xs
xsm
sm
md
lg

ขอโหนขบวนวาระ 5 ปีรัฐประหาร (ด้วยคน)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

Via: Facebook ทุ่งกุลา ไพวรินทร์ ขาวงาม 19 ก.ย.2554
เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยวิธีไม่ประชาธิปไตย
“หรือจักต้องเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ร่ำไป”
เรียกร้องความยุติธรรมด้วยวิธีที่ไม่ยุติธรรม
“หรือจักต้องเรียกร้องความยุติธรรมอยู่ร่ำไป”



ข่าวสารบนหน้าหนังสือพิมพ์เวลานี้นอกจากมีเรื่องน้ำท่วมแล้วยังมีเรื่องประชาธิปไตยท่วมอีกเรื่องหนึ่งเนื่องเพราะประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร(แถมวาระนายใหญ่มากัมพูชา) จึงเกิดมีประเด็นข้อเสนอมากมายจากทั้งคนเสื้อแดงนักวิชาการกลุ่มขบวนองค์กรต่าง ๆ เต็มไปหมด

ป้าคนโน้นบอกได้กลิ่นรัฐประหาร นักวิชาการบอกต้องยกเลิกกฏหมายคมช. บางคนบอกให้แก้รัฐธรรมนูญโดยยึดปี 40 เป็นหลัก นักประชาธิปไตยชื่อตู่กับเต้นเตรียมบินด่วนกลับจากกัมพูชาเพื่อรวมปราศรัยประวัติศาสตร์ ไม่นับรวมนักประชาธิปไตยระดับ SME ที่ชอบโฟนอินเข้าไปออกรายการวิทยุคลื่นต่าง ๆ ฯลฯ บรรยากาศช่างคึกคักโดยแท้ ในฐานะนักข่าวบ้านนอกคนหนึ่งที่ได้รับการตีตราว่าเป็นพวกสลิ่ม (เพราะได้ยินมาถ้าสังกัด ASTV เนชั่น โพสต์ทูเดย์ ไทยโพสต์ ฯลฯ พวกยกเป็นสลิ่มหมด-ฮา!! ) ขออนุญาตคนเสื้อแดงโหนขบวนรถไฟประชาธิปไตยกะเขาด้วยคน

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมนักประชาธิปไตยจ๋ายังคงโหยหาอาวรณ์กับรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่เลิกลา เข้าใจล่ะครับว่าปี 2550 มันมีข้อบกพร่องที่สุดแล้วมันก็ต้องแก้ไขปรับปรุงไปตามพัฒนาการของสังคม จะแก้ก็แก้กันไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่โตตรงไหน แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองนักวิชาการเขาแสดงภูมิปัญญากัน เพราะผมจะขอเพียงหลักสำคัญไม่กี่ประการโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองให้กับประชาชนต้องคงอยู่หรือมากขึ้นกว่าเดิม แก้แล้วน้อยลงประชาชนอย่างผมยอมรับไม่ได้

มันแปลกมากที่คนแสดงตนเป็นผู้กระตือรือร้นก้าวหน้าทางปัญญาอยากจะแก้รัฐธรรมนูญโน่นนี่ แต่ก็มองข้ามหลักการสำคัญที่รับรองสิทธิ์ประชาชนไปเฉย ๆ ซะงั้น

คนไทยและประเทศของเราน่ะโชคดีที่ไม่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “สิทธิพื้นฐาน” เราไม่ค่อยได้มองประสบการณ์ของต่างประเทศที่คนของเขาต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้สิทธิพื้นฐานอันเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตย อเมริกายุคแรกผู้หญิงไม่มีสิทธิทางการเมืองนะครับเพิ่งได้มาภายหลังคนผิวสีก็เช่นกัน หลักการสำคัญอื่น ๆ ที่เป็นเสรีภาพและสิทธิจำพวก “Freedom of…..” หรือ “The right to….” ต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญที่เราร่ำเรียนกันมาจากตำราต่างประเทศ แล้วก็น่าสมเพชคนไทยที่หลักการพวกนี้แหละได้ถูกละเมิดโดยนักการเมืองในเสื้อคลุมประชาธิปไตยมากที่สุด

คนไทยโชคดีกว่าประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศที่รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับรับรองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานสำคัญ ๆ เอาไว้ปี 40 ว่าก้าวหน้าแล้วของปี 50 ในหมวด3ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพยังมากขึ้นกว่าเดิมอีก ดังนั้นผมจึงแปลกใจที่หลายคนพูดเรื่องรัฐธรรมนูญมักจะติเรือทั้งโกลนบอกว่า 50 เป็นเผด็จการปี 40 ปีกว่า ซึ่งมันหยาบไปหน่อย

ใครเถียงว่า 40 ดีกว่า 50 ผมจะเลิกฟังต่อไป แต่จะเปิดหูฟังคนที่บอกว่าควรจะจำแนกข้อดีเสียทั้งหลายออกมาเป็นหมวด ๆ ให้ชัด..อย่างเรื่องการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างอำนาจต่าง ๆ ก็เรื่องหนึ่งมันเป็นเรื่องที่พวกคุณต้องไปทะเลาะกันเองระหว่าง นักการเมือง ทุนใหม่ ทุนเก่าและการมืองฝ่ายระบบข้าราชการ (Bureaucratic politics) ที่จะต้องต่อรองทางการเมืองออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่าง ๆ จะมีส.ส.กี่คนมาจากไหน ควรมีส.ว.หรือไม่ ระบบถ่วงดุลมาจากอำนาจใด ฯลฯ กันเอง... แต่อย่าทะลึ่งมายัดเยียดปัญหาของนักการเมืองให้กับประชาชนโดยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพพื้นฐานที่เคยได้รับการรับรองออกไป

นับจากปี 2475 แม้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะรับรองสิทธิพื้นฐานประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ในความเป็นจริงมีประชาชนจำนวนน้อยมากที่รับรู้และเข้าใจ พึงใจ พอใจในสิทธิดังกล่าว ต่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้รับการยกย่องแค่ไหนก็เหอะ มีประชาชนเพียงส่วนน้อยที่รับรู้และพึงใจในสิทธิ์ดังกล่าวนั้น...และจะยอมรับกันมั้ยว่าประเทศของเราเพิ่งจะมีการตื่นตัวลงลึกถึงประชาชนระดับล่างว่าด้วยประเด็นอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจริง ๆ เมื่อเกิดเสื้อแดงขึ้น

เพราะฉะนั้นหาใช่ว่าคนเสื้อแดงมีสำนึกเป็นเจ้าของอำนาจแค่พวกเดียวดอกนะครับ คนกลุ่มอื่นเขาก็มี จะยอมรับกันมั้ยว่ามีคนไทยจำนวนมากที่มีสำนึกของความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมานานแล้วก่อนเหตุการณ์เสื้อแดงด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าฐานของรากหญ้าเสื้อแดงเป็นฐานใหญ่พอเริ่มมีสำนึกและกิจกรรมทางการเมืองขึ้นมามันเลยดูน่าตื่นเต้นไป ถ้ามีใครบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มคนที่มีสำนึกพื้นฐานประชาธิปไตยว่าอำนาจเป็นของประชาชนเพียงกลุ่มเดียวผมขอลุกขึ้นเถียงอย่างจริงจัง เพราะในประวัติศาสตร์เราก็มีคนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นนี้มาก่อน จะว่าไปคนเสื้อแดงอาจจะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายกระมังที่ลุกขึ้น

โลกปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเชื่อมโยงค้นคว้าอะไรไม่ยาก บทเรียนของต่างประเทศชัดเจนว่าพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ปลูกขึ้นมาจากรากปรัชญาความเชื่อในเสรีภาพและสิทธิของปัจเจกบุคคล จนที่สุดเกิดเป็นหลักการสำคัญ ๆ ว่าด้วยสิทธิ-เสรีภาพ แล้วจึงมาถึงหลักการจัดการอำนาจ-แบ่งอำนาจ-ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ประชาธิปไตยยุคใหม่ผนวกคุณค่าต่าง ๆ ทั้งด้านศีลธรรม จริยธรรม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบ ดังนั้นเขาจึงเคร่งเครียดมาหากพบว่านักการเมืองพัวพันกับเรื่องอื้อฉาว

แต่สำหรับบ้านเรายังมีคนประกาศตัวเป็นนักประชาธิปไตยไม่น้อยที่ปฏิเสธระบบคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่เรื่องพวกนี้ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของประชาธิปไตยสมัยใหม่

ประเด็นอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนประชาชนตื่นรู้ลึกขึ้นทวงว่าตัวเองมีสิทธิ์นั้น เป็นแค่เรื่องพื้นฐานน่ะครับเปรียบเสมือนเสาเข็มเป็นรากฐานของตัวตึก การจะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แท้ขึ้นมานั้นยังต้องอาศัยปูน หิน ดินทราย วัสดุอุปกรณ์อีกมากกว่าจะเป็นตัวตึกในยุคที่คนเสื้อแดงเริ่มก่อตัว ขวัญชัย ไพรพนา ยกพวกไปไล่ตีคนที่เขารวมตจัวทำกิจกรรมโดยสงบอย่างป่าเถื่อน หรือไม่ก็เคยมีส.ส.บางคนยกพวกไปกดดันคุกคามการทำกิจกรรมของคนที่มารวมตัวกันฟังการวิจารณ์รัฐบาล เรื่องไม่เข้าท่าประเภทนี้ต้องไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไปแต่มันก็ยังเกิดเช่นไปกดดันประท้วงนักข่าวช่อง 7 ซึ่งต่อให้เธอคนนั้นจะนิยมพรรคการเมืองไหนมันก็ไม่ใช่เรื่องที่คนเสื้อแดงจะออกมาคุกคามด่าว่าประจานเขา สังคมประชาธิปไตยที่แท้ใครนิยมพรรคการเมืองใดมันเป็นสิทธิพื้นฐาน เช่นเดียวกับเรื่องพื้นฐานว่าด้วย อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน เขาจะรักชอบเกลียดชังก็สิทธิ์ของเขาเราไปแส่ในฐานะผู้พิทักษ์นายกรัฐมนตรีไม่ได้หรอก

สิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอีกเรื่องคือการพูดและการแสดงออก ทีคนเสื้อแดงแสดงฤทธิ์เดชวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นผ่านวิทยุ หรือผ่านการชุมนุมก็ทำได้ถ้าใครไปห้ามจะโมโหโกรธาอ้างสิทธิต่าง ๆ มากมายแต่พอตัวเองมาเป็นฝ่ายรัฐบาลบ้างก็ต้องยับยั้งชั่งใจในประเด็นเดียวกันเพราะประชาธิปไตยคือการเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน

รายการวิทยุรัฐสภาตอนบ่าย ๆ นี้ดีครับตามฟังมาพอสมควรเขาเปิดกว้างให้ทุกสีทุกฝ่ายแสดงความเห็น พิธีกรก็มีเทคนิคดีที่จะตะล่อมฝ่ายต่าง ๆ ให้อยู่ในกรอบได้ รายการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมประชาธิปไตยแต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่ได้อยู่ในแนวทางนี้

ขอยกตัวอย่างของตัวเองแล้วกัน ปกติผมมักจะทวิตเตอร์แสดงความเห็นเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งประเด็นการเมืองในช่วงเช้า ก็ปกติแหละครับมีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วยแต่ก็แปลกที่มีผู้ใช้แอคเคาท์ที่เป็นเสื้อแดงบางคนไม่พอใจว่า “ไปวิจารณ์เรื่องนี้หรือเรื่องนั้นทำไม”ในทำนองว่าแส่ผมก็ว่าแปลกที่แอคเคาท์ดังกล่าวใช้ฉายาเหมือนก้าวหน้าเป็นปัญญาชนอะไรสักคน แต่พอเห็นพฤติกรรมห้ามคนอื่นคิด ห้ามคนอื่นพูดเรื่องที่แสลงใจตัวเองมันเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับวาทกรรมคำประกาศ จะบ้าเหรอรัฐบาลประกาศนโยบายบ้านหลักแรกรถคันแรกพอวิจารณ์ว่าจะเอาเงินส่วนลดมาจากไหนคนเสื้อแดงรายนั้นก็เป็นฟืนเป็นไฟ รำคาญก็รำคาญ-ตลกก็ตลก(เออว่ะหยั่งงี้ก็มีด้วย)

ผมมีเพื่อนทั้งเหลือง ขาว ชมพู เขียว ฟ้า สลิ่ม และแดง ก็ยอมรับว่ามีไม่น้อยที่ยังฟูมฟายที่ประชาธิปัตย์แพ้ มีไม่น้อยที่ตั้งหน้าตั้งตาราวีรัฐบาล ขณะที่อีกฟากหนึ่งก็มีไม่น้อยที่ตั้งหน้าตั้งตาด่าว่าประชาธิปัตย์ ใครที่วิจารณ์รัฐบาลก็ถูกเหมารวมเป็นประชาธิปัตย์ก็มี ..ภาวะดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดอะไรเพราะอิทธิฤทธิ์การติดต่อสื่อสารปัจจุบันทำให้คนเสียงดังขึ้นทุกคนย่อมจะได้ยินได้เห็นสิ่งแสลงหูเป็นธรรมดา แต่หากคิดจะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง(ตามที่เสื้อแดงประกาศ) ก็ต้องสั่งสอนกันว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ถ้าไม่อยากได้ยินก็เลิก Add เลิก Follow ซะ ไม่ใช่ว่าเที่ยวไปกระแนะกระแหนราวีเขา ทะเลาะกันผ่าน Social Media น่ะไม่จบหรอกเพราะส่วนใหญ่ต่างก็ไม่มีตัวตน บล็อกชื่อโน้นก็สร้างตัวใหม่มาทำอะไรเกรียน ๆ ใส่อีกฝ่ายเลอะเทอะเสียเวลา เสียอารมณ์กันไปทำไม

วันไหนอารมณ์ดีลองทำใจร่ม ๆ ลองถอยออกมาตั้งหลักสมมติในใจการเมืองไทยไม่มีมาร์ค ไม่มีชวน ไม่มีทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ตู่เต้นเหลิม...ถามตัวเองว่าอยากเห็นการเมืองแบบไหนเบื้องต้นตอบได้ทันทีว่าการเมืองแบบประชาธิปไตยที่อำนาจมาจากประชาชน เผด็จการรวบอำนาจแบบทหารไม่เอา แต่เผด็จการรวบอำนาจแบบอื่น ๆ แฝงมาผมก็ไม่เอาเช่นกัน สังคมไทยตอนนี้มันถูกวาทกรรมแบบเหวง ๆ ครอบอยู่กระมังคนจึงมองสมรภูมิกระดานการเมือ

แคบลงประเภทว่าถ้าไม่อยู่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดงก็ต้องอยู่กับพวกทหารเผด็จการอำนาจนิยมซึ่งมันเลอะเทอะว่ะ

หลายคนใช้วาระ 5 ปีรัฐประหารเพื่อแค่กระทบด่าทหาร บ้างก็เพื่อผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ บ้างก็แค่ไอ้พูดประสานักวิชาการเครื่องร้อน ฯลฯ ผมก็จะขอพูดบ้างว่าสังคมประชาธิปไตยที่เราโหยหานั้น มันไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่อยู่ที่คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศมองเห็นซึ้งถึงหลักการสำคัญของประชาธิปไตย(ที่รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับรับรองไว้)หรือไม่? แค่ไหน? อย่างไร? ถ้าคนส่วนใหญ่มองเห็นจะหวงแหนสิทธิและหลักการดังกล่าวมันจะเป็นเสาเข็มที่แข็งแกร่งของการปลูกสร้างองค์ประกอบอื่นต่อไป

ถ้าคนส่วนใหญ่มองไม่เห็น ไม่เข้าใจว่ามันสำคัญหลักการสำคัญดังกล่าวก็จะเป็นแค่ลายลักษณ์อักษรเท่ ๆ ดังเดิม จะยอมรับกันมั้ยว่ารัฐธรรมนูญ 2475 รับรองอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนขอถามว่า 80 ปีมานี้มีประชาชนสักกี่คนที่รู้สึกและหวงแหน เริ่มจากมีน้อย มีมากขึ้น ๆ แล้วก็เพิ่งยุค 4-5 ปีมานี้กระมังที่มากที่สุดครอบคลุมลึกลงมาถึงชนทุกชั้น

ถ้ารากฐานเสาเข็มไม่ได้ตอกลงไปแล้วป่วยการจะพูดถึงระบบคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบทางการเมือง การตรวจสอบถ่วงดุล ฯลฯ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ปลูกขึ้นมาบนฐานเสาเข็ม สิ่งที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยที่โลกยอมรับหาได้ยกมาลอย ๆ ไม่

มันตลกน่ะครับ ! ปากบอกเหยียดหยามเผด็จการทหารเชิดชูประชาธิปไตย แต่พอถามลงไปในรายละเอียดว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไหน เรากลับบอกว่าประชาธิปไตยแบบไหนก็ได้ที่โกงแล้วไม่เป็นไรขอให้ทำงาน นักการเมืองไม่ต้องรับผิดชอบสัญญาอะไรไว้โกหกก็ได้ ใครพูดเรื่องศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมเป็นพวกสลิ่มซึ่งเป็นฝ่ายเผด็จการ นี่มันสังคมประชาธิปไตยประเภทไหนไม่รู้

เรายังต้องเดินหน้ากันต่อครับ สิ่งที่เกิดปัจจุบันฝ่ายหนึ่งสีแดงรวมตัวกันชี้นิ้วด่าฝ่ายสีเขียวว่าเป็นเผด็จการไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ที่สุดฝ่ายสีแดงเองก็ใช่ซะที่ไหนถ้ายึดตามนิยามที่โลกส่วนใหญ่เขาถือกัน ดังนั้นป้าธิดา ลุงเหวง แกนนอนอะไรทั้งหลายหากรักประเทศจริงก็ควรจะปลูกฝังเรื่องที่ควรปลูกกันต่อไป อย่าให้คนเสื้อแดงเป็นเหมือนขบวนของขวัญชัย ไพรพนาในยุคหนึ่งที่ไล่ตีชาวบ้านเขาในนามของประชาธิปไตย ฯลฯ

..........
(หมายเหตุ ไพรวรินทร์ ขาวงามโพสต์ข้อความ 4 บรรทัดในเฟซบุ๊กเช้าวันที่ 19 ก.ย.ผมเห็นว่ามันเข้ากันดีจึงขอยกมาบำเรอท่านผู้อ่านพร้อมกัน)
กำลังโหลดความคิดเห็น