xs
xsm
sm
md
lg

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ตั้งแต่ย้ายมาจนกระทั่งมาข่าวจะถูกย้าย จนแล้วจนรอดในฐานะประชาชนผู้มีทะเบียนบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ผมยังไม่เคยเห็นเคย (เอาตัวเองไป) พบหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดที่ชื่อม.ล.ปนัดดา ดิศกุลเลยสักครั้งจึงได้เพียงติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ ราชนิกุล ที่สมควรกล่าวเต็มปากว่าเป็น (เชื้อสาย) “อำมาตย์”(ตัวจริง) ในดงเสื้อแดงก็ว่าได้

ผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคปัจจุบันราศีหมองลงไปเยอะไม่ได้เป็นศูนย์กลางของอะไรต่อมิไม่ต้องย้อนไปไกลถึง 50-60 ปีก่อนหรอก เอาแค่ผู้ว่าฯเชียงใหม่เมื่อ 15-25 ปีก่อนอย่าง พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม, ชัยยา พูนศิริวงศ์ หรือไพรัตน์ เดชะรินทร์ ล้วนแต่เป็นซีอีโอตัวจริงชี้นิ้วสั่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อบ้านเมืองได้สารพัดไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ ชี้นิ้วสร้างโน่นนี่วงเวียน หอนาฬิกาตลอดถึงวางแผนทำเมืองใหม่หรือเมืองแฝดขึ้นมาก็เคยมาแล้ว เข้าใจดีครับว่านี่ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติเพราะการพัฒนาประเทศและสังคมบ้านเราเพิ่งจะถูกขับเคลื่อนโดยนักการเมืองอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ระบบที่พัฒนาขึ้นทำให้ผู้ว่าฯและการบริหารราชการส่วนภูมิเล็กลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการโอนอำนาจ อบจ.ให้กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและพัฒนาการขององค์กรปกครองท้องถิ่น

ตอนที่หม่อมหลวงปนัดดาย้ายมาใหม่ ๆ จำได้ว่ามีคนเป็นห่วงเป็นใยท่านมากมายเพราะมาในช่วงแดงเดือดพอดีถึงกับมีข่าวว่านายทหารบางคนต้องแอบส่งคนมาอารักขา งานแรก ๆ ที่เข้าหูคือท่านผู้ว่าคนนี้เดินสายไปพบนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ อบรมเด็กให้รักชาติรักในหลวง แต่ที่ประทับใจจริง ๆ คือการประกาศยกเลิกกิจกรรมรดน้ำดำหัวพ่อเมืองในวันสงกรานต์ที่จัดมาต่อเนื่องจนกลายเป็นประเพณีไปแล้ว แต่ที่สุดคำสั่งที่ขอให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวก็ไม่เป็นผลเพราะถูกคัดค้านจากหลาย ๆ องค์กรทำนองว่ามันเป็นประเพณี หรือมันจะกระทบกับการท่องเที่ยว

อันที่จริงแล้วกิจกรรมที่หน่วยราชการห้างร้านเกณฑ์กันมาดำหัว “พ่อเมือง” มันเกิดในยุคข้าราชการเป็นใหญ่ หรือยุคที่เสื้อแดงเรียกกันว่าอำมาตยาธิปไตย ในยุคนั้นผู้ว่าฯ ยิ่งใหญ่เหมือนกับถูกส่งมาครองเมืองคนจึงยกย่องให้เป็น “พ่อเมือง” แต่ปัจจุบันมันล้าสมัยไปแล้ว

จะยอมรับความจริงกันหรือเปล่าว่านอกจากเป็นธรรมเนียมแล้ว การดำหัวผู้ว่าฯ ในครั้งก่อนโน้นมีเจตนาแอบแฝงของการซูฮกแสดงคารวะ “อำมาตย์” ใหญ่ที่สุดซึ่งทุกผู้คนในจังหวัด ไหน ๆ ต้องมากันทุกคนทุกหน่วยอยู่แล้วจึงนัดหมายกันวันนึงไปเลยแห่แหนกันมาใหญ่โตทำไปทำมากลายเป็นประเพณีและกลายเป็นขบวนเรียกนักท่องเที่ยวในยุคต่อมา

ตอนที่ผู้ว่าฯปนัดดาอยากยกเลิกธรรมเนียมดำหัวพ่อเมืองเป็นช่วงการเมืองยังแรง กระแสไพร่-อำมาตย์กลายเป็นศัพท์ติดหู แพร่หลายอย่างกว้างขวางทั่วไปผมก็เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่คงจะเห็นด้วยกับผู้ว่าฯที่จะยกเลิกกิจกรรมนี้กระมัง แต่ที่ไหนได้ผิดคาด ! เพราะเมืองหลวงของคนเสื้อแดงที่มีกระแสรังเกียจอำมาตย์กลับต้องการรักษากิจกรรมดำหัวอำมาตย์ดังกล่าวไว้

มาสังเกตผู้ว่าฯ ปนัดดาอีกครั้งตอนน้ำท่วมกล่าวได้ว่าผู้ว่าฯ คนนี้แอ็กทีฟเท่าที่ระบบราชการส่วนภูมิภาคจะอนุญาตให้ทำได้ มีผู้ว่าน้อยคนที่ออกไปยังสถานที่เกิดเหตุทุกแห่งแต่คนนี้ทำอย่างไรก็ตามการบริหารจัดการภัยพิบัติยุคใหม่นอกเหนือจากการจัดระบบและกระจายทรัพยากรออกไป “แก้” “บรรเทา” ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพแล้วการสื่อสารทำความเข้าใจยังมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันหรือไม่แน่ว่าอาจจะสำคัญที่สุดด้วยซ้ำไปซึ่งที่สุดแล้วระบบราชการไทยยังต้องปรับปรุงมิติการบริหารการสื่อสารระหว่างพิบัติภัยอีกมาก

ผมย้ายทะเบียนมาบ้านมาเชียงใหม่เกิน 15 ปีแล้วแต่ถ้ารวมที่อยู่จริงก็มากกว่านั้นเห็นผู้ว่าฯ หลายคนก่อนหน้า บางคนเคยไปเมาที่ร้านของคนรู้จักถึงขั้นท้าชกกับเจ้าของร้านก็มีโดยรวมแล้วผู้ว่าปนัดดาใช้ได้ ข่าวตอนแรกว่าจะเด้งพ้นไปเลยต่อมาบอกยังอยู่แค่ย้ายไปโคราชเมืองเกรดเอระดับเดียวกันก็เข้าใจได้ว่าไม่ผิดปกติ เพราะมหาดไทยยุคนี้นอกจากเป็นยุคล้างคราบไคลของเนวินเป็นหลัก ยังเป็นยุคของการปรองดองสมานฉันท์ระดับสูงของพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มที่คนเสื้อแดงเรียกว่า “อำมาตย์”

ทักษิณ ชินวัตรพลาดไปตอนที่ปล่อยฝ่ายการเมืองบางคนไปกดดันให้นายพลากร สุวรรณรัตน์ อดีตรองปลัดฯมหาดไทยและผ.อ.ศอ.บต.จนต้องลาออก และก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นองคมนตรีทันควัน นี่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ครั้งแรกๆ ของระบอบทักษิณดังนั้นการตั้งคุณพระนาย น้องชายขององคมนตรีพลากรเป็นปลัดกระทรวงคือสัญญาณปรองดองที่คนเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์หรือสายไม่ชอบอำมาตย์อาจจะไม่พอใจแต่นี่คือความจริงซึ่งตอกย้ำต่อมาผมจึงไม่เชื่อว่าจะมีการไล่บี้ตามล้างม.ล.ปนัดดาตามที่รองเป็ดเหลิมเคยก้าบๆ ไว้

ยอมรับว่าผมสนใจม.ล.ปนัดดาเป็นพิเศษ ผมไม่ใช่เป็นพวกนักข่าวขี้ประจบต้องเอาตัวเองไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นหน้าหรือรู้จักมักจี่หรอกนะครับ แต่ที่สนใจเป็นพิเศษเพราะผมอยู่ระหว่างการอ่าน “สาส์นสมเด็จ” พระนิพนธ์จดหมายตอบโต้ระหว่างพระบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ เจ้าฟ้าสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แบบตั้งใจเอาความ หนังสือบางเล่มต้องรอเวลาเหมาะสมจึงจะอ่านสนุก ที่จริงแล้วผมรู้จัก“สาส์นสมเด็จ”ตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะมีอยู่ในตู้หนังสือที่บ้าน โตขึ้นมาพยายามอ่านก็ไม่สนุกจนกระทั่งอายุปูนนี้จึงค่อยสนุกกับมัน เหตุการณ์ช่วงที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ต้องลี้ภัยไปประทับที่เมืองปีนังช่วงปี 2476 หลังเหตุบวรเดชจนถึงสงครามโลกเริ่มจึงค่อยเสด็จกลับมาสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพฯ (2486) น่าสนใจมาก

ถ้าสนใจศึกษา หลับตานึกภาพเหตุการณ์การเมืองในช่วง 2475-2490 มากเข้าเท่าไหร่ยิ่งแปลกใจกับกลุ่มนิติราษฏร์ที่แถลงว่าชื่นชมรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ถึงกับบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอยากจจะนำมาเป็นแม่แบบร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คณะนิติราษฎร์ชื่อก็บอกว่า “นิติ”คือมองเฉพาะตัวอักษรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้มอง “ความสัมพันธ์ของคน-ของอำนาจ-ของเหตุการณ์จริง” ที่โกลาหลอลหม่าน ซ้ำหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนว่าการปกครองบ้านเมืองในยุคนั้นก็พัลวันพัลเกอยู่เหมือนกัน หลายครั้งที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนปรัชญาของประชาธิปไตยหรือที่นิติราษฏร์บอกว่าเป็น “Spirit” ด้วยซ้ำ

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกต้องลี้ภัยจากความขัดแย้งไปตายที่ปีนัง ส่วนเจ้านายหลายองค์ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ปีนังบ้าง เมดานบ้างเรื่องเหล่านี้ต้องให้คนรู้เกร็ดประวัติศาสตร์เล่าจึงจะสนุก ส.ศิวรักษ์ ท่านเขียนไว้ว่า “จอมพลผู้นั้น (จอมพลป.พิบูลสงคราม) รังเกียจสมเด็จกรมพระยาดำรง จนถึงกับประกาศว่า ถ้าเสด็จกลับเข้าเมืองไทย หลังจากที่ทรงลี้ภัยไปประทับ ณ เกาะหมาก (ปีนัง) จอมพล ป.จะสั่งให้ทหารยิงทันที” ***(1)

คุณคำนูณ สิทธิสมานเคยตั้งขั้อสังเกตถึงข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์ที่จะย้อนไปยึดรัฐธรรมนูญก่อนปี 2490 ในบทความชื่อ “คณะนิติราษฎร์ รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม 2555 ??!”***(2) ว่ามีนัยแอบแฝงถึงขั้นโครงสร้าง ทำนองว่ามีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าว แต่สำหรับผมที่ไม่ใช่นักกฏหมายสนใจแต่เกร็ดเรื่องราวในอดีตกลับพบว่าระหว่างปี 2475-2490 เป็นช่วงที่สถาบันพระมหากษัตริย์ตกต่ำเพิ่งจะฟื้นฟูขึ้นมาในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์คือหลังพ.ศ.2500 มานี้เอง การเสด็จลี้ภัยของเจ้านายหลายพระองค์รวมทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็เป็นหลักฐานสะท้อนการเมืองของอำนาจใหม่อำนาจเก่าในยุคนั้นได้

2475-2490 เป็นบรรยากาศประชาธิปไตยจริงฤา หรือว่ามีแค่บทบัญญัติหรู ๆ ในรัฐธรรมนูญ “ประชาธิปไตย”แบบไหนกันที่คณะราษฏร์แตกคอรัฐประหารกันเอง ไล่ล่ากันไม่มีที่ซุกหัวขนาดนายกฯคนแรกก็ต้องไปตายที่ปีนัง ประชาธิปไตยแบบจอมพลป.ประกาศสั่งยิงสั่งยิงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ไม่ชอบหน้า

ก็เลยแปลกใจซ้ำขึ้นมาว่าทำไมข้อเสนอต้องย้อนกลับไปหาสปิริตปี 2475-2490 ยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยไปเพราะอะไร ???

เริ่มจากม.ล.ปนัดดาแล้วเลยลากมาไปไหนมาไหนเยอะแยะ...เอาเป็นว่าเขียนเรื่องนี้เพราะ....

ในแง่การบริหาร - - ผมเขียนถึงม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ในฐานะที่เป็นผู้ว่าเชียงใหม่ที่ถูกเรียกอำมาตย์ในดงแดง ผู้พยายามยกเลิกธรรมเนียมการดำหัวพ่อเมือง แล้วอยู่ในข่าวถูกโยกย้าย

ในแง่การเมือง - - มองว่าตำแหน่งแห่งที่ของม.ล.ปนัดดา เป็นเรื่องเดียวกับการตั้งคุณพระนายขึ้นเป็นปลัดกระทรวง ก็คือการพยายามสมานรอยร้าวกับกลุ่มคนที่เสื้อแดงเรียก “อำมาตย์” ผมจึงไม่เชื่อคารมเป็ดก้าบ ๆ ไล่บี้ม.ล.ปนัดดาอย่างเอาเป็นเอาตาย

ในแง่ส่วนตัว - -ผมเขียนถึงทายาทตระกูลดิศกุลเพราะกำลังอินกับสาส์นสมเด็จ และถ้ามีโอกาสเจอหน้าอยากจะถามท่านผู้ว่าฯสั้น ๆ คำถามเดียวแค่ว่ามีภาพถ่ายของ “บ้านซินนามอน”เลขที่ 206 ถนนเกลาไวหรือไม่ หาดูได้ที่ไหน เพราะอ่านคำพรรณนาในหนังสือแล้วเกิดอยากเห็นภาพที่ประทับลี้ภัยของกรมพระยาดำรงฯ ขึ้นมาน่ะครับ.
.....
อ้างอิง
***(1) บทความเรื่อง “หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล” โดย ส.ศิวรักษ์
***(2) บทความเรื่อง “คณะนิติราษฎร์ รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม 2555 ??!”คำนูณ สิทธิสมาน
กำลังโหลดความคิดเห็น