xs
xsm
sm
md
lg

ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญเลือกตั้งธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

จะเป็นการดีหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้มีจุดมุ่งหมาย “ปฏิรูปการเมือง” ที่แท้จริงตามนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลแถลงไว้ แต่ปัญหาก็คือผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลนี้ตลอดถึงนักการเมืองคิดไกลไปถึงการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง

ประมาณว่าเขียนคำนี้ให้สวยๆ ไว้บังหน้าตอนแถลงนโยบายเท่านั้น !

ประเทศเราผ่านวิกฤตการณ์การเมืองครั้งเลวร้ายมาตลอด 4-5 ปีมานี้หากนักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องยังไม่สำเหนียกแทนที่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อปลดชนวนใหญ่ๆ และสร้างรากฐานการเมืองที่ดีขึ้นมาแทนของเดิม จะกลับกลายเป็นชนวนระเบิดสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมไปฉิบ หากมุ่งหวังให้การแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองจริงแล้วไซร้ ผู้มีอำนาจ นักวิชาการและภาคส่วนต่างๆ ต้องผลักดันให้ความสำคัญของ “กระบวนการ” ไม่น้อยกว่า “ผลลัพธ์” ซึ่งดูๆ แล้วค่อนข้างยาก

แนวโน้มที่จะเกิดก็คือความคิดรวบรัดตั้งสสร.มาร่างให้เสร็จภายใน 3 เดือน 7 เดือน(เพื่อพ่อแม้วคนเดียว) จัดให้มีการจัดเวทีระดมความเห็นรวบรวมข้อเสนอแบบพิธีการพอให้ครบๆ เพราะผู้กุมอำนาจที่อยู่เบื้องหลังเสียงส่วนใหญ่ในสภาสสร.กำหนดเนื้อหาร่างเอาไว้ก่อนแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญรอบใหม่นี้ก็จะย่ำซ้ำรอยปัญหาเดิมๆ ที่เคยเกิดเพราะ “ชนชั้นใดร่างกฎหมายย่อมรับใช้ชนชั้นนั้น”

เราเคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีและก้าวหน้าที่สุดฉบับหนึ่งคือปี 2540 เนื้อหาหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนก้าวหน้ากว่าที่เคยมี โดยเฉพาะเจตนารมย์ก็เพื่อสร้างอำนาจของประชาชน สิทธิชุมชน การเมืองภาคพลเมืองให้เกิดขึ้นจริง เพราะภาคส่วนดังกล่าวเป็นองค์ประกอบส่วนสุดท้ายที่จะเติมเต็มสิ่งที่เรียกว่า “สังคมประชาธิปไตย” ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ กลายเป็นว่านักการเมืองในสภาฯ ดูดายแกล้งไม่ออกกฎหมายลูกมารองรับเพื่อไม่ให้อำนาจของประชาชนเติบโตจริง จะว่าไปหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญ 40 จึงเป็นหมวดที่ถูกละเลยที่สุดในยุครัฐบาลทักษิณทั้ง ๆ ที่พวกเขามีเสียงเกินครึ่งในสภา

รัฐธรรมนูญ 40 ที่คนเสื้อแดงอยากให้กลับมาใช้ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งแทนที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดแต่ก็สร้างกลไกการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจ เช่นให้เลือกตั้งส.ว.แบบที่ไม่ต้องหาเสียงแบบส.ส.เพื่อต้องการคนดี คนกลางๆ จริงๆ ให้มีองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบและคานการใช้อำนาจ หลักการนี้เป็นหลักการสำคัญของปรัชญาประชาธิปไตย แต่พอมาปฏิบัติจริงกลับล้มเหลวมีช่องโหว่ ส.ว.กลายเป็นสภาผัวเมีย องค์กรอิสระถูกแทรกแซง หากเราไม่หยิบปัญหาเหล่านี้มีถกเถียงอย่างจริงจังผ่าน “กระบวนการถกเถียง-หารือ”เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หยิบเอาข้อบัญญัติเดิมของปี 40 มาใส่เอาใจนักการเมืองและแกนนำม็อบ ก็อย่าหวังว่าการเมืองในอนาคตจะพ้นจากวังวนวิกฤต

มีคนจู่ๆ ออกมาประกาศว่าจะตัดส.ว.ออกไปจากโครงสร้างการเมืองเพราะไม่มีประโยชน์ไม่ได้ตรวจสอบอะไร ..สำหรับผมตัดก็ตัดได้ แต่หลักการสำคัญคือหลักประกันว่าด้วย “หลักตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ” แบบใหม่ต้องมีอย่างชัดเจน เพราะที่สุดแล้วในความเป็นจริงส.ส.ฝ่ายนิติบัญญัติแบบไทยๆ ผูกพันผลประโยชน์กับฝ่ายบริหารเป็นเนื้อเดียวกัน ข้อเสนอลักษณะนี้ซ่อนผลประโยชน์ให้กับนักการเมืองและทุนการเมืองซึ่งประชาชนต้องเท่าทัน

คณะนิติราษฏร์และกลุ่มก้าวหน้า (รวมถึงพวกที่ตี๊ต่างว่าตัวเองก้าวหน้า) พยายามดันข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับหมวดพระมหากษัตริย์ ที่ผูกพันเชื่อมไปถึงกระแสรณรงค์ม.112 ซึ่งดูน่าตื่นเต้นฮือฮาเพราะเกี่ยวข้องกับ “เป้าใหญ่”ทางวัฒนธรรมแต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปถามว่าข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการปฏิรูปการเมืองให้ก้าวหน้าขึ้นดีขึ้นได้จริงหรือได้แค่ไหน...หรือเป็นยาประเภทใด ผมกลับพบว่าข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปชุดอานันท์ - หมอประเวศ กลับก้าวหน้าครอบคลุมตอบโจทย์ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองไทยได้ชัดเจน ลึกซึ้งกว่าอย่างเทียบกันไม่ติด

เอาเฉพาะข้อเสนอเรื่อง “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” ที่เสนอให้กระจายอำนาจอย่างจริงจังในทางปฏิบัติทำให้รัฐบาลกลางเล็กลง ผลประโยชน์ เงินทองงบประมาณและการตัดสินใจลงไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะพลิกโฉมหน้าการบริหารจัดการภาครัฐครั้งใหญ่ และจะมีผลต่อการเมืองภาคปฏิบัติพร้อมกันเพราะต่อไปรัฐมนตรีจะเหลืออำนาจ เหลือตัวเงินและบุคลากร (โยกย้ายแต่งตั้ง) ได้ไม่มาก การแย่งชิงคดโกงเพื่อเข้าสู่อำนาจย่อมลดลงตามตัว ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจดังกล่าวคือการจัดรูปการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นเสียใหม่ รับใช้ประโยชน์ของประชาชนโดยตรงมากขึ้นเพราะ 100 ปีที่ผ่านมานี้โครงสร้างแบบเดิมมุ่งรับใช้(และเอื้อต่อ) อำมาตย์ เทคโนแครต นักการเมือง ทุนขนาดใหญ่เป็นหลัก

พูดในแบบวิชาการขึ้นมาหน่อย- -ข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ (โดยเฉพาะของปิยบุตร แสงกนกกุล) คือการปรับแก้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของโครงสร้างส่วนบนแค่มุมเดียว ไม่ได้ลึกลงมาที่โครงสร้างส่วนล่าง ทั้งๆ ที่ปัญหาการเมืองไทยตลอด 80 ปีมานี้เกิดจากองค์ประกอบส่วนล่างถูกตัดไปจากวงจรอำนาจและการเมือง เป็นข้อเสนอที่ห่างไกลจากคำว่าปฏิรูปการเมืองแก้ปัญหาวิกฤติการณ์อยู่หลายโยชน์

อุปมาเหมือนรักษาโรคขนานหนึ่ง ซึ่งมีตัวยาสำคัญ 5 ชนิด 80 ปีมานี้เราใช้ตัวยา 4 ตัวมาผสมกัน ขาดตัวที่ 5 คือพลังอำนาจของภาคประชาชน บางช่วงตัวยาทหารอำมาตย์หนักไปหน่อยสรรพคุณยานักการเมืองและทุนก็หดลง บางขณะนักการเมืองและทุนหนักไปหน่อยก็ไปไล่บี้อำมาตย์ข้าราชการเทคโนแครต..ฯลฯ แต่ไม่เคยมีองค์ประกอบตัวที่ 5 (ประชาชนเข้มแข็ง)ที่ทำให้ตัวยาสมดุลและสมบูรณ์ รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 พยายามเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปคือ สิทธิเสรีภาพและพลังอำนาจของภาคประชาชน ซึ่งยังอยู่ในช่วงของความพยายามและยังไม่เป็นจริง มิหนำซ้ำนักวิชาการก้าวหน้ากลับไม่พูดถึงหมวดที่ 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 แม้แต่แอะเดียวทั้ง ๆ ที่ให้อำนาจสิทธิเสรีภาพประชาชนมากที่สุดนับจากปี 2475

ข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์จึงจำกัดอยู่เฉพาะการจัดตัวยา 4 ตัวแรก คือตัดทอนความเข้มข้นของบางตัวลงไปให้ยาตัวอื่นแสดงฤทธิ์ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาวนเวียนซ้ำซากมาจากปี 2475 ขณะที่ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปก้าวหน้ากว่าอย่างเทียบกันไม่ติด เพราะมุ่งบเติมยาตัวที่ 5 ที่ขาดหายไปมานาน...นอกจากมีข้อเสนอเชิงวิชาการที่ชัดเจนแล้วยังผนวก “กระบวนการ” ผลักดันทางสังคมร่วมเข้าไปด้วย เพราะกิจกรรมทางสังคมยุคใหม่ “กระบวนการ” มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ผลลัพธ์” ดีไม่ดีอาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ

วิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นมาจากความคิดเห็นไม่ตรงกันและขาดกระบวนการทำความเข้าใจระหว่างกัน คนจำนวนหนึ่งยังมีความคิด “บูชารัฐธรรมนูญและเลือกตั้งธิปไตย” เพราะคนไทยรุ่นใหม่ถูกกรอกหูจากคำขวัญ “ขายเสียงขายสิทธิ์ขายชีวิตขายชาติ” “รักประชาธิปไตยต้องไปเลือกตั้ง” อาจเพราะเราวนเวียนกับปฏิวัติรัฐประหารมาตลอดนานๆ จะมีเลือกตั้งแต่เลือกตั้งแต่ละครั้งก็สกปรกมากขึ้นๆ จึงกลายเป็นชุดความคิดสำเร็จรูปประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งและศัตรูของประชาธิปไตยคือการฉีกรัฐธรรมนูญ

ความคิดดังกล่าวเป็นความคิดแบบแคบ เพราะที่สุดแล้วสังคมประชาธิปไตยที่แท้เขาวัดจาก “การใช้อำนาจ” หากมีการบิดเบือนการใช้อำนาจ ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ฉ้อฉลอำนาจของประชาชนไปเพื่อส่วนตัวและพวกพ้อง มันก็ไม่ได้แตกต่างจากการใช้ปืนมาฉีกรัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย

ฉีกรัฐธรรมนูญแบบเนียนๆ กับการถือปืนมาฉีก มันก็คือฉีกครือกันล่ะว้า !!!

หากมีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นจริงเราน่าจะตั้งเป้านำพาสังคมไทยไปให้พ้นจากกับดักความคิดบูชารัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเท่ากับประชาธิปไตยให้ได้

รัฐไทยสอนให้สนใจเฉพาะการเลือกตั้งแต่ละเลยให้ความรู้เรื่องหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพการใช้ประโยชน์โภชน์ผลทรัพยากรที่เป็นส่วนรวม และที่สำคัญคือหลักตรวจสอบดุลและคานการใช้อำนาจ รัฐบาลทุกรัฐบาลเอาอำนาจของประชาชนไปใช้จะต้องถูกตรวจสอบเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจนั้นให้มีการใช้อย่างถูกต้อง มีหลักเกณฑ์

จะว่าไปต้นตอวิกฤตการณ์การเมือง 4-5 ปีมานี้เกิดจากนักการเมืองทำลายหลักตรวจสอบถ่วงดุลดังกล่าวลงไป และประชาชนจำนวนหนึ่ง(ที่มากพอดู) กลับไม่แยแสว่ามันเป็นอันตรายต่อทั้งระบบ ระบอบ และหลักการ – สิ่งนี้ต่างหากที่น่ากลัวกว่าทหารถือปืนฉีกรัฐธรรมนูญเพราะโลกยุคใหม่ยากที่ทหารจะทำแบบนี้ได้เหมือนก่อน

เขาว่ากันว่าปี 2555 เกมการเมืองเรื่องแก้รัฐธรรมนูญจะเข้มข้นขึ้นมา แต่ขอประทานโทษเถิดผมยังไม่เห็นข้อเสนอของใครมุ่งประโยชน์ของมหาชนแบบองค์รวมเลย มีแต่ข้อเสนอที่เป็นวาระแฝงของกลุ่มก้อนเฉพาะตนแทบทั้งนั้น !
กำลังโหลดความคิดเห็น