ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมเจ้าท่าเร่งขจัดคราบน้ำมันจากเรือเหล็กจม หลังมีน้ำมันรั่วไหลออกสู่ท้องทะเล 1 ตัน แต่ยังอยู่ในเรือเกือบ 80 ตัน หวั่นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (3 ส.ค. ) ที่ท่าเทียบเรือ เคอรี่ สยามซีพอร์ต เรือตรีปรีชา เพ็ชรวงศ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า บริษัทเรือ ตำรวจน้ำศรีราชา บริษัทประกันภัยได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือ หลังเกิดเหตุเรือสินค้า ชื่อ UNISON VIGOR สัญชาติ ปานามา บรรทุกเหล็กม้วน จมบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ-เคอรี่ สยามซีพอร์ต ล่าสุดได้มีคราบน้ำมันในตัวเรือไหลลงสู่ทะเล จำนวนประมาณ 1 ตัน
สำหรับน้ำมันภายในเรือลำดังกล่าวมีน้ำมันดีเซล จำนวน 16 ตัน และน้ำมันที่ใช้แล้ว (สีดำ) จำนวน 60 ตัน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบลงไปปิดและป้องกันไม่ให้น้ำมันดังกล่าวไหลลงสู่ท้องทะเล หวั่นจะสร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากจำนวนน้ำมันดังกล่าวไหลออกมาจริง
เรือตรี ปรีชา กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว กรมเจ้าท่าเป็นห่วงอยู่แล้ว หลังที่เรือลำดังกล่าวจมจึงได้สั่งการให้นำบูมมาล้อมรอบเรือดังกล่าวไว้แล้ว นอกจากนั้น ยังได้ประสานให้นำเรือเด่นสุทธิ ซึ่งเป็นเรือขจัดคราบน้ำมันของกรมเจ้าท่ามาเตรียมพร้อม และได้หน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย บริษัท เอสโซ่ ไทยออยล์ การท่าเรือแหลมฉบัง และบริษัทเอกชนด้านการขนส่งน้ำมันได้นำอุปกรณ์การป้องกันการน้ำมันรั่วไหลเตรียมไว้ด้วย
ล่าสุด ได้มีน้ำมันรั่วไหลออกมาจริง หลังเรือจมสู่ท้องทะเลทั้งลำเรือ แต่ปัญหาดังกล่าวได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วจึงไม่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยแพร่กระจายออกห่างจากเรือที่จมเพียง 50-100 เมตรเท่านั้น จึงได้สั่งการให้เรือขจัดคราบน้ำมันจำนวน 4 ลำ ทั้งของกรมเจ้าท่าและเรือเอกชนฉีดสเปรย์ทันที
“ขณะนี้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่น่าหวั่นวิตกแต่อย่างไร เพราะเตรียมความพร้อมไว้เกือบ 100 % นอกจากนั้น ยังให้มนุษย์กบของตำรวจน้ำดำน้ำลงไปสำรวจท่อน้ำมันหรือจุดที่น้ำมันคาดว่า จะรั่วไหลออกมา เพื่อปิดหรืออุดไม่ให้ไหลออกมาอย่างเด็ดขาด” เรือตรี ปรีชา กล่าว
สำหรับค่าความเสียหายในครั้งนี้ โดยจากการประเมินในเบื้องต้นกว่า 2,000 ล้านบาท โดยเฉพาะค่าสินค้ากว่า 1,000 ล้านบาท ค่าเรือที่จมสู่ท้องทะเล ค่ากู้ซากเรือ ค่าอุปกรณ์ใช้จ่ายต่างๆ รวมแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท
เรือตรี ปรีชา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอเจ้าหน้าที่กู้เรือ จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในการกู้เรือใหญ่ มาวางแนวทางในการกู้ซากเรือลำดังกล่าว และหากตรวจสอบเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ก็สามารถดำเนินการกู้ซากเรือได้ทันที โดยในช่วงนี้อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นตอนในการกู้ซากเรืออยู่
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ชัดเจนได้ โดยจะต้องรอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป เพราะอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด
เรือตรี ปรีชา กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่หวั่นวิตกว่าจะเกิดมลพิษจากสารเคมีที่เคลือบเหล็กม้วนนั้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วมีการเคลือบสังกะสี เพื่อป้องกันสนิม และเมื่อถูกน้ำทะเลแล้วจะไม่เกินปฏิกิริยาอะไร ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลและสัตว์น้ำแต่อย่างไร