xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกจาก "วงใน" สมัชชา 20 : เมื่อผู้สื่อข่าวกลายเป็นคนดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในการประชุม “สมัชชา 20” ผู้สื่อข่าวต่างชาติถูกสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนจีนมากมาย คลิปวิดีโอหลายเรื่องกลายเป็น “ไวรัล” ในโลกออนไลน์ พวกเรากลายเป็นคนดังโดยไม่รู้ตัว

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 จัดขึ้นในระบบปิด หรือ Closed loop ทำให้โอกาสผู้สื่อข่าวชาวจีนจะได้สัมภาษณ์ขอความคิดเห็นจากชาวต่างชาติมีน้อย กลุ่มผู้สื่อข่าวต่างชาติจึงเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ใช้ชีวิตร่วมกับผู้สื่อข่าวชาวจีน และถูกขอสัมภาษณ์อย่างมากมาย

เรื่องที่ผู้สื่อข่าวต่างชาติถูกถามมีตั้งแต่ความรู้สึกต่อประเทศจีน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศของตน ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองจีน การพัฒนาของประเทศจีน ประเด็นที่สนใจในการประชุม ความคิดเห็นต่อการแถลงข่าวของกระทรวงต่างๆ นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวจีนจากมณฑลต่างๆ ยังขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์มณฑลของตัวเอง ซึ่งถึงแม้บางมณฑลผู้สื่อข่าวต่างชาติไม่เคยไป แต่เมื่อได้ฟังเรื่องราวของมณฑลนั้นๆ เราก็ยินดีจะช่วยสนับสนุน


สำหรับผู้สื่อข่าวไทยก็ถูกขอสัมภาษณ์และขอความคิดเห็นมากมาย ส่วนหนึ่งเพราะว่าสามารถใช้ภาษาจีนได้ คุ้นเคยกับเมืองจีน ทำให้ง่ายต่อการทำงานของผู้สื่อข่าวจีน แต่ก็คาดไม่ถึงว่าการพูดคุยกับผู้สื่อข่าวสาวคนหนึ่งจะทำให้กลายเป็น “คนดัง” โดยไม่รู้ตัว

ในวันก่อนเปิดประชุม ผู้สื่อข่าวจาก China Daily สอบถามผู้สื่อข่าวต่างชาติว่าสนใจเรื่องอะไรในการประชุม “สมัชชา 20” ผู้สื่อข่าวไทยได้ตอบไปว่า “คนไทยคาดหวังว่าเมื่อไหร่การท่องเที่ยวของจีนจะกลับคืนสู่ปกติ ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 30% ของ GDP และนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง คนไทยจึงคาดหวังให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวเมืองไทยได้ในเร็ววัน”

ไม่นานหลังจากนั้น ฉันได้รับข้อความมากมายที่ส่งคลิปสัมภาษณ์นั้นมาให้ ทั้งจากเพื่อนคนจีนในเมืองจีน เพื่อนคนจีนในไทย ครูสอนภาษาจีน พนักงานของบริษัทที่เคยไปเยี่ยมชม แม้แต่พยาบาลที่ดูแลในช่วงกักตัวตอนที่เข้าประเทศจีน และเจ้าหน้าที่สถานทูตจีน ประจำประเทศไทยก็ยังส่งคลิปวีดิโอข้ามประเทศมาให้

ฉันได้รู้ในเวลาต่อมาว่า ผู้สื่อข่าวสาวจีนคนนั้นเป็น “ไอดอล” มีผู้ติดตามจำนวนมาก และคลิปสัมภาษณ์กลายเป็น “ไวรัล” ในโลกออนไลน์


ในคลิปวีดิโอต่อมา ผู้สื่อข่าวจาก China Daily ยังได้เอาคำพูดหยอกล้อระหว่างผู้สื่อข่าวไทยกับผู้สื่อข่าวมาเลเซียไปเผยแพร่จนโด่งดัง เมื่อเธอพาดหัวเรื่องว่า “นักข่าวมาเลเซียกับนักข่าวไทยทะเลาะกันเพราะทุเรียน”

ในคลิปนั้น ผู้สื่อข่าวไทยแซวผู้สื่อข่าวมาเลเซียว่า “ฉันไม่ชอบเขา เพราะเมื่อก่อนนี้มีเฉพาะประเทศไทยที่นำทุเรียนมาขายในเมืองจีนได้ แต่ตอนนี้ทุเรียนมาเลเซียก็เข้ามาขายในเมืองจีน เขาจึงเป็นคู่แข่งขันของฉัน...แต่ฉันว่าทุเรียนมาเลเซียไม่อร่อย โปรดกินทุเรียนไทย”

อีกเรื่องหนึ่งที่ฉันประทับใจในการทำข่าวครั้งนี้ คือ “มิตรจากความขัดแย้ง” เรื่องมีอยู่ว่า ในงานแถลงข่าวครั้งหนึ่ง ผู้ประกาศข่าวหนุ่มคนหนึ่งถูกคุณป้านางหนึ่งแย่งที่นั่งตอนที่เขาออกไปนอกห้อง เมื่อกลับเข้ามาพบว่าเก้าอี้ของตนถูกคุณป้านั่งไปแล้วจึงเกิดโต้เถียงกันขึ้น และจู่ๆ เขาบอกว่า “ลองถามคนที่นั่งอยู่ข้างๆ สิว่า ผมนั่งอยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรกใช่ไหม?”

ในตอนแรก ฉันก็คิดว่าจะยุ่งเรื่องชาวบ้านดีไหม? หรือทำเป็นนิ่งเฉยไปจะดีกว่า...แต่สุดท้ายก็ตอบว่า “ใช่ ที่นั่งนี้เป็นของเขาจริงๆ” …แม้ว่าคุณป้าจะไม่ยอมคืนที่นั่งให้ แต่ฉันและผู้ประกาศข่าวคนนั้นได้เป็นเพื่อนกัน ต่อมาเรื่องราวนี้ได้เป็นที่รับรู้ในหมู่ผู้สื่อข่าวชาวจีน ฉันได้เพื่อนใหม่มากมาย และถูกขอให้สัมภาษณ์ประชาสัมพันธ์มณฑลต่างๆ จำนวนมากด้วย


ผู้สื่อข่าวชาวจีนหลายคนบอกว่า นักข่าวจากสื่อใหญ่ของตะวันตกมักไม่ยอมให้สัมภาษณ์ เพราะกลัวจะถูกมองว่าช่วยประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลจีน แต่สำหรับตัวฉันเองก็ยึดมั่นในการรายงานข่าวตามความเป็นจริงเช่นกัน เพียงแต่เลือกวิธีพูดให้ “น่าฟัง” และผู้รับสาร “อยากฟัง” เพราะคนไทยคุ้นเคยดีกับคำพังเพยที่ว่า “อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย”.


กำลังโหลดความคิดเห็น