รอยเตอร์ - บิ๊กบอสโกลด์แมน แซคส์ แอสเส็ต แมเนจเมนท์ วิเคราะห์หลายประเทศในยูโรโซนอาจไม่ยินดีอยู่ร่วมระบบเงินสกุลเดียว ในเมื่อจะต้องมีการปรับตัวสู่แนวทางการคลังแบบบูรณาการ ซึ่งเยอรมนีน่าจะกลายเป็นผู้ผูกขาดนำทาง
จิม โอนีล ประธานหน่วยธุรกิจของโกลด์แมน แซคส์ที่บริหารสินทรัพย์มูลค่ากว่า 800 ล้านดอลลาร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ซันเดย์ เทเลกราฟของอังกฤษว่า โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และกรีซ อาจแยกตัวออกจากยูโรโซน แทนที่จะอยู่ภายใต้ระบบคลังเดียว
โอนีลแจงว่า เยอรมนีนั้นต้องการระบบการคลังที่เป็นหนึ่งเดียว และมีการกำกับตรวจสอบจากส่วนกลางที่เข้มงวดขึ้น ภายใต้แนวคิดการทำงานแบบกระทรวงการคลังของยูโรโซน ทว่าระบบเช่นนี้อาจไม่ใช่รูปแบบที่ทุกประเทศต้องการเป็นสมาชิกต่อไป โดยในจำนวนนี้รวมถึงประเทศที่มีปัญหาอยู่แล้วอย่างกรีซ
ประธานโกลด์แมน แซคส์ แอสเส็ต แมเนจเมนท์ เสริมว่า มีเพียงบางประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยียม-เนเธอร์แลนด์-ลักเซมเบิร์ก) เท่านั้น ที่พร้อมสำหรับสหภาพการเงินซึ่งผูกพันอย่างมากมายเช่นนี้ เนื่องจากชาติเหล่านี้มีระบบบแลกเปลี่ยนเงินตราที่เชื่อมโยงกันใกล้ชิดอยู่แล้ว แต่สำหรับประเทศอื่นๆ แนวคิดนี้ค่อนข้างมีปัญหา
เขาสำทับว่า ประเทศ อาทิ ฟินแลนด์และไอร์แลนด์ที่เพื่อนบ้านเป็นพวกประเทศนอกยูโรโซน เช่น สหราชอาณาจักรและสวีเดน อาจเลือกถอนตัวจากยูโร ซึ่งน่าจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเดียวแข็งขึ้น
ในการให้สัมภาษณ์คราวนี้ โอนีลยังเรียกร้องธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) แสดงความเป็นผู้นำเพื่อฟื้นความมั่นใจของนักลงทุน โดยที่เขามองว่า ข้อตกลงช่วยเหลือที่พวกผู้นำยุโรปจัดทำออกมานั้นจะไม่สามารถแก้วิกฤตได้ และอีซีบีจำเป็นต้องเข้ารับซื้อพันธบัตรเพิ่มขึ้นอีก
นับจากที่ฟื้นโครงการซื้อพันธบัตร (เอสเอ็มพี) เมื่อราว 3 เดือนที่แล้ว อีซีบีรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลของชาติยูโรโซนต่างๆ รวมแล้ว 100,000 ล้านยูโร ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรอิตาลี
ทั้งนี้ อิตาลีถูกคาดการณ์ว่าเป็นโดมิโนตัวต่อไปที่อาจล้มในวิกฤตยูโรโซน เนื่องจากเวลานี้ตลาดการเงินแสดงความไม่ไว้วางใจ จนกระทั่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของอิตาลีในปัจจุบันอยู่ที่ 6.83% ใกล้ 7% ซึ่งเป็นระดับที่เห็นกันว่าอิตาลีคงทนต่อไปได้ไม่นานนัก
สมาชิกอีซีบีคนหนึ่งเผยเมื่อวันเสาร์ (5) ว่ามีการถกเถียงกันบ่อยครั้งถึงทางเลือกในการยุติการซื้อพันธบัตรแดนมักกะโรนี เว้นแต่โรมเดินเครื่องมาตรการปฏิรูป ดังนั้น จึงน่าสนใจว่า เมื่อเปิดทำการในวันจันทร์ (7) ตลาดจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความคิดเห็นนี้ที่บ่งชี้ว่า อีซีบีไม่ยินดีพยายามสนับสนุนตลาดพันธบัตรอิตาลีเพื่อฟื้นเสถียรภาพ แต่ต้องการรัฐบาลที่มีเอกภาพและนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจใหม่ให้แก่ประเทศ ขณะที่ตลาดต้องการผู้นำที่เข้มแข็งขึ้นทั้งภายในประเทศต่างๆ และจากอีซีบีเอง
**ลือแบร์ลุสโกนีจะลาออกวันจันทร์นี้**
อนึ่ง ตอนบ่ายวันจันทร์(7) มีนักหนังสือพิมพ์ 2 คนที่ใกล้ชิดกับแบร์ลุสโกนี ออกมาระบุในเว็บไซต์และในทวีตเตอร์ว่า แบร์ลุสโกนีจะยื่นใบลาออกอย่างเร็วที่สุดในคืนวันจันทร์ หรือไม่ก็ในเช้าวันอังคาร ปรากฏว่าข่าวนี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นมิลานและราคาพันธบัตรอิตาลีปรับตัวสูงขึ้นในทันที