xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงาน+ปตท.อย่าปิดบังประชาชน

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เห็นภาพข่าวกลุ่ม ปตท.ได้รับรางวัลโน่นนี่โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลทีไรมักจะนำมาซึ่งอาการปวดตับเสมอไปเพราะมีหลายเรื่องที่พวกเขาไม่ได้บอกความจริงทั้งหมดให้สาธารณะรับรู้อย่างที่ควรทำ

ยกตัวอย่างกรณีเกี่ยวเนื่องกับบริษัทปตท.สผ.ออสตราเลเชีย PTTEP- AAซึ่งเคยเป็นข่าวโด่งดังระดับโลกเมื่อปีก่อนจากกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำให้น้ำมันรั่วลงในแหล่งมอนทาร่า ทะเลติมอร์ จนเป็นหายนะภัยที่ใหญ่ที่สุดต่อท้องทะเลออสเตรเลีย-อินโดนีเชีย ถ้ายังจำกันได้เคยมีข่าดพาดหัวในหนังสือพิมพ์ไทยว่ากลุ่มปตท.ถูกรัฐบาลอินโดนีเชียฟ้องเรียกค่าเสียหายถึง 7 หมื่นกว่าล้านบาท

เรื่องแบบนี้เขียนอะไรไปต้องตั้งการ์ดให้รัดกุมเข้าไว้เพราะมันกระทบถึงราคาหุ้นอาจถูกฟ้องหงายหลังดังนั้นจึงต้องอ้างหลักฐานที่มาสักหน่อย มติชนเมื่อสิงหาคมปีที่แล้วพาดหัวแบบนี้ครับ “อินโดฯ ฟ้อง ปตท.เรียก 7.4 หมื่นล้านอ้างเหตุทำน้ำมันรั่ว” ต่อมา ปตท.ของเราออกโรงปฏิเสธแล้วว่าไม่เกี่ยว อ้างข่าวจากไทยรัฐเมื่อ 11 ก.ย.ปีที่แล้วระบุว่า – “ปตท.สผ.ยันที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลีย ร่วมกับ ปตท.สผ.คุมน้ำมันรั่วไหล กรณีแหล่งน้ำมันมอนทาราไฟไหม้ได้ในวงจำกัด จึงไม่จำเป็นต้องเจรจาค่าเสียหายที่รัฐบาลอินโดนีเซียฟ้อง เพราะทำดีที่สุดแล้วและไม่มีหลักฐานพิสูจน์”

จริง ๆ แล้วผมเองก็นึกว่ามันจบไปแล้วจนเกิดเหตุท่อก๊าซในอ่าวไทยรั่วเมื่อ 2-3 เดือนก่อนผมก็สนใจค้นคว้าดูว่าปตท.ดำเนินการไปถึงไหน มีความเสียหายอย่างไรค้นไปค้นมากลับไปเจอว่ากรณีข่าวใหญ่ระดับโลกที่แหล่งมอนทาร่า ทะเลติมอร์ยังไม่จบ ปตท.สผ.ของเรายังคงอยู่ในข่าวใหญ่ที่สังคมอินโดนีเชียให้ความสนใจ

5 กรกฎาคม 2554 สำนักข่าวแอนทาร่ารายงานว่า NGO ของอินโดนีเซียชื่อองค์กร The West Timor Care Foundation (YPTB) ประกาศจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากปตท.สผ.ออสตราเลเชีย ออสเตรเลียและอาจรวมรัฐบาลอินโดนีเชียที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่วกลายเป็นมลพิษในทะเลกระทบต่อพืชสัตว์และชาวประมงจำนวนมาก

4 สิงหาคม 2554 สำนักข่าว AsiaPulseNews พาดหัวว่า THAI FIRM PTTEP AUSTRALASIA POSTPONES MOU SIGNING WITH INDONESIA. ปตท.สผ.ออสตราเลเชียเลื่อนทำบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยการชดเชยค่าเสียหายจากการเกิดมลพิษในทะเลติมอร์ (MOU on compensation for pollution in the Timor Sea) โดยบอกว่าเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ผมเข้าไปเว็บไซต์ของ ปตท.สผ.เพื่อจะหาดูข่าวสารเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ปรากฏไม่เจอครับเลยไม่รู้ว่าเราไปสัญญาอะไรกับเขาว่าจะไปทำ MOU แล้วต้องเลื่อนเพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล เจ้า MOU ที่จะไปลงนามมีสาระสำคัญโดยสรุปเช่นไร อ้าว! ไหนเราเคยแถลงว่าไม่เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องเจรจาค่าเสียหาย ฯลฯ

เรื่องเหล่านี้กลุ่ม ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 51% ควรจะบอกคนไทยเจ้าของประเทศให้รับรู้ เพราะต่อไปอาเชียนจะรวมเป็นสมาคมหนึ่งเดียวที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น เราไปทำอะไรที่บ้านเพื่อน ๆ เขาโวยวายไม่พอใจอะไรเหล่านี้คนไทยควรรับรู้

ถ้าไม่เห็นแก่คนไทยก็เห็นแก่รางวัลโปร่งใสธรรมาภิบาลที่เคยได้รับมาก็ยังดี !!

ยังมีอีกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันที่นอกจาก ปตท.ต้องรับผิดชอบต่อคนไทยแล้ว ก.พลังงานรวมถึงรัฐบาลก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเพราะนี่เป็นอุบัติภัยด้านกิจการพลังงานครั้งแรก ๆ ที่ควรจะเป็นบรรทัดฐานต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการรับรู้และทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นส่วนรวม

กรณีอุบัติเหตุท่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยรั่วเมื่อมิถุนายน 2554 คือเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาลองเข้าเว็บไซต์ของปตท.ดูข่าวที่แถลงต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการว่าได้นำเสนออะไรบ้าง

25 มิ.ย. 2554 ปตท.พบเหตุท่อก๊าซฯ รั่ว อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข เนื้อข่าว 7 บรรทัดหลัก ๆ คือบอกว่าเกิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติรั่วบริเวณกิโลเมตรที่ 81 ห่างจากแท่นผลิตในทะเล ซึ่งสาเหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

26 มิ.ย. 2554 ปตท. เร่งแก้ไขเหตุท่อก๊าซฯ ในทะเลรั่ว พร้อม จัดหาเชื้อเพลิงทดแทน ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ยาวขึ้นมาหน่อย 14 บรรทัดเพราะบอกพิกัดจุดเกิดเหตุและการแก้ปัญหารวมทั้งการยืนยันว่าไม่กระทบต่อระบบนิเวศในทะเล

29 มิ.ย. 2554 ปตท. ควบคุมสถานการณ์ท่อส่งก๊าซฯ ได้ ไม่กระทบภาคการผลิตไฟฟ้าของประเทศ อีก 16 บรรทัดให้ความมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้

4 ก.ค. 2554 ปตท. ปิดวาล์วท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลแล้ว เร่งตรวจ สอบซ่อมแซมระบบฯ ให้ส่งก๊าซฯ ได้โดยเร็วที่สุด ให้รายละเอียดการแก้ปัญหาจัดหาพลังงานอื่นมาชดเชยว่า ได้ดำเนินการจัดหาและจัดส่งน้ำมันเตาให้แก่โรงไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ แบ่งเป็นน้ำมันเตาที่ผลิตได้ภายในประเทศ และเป็นน้ำมันเตากำมะถันต่ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ปริมาณ 30 ล้านลิตร นอกจากนั้น ปตท. ยังจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในเดือนกรกฎาคมนี้เพิ่มขึ้นอีก 70,000 ตัน

5 ก.ค. 2554 ปตท. เร่งตรวจสอบซ่อมแซมระบบท่อส่งก๊าซฯ ให้สามารถกลับมาดำเนินการได้โดยเร็วที่สุด

16 ส.ค. 2554 ปตท.จ่ายก๊าซฯ เข้าระบบท่อฯ เส้นที่ 1 ได้ตามปกติ แล้ว

จาก 25 มิถุนายนถึง 16 สิงหาคม 2554 เป็นระยะเวลา 53 วันของการเกิดเหตุท่อก๊าซรั่ว ปตท.ได้แถลงข่าวต่อสาธารณะรวม 6 ชิ้นซึ่งที่สุดแล้วยังขาดรายละเอียดที่ประชาชนควรรู้เช่นสาเหตุของการเกิดปัญหา ใครเป็นคนทำ เกิดได้อย่างไร มีระบบป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำแบบไหน ฯลฯ การตรวจสอบผลกระทบต่อระบบนิเวศมีจริงหรือ มีแค่ไหน ใครเป็นคนตรวจ ฯลฯ และที่สำคัญความสูญเสียดังกล่าวใครเป็นคนรับผิดชอบ จะผลักภาระแฝงมาในค่า ft หรือค่าอะไรอื่น ๆ ให้กับประชาชนผู้บริโภคหรือไม่อย่างไร ฯลฯ

ล้วนแล้วเป็นคำถามที่ไม่เคยมีคนตั้งคำถาม และถึงไม่มีใครถามก็ไม่มีผู้รับผิดชอบไม่ว่าจากรัฐบาล จากกระทรวงพลังงาน หรือจากปตท.มานั่งอธิบายแจกแจงให้ประชาชนรับรู้เพิ่มขึ้น

ตรวจสอบข่าวสารในระหว่างนั้นเพื่อนสื่อมวลชนหลายฉบับก็พยายามทำงานเพิ่มจากคำแถลงของปตท.เช่นไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานและเรกกูเลเตอร์แต่มันก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างอะไรมากนักในภาพรวม

ผมทราบมาว่าอุบัติเหตุครั้งนี้มาจากเรือของบริษัทเกาหลีที่เป็นลูกช่วงรับเหมาวางท่อก๊าซเส้นใหม่ทอดสมอไปถูกท่อก๊าซท่อเดิมซึ่งคนในวงการเขาบอกว่ามันสะเพร่าเพราะเขตดังกล่าวเป็นเขตท่อก๊าซซึ่งวางบนพื้นทรายไม่ได้ฝังในดิน เท็จจริงเป็นเช่นไรเรื่องเหล่านี้ไม่เคยแพลมออกมาให้สาธารณะรับรู้ใด ๆ เลย ตกลงจะฟ้องร้องจากเรือเกาหลี หรือจากเชฟรอนหรือปตท.ต้องควักเอง???

กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่ขยับเพื่อพิสูจน์ใด ๆ ทางวิทยาศาสตร์เลยหรือว่าการรั่วไหลของก๊าซธรรมชาติไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศเลยแม้แต่น้อยตามที่ ปตท.ประกาศในวันที่ 2 หลังจากเกิดเหตุ ?

มันเงียบผิดปกติ เงียบเกินไป เงียบจนผิดวิสัยครับ ผมนึกเล่น ๆ สมมติว่าคนที่ทำให้ท่อก๊าซเสียหายเป็นบริษัทขุดน้ำมันต่างชาติประเภทเชฟรอน บีพี ฯลฯ ลักษณะของข่าวสารการไล่ตรวจสอบผลกระทบและการรับผิดชอบต่อมูลค่าความเสียหายอาจจะดังกระหึ่มตลอด 53 วัน

คล้าย ๆ กับที่ ปตท.สผ.ออสตราเลเชียไปเกี่ยวข้องกลายเป็นผู้ร้ายอยู่ที่ทะเลติมอร์ ที่จนบัดนี้ก็ยังสลัดไม่หลุด

แต่นี่พอ ปตท.เป็นคนก่อเหตุเอง ทุกอย่างกลับเรียบร้อยง่ายดายไปหมด

ผมอยากรู้จริง ๆ ครับว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นตีเป็นก๊าซที่รั่วไป ตีเป็นเม็ดเงิน ตีเป็นการต้องควักเงินส่วนต่างนำเข้าพลังงานอื่นมาทดแทนระหว่าง 53 วัน ตีเป็นการซ่อมแซมเป็นมูลค่าเท่าไหร่ และต้องควักจากกระเป๋าใคร ไม่เพียงเท่านั้นยังอยากรู้ว่าประเทศนี้ไม่มีระบบหรือมาตรการตรวจสอบผลกระทบนิเวศวิทยาทางทะเลกรณีน้ำมันหรือก๊าซรั่วเลยหรือ พอเกิดเหตุปั๊บวันรุ่งขึ้น ปตท.แถลงไม่กระทบสิ่งแวดล้อมทุกหน่วยงานทุกองค์กรก็พร้อมเชื่อไปตามนั้นจริง ๆ

ปตท.และกระทรวงพลังงานน่าจะบอกกล่าวกับประชาชนได้นะว่าล่าสุดเกิดอะไรขึ้นที่ทะเลติมอร์และที่กรุงจาร์กาต้าเราไปสัญญิงสัญญาอะไรกับใครไว้ เป็นเรื่องแรกและเกิดอะไรขึ้นที่อ่าวไทยแบบที่ไม่ใช่คำอธิบายห้วน ๆ ปล่อยให้งงต่ออย่างที่เป็นอยู่-เป็นเรื่องที่สอง
กำลังโหลดความคิดเห็น