xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของพันธมิตรฯ หลังยุติการชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

.

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ Fred Riggs ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทย มีใจความสรุปได้ว่า การเมืองไทยเป็นการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยหรือ Bureaucratic Politics ซึ่งข้าราชการเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองด้วย การคานอำนาจของข้าราชการจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมี “พลังต้าน” นอกระบบราชการ

เมื่อระบบการเมืองเป็นแบบอำมาตยาธิปไตย นักวิชาการก็หวังว่าพรรคการเมือง และนักการเมืองจะเป็นทางแก้ เป้าหมายของการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงที่ดีก็คือ การที่ข้าราชการหมดหรือลดบทบาททางการเมืองลง และนักการเมืองเป็นฝ่ายนำการเมืองแทน

การไปสู่เป้าหมายนี้มีความเป็นรูปธรรม เพราะระบอบอำมาตยาธิปไตยนั้น มีรัฐธรรมนูญรองรับอยู่ บทบัญญัติที่กันนักการเมืองออกจากกรณีอำนาจบริหารก็คือ การยอมให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แม้จะมีสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็มีวุฒิสภา บางสมัยก็มีสภาฯ ที่มีสมาชิกสองประเภท ทำให้บทบาทของนักการเมืองมีไม่มาก ทั้งทางด้านบริหารและด้านนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรก็มีความอ่อนแอ คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ ก็ไม่มีบทบาทเหมือนอย่างในปัจจุบัน

ข้อเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญ 2 ครั้ง คือ 14 ตุลา และ “พฤษภาทมิฬ” หลังจากนั้น เราก็มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ข้าราชการและทหารเริ่มลดบทบาทลง โดยเฉพาะหลังรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพมาได้เป็นเวลา 10 ปี

การที่เราเรียกร้องและสนับสนุนให้มีระบอบประชาธิปไตยมาแทนระบอบอำมาตยาธิปไตยนั้น ก็เพราะหวังว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมือง และมีอิทธิพลต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น โดยไม่คาดคิดว่านักการเมือง และพรรคการเมืองจะกลายมาเป็นปัญหาใหญ่กว่าการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นในแง่คุณสมบัติ และความสามารถของรัฐมนตรี หรือการคอร์รัปชันซึ่งมีมากขึ้น

การหมดบทบาทของข้าราชการ ทำให้อิทธิพลของนักธุรกิจท้องถิ่นมีมากขึ้น ระบบการเลือกตั้งที่มีอย่างต่อเนื่องทำให้นักธุรกิจท้องถิ่นสามารถสร้าง และขยายเขตอิทธิพลออกไปได้อย่างกว้างขวาง เช่น กรณีของนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นต้น พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก็เป็นพรรคของหัวหน้า มีกิจกรรมหลักคือ การจัดการเลือกตั้ง ซึ่งอาศัยการซื้อเสียงมากกว่าการเผยแพร่นโยบาย พรรคการเมืองที่มาภายหลัง เช่น พรรคไทยรักไทย แม้จะมีการเสนอนโยบายที่ชัดเจน แต่ก็ยังมีเจ้าของและหุ้นส่วนจำนวนน้อย

การเปลี่ยนแปลงจากระบอบอำมาตยาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนในชนบทได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะการนำเงินจากกองทุนต่างๆ ลงไปยังหมู่บ้าน ส่วนในระดับบน พรรคการเมือง 4-5 พรรคก็ร่วมกันแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งในยุคก่อนนักการเมืองไม่สามารถเข้าถึง และควบคุมงบประมาณโดยตรง แต่ต้องแสวงหาประโยชน์ผ่านข้าราชการ ในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองสามารถตั้งงบประมาณได้ โดยหาโครงการใหญ่ๆ มา

ไปๆ มาๆ เราต้องมาต่อต้านนักการเมือง และพรรคการเมืองที่เราเคยสนับสนุน และหวังว่าจะมาช่วยแก้ปัญหา การติดกับดักของประชาธิปไตยนี้มีผลทำให้การเมืองไทยไร้ทางออก เมื่อพันธมิตรฯ ชุมนุมอย่างยืดเยื้อ ปัญหาต่างๆ ก็ได้รับการหยิบยกขึ้นมา และเรียกร้องให้มี “การเมืองใหม่” ที่เริ่มด้วยความคลุมเครือว่าเป็นอย่างไร แต่ที่ชัดเจนก็คือ “การเมืองใหม่” มีพลังด้านการปฏิเสธ คือ เป็น negative force “การเมืองใหม่” คืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่การเมืองเก่า

การคิดสร้าง “การเมืองใหม่” อย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวข้องกับการหาวิธีการของการมีส่วนร่วมโดยพลเมืองในกระบวนการทางการเมือง การเมืองไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองและนักการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว ประเด็นนี้มีความชัดเจนจากการตื่นตัวของประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม และสนับสนุนพันธมิตรฯ แต่วิธีการเลือกตั้งแบบสัดส่วน และแบบกลุ่มอาชีพยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร แต่ก็สามารถพิจารณาในรายละเอียดได้ ว่าจะจัดอย่างไร

ถ้าจะถามว่า “การเมืองใหม่” เกิดขึ้นหรือยัง คำตอบก็คือ เกิดขึ้นแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั่นแหละ คือ รูปธรรมของการเมืองใหม่

ไม่ว่าระบบการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ประเด็นสำคัญที่ยังไม่ค่อยมีการพูดกันก็คือ บทบาทของพันธมิตรฯ หลังจากการยุติการชุมนุม ถ้าคิดในแบบการเมืองเก่าก็คือ การยกระดับขึ้นเป็นพรรคการเมือง แต่ถ้าคิดแบบ “การเมืองใหม่” ก็คือ การจัดระบบเครือข่าย และการทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบอื่นที่มิใช่การชุมนุม ผมเห็นว่ามีสิ่งที่น่าจะทำดังนี้

1. เร่งขยายการติดตั้งจานรับ ASTV โดยมีการรณรงค์ให้บริจาคจานให้แก่หมู่บ้านที่ห่างไกล

2. หาสมาชิกที่รับข่าวจาก ASTV วิทยุ และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายละ 200 บาทให้ได้ 500,000 ราย

3. จัดรายการให้ความรู้ทางการเมืองทางวิทยุ และโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง

4. จัดการเดินทางไปจังหวัดต่างๆ โดยมีปาฐกถาและการสัมมนา

5. เปิดหลักสูตรการเรียนทางไกลด้าน “การเมืองใหม่” โดยมีประกาศนียบัตรให้

6. มีการอบรมระยะสั้นโดยให้สมาชิกเข้าร่วมการอบรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีก็แต่น้อย

7. มี web ข่าวสังคมของสมาชิกพันธมิตรฯ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ร่วมกัน

8. สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรฯ ในจังหวัดต่างๆ

9. ผลิตสัญลักษณ์ เช่น เสื้อยืด และของที่ระลึกอื่นๆ เพื่อให้สมาชิกได้มีไว้ใช

การดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายที่ไม่ใช่การจัดตั้งพรรคการเมือง พลังของพันธมิตรฯ อยู่ที่การสร้างจิตสำนึก และการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้เพื่อให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป้าหมายของการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองโดยตรง แต่จะเป็นผู้ทำการวิเคราะห์เจาะลึก ประเด็นปัญหาสำคัญๆ ให้ประชาชนได้รู้

ผมคิดว่าพลังของพันธมิตรฯ หลังการยุติการชุมนุมจะมีอยู่ตลอดไป ที่สำคัญก็คือ รัฐบาลทุกรัฐบาลย่อมรู้ถึงศักยภาพที่พันธมิตรฯ จะเรียกชุมนุมใหญ่อีกหากมีความจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น