ซินหัว - มหาวิทยาลัยซีหนานเจียวทง การรถไฟจีน และ CRRC เปิดตัวรถไฟความเร็วสูงต้นแบบที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานแม่เหล็ก หรือ แมกเลฟ โดยเบื้องต้นสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 620 กม./ชม. โดยใช้เงินวิจัยในโครงการไปราว 278 ล้านบาท ชี้อนาคตต้นทุนจะถูกลง
วันนี้ (13 ม.ค.) มหาวิทยาลัยซีหนานเจียวทง หนึ่งในผู้ออกแบบหัวรถจักรที่ใช้เทคโนโลยีแมกเลฟชนิดตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูง (HTS หรือ High-Temperature Superconducting) ได้เปิดตัวต้นแบบเปิดตัวต้นแบบหัวรถจักรรถไฟพลังงานแม่เหล็กหรือรถไฟแมกเลฟ (Maglev) ที่จีนพัฒนาขึ้นเองนี้ เบื้องต้นสามารถทำความเร็วได้ถึง 620 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ในงานดังกล่าว ยังมีการเปิดตัวเส้นทางทดสอบรถไฟรุ่นใหม่ความยาว 165 เมตร ซึ่งมีหัวรถจักรของรถไฟแมกเลฟความยาว 21 เมตร วิ่งลอยเหนือรางอย่างช้า ๆ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญยกย่องการพัฒนาเทคโนโลยีตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูง ซึ่งเกิดจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการจีน
“แม้ทฤษฎีตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูงจะฟังดูยอดเยี่ยม แต่ในอดีตทุกคนมองมันเป็นเพียงของเล่นในห้องทดลอง และไม่มีใครลองทดสอบในสถานการณ์จริง” เติ้ง จื้อกัง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการขนส่งแมกเลฟความเร็วสูงมากในท่อแรงดันต่ำประจำมหาวิทยาลัยฯ กล่าว
คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีแมกเลฟรูปแบบอื่น เทคโนโลยีชนิดตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูงจะเหมาะสำหรับการขนส่งความเร็วสูงมากในท่อสุญญากาศ ซึ่งรถไฟสามารถวิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ด้าน อู๋ จื้อลี่ วิศวกรอาวุโสของมหาวิทยาลัยซีหนานเจียวทง เปิดเผยว่า ต้นทุนของระบบรถไฟแมกเลฟชนิดตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูง (HTS) นั้นแม้จะสูงกว่ารถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันสักเล็กน้อย แต่ต้นทุนก็จะถูกลงเมื่อมีการผลิตชิ้่นส่วนต่าง ๆ ในปริมาณที่มากขึ้น
สำหรับโครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุน 60 ล้านหยวน (ประมาณ 278 ล้านบาท) โดยเป็นการพัฒนาร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยซีหนานเจียวทง การรถไฟแห่งประเทศจีน และบริษัท ซีอาร์อาร์ซี คอร์เปอเรชั่น ลิมิเต็ด (CRRC Corporation Limited)
จีนถือเป็นผู้นำในการสร้างและให้บริการรถไฟความเร็วสูง โดยตัวเลข ณ สิ้นปี 2563 จีนมีทางรถไฟความเร็วสูงที่ให้บริการอยู่ยาวถึง 37,900 กิโลเมตร โดยถือว่าเป็นประเทศที่ให้บริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงยาวที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน