xs
xsm
sm
md
lg

นิติบัญญัติพิการ บริหารพิบัติ : ผลงานล่าสุดที่เกียกกาย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

รากปัญหาวิกฤตการเมืองที่เกิดเวลานี้ มาจากนักการเมืองใช้อำนาจ+บิดเบือนการใช้อำนาจ จนทำให้ดุลของระบบการคานอำนาจอธิปไตยทั้งสามเสียไป กลไกของระบบพิกลพิการ..ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไม่ได้

ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริงประเทศไหนหรอกที่ประชาชนมอบอำนาจให้นักการเมืองผ่านการเลือกตั้งโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องตรวจสอบ ถ่วงดุล แถมยังปล่อยให้ลามปามแทรกแซงกลไกตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหมด

ก็มีแต่ประเทศไทยในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมานี่แหละ ที่นักการเมืองพยายามจะทำให้สังคมเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม

นักการเมืองไทยกลุ่มที่อยู่ในอำนาจ เคยชินกับการใช้อำนาจเกินขอบเขต แบบที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ร่วมมือ กับอำนาจฝ่ายบริหาร คิดจะทำอะไรก็ทำ ยังคงนึกว่าตัวเองยังอยู่ในร่มธงไทยรักไทย ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เฟื่องฟูกระมัง ในยุคนั้นฝ่ายนิติบัญญัติ ฉ้อฉลการใช้อำนาจร่วมกับ ฝ่ายบริหารอย่างโจ๋งครึ่ม ใช้ส.ส.ในพื้นที่นั่งโต๊ะร่วมกับ ผู้ว่าซีอีโอ. กำหนดโครงการและทิศทางการใช้งบประมาณในจังหวัด

อย่างที่เชียงใหม่ ส.ส. อยากจะได้อะไร ก็บัญชาการผ่าน รองผู้ว่าฯ เพื่อนของเจ้าแม่ตัวอ้วนใหญ่ และบัดนี้รองผู้ว่าฯคนนั้นก็ได้รับบำเหน็จตำแหน่งสำคัญทางการเมืองไปแล้ว

ก็เพราะ นิติบัญญัติพิการ ฝ่ายบริหารพิบัติ อย่างนี้ จึงนำมาสู่ ตุลาการภิวัตน์ นั่นยังไง !

และก็นำมาสู่การลุกขึ้นของประชาชนเรือนแสนเรือนล้านที่ไม่ต้องการการเมืองสามานย์ที่ขาดความสมดุล ทั้งหมดทั้งสิ้นก็มาจาก นิติบัญญัติพิการสังวาสอำนาจกับฝ่ายบริหารพิบัติ หาได้จู่ ๆ นึกอยากชุมนุมขึ้นมาก็ออกจากบ้านแต่อย่างใด

นักการเมืองทั้งที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ และ ฝ่ายบริหารในทุกวันนี้ ยังเข้าใจผิดว่า ตนและพวกยังสามารถใช้อำนาจดิบเถื่อน..อยากกินอะไรได้กินอย่างนั้น

การเกิดขึ้นของโครงการรถเมล์ 6,000 คัน ก็มาจากความเข้าใจผิดคิดว่าตนกุมอำนาจแล้วคิดอยากกินอะไรก็ได้เหมือนครั้งอดีต แต่ที่สุดก็ยังไปไหนไม่ได้ ยักตื้นติดกึก เพราะโครงการขาดเหตุผลรองรับแตะตรงไหนก็ยุบ จนล่าสุดถูกเสนอหั่นไป 5 หมื่นล้านบาท

และเช่นกัน กรณี โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย ก็ไม่ใช่หมูหันบนจานพร้อมเสิร์ฟอย่างที่นักเลือกตั้งสามานย์เข้าใจ

ข่าวล่าสุดทราบว่า สมาชิกรัฐสภากลุ่มหนึ่งจะเคลื่อนไหวตรวจสอบดูความชอบธรรม เหตุและผลของโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลไกภายใน ขณะที่สังคมภายนอก ทั้งสื่อมวลชนอาวุโส ทั้งกระแสสังคม และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้เคลื่อนไหวคัดค้านไปก่อนแล้ว

มีแนวโน้มสูงว่า โครงการรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย จะกลายเป็น หลุมขยะโสโครกอีกหลุมหนึ่งส่งกลิ่นประจานรัฐบาล

จะเป็นบทสะท้อนความสามานย์ของนักเลือกตั้งในระบบ นิติบัญญัติพิการ + บริหารพิบัติ ที่ดีที่สุดอีกตัวอย่างหนึ่งอันเป็นจะเป็นบทเรียนสำคัญของให้ประชาชนมุ่งมั่นเพื่อก้าวผ่านการเมืองแบบเก่าให้ได้ !!


โครงการนี้ยิ่งมีที่มาที่ไปยาวนาน ก็ยิ่งมีข้อมูลมาก

ยิ่งมีข้อมูลเปรียบเทียบมาก จะยิ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า นักการเมืองมักง่าย และมักได้ อย่างไรบ้าง !

ประการแรก – แนวคิดการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่อ้างว่า ที่เก่าคับแคบ ไม่สามารถรองรับปริมาณงานของรัฐสภาได้ อันที่จริงความคับแคบที่สุดที่สัมผัสได้คือที่จอดรถของฯพณฯ และผู้ติดตาม บางวันต้องใช้ฟุตบาทด้านข้างสวนสัตว์ตลอดแนวไปจนถึงโค้งพระที่นั่งอนันตสมาคมก็มี แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุหลักที่ต้องใช้เงินภาษีชาวบ้านเป็นหมื่น ๆ ล้านไปสร้างที่ใหม่ในจังหวะที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังไม่ดี ถ้าปีไหนมีเงินสำรองมากจัดงบประมาณไม่ขาดดุลเหมือนปีนี้ก็ยังไม่สายมิใช่หรือ

นี่ยังไม่นับประสิทธิภาพการทำงานของเหล่านักการเมือง อย่าให้ประจานเลยว่า วันประชุมแต่ละสัปดาห์มีส.ส.หน้าไหนโดดร่มปรากฏตัวทั้งที่ ดอนเมือง และ สุวรรณภูมิ เซ็นชื่อเช้าแล้วโดดกลับบ้านแต่หัววันนั้นมีใครบ้าง

ประการที่สอง – การศึกษาความเหมาะสมพื้นที่ต่าง ๆ โดยเปรียบเทียบมีมาทุกยุค ที่ดินเกียกกายตรงนี้ไม่เคยติดอันดับเหมาะสมเลย เพิ่งจะมายุคของ ฯพณฯ สมัคร สุนทรเวช กับ ฯพณฯ ชัย ชิดชอบ นี่แหละ ที่ใช้เวลารวบรัดไม่กี่วันชี้เอาที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเกียกกาย ว่าเหมาะสมที่สุด หากเอาข้อมูลเก่าทั้งหมดมาแจกแจง ก็จะประจานวิธีคิดวิธีการทำงานของ ฝ่ายนิติบัญญัติ และ ฝ่ายบริหารชุดนี้ สื่อให้สังคมได้ทราบว่า มักง่าย เอาแต่ประโยชน์ตนและไม่เห็นหัวประชาชนอย่างไรบ้าง

ประการที่สาม – รัฐบาลพยายามจะยกแม่น้ำทั้ง 5 มาอธิบายว่า รัฐสภาเป็นเกียรติเป็นศรีกับประเทศ เหมือนอังกฤษที่มีอาคารรัฐสภาริมแม่น้ำเทมส์ แล้วบอกว่า กรุงรัตนโกสินทร์ มีสถานที่สำคัญเป็นเส้นเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจากบริเวณสนามหลวง มาทางทิศตะวันออก เพื่อจะบอกว่า สร้างรัฐสภาตรงเกียกกาย เป็นส่วนหนึ่งของภูมิสถาปัตยกรรมคลาสสิค อิงกับประวัติศาสตร์ชาติ ความคิดดังกล่าวชี้ชัดว่า เหตุผลความแออัดคับแคบที่เคยอ้างไว้เดิมจึงเป็นแค่เหตุผลรอง เพราะแท้จริงได้เลือกเพราะความมีหน้าตา ความสวยงามที่จะรองรับภารกิจของผู้ทรงเกียรติเป็นเหตุผลหลักต่างหาก

ประการที่สี่ – กระบวนการตัดสินใจก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ชี้ชัดว่า นักการเมืองไทยไม่ได้ตัดสินใจบนกระบวนการแบบประชาธิปไตย การคำนึงถึงสิทธิประชาชนและสิทธิชุมชน

กรณีที่นายสมัคร อยากให้รัฐสภาแห่งใหม่อยู่ริมน้ำเพราะจะสวยสง่าเหมือนกับอังกฤษแล้วทุบโต๊ะไล่คนออกจากพื้นที่คงเป็นเพราะเพิ่งกลับมาจากปักกิ่ง - ประเทศจีนสามารถเขียนผังเมืองตามใจรัฐบาลแล้วชี้นิ้วย้ายคนออกได้ง่ายเพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่เหมือน จีน และไม่เหมือน พม่า ที่คิดจะทำอะไรก็ทุบโต๊ะย้ายเมืองได้ทันที อย่างน้อยที่สุดควรจะมีการประชาพิจารณ์ การเจรจากับชุมชน และสังคมโดยรวม

การที่จู่ ๆ ไล่ชุมชนเก่าแก่คู่รัตนโกสินทร์ออกไป ทุบโต๊ะกวาดเมืองเล่นมันไม่ใช่วิธีการของรัฐบาลประชาธิปไตยแน่ ๆ

ประการที่ห้า –รัฐสภาใหม่โดยใช้เงินเป็นหมื่น ๆ ล้าน ไม่ได้เป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวม

การเร่งรัดสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ค้างคามานาน กับ การเร่งรัดอาคารรัฐสภาที่ค้างมานาน เป็นคนละเรื่องคนละเหตุผล เพราะอย่างน้อยสนามบินแม้จะโกงกินอย่างไรก็จำเป็นต่อการรองรับการคมนาคมขนส่ง แต่การเร่งรัดอาคารรัฐสภานั้นก็คือการใช้เงินหลวงให้ประโยชน์กับคนกลุ่มเดียวในยุคข้าวยากหมากแพง

เนื้อที่มีน้อย หยิบเรื่องนี้มาเสนอเพราะมีแนวโน้มว่าไม่จบง่าย ไม่สะดวกโยธินเหมือนที่นักการเมืองคิดไว้อย่างแน่นอน และจะเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยปัญหาการเมืองไทยระยะนี้ต่อไป

และเรื่องนี้ จะเป็นข้อพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งของการเมืองเก่าสามานย์.. นิติบัญญัติพิการ สมคบกับ บริหารพิบัติ มันทำลายชาติบ้านเมืองกันแบบไหน !
กำลังโหลดความคิดเห็น