xs
xsm
sm
md
lg

แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญทำไม และเพื่อใคร? (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

ฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง เพราะว่ามีบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปในแนวทางก้าวหน้าและเป็นแบบเสรีนิยมมากขึ้น ได้มีบทบัญญัติห้ามมีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือรัฐธรรมนูญ และยังให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ได้ ทั้งมีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้มากกว่าฉบับอื่น และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ถูกร่างขึ้นภายหลัง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือวันมหาวิปโยค เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นผลิตผลจากการลุกขึ้นสู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนโดยทั่วไป และถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่มิได้เกิดขึ้นจากการปฏิวัติรัฐประหาร

รัฐธรรมนูญฉบับนี้รัฐบาลของ ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 18 คน เป็นผู้ยกร่าง โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2492 เป็นแนวทาง มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 มีระยะเวลาการใช้เพียง 2 ปี ก็ถูก “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ายึดอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมฉบับดังกล่าวเสีย

ฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะปฏิรูปราชการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษากับประชาชน ที่ชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของ จอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างทารุณและโหดร้าย ทำให้สิ้นสุดยุคประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการต่อสู้ของประชาชน

ฉบับที่ 12 ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้านั่นเอง เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะปฏิวัติ” โดยได้เข้ายึดอำนาจอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ล้มรัฐบาลหอย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีเพียง 32 มาตรา ต่อมาก็ได้ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 เนื่องจากมีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521

ฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ก็เป็นรัฐธรรมนูญสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติรัฐประหารของ “คณะปฏิวัติ” หรือ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นั่นเอง แต่ได้จัดให้มีการร่างโดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551 มี 206 มาตรา มีเนื้อหาสาระเป็นประชาธิปไตยพอสมควร รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้บังคับค่อนข้างยาวนานถึง 12 ปีเศษ แต่ก็ถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารจนได้

ฉบับที่ 14 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายหลังจาก “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ภายใต้การนำของ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534

ฉบับที่ 15 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจาการรัฐประหารยึดอำนาจ หรือเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับ รสช.” เพียงแต่ได้จัดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจำนวน 233 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 แต่ก็มีประเด็นทางกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายประเด็นอันก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ระหว่างคณะรสช., สภานิติบัญญัติแห่งชาติกับประชาชน

โดยเฉพาะประเด็นที่กำหนดให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพื่อปูทางให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นขึ้นเป็นนายกฯ ได้พร้อมกับวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จึงเป็นเหตุการณ์นำไปสู่การชุมนุมประท้วงของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเรือนแสนเรือนล้าน เต็มถนนราชดำเนิน อันเป็นที่มาของ “ม็อบมือถือ” ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 นำไปสู่การนองเลือดที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ” ทำให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากการเป็นนายกฯ ด้วยพลังการต่อสู้และแรงบีบคั้นจากประชาชน

เหตุการณ์นี้มี พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำสำคัญ ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ได้มีการแก้ไข โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) มาตรา 159 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปิดทางมิให้ทหารเข้าสู่อำนาจสูงสุดของการปกครองประเทศ ทำให้นักการเมือง นักเลือกตั้งเริงร่าจนหลงระเริงในอำนาจอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการเรียกร้องภาคประชาชน ซึ่งเห็นว่าการเมืองการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตย ยังมิได้เป็นประชาธิปไตยของประชาชนโดยแท้จริง นักการเมืองที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งของประชาชนมิได้สนใจผลประโยชน์ของประเทศชาติ คงยึดเอาประโยชน์พรรคและพวกเป็นสำคัญ จึงได้มีการเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง และจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เริ่มจากประท้วงอดข้าวของ เรือตรีฉลาด วรฉัตร ลุกลามเป็นการชุมนุมการเรียกร้องของประชาชน

รัฐบาลขณะนั้นจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ศึกษาและพัฒนาการเมือง โดยมี อาจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และมีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 99 คน โดย 76 คนเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด และอีก 23 คน มาจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ จึงถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งฉบับเดียวของประเทศไทย โดยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมักจะถูกเรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิด “ระบอบธนาธิปไตย” หรือ “ระบอบทักษิณ” นำมาซึ่งความเลวร้ายของระบอบการเมืองไทยยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารเสียอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น