xs
xsm
sm
md
lg

ตรังเร่งแก้ปัญหาน้ำมันเตาจากเรือปลาป่นทะลักลงสู่แม่น้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้รับเหมาเร่งแก้ปัญหาน้ำมันเตารั่วไหลลงสู่แม่น้ำ ท่ามกลางการติดตามของหน่วยงานรัฐ
ตรัง - นายทุนชาว อ.กันตัง จ.ตรัง นำเรือปลาป่นมาชำแหละเศษเหล็กขาย แต่เกิดความผิดพลาดจนทำให้น้ำมันเตารั่วไหลลงปนเปื้อนแม่น้ำตรัง ด้านเจ้าท่าสั่งเร่งแก้ปัญหาและแจ้งความดำเนินคดี

วันนี้ (27 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ต.บางเป้า อ.กันตัง จ.ตรัง ว่า มีผู้ประกอบการรายหนึ่งได้นำเรือบรรทุกปลาป่นที่หมดอายุการใช้งานแล้ว มาจอดไว้ที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำตรัง หมู่ที่ 4 บ้านแหลมม่วง ต.บางเป้า อ.กันตัง เพื่อชำแหละเศษเหล็กขาย แต่ระหว่างที่นำเรือขึ้นฝั่งนั้นเกิดโคลนดูดจนส่งผลให้นำเรือขึ้นฝั่งไม่ได้ ทำให้คนงานต้องตัดเหล็กบริเวณที่เรือเกยตื้นอยู่ริมแม่น้ำตรัง โดยที่ไม่ทราบว่ายังมีน้ำมันเตาที่ตกค้างอยู่ในเรือเป็นจำนวนมากหลงเหลืออยู่ จึงส่งผลให้คราบน้ำมันดังกล่าวเกิดรั่วไหลลงสู่แม่น้ำตรัง ทำให้เป็นส่งผลกระทบต่อระบบน้ำและระบบนิเวศน์วิทยา

นายเนติธร บินหมูด และนายพิสิษฐ์ รุจิพัฒน์อมร ผู้รับเหมาดูแลเรือดังกล่าว กล่าวว่า เรือลำนี้เดิมทีใช้สำหรับขนถ่ายปลาป่นซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 2,900 ตันกรอสเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อเรือหมดสภาพและไม่ได้ใช้งานมานานกว่า 10 ปีแล้ว ทางเจ้าของจึงได้นำไปเก็บไว้ที่อู่เรือแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 2 ก.ม.

ต่อมา นายศิริชัย กิตินาร ก็ได้ซื้อเรือลำดังกล่าวเพื่อนำมาชำแหละเศษเหล็กขาย โดยก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมาได้สั่งให้ลูกน้องดำเนินการตัดเศษเหล็กที่โรงงานแล้ว แต่ด้วยสถานที่คับแคบและไม่สะดวก จึงได้ลากเรือดังกล่าวมาจอดเทียบท่าที่สะพานข้ามแม่น้ำตรัง เพื่อใช้รถเครนยกขึ้นมาบนฝั่ง

แต่เนื่องจากมีขี้เลนจำนวนมากได้ดูดใต้ท้องเรือเอาไว้ ทำให้เรือพยุงตัวขึ้นไปไม่ไหว ประกอบกับระดับน้ำลดลง จึงทำให้ไม่สามารถยกเรือขึ้นมาบนฝั่งได้ เมื่อเรือจมอยู่ประมาณ 2-3 วัน ซึ่งส่งผลให้คราบน้ำมันเตาประมาณ 200 ลิตร ที่ตกค้างและกระจายอยู่ในซากเรือได้รั่วไหลปนเปื้อนลงไปในแม่น้ำตรัง

โดยเบื้องต้นหลังเกิดเหตุ ทางเจ้าของเรือได้ประสานนำเรือหางยาว มาเก็บคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ เพื่อป้องกันการไหลลงสู่แม่น้ำตรังด้านล่างแล้ว พร้อมทั้งนำสลิมที่เป็นตัวกั้นความร้อนและมีประประสิทธิภาพในการซับน้ำมันได้อย่างดีมากั้นพื้นที่เอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันเกิดเหตุ คือ 25 กรกฎาคม เพื่อไม่ให้คราบน้ำมันรั่วไหลไปเป็นบริเวณกว้าง ขณะเดียวกันถ้าหากระดับน้ำทะเลยังไม่ขึ้นสูงก็จะใช้ทุ่นลมมาช่วยพยุงให้ตัวเรือลอยขึ้นมา

หลังจากนั้นจะใช้รถเครนซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 120 ตัน ประมาณ 3-4 ตัว และรถแบคโฮ มายกเรือลำดังกล่าวขึ้นไปบนฝั่งอย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดว่า ภายใน 1-2 วันนี้ จะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นได้ พร้อมทั้งจะให้คนงานเร่งตัดเศษซากเรือ ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่เพียงประมาณ 1,000 ตัน ขนาดกว้าง 15 เมตร และยาว 40 เมตร ไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็ได้ให้สั่งซื้อสารเคมีที่ทำให้น้ำมันเกาะตัวมาใส่ แล้วให้คนงานรูดคราบน้ำมันบนผิวน้ำเพื่อนำไปทิ้ง ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ทั้งนี้ ทางเจ้าของเรือก็ยินดีที่จะรับผิดชอบทุกอย่าง หากเกิดผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งประชาชนริมฝั่งแม่น้ำตรัง

ต่อมา นายสุธี สุขสง ผู้อำนวยการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่แม่น้ำตรัง พร้อมกับกล่าวว่า จุดที่เรือจมมีคราบน้ำมันเตาปนเปื้อนในปริมาณไม่มากนัก แต่เพื่อความไม่ประมาท ขณะนี้กำลังหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้คราบน้ำมันรั่วไหลลงไปยังพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งเป็นจุดที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลากะชัง โดยการใช้บูมมากันคราบน้ำมัน

พร้อมทั้งให้ผู้รับเหมาเร่งนำรถเครนมายกเศษซากเรือขึ้นไปบนฝั่ง และทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ส่วนการดำเนินคดีนั้น เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาทำให้คราบน้ำมันลงในแม่น้ำ ลำคลอง ตามกฎหมายการเดินเรือไว้แล้ว โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท แต่ถ้าหากประชาชนริมฝั่งแม่น้ำตรังได้รับผลกระทบ ทางผู้รับเหมาก็จะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น