xs
xsm
sm
md
lg

กิตติรัตน์ กับตำนานการฟอกอุจจาระ ปตท.

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

โชคชะตาคนนี่เล่นตลกจริงๆ เมื่อ 10 ปีก่อนกิตติรัตน์ ณ ระนองถูกเหตุการณ์ชักนำให้ไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กรพลังงานนามว่า ปตท. โดยเขาต้องเป็นหนังหน้าไฟจัดการเรื่องอื้อฉาวจากการกระจายหุ้นให้กับผู้จองซื้อรายย่อยเมื่อปี 2545 มาปีนี้ พ.ศ.2555 ก็ถูกโชคชะตาให้มาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสถานะของปตท. อีกครั้งด้วยนโยบายขายหุ้นทำให้ปตท.พ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อโชว์ตัวเลขทางบัญชีใหม่ให้กับรัฐ

เมื่อปี 2545 เป็นหนังหน้าไฟสะสางกลบเกลื่อนการกระจายหุ้นอื้อฉาว

มาปี 2555 มีหน้าที่โดยตำแหน่งจะทำรัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้กลายเป็น “รัฐอิสระสาหกิจ”แต่งบัญชีหนี้สาธารณะใหม่

กรณีปตท. เป็นกรณีศึกษาที่ยืนยันว่าผลประโยชน์จากองค์กรพลังงานแห่งนี้เกี่ยวพันทั้งทุนใหม่-ทุนเก่า ไม่ใช่เรื่องของทุนทักษิณที่จัดอยู่ในกลุ่มทุนใหม่อยากเปลี่ยนฝ่ายทุนเก่าไม่อยากตัวละครที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2544 จึงมีทุกฝ่ายผสมโรงร่วมกันอย่างสนุกสนาน

จะว่าไปแล้วคุณกิตติรัตน์นี่จัดว่าเป็นลูกหลานอำมาตย์คหบดีจัดอยู่ในทำเนียบของทุนเก่าเพราะเป็นหลานทวดของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ตระกูลนี้ได้รับการยกย่องว่าจงรักภักดีอย่างถึงที่สุดตอนเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่มีขุนนางอำมาตย์คนไหนกล้าออกหน้าแสดงตัวว่ายังภักดีกับพวกเจ้าแต่คนตระกูล ณ ระนองไม่สนใจ วันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล) เดินทางมาเพื่อเฝ้ากรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วังหลังจากทราบข่าวว่าคณะราษฏรปล่อยตัวออกมา

พระยาประดิพัทธภูบาลคอยู่เหลคนนี้เป็นพี่ชายของ “คอยู่สอง” ปู่ของคุณกิตติรัตน์

ต่อมาเมื่อกรมพระนครสวรรค์ฯ (ปู่ของคุณชายสุขุมพันธุ์ บริพัตร) ถูกเนรเทศก็มีพระยาคอยู่เหลคนนี้แหละที่เดินทางไปส่งและจัดการที่ทางให้ประทับที่เมืองบันดุง คนในตระกูลนี้ยังช่วยเหลือเจ้านายอีกหลายพระองค์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพราะมีบ้านพักที่ทางและการค้าที่เมืองปีนัง

ที่จริงแล้วผู้ดีเก่า-อำมาตย์-คหบดีเมืองไทยโยงกันถึงหมด ไม่จริงไปหมดหรอกที่ว่าทุนใหม่ปะทะหรือสู้กับทุนเก่า อย่างท่านผู้หญิงท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อดีตราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ผู้เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่นราธิวาสนี่ก็เป็นญาติกับคุณกิตติรัตน์เพราะท่านผู้หญิงเป็นหลานตาของพระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล) นับเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน

ที่เกริ่นเรื่องสายตระกูลมาพอสังเขปเพราะเหตุการณ์อื้อฉาวกรณีกระจายหุ้นปตท. ที่คุณกิตติรัตน์มีฐานะเป็นผู้เช็ดล้างฟอกความอื้อฉาวครั้งนั้นให้มันกลับมาปกติ ซึ่งที่สุดคนที่ได้ประโยชน์ร่วมด้วยก็คือผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์นั่นแหละเพราะปตท.มีวอลุ่มสูงจากปี 46-47 ตลาดหุ้นไทยยุคกิตติรัตน์โตพรวดเป็นเท่าตัวจาก 350 กว่าจุดเป็น 700 และที่สุดของที่สุดกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากแปรรูปปตท. ก็มีแต่ผู้มีอันจะกินมีฐานะมั่งคั่งอยู่แล้วแทบทั้งนั้นจะหาชาวบ้านธรรมดาไปร่วมวงด้วยไม่ได้ อย่างธนาคารไทยพาณิชย์นี่ดูจากประวัติการก่อตั้งแล้วไม่น่าจะผูกพันกับชินคอร์ปแบบถึงไหนถึงกันแต่ความเป็นจริงก็ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ต้น (และหากศาลปกครองให้เปิดรายชื่อผู้ได้รับหุ้นอุปการะคุณอาจจะเห็นไปถึงว่าวงผลประโยชน์ปตท.นี่มันไพบูลย์ถ้วนหน้ากันเช่นไร)

ผมเคยเขียนถึงเหตุการณ์ความอื้อฉาวของการกระจายหุ้นครั้งนั้นอยากให้อ่านที่มาที่ไปจะได้เข้าใจง่ายขึ้น กรุณาคลิกดูที่ “มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย (2) เงื่อนงำกระจายหุ้นปตท.” แสดงให้เห็นถึงการกระจายหุ้นผ่านธนาคารให้กับรายย่อยที่น่าเกลียดที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะมีการล็อกสเปกให้กับพรรคพวกเพื่อนพ้อง ฉีกข้อตกลง ฉีก TOR เงื่อนไขรับจองทุกอย่างไปสิ้น

คุณกิตติรัตน์เกี่ยวกับเหตุอื้อฉาวนี้โดยตรงเพราะตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (2544 – 2549) ซึ่งมีหน้าที่ต้องจัดการให้การซื้อขายโปร่งใสตามธรรมาภิบาลไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบคดโกงกันในการซื้อขาย กติกาของตลาดหลักทรัพย์เป็นกติกาสากลถ้าลองปล่อยให้โกงกันได้ต่างชาติก็ไม่เชื่อถือ เมื่อมีข่าวอื้อฉาวว่าหุ้นปตท.ซื้อขายอย่างไม่โปร่งใส (และตัวเองก็ได้แต้มจากหุ้นตัวใหญ่เข้าไปดันตลาดด้วยอีกทางหนึ่ง)

เรื่องกระจายหุ้นอื้อฉาวจึงเป็นอุจจาระกองใหญ่ของปตท.ให้กับชายชื่อกิตติรัตน์รับมาจัดการ แต่ขึ้นชื่อว่าอุจจาระแล้วยังไงเสียมันต้องเหม็น การจัดการของเขาจึงทะแม่งและผิดปกติจากหลักที่ควรจะเป็น

ความผิดปกติประการแรก – ขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง คุณกิตติรัตน์นั้นเป็นผู้บริหารอยู่ในวงการการเงินมาตั้งแต่ปี 2530 คนในวงการนี้มีไม่มากไม่รู้เลยหรือว่าธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีสถานะเป็นจำเลยอันดับหนึ่งในเหตุอื้อฉาวเพราะเป็นแกนหลักในการกระจายหุ้น กับ บริษัทบัญชีผู้ที่ก.ล.ต.ว่าจ้างให้ตรวจสอบมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง

ฝ่ายผู้ถูกสอบคือคุณหญิงชฎา ศิริวัฒนธรรม กับ ฝ่ายผู้สอบ คือ ศ.กิตติคุณเติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้สอบบัญชี รับอนุญาตบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด เป็นพี่น้องกัน ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นบิดาของท่านทั้งสองคือพระยาไชยยศสมบัติ(เสริม กฤษณามระ) ก็คืออดีตผู้บริหารที่วางรากฐานของธนาคารไทยพาณิชย์นั่นเอง

ถ้าเป็นโปรโมเตอร์มวย เซียนเขาไม่ดูหรอกครับมวยคู่นี้เพราะรู้ผลแบเบอร์ !

หากก.ล.ต.ซึ่งก็คือ คุณกิตติรัตน์ ถือประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญและยึดหลักธรรมาภิบาลเคร่งครัดต้องหลีกเลี่ยงการว่าจ้างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องที่ตรวจสอบ ต่อให้เคร่งครัดเป็นมืออาชีพขนาดไหนก็ยากที่คนจะเชื่อมั่นได้เต็ม 100%

การกระจายหุ้นปตท.ครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนั้นมันโกงจริงยากปฎิเสธในทำนองช้างตายทั้งตัวยังไงก็ปิดไม่มิด ผลการตรวจสอบของบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัดที่รายงานต่อ ก.ล.ต.ชี้ว่าการกระจายหุ้นมีความผิดปกติจริง แปลเป็นภาษาง่ายๆ คือมีการโกงไม่ทำตามกติกาช่วยพวกพ้องให้ลัดคิวจริง แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้พิจารณาสืบหาต่อก็คือข้อเสนอของดีลอยท์ฯ ในทำนองว่าเป็นความผิดไม่มาก ไม่มีผลต่อการกระจายในภาพรวม

ก.ล.ต.จึงต้องสั่งลงโทษเบาะๆ ต่อธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศเป็นเวลา 6 เดือนซึ่งหนังสือพิมพ์ยุคนั้นเขาพาดหัวว่า “ก.ล.ต.แกล้งฟันใบโพธิ์” หมายความชัดเจนไม่ต้องแปลซ้ำ

จบแบบสวยๆ เพราะหัวใจสำคัญคือหุ้นที่กระจายไปแบบฉ้อฉลก็ยังคงอยู่ไม่ถูกเพิกถอน ไม่ต้องกระจายจัดสรรหุ้นใหม่ แค่มีสตั๊นท์แมนถูกเชือดโชว์หลักธรรมาภิบาลคือไทยพาณิชย์เพียงรายเดียวสมประสงค์รัฐบาลไทยรักไทย มีคนที่ได้หุ้นเป็นล้านหุ้นทั้งๆ ที่หนังสือชี้ชวนบอกว่าจองได้ไม่เกินคนละ 1 พันหุ้น อิ่มหมีพีมันตามประสาธรรมาภิบาลไทย

ปตท.+กระทรวงพลังงานในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ว่าจ้างธ.ไทยพาณิชย์เป็นแกนกระจายหุ้น แล้วก.ล.ต.ว่าจ้างบริษัทพี่น้องมาตรวจสอบ แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ทางธุรกิจแบบไทยๆ เพราะคนทั่วไปก็รู้ว่าชินคอร์ปและธุรกิจในเครือข่ายทักษิณนั้นมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับไทยพาณิชย์ แม้กระทั่งอดีตผู้บริหารคนสำคัญอย่างโอฬาร ไชยประวัติก็เคยเข้ามาทำงานร่วมในหลายกรณี (จนกระทั่งเป็นหลักฐานที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ตัดสินเรื่องแปรรูปกฟผ.ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับชินคอร์ป)

ความผิดปกติประการที่สอง – ด้วยเหตุที่ ก.ล.ต.ต้องดำเนินการตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักโปร่งใส จึงต้องประกาศแถลงเรื่องการลงโทษธ.ไทยพาณิชย์ให้สาธารณชนทราบและก็นำเอกสารการตรวจสอบความผิดปกติการกระจายหุ้นปตท.ให้กับประชาชนที่สนใจเข้ามาตรวจสอบ

ดูเผินๆ เหมือนโปร่งใส Frank& Fair แต่แท้จริงมันคือการภาวนากันตายเท่านั้นเพราะการเปิดเผยดังกล่าวทำเพียงแค่ตามเงื่อนไขกฎระเบียบที่วางไว้

เอกสารที่ก.ล.ต.เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นเอกสารสรุปความอ้างอิงการตรวจสอบที่เรียกว่า “รายงานการสอบทานระบบที่ใช้ในการรับจองซื้อหุ้น” โดยบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศ จำกัด มีแค่ 21 หน้า บอกคร่าวๆ แค่ว่าการตรวจสอบใช้วิธีการใดและพบความผิดปกติเช่นไรที่นำมาสู่บทสรุปว่า “เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการรับจองซื้อหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ทำให้สิทธิของผู้จองซื้อหุ้นที่จะได้รับการจัดสรรไม่เท่าเทียมกันและไม่เป็นไปตามเจตนาของหนังสือชี้ชวน”

และที่สำคัญนำไปสู่บทสรุปที่ไกล่เกลี่ยประนอมเรื่องแบบหยวนๆ ที่ว่า “อย่างไรก็ดีรายการจองซื้อที่เข้าข่ายว่ามีความผิดปกติดังกล่าวมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายการทั้งหมด........จึงเห็นว่าความผิดปกติดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับภาพรวมของการเสนอขายหุ้นของ บมจ.ปตท.ในครั้งนี้จนทำให้ต้องมีการเปิดรับจองใหม่”

ตั้งแต่ยุคของกิตติรัตน์ ณ ระนองมาจนปัจจุบันไม่มีใครใน ก.ล.ต.ตอบสาธารณะได้ว่าเอกสาร“รายงานการสอบทานระบบที่ใช้ในการรับจองซื้อหุ้น”โดยบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศ ที่ ก.ล.ต.ว่าจ้างอยู่ที่ไหนมีหน้าตาอย่างไรรวมไปถึงเอกสารการตรวจสอบฉบับเต็มของก.ล.ต.เพราะเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง “วิธีการศึกษา” และ “ข้อมูลพื้นฐาน” ของการกระจายหุ้นอัปยศครั้งประวัติศาสตร์พฤศจิกายน 2545 ซึ่งเอาแค่หากมีผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และการสถิติมาดูวิธีการศึกษาและการเก็บข้อมูลในครั้งนั้นไม่แน่ว่าอาจจะมีความเห็นต่างไปจาก ก.ล.ต.และ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศ จำกัด ก็เป็นได้

แต่ข้อมูลหลักฐานสำคัญชุดดังกล่าวที่สามารถจะรื้อฟื้นให้สังคมเห็นถึงความผิดปกติของการกระจายหุ้นอัปยศก็ถูกเก็บเงียบหายไป เรียบร้อยโรงเรียนก.ล.ต. จนถึงวันนี้

คุณกิตติรัตน์ ก็มีส่วนในความผิดปกติอีกประการแต่เกี่ยวในทางอ้อมก็คือหลังจากที่พบว่าการกระจายหุ้นผิดปกติจึงสั่งลงโทษแบงก์ไทยพาณิชย์ 6 เดือนตามเอกสารตรวจสอบที่ดีลอยท์ฯ เสนอมาว่า “รายการจองซื้อที่เข้าข่ายว่ามีความผิดปกติดังกล่าวมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายการทั้งหมด” เลยหยวนๆ ไปลงโทษเฉพาะธนาคารผู้เป็นแกนกระจายหุ้น แต่ไม่ได้ปกป้องคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มที่ไปเข้าคิวซื้อตั้งแต่เช้ามืดยังไม่ทันไรหุ้นก็หมด แทนที่จะให้จัดสรรใหม่เฉพาะหุ้นที่ผิดปกติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมก็ไม่ได้ทำ

หลักฐานสำคัญกรณีปตท.กระจายหุ้นโดยมิชอบซึ่งเป็นอุจจาระกองใหญ่จึงถูกนั่งทับเอาไว้และก็ส่อว่าสูญหายไร้ร่องรอยมาถึงปัจจุบัน !

10 ปีผ่านไป – วันนี้ชายชื่อกิตติรัตน์ ณ ระนองไม่ได้เป็นผู้บริหารก.ล.ต. หากดำรงตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานกำกับรัฐวิสาหกิจบมจ.ปตท.โดยตรงในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ กำลังจะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงองค์กรยักษ์ใหญ่แห่งนี้อีกครั้งเมื่อมีแนวคิดขายหุ้น 2% ให้กับกองทุนวายุภักดิ์เพื่อให้พ้นจากสถานะรัฐวิสาหกิจ (ในนาม) ทำให้หนี้สินทั้งหลายทั้งปวงของปตท.ไม่จัดร่วมบัญชีหนี้สาธารณะ จะมีผลให้หน้าตาทางบัญชีของประเทศดูดีขึ้นมา และยังมีผลให้รัฐบาลมีเพดานการกู้เพิ่มขึ้น

อันที่จริงแล้วคนที่ควรจะเป็นเจ้ากี้เจ้าการโอนหุ้นแต่งบัญชีควรจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่ที่ไหนได้กลายเป็นว่าคนที่เสียงดังมากที่สุดออกมาให้สัมภาษณ์สื่อเป็นคุ้งเป็นแควก็คือ ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร ที่คนในวงการเชื่อว่าเป็นเจ้าของไอเดียตัวจริง ดังนั้นงานนี้จึงเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คุณกิตติรัตน์กลับมาสวมบทหนังหน้าไฟ เป็นเจ้าภาพจัดการเรื่องปตท. แทนคนอื่นอีกคำรบ

ปมปัญหาของการแปลงสถานะ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) จากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนซับซ้อนกว่าที่คิดเพราะที่ผ่านมา ปตท.ได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหมือนรัฐวิสาหกิจ เช่นการได้เช่าที่ดินราชพัสดุ การประกาศเวนคืน การไม่ต้องจ่ายภาษีฯลฯ ทั้งนี้เป็นไปตามพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจที่เปิดช่องไว้ เสียงวิจารณ์ก่อนหน้าคือในเมื่อขายปตท.ให้เอกชน 49% ไปแล้วผู้ถือหุ้นเหล่านี้พลอยได้ประโยชน์จากอิทธิฤทธิ์ที่เหนือกว่าชาวบ้านของ ปตท.ไปด้วย

ผมเองนั้นใจหนึ่งก็ร่ำๆ อยากให้ปตท.กลายเป็นบริษัทเอกชนดำเนินการภายใต้กฏหมายแพ่งและพาณิชย์เต็มตัวอยู่เหมือนกันเพราะอยากเห็นวันที่ปตท.ไม่มีฤทธิ์เดชไม่ถืออำนาจมหาชนของรัฐจะถูกฟ้องหงายเก๋งอีท่าไหน อย่างน้อยๆ ก็เรื่องการครอบงำตลาด การผูกขาดรูปแบบต่างๆ สมมติมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือนโยบายพลังงานโยกการกำกับดูแลท่อก๊าซมาให้บริษัทใหม่ที่เป็นของรัฐ(ไม่ใช่ปตท.) แค่นี้ก็น่าสนุก แต่เมื่อมาทบทวนอย่างรอบคอบความคิดนี้เป็นแค่ความสะใจชั่วแล่นเพราะที่สุดแล้วเรื่องส่วนรวมสำคัญกว่า ..

ปตท.นั้นคือเครื่องมือของรัฐที่จัดการกิจการด้านพลังงาน และข้อเท็จจริงต่อให้ขายหุ้นไปมันก็แค่ในนามเพราะรัฐมีอำนาจกำกับอยู่ดังนั้นโดยหลักการรัฐควรจะคงกลไกกำกับ ตรวจสอบดูแลและกำหนดทิศทางตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา การแสร้งปล่อยให้ปตท.เป็นเอกชนนั้นทำให้หลุดไปจากการกำกับควบคุมที่สำคัญไปหลายส่วนเช่นสตง.ก็เข้าไปดูไม่ได้ (ถ้าจะทำอาจทำทางอ้อมตรวจผ่านกระทรวงการคลังเท่านั้น) หรือกระทั่งการฟ้องร้องต่อศาลปกครองก็ทำไม่ได้

สมมติ ปตท.ก็จะมีสถานะเป็นบริษัทเอกชนก็จะพ้นจากอำนาจศาลปกครองในทันทีคดีความที่ฟ้องร้องกันอยู่เช่นที่มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินฟ้องก็จะถูกยกไป บรรดาเรื่องเน่าฉาวโฉ่ที่ผู้บริหารเมื่อปี 2544-2545 อุจจาระเรี่ยราดไว้เช่นกรณีการแจกหุ้นอุปการะคุณ 25 ล้านหุ้นให้กับใครบ้างก็ไม่รู้ไม่มีการเปิดเผย หุ้นอุปการะคุณนี้หากเป็นกิจการเอกชนเถ้าแก่กันไว้แจกไม่เสียหายแต่หุ้นของปตท.คือสมบัติชาติที่ใช้ภาษีประชาชนลงทุนมาก่อนูจู่ๆ ผู้บริหารและนักการเมืองใช้สิทธิ์อะไรนึกอยากจะแจกใครก็ได้ในราคาต่ำมาก ข้อมูลดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งในคำร้อง หากมีการเปิดเผยขึ้นมาจริงนี่คือหลักฐานประจานความเหลวแหลกของการเมืองและผู้บริหารระดับสูงของปตท.

กรณีแนวคิดการทำปตท.ให้พ้นไปจากนิยามรัฐวิสาหกิจตามพรบ.วิธีการงบประมาณ 2502 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปถึงกฏหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ แนวคิดดังกล่าวยืนบนพื้นฐานทฤษฎีบัญชีซึ่งมองเพียงมิติเดียวไม่ได้คำนึงถึงผลด้านลบและผลทางการบริหารตลอดถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ที่สำคัญปตท.คือเครื่องมือของรัฐในนโยบายพลังงานที่สร้างขึ้นมาจากภาษีประชาชน ดังนั้นกลไกการกำกับตรวจสอบควบคุมต้องมีและที่สำคัญการดำเนินการของปตท.ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ มิใช่ประโยชน์แห่งเอกชนผู้ถือหุ้น

ขอถามคุณกิตติรัตน์ตรงๆ ในฐานะผู้บริหาร ก.ล.ต.เก่าว่าควรหรือไม่ที่บริษัทในตลาดโดยเฉพาะกิจการที่เป็นของรัฐจะต้องเปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับหุ้นอุปการะคุณให้กับสาธารณะ เชื่อเหลือเกินว่ารายชื่อดังกล่าวจะสะท้านสะเทือนแผ่นดินเพราะเกี่ยวข้องกับผู้ลากมากดีคหบดีตลอดถึงนักการเมืองทุกฝ่ายในสังคมและหากปตท.ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจอำนาจศาลปกครองก็บังคับไม่ได้ นักการเมืองผ่านมาผ่านไปไม่มีใครกล้าสั่งให้ ปตท.เปิดออกมา

ที่ยกมานี่เป็นแค่ปมเล็กๆ ในอีกหลายๆ เรื่องทั้งที่ผ่านมาแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น เรื่องแย่ๆ ลึกลับซับซ้อนของ ปตท.มีมากมายแม้สถานะรัฐวิสาหกิจยังยากเข้าไปตรวสอบหากหลุดออกไปกลายเป็น “รัฐอิสระสาหกิจ” ก็จะยิ่งเป็นแดนสนธยาที่มีผลประโยชน์มหาศาลกันภายในเฉพาะกลุ่มเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกไปลงทุนทำธุรกรรมในต่างแดนที่มีแต่นายทุนใหญ่หรือนักการเมือง (นาย) ใหญ่เท่านั้นที่เอื้อมมือไปถึง!

บังเอิญเหลือเกินที่เขียนบทความนี้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซ้ำยังได้เขียนถึงลูกหลานผู้สืบเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนตระกูลคอผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 รับราชการสืบทอดเชื้อสายเป็นตระกูลใหญ่มาถึงรุ่นที่ 7 ได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะตระกูลที่จงรักภักดีและทำประโยชน์เพื่อแผ่นดิน มาวันนี้คุณกิตติรัตน์ในฐานะคนตระกูลคอรุ่นที่ 6 มีโอกาสได้เป็นถึงเสนาบดีใหญ่ไม่น้อยหน้าบรรพบุรุษลองนึกทบทวนดูครับว่าจะเลือกทางไหนที่เป็นคุณต่อแผ่นดินผืนนี้ที่สุด.
กำลังโหลดความคิดเห็น