xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองซากเน่าในสังคมที่ก้าวหน้า : ฝ่า Great Depression แห่งศตวรรษที่ 21

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ตอนนี้ประเด็นเรื่องความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในสหรัฐอเมริกา ที่กำลังลุกลามไปยังยุโรปกำลังเป็นที่ถกเถียงกันทุกแวดวงทั่วโลก ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำต่างก็ทยอยออกมายอมรับแล้วว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลก หรือ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ครั้งนี้ หนักหนาสาหัสมาก สาหัสกว่าวิกฤตการเงินเอเชีย หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 หลายเท่านัก

ความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้อาจเปรียบเทียบได้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (The Great Depression) ที่เกิดขึ้นราวช่วงทศวรรษที่ 2470 (ค.ศ. 1930) หรือเมื่อเกือบ 80 ปีก่อน

The Great Depression ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในทางเศรษฐศาสตร์ วิกฤตครั้งนั้นได้ก่อให้โลกทั้งใบเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารเศรษฐกิจระดับมหภาค จากแนวความคิดสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก (Classical Economics) มาเป็นแนวความคิดเศรษฐกิจแบบเคนส์ (Keynesian) (1)

หากท่านผู้อ่านไม่ได้สนใจรายละเอียดทางเศรษฐศาสตร์ ก็อาจไม่จำเป็นต้องทราบว่า การเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายเศรษฐกิจจากเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกมาเป็นเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์นั้นได้ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรต่อโลกและประเทศไทยบ้าง แต่ท่านจำเป็นต้องทราบว่า The Great Depression ของโลกที่เริ่มต้นแพร่พิษในช่วงปลาย พ.ศ. 2472 นั้น ในอีก 2 ปีถัดมาได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแสนสาหัส ไม่เพียงในเชิงเศรษฐกิจ แต่มีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยใน พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเลยทีเดียว

ครับ! ผมกำลังบอกว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังลุกลามในสหรัฐฯ และยุโรปในขณะนี้จะส่งผลต่อ “การปฏิรูปการเมือง-การเมืองใหม่” อันเป็นข้อเสนอที่เริ่มต้นมาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างแน่นอน โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะส่งผลกระทบถึงลูก ถึงหลานเราในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงมิอาจละเลยที่จะช่วยกันขบคิด และเสนอแนวทางในการปฏิรูปการเมืองท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสนี้

จากบทความตอนที่แล้ว ผมจับเอาความก้าวหน้าของพัฒนาการด้านสิทธิผู้บริโภค (Consumer Rights) การคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) และ เรื่องข้อมูลเครดิต (Credit Information) ในสังคมและระบบเศรษฐกิจไทยขึ้นมาเปรียบเทียบกับความล้าหลังของสิทธิและการคุ้มครองประชาชนในระบบการเมืองปัจจุบัน โดยในตอนท้ายผมได้เสนอว่า ในเมื่อปัจจุบันภาคเศรษฐกิจ-ธุรกิจมีการจัดเก็บข้อมูลเครดิตของผู้บริโภคโดยเครดิตบูโร (Credit Bureau) แล้ว ภาคการเมืองก็ควรจะมีตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตทางการเมือง (Political Credit Bureau) หรือมีการจัดทำ ฐานข้อมูลนักการเมือง เพื่อจัดเก็บและเผยแพร่ ประวัติชีวิต การศึกษา ประสบการณ์ ความสำเร็จ ความล้มเหลว วิสัยทัศน์ของบรรดานักการเมืองไทยขึ้นมาอย่างจริงจังด้วย

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ปัจจุบัน ที่ส่งสัญญาณรุนแรง เป็นความล่มสลายของ วาณิชธนกิจ (Investment Bank) ระดับหัวแถวของโลก 5 แห่ง ประกอบไปด้วย โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนเลย์, เมอร์ริล ลินช์, เลห์แมน บราเดอร์ส และ แบร์สเติร์นส์ ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่บรรดาวาณิชธนากรจำนวนไม่น้อย แทนที่จะโทษความโลภ ละโมบ และมักมากของตัวเองและองค์กร กลับโบ้ยไปว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักอีกส่วนมาจากบรรดาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating agency) ว่าประเมินความน่าเชื่อถือของวาณิชธนกิจต่างๆ ไว้สูงเกินไป

ต่อเนื่องจากแนวคิดเรื่องการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตทางการเมือง หากนำมาเชื่อมโยงกับเรื่อง การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ผมเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องดี ถ้าเรามี การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของนักการเมือง (Politician Credit Rating) ขึ้นมาด้วย โดยปัจจัยที่นำมาคำนวณเรตติ้งก็มาจากหลายๆ ส่วน เช่น ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน ประวัติการทุจริต-คอร์รัปชัน พฤติกรรมการทำผิดกฎหมายของตัวเองและครอบครัว ประวัติการหมิ่นประมาทผู้อื่น ประวัติการกระทำผิดคดีอาญา เป็นต้น

ส่วนวิธีการจัดความน่าเชื่อถือนั้นอาจจะนำวิธีการของ มูดี้ส์ เอสแอนด์พี หรือ ฟิทช์ ที่แบ่งเป็น AAA, Aaa, AA-, A- ก็ได้ แต่ถ้าจะให้ปวดหัวน้อยหน่อยก็อาจจะใช้วิธีจัดอันดับความน่าเชื่อถือของนักการเมืองเหมือนเกรดของนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็น A, B+, B, B-, C+, C, C-, D, F ก็ได้ เช่น หากนักการเมืองคนใดที่มือเปื้อนเลือด มีส่วนยุยงให้มีการเข่นฆ่าประชาชนมาตั้งแต่สมัย 6 ตุลาฯ จนถึงปัจจุบัน เมื่อมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งพ่อเมืองก็ไม่ทำอะไรนอกจากพ่นจากบ่นไปวันๆ พอทำผิดรัฐธรรมนูญก็ยังดันทุรัง แถมยังพูดโกหกเป็นนิจศีล นักการเมืองอย่างนี้ก็อาจจะถูกจัดอยู่ใน กลุ่ม “นักการเมืองเกรด F” ไปเลย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการจัดอันดับดังกล่าวต้องมีระบบที่แน่ชัด มีความโปร่งใส มีหลักเกณฑ์ในการเพิ่ม-ลด เกรดที่ชัดเจน แน่นอน ตรวจสอบได้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาหรือการกลั่นแกล้งกัน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะกระจายเพื่อคัดคานอำนาจกัน เช่น สถาบันจัดอันดับแห่งหนึ่งอาจจะอยู่ในความดูแลขององค์กรอิสระ อีกแห่งหนึ่งอาจจะอยู่ในความดูแลของสถาบันอุดมศึกษา อีกสถาบันหนึ่งอยู่ในความดูแลขององค์กรตุลาการ เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของนักการเมืองดังกล่าวไม่เป็นสิ่งที่สูญเปล่า ในกฎหมายอาจระบุไปเลยก็ได้ว่า นักการเมืองคนใดหากถูกจัดเกรดต่ำกว่า B ก็จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งในทางบริหารโดยอัตโนมัติ หรือถ้าได้เกรดต่ำกว่า C ก็จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติทันที เป็นต้น

อ่านถึงตอนนี้ อาจจะมีหลายคนแย้งขึ้นมาว่า ทำไมต้องตามจองล้างจองผลาญนักการเมืองกันถึงขนาดนี้ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมัดมือมัดเท้านักการเมืองไม่พออีกหรือ?

สำหรับคำถามนี้ ผมไม่ขอตอบ แต่อยากให้ท่านลองพิจารณาเองว่า ปัจจุบันคุณสมบัติและพฤติกรรมของคณะรัฐมนตรีชุด “สมชาย 1” รวมถึงบรรดานักการเมืองส่วนใหญ่ที่นั่งอยู่ในสภาฯ เหมาะสมที่จะเป็นผู้แทนของประชาชน หรือผู้บริหารประเทศหรือไม่

สถานการณ์โลกวันนี้ สังคมไทยมิอาจหลีกเลี่ยงผลกระทบทางวิกฤตเศรษฐกิจที่จะพุ่งเข้ามาโจมตีเราได้อย่างแน่นอน ทว่าถ้าเราไม่ “เปลี่ยน” แนวคิด “ปฏิรูป” การเมืองเก่าให้เป็นการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมเสียก่อน พวกเราทุกคนก็คงต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปีอย่างปราศจากภูมิคุ้มกัน

หมายเหตุ :
(1) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือฉันทมติวอชิงตัน โดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ จัดพิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น