xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อ รบ.เมินข้อเสนอ 24 อธิการฯ กูรูรัฐศาสตร์ชี้ถ้าไม่ “ปฏิรูป” คนชั่วจะครองเมืองยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายการตอบโจทย์ ทางไทยพีบีเอส
ผู้จัดการออนไลน์ – อ.รัฐศาสตร์จากรามฯ เชื่อ “สมชาย” ไม่มีวันรับข้อเสนอ 24 อธิการฯ พลิกวิกฤตสู่การเมืองใหม่ ชี้เสพติดในอำนาจ ระบุพันธมิตร-ภาค ปชช.จะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จน รบ.ไร้อำนาจ การต่อรองจึงจะเกิดและจะเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย “อ.จรัส”ชี้ถ้าไม่ปฏิรูปการเมืองตอนนี้ คนจะเสื่อมศรัทธาในระบอบ ปชต. และคนชั่วจะครองเมืองอีกยาว ประเทศเสียหายหนัก

เวลา 21.45 น. วันนี้ (29 ก.ย.) รายการตอบโจทย์ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้มีการเชิญ รศ.ชัยชนะ อิงคะวัต นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง และ ศ.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพื่ออภิปรายในหัวข้อ “ผ่าทางตัน ... ปฏิรูปการเมืองการปกครอง” โดยมีโจทย์คือ ข้อเสนอของ อธิการบดี 24 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยื่น 4 ข้อเรียกร้องต่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงของชาติอย่างเร่งด่วน โดยขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงในทางการเมืองโดยดำเนินการโดยเร่งด่วนที่สุดให้จัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระ เพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง (อ่านข่าวฉบับเต็ม)

เมื่อพิธีกรถามว่าตอนนี้ข้อเสนอของ 24 อธิการบดีฯ ถือเป็นทางออกที่ดีหรือไม่ รศ.ชัยชนะ กล่าวแสดงความเห็นในสองประเด็นคือ หนึ่ง ตนไม่คิดว่ารัฐบาลจะรับข้อเสนอของทางอธิการบดีเนื่องจากยึดติดอยู่กับอำนาจ สอง ถ้ารัฐบาลไม่ยอมรับในระยะยาวรัฐบาลก็จะค่อยๆ สูญเสียอำนาจไป

“หากมองในเรื่องของอำนาจผมคิดว่า (ข้อเสนอของ 24 อธิการบดี) เป็นไปไม่ได้ โดยเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ารัฐบาลนี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยกระบวนการซึ่งเป็นรัฐบาลเดิมของคุณทักษิณ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเขาก็ต้องรักษาอำนาจ ... ผมเห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมือง แต่วิธีการนำเสนอ ผมคิดว่าสูญเปล่า ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจะรับได้ เพราะ เขาไม่ได้คิดว่าบ้านเมืองอยู่ในวิกฤต เขาคิดว่าเขาเดินหน้าไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” รศ.ชัยชนะ

ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว รศ.ชัยชนะ รัฐบาลก็จะค่อยๆ สูญเสียพื้นที่ของอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะสังเกตได้ว่าข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้าน ศ.จรัส สุวรรณมาลา แสดงความเห็นว่า ขณะนี้เหมือนกับว่าลูกบอลถูกโยนไปที่รัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยอมเล่นลูกบอล ข้อเสนอของ 24 อธิการฯ ก็ยากจะเดินหน้าต่อไป แต่ตนอยากให้มองว่า ข้อเสนอดังกล่าวนั้นเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม เพื่อคลี่คลายปมความขัดแย้งทางการเมือง และการกระทำเช่นนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในระยะยาว ซึ่งในขั้นแรกนักการเมืองต้องยอมรับว่า สถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ

“อย่างน้อยต้องยอมรับว่าตัวเองไม่สบายเสียก่อน … ถ้ามีการประกาศยุบสภาก่อนถูกยุบพรรค แล้วนักการเมืองคิดว่าตัวเองจะได้เปรียบจะได้กลับเข้ามาอีก ผมอยากจะเรียนถามว่า ความขัดแย้งจะจบไหม คำตอบก็คือมันจะไม่จบ สมมติว่ากลับเข้ามาอีกด้วยเสียงทำนองเดิม คือใช้วิธีการซื้อ ส.ส. ซื้อเสียง หรือวิธีใดก็ตามเพื่อให้ได้เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งทำมาตลอด มันก็จะเข้าสู่วงจรเดิมและสังคมก็จะเผชิญกับวิกฤตการณ์ยาวไปอีกปีสองปี แล้วใครจะได้ประโยชน์” คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว พร้อมบอกว่า ถ้านักการเมืองยังยืนยันว่าต้องการเช่นนั้นโดยไม่ทำอะไรเลย ก็แสดงว่านั่นไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องทำเพื่อคนส่วนรวม มิใช่เพื่อนักการเมือง

เมื่อถามว่ายังเหลือวิธีการเปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางออกในระบบนั้น ศ.จรัส ให้ความเห็นว่า ไม่มีทางแล้ว เพราะในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ แม้แต่การประชุมรัฐสภาก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ เพราะการประชุมหลายครั้งหลังสภาก็ล่ม

“วันนี้รัฐสภาก็จบแล้ว อย่าว่าแต่ไปช่วยเพื่อนเลย ตัวเองจะประชุมสภายังล่มเลย องค์กรอื่นทางการเมือง พรรคการเมืองก็จบ วันนี้รัฐบาลก็อย่างที่ว่าคือ เล่นกับอำนาจและใช้อำนาจที่มีอยู่ แม้กระทั่งการตั้ง ครม.ก็ไม่ได้เกรงใจใคร โดยว่ากันไปตามการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งทำลายความศรัทธาของคน ว่าเราปกครองแบบประชาธิปไตยแต่มาลงท้ายเป็นกฎหมู่แบบนี้ ... พูดง่ายๆ คือ ความเสื่อมศรัทธาในการปกครองแบบประชาธิปไตยมันเริ่มชัดเจนมากขึ้น” คณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

รศ.ชัยชนะได้กล่าวเสริมว่า ตนเชื่อว่า ศ.จรัส และคณะอธิการบดีฯ คิดในแง่ดี แต่เมื่อมองในมุมของอำนาจแล้ว สาเหตุที่รัฐบาลไม่ยินยอมที่จะรับข้อเสนอของ คณะอธิการบดีฯ เพราะขณะนี้สถานการณ์เป็นการคานอำนาจกันระหว่างรัฐ กับ ประชาชนซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯ

“อย่างที่ท่าน อ.ธีรยุทธ (บุญมี) พูดว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ Social Protest (การประท้วงทางสังคม) แต่เป็น Political Movement (ความเคลื่อนไหวทางการเมือง) เป็นขบวนการทางการเมือง หมายถึงเขา (การเมืองภาคประชาชน) มีพลังในการผลักดัน และตอนนี้ถ้าดูรัฐบาลจะค่อยๆ หายไปทุกที ตรงนี้คือความหมายที่ผมพูดถึงเรื่องอำนาจ เมื่อหายไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะมีการเจรจา ตกลง เจรจาในที่นี้ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะเจรจา แต่ความชอบธรรมของรัฐบาลอาจจะไม่เหลือ ตรงนั้นละครับจึงจะมีลักษณะของการปฏิรูปทางการเมือง” นักวิชาการจาก ม.รามคำแหงให้ความเห็น

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ในจำนวนข้อเสนอ 4 ข้อของกลุ่ม 24 อธิการบดีฯ ข้อใดที่เป็นอุปสรรคและเป็นเงื่อนไขที่ยากที่สุดที่รัฐบาลจะยอมรับก็ได้รับคำตอบจากทั้งสองท่านว่าน่าจะเป็นข้อที่ 1 ที่เสนอว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงในทางการเมืองโดยดำเนินการโดยเร่งด่วนที่สุดให้จัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระ เพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง” ขึ้น เพื่อศึกษาหาแนวทางและข้อเสนอแนะ ในการปฏิรูประบบการเมืองการปกครองของประเทศ โดยยึดหลักการการเพิ่มบทบาทของการเมืองภาคประชาชน การกระจายอำนาจ การจัดระบบการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่เหมาะสมเป็นธรรม และจัดระบบตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมือง

ต่อมา รศ.ชัยชนะ ได้กล่าวแสดงความสนับสนุนความเห็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง โดยให้มีตัวแทนของกลุ่มอาชีพ หรือ Proportional Representation (PR) ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า นักธุรกิจ นักวิชาการ

เมื่อถามถึงความหวังของการปฏิรูปทางการเมือง รศ.ชัยชนะ กล่าวว่า “เราปฏิรูปไปเพื่ออะไร มีประเทศไหนในโลกที่รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับบ้าง ผมถามง่ายๆ เลย ซึ่งก็หมายความว่า เบื้องหลังของรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับนั้นเป็นเรื่องของอำนาจที่หมุนเวียนกัน แต่เดิมอาจจะแย่งชิงกันระหว่างทหารกับทหาร ต่อมาเป็นระดับของนายทุนกับทหาร ในเรื่องของการทำรัฐประหารคราวที่แล้ว ถ้าเราไม่ลืมประวัติศาสตร์ตรงนี้ เราต้องมองว่าการเมืองครั้งนี้จะเป็นจุดในการก้าวหน้าไปในทางที่ดี ผมมองว่าอาจจะเป็นวิวัฒนาการทางการเมืองของไทย แต่ผมไม่เชื่อในเรื่องของการเอากระดาษแล้วมานั่งคุย” พร้อมกล่าวว่า นายสมชายคงไม่สละอำนาจ โดยถ้านายสมชายยินยอมสละอำนาจก็ต้องเรียกว่าเป็น “รัฐบุรุษ”

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้าตอนนี้ไม่มีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้น ประเทศไทยจะถึงทางตันหรือไม่ ศ.จรัส ที่มีส่วนร่วมในการร่างข้อเสนอกับกลุ่มอธิการบดี 24 มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ถ้าไม่ปฏิรูปทางการเมืองหรือมีการเมืองใหม่ ประเทศไทยก็จะไม่ไปไหน และวิกฤตการณ์ก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะตนก็ไม่เคยเห็นความขัดแย้งและการเผชิญหน้าอย่างที่ทุกคนประนีประนอมกันไม่ได้ เพราะต่างก็รู้สึกว่าทนไม่ได้แล้วกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“พรรคการเมืองบ้านเราไม่ใช่พรรคการเมือง แล้วกรณีที่คนเคยคิดว่าพรรคการเมืองเข้มแข็ง สภาเข้มแข็ง รัฐบาลเข้มแข็งเป็นสมมติฐานที่ผิดพลาดทั้งนั้น พรรคการเมืองที่องค์กรที่มีหน้าที่ในการคัดสรรตัวแทน ไม่ได้ทำหน้าที่นั้นเลย พรรคการเมืองกลับซื้อนักการเมือง จะเลว จะดี ขอให้ขายให้ได้ในตลาด แล้วนักการเมืองก็ไปซื้อเสียงในตลาดอีกรอบหนึ่ง” นักวิชาการจากจุฬาฯ กล่าวพร้อมชี้ให้เห็นถึงอนาคตว่า

“ถ้าทำแบบนี้การเมืองมันจะยิ่งเลวลงเรื่อยๆ แล้วเราจะได้นักการเมืองเลวๆ และสัดส่วนของนักการเมืองเลวๆ ก็จะยิ่งสูงขึ้นๆ ผมเข้าใจว่า บ้านเมืองถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะปกครองโดยคนเลวโดยสมบูรณ์แบบ ไม่มีทางออก เพราะฉะนั้นต้องปฏิรูป ต้องล้างกันนะครับ”

รศ.ชัยชนะ อิงคะวัต นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
ศ.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ที่ประชุมอธิการบดีฯ 24 สถาบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น