจมือใหญ่กำปั้นใหญ่มาทุบโต๊ะ อย่างไรก็ตามตัวแทนพลังอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ที่หลากหลายทั้งที่เป็นพันธมิตรของรัฐบาลและฝ่ายตรงกันข้ามที่ไม่ได้เข้าไปต้องแสดงออกภายนอกสภา ส.ส.ร. (เพราะ ส.ส.ร.ล็อกสเป็ครับงานมีโพยชัดเจน) กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มกระจายอำนาจ กลุ่มเรียกร้องเรื่องภาษีก้าวหน้า กลุ่มวิชาการที่มีฐานทฤษฎีคนละแบบกับปี 2540 เช่น นิติราษฎร์ ฯลฯ ต่างก็จะแสดงออกผลักดันเรียกร้องอยู่นอกสภา นี่จึงเป็นเหตุให้มีการเป่านกหวีดเรียกวอร์มอัพคนเสื้อแดงแต่เนิ่นๆ ที่เขาใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้ว

โดยสรุปสมรภูมิแก้รัฐธรรมนูญชี้วัดกันตั้งแต่ร่างแก้ไขมาตรา 291 หาใช่หลังจากได้ สสร.3 มาแล้วแต่อย่างใด เพราะเนื้อหาของร่างแก้ไขมาตรา 291 จะกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะล็อกสเปก ส.ส.ร.ในระดับไหน ถ้าเลือกจังหวัดละคนก็ล็อกแบบไม่ให้ขยับ แต่หากมีจำนวนมากกว่านั้นปัจจัยความยุ่งยากผันแปรก็จะมากขึ้น ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอมให้มี ส.ส.ร.มากกว่า 250 คนหรือขยายเวลาการยกร่างเพื่อรับฟังความเห็นเกิน 180 วันเพราะมันจะมากหมอมากความเพิ่มปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ลงไปโดยไม่จำเป็น

นี่เป็นยุทธศาสตร์ม้วนเดียวจบที่วางไว้หากเป็นไปตามนั้นรัฐธรรมนูญใหม่จะมีหน้าตาออกมาเป็นรัฐธรรมนูญของทุนการเมืองเรืองศักดาตัดแขนขาอำมาตย์แบบที่ฝ่ายทุนและการเมืองต้องการ

การชิงไหวพริบแก้ไขมาตรา 291 (โดยเฉพาะในชั้นกรรมาธิการ) จึงเป็นสมรภูมิสำคัญในระยะ 2-3 เดือนนี้ เพราะมันชี้วัดหน้าตาที่ออกมาของรัฐธรรมนูญได้ตั้งแต่เริ่มโดยไม่ต้องรอให้มี ส.ส.ร.ด้วยซ้ำ !
กำลังโหลดความคิดเห็น