xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้ ‘รื้อ-สร้าง’ อาคารศาลฎีกาใหม่ (ใครพิพากษา?)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากอิงตามประวัติศาสตร์ กลุ่มอาคารศาลฎีกาถูกสร้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติศาสตร์ยุติธรรมของไทย มีที่มาสืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ ‘เอกราชทางการศาล’ หลังจากที่ต้องเสียไปนับตั้งแต่ได้ทำสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 คุณค่าของอาคารศาลฎีกาจึงถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการได้เอกราชทางการศาลโดยสมบูรณ์ของประเทศไทย

ในแง่สถาปัตยกรรมนั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น คือ สัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในยุคประชาธิปไตย ซึ่งกลุ่มอาคารศาลฎีกาเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมตามความหมายดังกล่าว

ส่วนทางประวัติศาสตร์การเมืองกลุ่มอาคารฎีกาถูกสร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร (2475-2490) จึงถือเป็นหลักฐานถาวรทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นภาพสะท้อนถึงสภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศิลปวัฒนธรรม และจริยธรรมในยุคสมัยนั้น

แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาตร์ข้างต้นกลับไม่ได้เป็นที่จดจำในปัจจุบัน แม้แต่ผู้ที่อยู่ในวงการยุติรรมโดยตรงกลับเป็นผู้ทำให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวพร่าเลือนไป ขณะเดียวกันในยุคสมัยนี้กลุ่มอาคารศาลฎีกานี้เองกำลังถูกคุกคามทำลายอย่างมาก

ลักษณะการเข้าไปคุกคามกลุ่มอาคารศาลฎีกาเวลานี้มีมากแค่ไหน คงไม่มีใครตอบได้ในแบบคอนเฟิร์มหรือฟังธง เอาที่แน่ๆ โครงการก่อสร้างศาลฎีกาหลังใหม่ของกระทรวงยุติธรรม บนพื้นที่เดิมใกล้สนามหลวงเขตกรุงรัตยโกสินทร์ชั้นใน เป็นกรณีศึกษาที่ผู้ใช้งานอาคารมีความจำเป็นต้องขอ ‘รื้อถอน – ทุบทิ้ง’ อาคารศาลฎีกาหลังเดิม ก่อให้เกิดขอถกเถียงถึงผลดีผลเสียในหลากหลายประเด็น เช่น ประเด็นการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ ประเด็นการรื้อทุบอาคารดังกล่าวเพื่อสร้างอาคารตามแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่ดึงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจารีตของไทยในอดีตมาเป็นแนวทางหลักในการออกแบบ แทนสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น (ทศวรรษที่ 2480) และยังมีประเด็นเรื่องความเหมาะสมของรูปแบบอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ซึ่งพบว่าอาคารใหม่นั้นมีความสูงข่มทัศนียภาพของพระบรมหาราชวัง และนั้นอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสู่การเลือกหนทางอื่นมากกว่าเร่งรื้อ-สร้างใหม่ เพราะยังมีบางเหตุผล บางคำถามจากสังคมถึงการรื้อถอนกลุ่มอาคารศาลทิ้งว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน...

ความหมายในชั่วพริบตา

ข่าวการรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกา เพื่อสร้างอาคารหลังใหม่ ดังขึ้นเป็นระยะๆ เนื่องจากมีข้อถกเถียงกันยาวข้ามปีถึงงบประมาณในการจัดสร้าง และความถูกต้องเหมาะสม ไม่เพียงเท่านั้นหลากหลายมุมมองความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรมที่ชี้ชัดว่า กลุ่มอาคารดังกล่าวเก่าแก่มีคุณค่าและเอกลักษณ์ น่าเสียดายถ้าใครจะทุบทำลายรอยต่อของยุคสมัยให้หายไปจากประวัติศาสตร์ชาติ

ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ในกรณีดังนี้มี 3 ข้อเท็จจริงต้องเคลียร์ก่อนทางศาลจะดำเนินการรื้ออาคารหลังเก่าและสร้างใหม่บนพื้นที่เดิม โดยก่อนหน้านี้ทางศาลฎีกาได้ให้เหตุผลในการจะรื้อถอน คือ เหตุผลพื้นที่ใช้สอยของกลุ่มอาคารปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการของการขยายหน่วยงาน การเสื่อมสภาพของกลุ่มอาคารศาลฎีกาในปัจจุบัน และปัญหาเรื่องยุคสมัยของกลุ่มอาคารศาลฎีกาไม่เก่าแก่และไม่มีคุณค่า

“ในข้อเท็จจริงทั้ง 3 ประเด็นนี้ผมจะไล่คำตอบจากหลังขึ้นไป เรื่องของอายุสมัยโดยสรุปคืออาคารศาลฎีกาหลังแรกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2482 อย่างน้อยก็เกิน 50 ปี ซึ่งไม่แน่ในว่ายังเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งของกรมศิลปากรอยู่หรือเปล่า ถึงแม้ว่าอาคารศาลฎีกาจะคิดว่าเกิน 50 ปี ไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ แต่อยากให้มองไปถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ก่อนหน้านี้มีการพยายามจะออกมาพูดว่าอาคารศาลฎีกาไม่ได้มีอายุถึง 50 ปี ซึ่งนั่นอาจจะเป็นบริเวณอาคารปีกทางด้านสนามหลวง

“ส่วนเรื่องปัญหาการเสื่อมสภาพในทัศนะของผมยังไม่ถึงสถานการณ์ที่แย่มาก อาจจะเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ซึ่งอันนี้สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ผมคาดหวังว่าจะมีทางศาลออกมาบอกว่าที่ว่าแย่นั้นมันแย่ขนาดไหน จะทรุด จะล้มขนาดไหน

“ด้านปัญหาพื้นที่ใช้สอยถ้าดูในผังปัจจุบันจะเห็นว่ามีหลายกลุ่มอาคารและหลายศาลรวมอยู่ในนั้น ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายทุกศาลออกไปหมดแล้ว หลังจากที่ไล่ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ และอื่นๆ ไปอยู่รัชดา เพราะฉะนั้นเรื่องพื้นที่ใช้สอยน่าจะเพียงพอต่อการขยายตัวของศาลฎีกาที่เหลืออยู่เพียงแผนกเดียว อันนี้ก็อาจจะเป็นข้อถกเถียงกันได้ เพราะอย่างเวลานี้ยังไม่มีใครได้ยินเจ้าหน้าที่จากทางศาลออกมายืนยันว่าต้องการพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดกี่ตารางเมตร อันเก่ามีอยู่แล้วกี่ตารางเมตรขาดไปกี่ตารางเมตร นี่คือข้อเท็จจริงที่จะต้องออกมาเคลียร์กัน”
ชาตรีกล่าว

นอกจากนั้นอาจารย์ชาตรียังบอกถึง 5 เหตุผลที่เขาคิดว่าไม่ควรรื้อศาลฎีกาว่า ประการแรก กลุ่มอาคารหลังนี้ถือเป็นอนุสรณ์ในการได้เอกราชอย่างสมบูรณ์ทางการศาล หลังจากที่เราเสียเอกราชไปเมื่อรัชกาลที่ 4 ตอนทำสนธิสัญญาเบาริ่ง

“ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับทางศาล ซึ่งมีความคลุมเครือและงงกันมาก บ้างบอกว่าเราได้เอกราชทางการศาลตั้งแต่รัชกาลที่ 5 หลังจากค้นเอกสารดูแล้วพบว่าเราได้เอกราชตั้งแต่ พ.ศ. 2481 เป็นปีที่เราได้เอกราชทางการศาลสมบูรณ์จริงๆ”

นอกจากนั้นยังมีบันทึกของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2481 ความตอนหนึ่งว่า

“.....บัดนี้ประเทศสยามได้เอกราชในทางการศาลคืนมาโดยสมบูรณ์แล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะมีศาลยุติธรรมให้เป็นสง่าผ่าเผยเยี่ยงประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการที่ได้อำนาจศาลคืนมา.....”

ประการที่สอง ในปี พ.ศ. 2481 รัฐบาลในสมัยนั้นได้จัดงานเฉลิมฉลองงานเอกราชทางการศาล และได้สร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาที่เห็นอยู่ในปัจจุบันขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญมาก แล้วอนุสรณ์ที่สำคัญขนาดนี้จะถูกรื้อกันง่ายๆ โดยไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้เลยอย่างนั้นหรือ

“การได้รับเอกราชทางการศาลเป็นงานใหญ่มาก มีการเดินขบวนสวนสนามเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โต ผมไม่เข้าใจว่าเวลาผ่านมาเพียง 60-70 ปี คนไทยลืมไปหมดแล้วว่าเราเคยยินดีกันมากในปี 2481 ตึกหลังนี้จึงเป็นอาคารที่ระลึกเอกราชทางการศาล เป็นที่ระลึกที่เป็นวัตถุซึ่งเวลานี้เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งนั้น แต่กำลังจะหายไป”

ประการที่สาม ด้วยพื้นฐานทางสถาปนิกของชาตรี เหตุผลข้อนี้จึงเฉพาะเจาะจงที่สถาปัตยกรรม โดยกลุ่มอาคารศาลฎีกาเป็นอาคารที่สร้างขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมกลุ่มอาคารศาลฎีกาถือว่าได้รับกระแสการสร้างแบบโมเดิร์น ซึ่งสไตล์ตรงนี้ก็ถือเป็นสไตล์เฉพาะของยุคสมัย อาคารกลุ่มศาลฎีกาจึงนับเป็นอาคารหลังสำคัญของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในช่วงเวลานี้ ซึ่งนับวันยิ่งจะถูกรื้อทิ้งไปเรื่อยๆ

ประการที่สี่ อาคารศาลฎีกาที่จะสร้างขึ้นมาใหม่จะสร้างปัญหา 2 มาตรฐาน ในการอนุรักษณ์กรุงรัตนโกสินทร์

“มีหลายกรณีที่คณะกรรมการกรุงรัตยโกสินทร์เอาจริงเอาจังมากเลยจนสามารถทำสำเร็จในหลายๆ อย่าง เช่น ศาลาหลังเล็กๆ (เน้นเสียง) บริเวณริมคลองหลอดข้างอนุสาวรีย์หมู และศาลพระนารายณ์บริเวณวัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหารออกข่าวใหญ่โตเลยว่า ทำลายสภาพแวดล้อมกรุงรัตนโกสินทร์ ต้องรื้อถอนต้องจัดการ ซึ่งศาลาหลังนั้นไม่ถึง 9 ตารางเมตร นี่คือความซีเรียสจริงจังของคณะกรรมการกรุงฯ

“แต่ว่ากรณีของศาลฎีกาไม่รู้ว่ากี่พันตารางเมตร และอยู่ข้างสนามหลวง แต่ไม่มีเสียงจากคณะกรรมการกรุงฯ แม้แต่นิดเดียวว่ามีความเห็น และจุดยืนอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่คือปัญหาสำคัญถ้าปล่อยให้โครงการนี้สร้างขึ้น

“อาคารศาลฎีกีที่จะสร้างใหม่มีความสูงถึง 32 เมตร ซึ่งขัดกับข้อบัญญัติกรุงเทพฯ และมาตรการคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่ควบคุมไม่ให้สูงเกิน 16 สูงกว่า หากมีการสร้างศาลฎีกาขึ้รมาใหม่จะมีความสูงกว่าอาคารเดิมสองเท่า แต่กลับไม่มีเสียงและความเห็นใดๆ จากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ อาคารใหม่จะใหญ่ยังเกินมาตรฐานสิ่งก่อสร้างในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ที่ต้องมีค่าเฉลี่ยความสูงไม่เกินกลุ่มอาคารในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอาคารสูงขนาดใกล้เคียงศาลฎีกาหลังใหม่คาดว่ามีเพียงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทหลังเดียวจึงไม่ใช่ความสูงเฉลี่ย นอกจากนี้อาคารภายในพระบรมมหาราชวังมักก็เป็นยอดปราสาทเล็กๆ เท่านั้น อาคารใหม่จึงทำลายคุณค่าโบราณสถานสำคัญของพื้นที่โดยรอบ”

ประการสุดท้ายอาจารย์ชาตรีบอกว่า โครงการนี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณถึง 3,700 ล้าน ซึ่งเป็นงบประมาณมาจากภาษีของประชาชน

ความเห็นจากสิ่งที่เห็น

ทางด้าน ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร นักวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวด้านสถาปัตยกรรม กล่าวว่า ครั้งหนึ่งทางศาลฎีกาได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการจุฬาฯ เข้าไปสำรวจ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณปี 2541 หัวหน้าโครงการนี้มาจากคณะวิศวกรรมจุฬาฯ ที่ต้องเข้าไปทางคณะวิศวกรรมเพราะว่ามีประเด็นเรื่องความปลอดภัยแทรกอยู่ด้วย

จากการสำรวจของผศ.ดร.อรรจน์ และทีมงาน ที่เข้าไปสำรวจศาลฎีกา พบว่า ศาลฎีกาเป็นอาคารเก่า มีความเสื่อมโทรม การใช้งานไม่รับประสิทธิภาพสูงสุดและศาลฎีกาก็มีการขยายตัวขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่บอกว่าไม่มีความสง่างามสมเป็นศาลสูงสุดของประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีรายงานออกมาแล้ว ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของการจัดการสถานที่ไม่ดีและเป็นเรื่องของความสะอาด

“ผมไม่สามารถฟันธงได้ว่า อันตรายขนาดจะต้องทุบทิ้ง เพียงแต่ว่าจะปรับปรุงยังไง ซึ่งมีวิธีอีกหลายวิธี ส่วนทางด้านสภาพแวดล้อมอื่นๆ ก็เป็นอะไรที่ปรุบปรุงได้ ที่ศาลไม่สง่างามทุกวันนี้เกิดจากการจัดการที่ไม่ดี ส่วนใหญ่จะไม่ใช่ในเรื่องของโครงสร้างจากการทำแบบสอบถามก็พบว่า ไม่ได้เจอประเด็นอะไรที่ดูร้ายแรงมากนัก และในความเป็นจริงศาลฎีกาไม่จำเป็นต้องรองรับประชาชนมากมาย เพราะเน้นไปที่การอ่านสำนวนและตัดสิน แต่มีศาลอื่นๆ มาขอใช้ซึ่งศาลเหล่านั้นมีโครงการย้ายออกไปอยู่แล้ว

“ปัญหาที่พบคือเสาคอนกรีตหลายต้นแตกเห็นสนิมเสาเหล่านี้จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่โตทางสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิศวกรรมได้ตรวจอย่างดีแล้วพบว่าเป็นเพราะความชื้นเข้าไปทำให้เหล็กดันออกมาซึ่งสามารถซ่อมได้

“ด้านสภาพแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมเพราะไม่ดูแลรักษา มีร้านค้าและแท็กซี่เข้าไปใช้สถานที่ก็เป็นปัญหาเรื่องการจัดการไม่ดีแล้วอยากสร้างใหม่แต่ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างเสื่อมโทรม”

ผศ.ดร.อรรจน์ เสนอว่า แนวทางแรกคือไม่ต้องทำอะไรเลย ไปปรับปรุงอาคารโดยการบริหารจัดการทรัพยากรอาคาร คือพื้นที่อาคารเดิมต้องการ 12,000 ตารางเมตร ถ้าปรับปรุงแล้วจะมีพื้นที่เพิ่มถึง 45,000 ตารางเมตร งบประมาณที่ใช้ใน 600 บาท ในขณะที่ถ้าสร้างใหม่จะใช้งบประมาณถึง 3,700 ล้านบาท และพื้นที่อาคารสร้างใหม่จะได้ 45,000 ตารางเมตรเช่นกัน

“สิ่งที่ศาลควรทำก่อนทุบอาคารคือต้องทำการศึกษาจริงจังว่าจะพังหรือไม่แล้วเปิดเผยผลการศึกษาว่ามีปัญหาจริงๆ โดยที่การจัดการอาคารสามารถใช้ความรู้ได้หลายสาขา เอาเขาไปดูแล้วใช้สมองมากกว่าใช้เงิน ราชการต้องคิดว่าอาคารรัฐเป็นของประเทศไม่ใช่เจ้าขององค์กร ถ้าจะทุบทิ้งถามเจ้าของแล้วหรือยัง” ผศ.ดร.อรรจน์ กล่าว

ชะรำกรุงรัตนโกสินทร์

ภูธร ภูมะธน นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เรื่องอาคารศาลฎีกานั้นเป็นเรื่องเล็ก แต่เรื่องใหญ่คือจะทำอย่างไรให้มีรูปแบบการอนุรักษ์ที่แท้จริงไม่น่ารำคาญแบบนี้ได้ ซึ่งคิดว่าปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

“ในความเห็นของผมกรณีถ้าจะรื้อแล้วสร้างใหม่คงเป็นเพียงหัวข้อเล็กๆ ต่อกรณีของการชำระเกาะรัตนโกสินทร์ แนวโน้มของหลายๆ คนอยากให้มีการเก็บรักษารอยต่อเนื่องในอดีตเอาไว้ เพราะอาคารหลังนี้มีเกียรติประวัติสูงส่ง แสดงถึงความภูมิใจที่ได้มาซึ่งเอกราชทางการศาล แต่คนที่จะสนับสนุนให้สร้างได้หรือไม่ได้จริงๆ เคาะค้อนได้เลยคือคณะกรรมการกรุงฯ ด้วย แต่คณะกรรมการกรุงฯ กลับมีมาตรฐานที่ไม่ชัดเจน และไม่ได้แสดงบทบาทในการที่จะเป็นผู้ที่ยึดหวังพึ่งได้ว่าเป็นผู้อนุรักษ์พัฒนากรุงแท้จริง โลกทัศน์และนโยบายต้องกว้างถ้ามีการพิสูจน์ได้ว่าอาคารนี้ควรอนุรักษ์ คณะกรรมการกรุงฯ ก็ควรต้องฟัง”

ภูธรเล่าย้อนให้ฟังว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวมาจากนโยบายการอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ เมื่อ 30 –40 ปีก่อน เพื่อให้มีเอกลักษณ์ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว จึงให้มีคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีโครงสร้างที่ดูใหญ่และเหมือนมีอำนาจคือ มีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน มีผู้ว่ากรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ มีเลขาธิการนโยบายสิ่งแวดล้อมและแผนเป็นกรรมการ และมีอีกหลายตำแหน่งที่ใหญ่มากรวมกันเป็นกรรมการ แต่เวลาประชุมมีแต่ส่งตัวแทนมา จึงไม่มีอำนาจสั่งการ

“ปัญหาการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ประการหนึ่งจึงอยู่ที่นโยบายการปฏิบัติคณะกรรมการกรุงฯ ไม่ศักดิ์สิทธิ์และมีผลงานจริง เช่น มีกฎข้อห้ามไม่ให้สร้างอาคารทุกประเภทเพิ่มทั้งของรัฐและเอกชนในกรุงฯ ก็สร้างกันโครมๆ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่สนใจเฉพาะตึกรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปซึ่งเป็นรสนิยมที่ผู้ร่างนโยบายชอบ แต่ถามว่าอาคารกระจอกถ้ามีประวัติศาสตร์หรือมีคุณค่าจะเก็บไว้ไม่ได้หรือ”

ภูธร กล่าวอีกว่า กรรมการกรุงฯ บางคนยังมีแนวคิดให้เอาคนเข้ามาน้อยที่สุด จะให้เป็นสุสานที่มีแต่วัง วัดและต้นไม้ ไม่ให้มีแม้แต่พิพิธภัณฑ์เพราะมองว่าเป็นการนำคนเข้ามาในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ด้วยซ้ำ วิธีคิดต่อการอนุรักษ์และพัฒนาต้องทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองที่มีชีวิต มีสายต่อเนื่องเช่นสายต่อเนื่องจากอยุธยามีหรือไม่ ตอนขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณมิวเซียมสยามพบซากอาคารสมัยอยุธยา กิจกรรมและเครื่องถ้วยอยุธยาในชั้นล่างๆ เป็นต้น หรือสายต่อเนื่องไปสู่ยุคเปลี่ยนการปกครอง สู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ต้องคิดไปเรื่อยๆ เป็นสายยาวๆ สู่อนาคต

ทบทวนความคิด

นอกจากนั้น อาจารย์ชาตรียังบอกอีกว่า โครงการนี้เป็นประเด็นตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 แต่ตอนนี้ ตุลาคม 2551 แล้วก็ไม่มีความเห็นหรือจุดยืนออกมา ส่วนตัวจึงขอตั้งคำถามถึงคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ว่า

“การที่กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ปีละครั้งก็ควรปรับปรุง เพราะขนาดศาลาเล็กๆ และไม่มีใครยื่นเรื่องกลับถูกให้รื้ออย่างจริงจัง แต่กรณีศาลฎีกาที่มีขนาดใหญ่โตกลับบอกว่าไม่มีเรื่องเข้าไปจึงไม่มีความเห็น

“ส่วนอีกคำถามฝากไปถึงกรมศิลปากรที่สมาคมสถาปนิกสยามยื่นเรื่องไป 1 ปีแล้วก็ยังไม่มีข้อสรุปเช่นกัน กรณีนี้เปรียบเทียบกับกรณีป้อมตำรวจเล็กๆ หน้าศาลหลักเมืองบอกว่ามีปัญหาต่อมุมมองศาลหลักเมืองบังวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็รื้อออก แต่เรื่องอาคารศาลฎีกาที่ใหญ่กลับไม่มีความคิดเห็น

“อยากถามมาตรฐานทางวิชาการของคณะกรรมการกรุงฯ ต่อกรณีนี้ เดิมคณะกรรมการกรุงฯ มีมาตรฐานทางวิชาแบบหนึ่งซึ่งเป็นแบบแข็งและใช้ปฏิบัติมาตลอด แต่กรณีศาลฎีกามาตรฐานที่เคยยึดถือหายไปไหน หน่วยวิชาการแบบนี้ต้องให้แสงสว่างแก่สังคม ต้องทำหน้าที่มากกกว่านี้ เพราะจะมีปัญหาทางกฎหมายของชาวบ้าน เนื่องจากความเสมอภาคทางกฎหมายต่อกรณีแบบนี้จะหาได้ที่ไหน

“ต้องมาเคลียร์ มาถามว่าประชาชนจะให้อภิสิทธิ์กับมาตรฐานกฎหมายนี้หรือไม่ และถ้าไม่เคลียร์จะมีผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรทั้งคณะกรรมการกรุงฯ และศาล ปัจจุบันเราพูดถึงตุลาการภิวัตน์ แต่ถ้าไม่เคลียร์จะทำอย่างไรกับสังคมไทยที่ต้องการเสรีภาพเท่าเทียม

“สำหรับผมมีพียง 2 ข้อเท่านั้นคือ ให้ชะลอโครงการและให้มีประชาพิจารณ์สาธารณะก่อน” บรรทัดข้างต้นเป็นข้อเสนอของอาจารย์ชาตรีที่ฝากทิ้งท้าย
กลุ่มอาคารศาลฎีกาที่จะสร้างใหม่
กลุ่มอาคารศาลฎีกาปัจจุบัน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกการได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล
ทัศนียภาพสนามหลวงในปัจจุบัน
ทัศนียภาพสนามหลวงหากมีการสร้างศาลฎีกาขึ้นมาใหม่
แบบกลุ่มอาคารศาลฎีกาที่จะสร้างใหม่
ผังบริเวณกลุ่มอาคารศาลฎีกาปัจจุบัน
ภาพงานเฉลิมฉลองการได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล เมื่อ พ.ศ. 2481
หนังสือสนธิสัญญาที่ทำกับนานาชาติเป็นผลให้ได้เอกราชสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2481


ชาตรี ประกิตนนทการ
ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร
ภูธร ภูมะธน
กำลังโหลดความคิดเห็น