ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รฟท.สรุปผลการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงโคราช-หนองคาย มูลค่าก่อสร้าง 2.5 แสนล้าน รวมระยะทาง 356 กม. เป็นทางรถไฟระดับพื้น 185 กม. ยกระดับ 171 กม. มี 5 สถานี ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. เดินทางกรุงเทพฯ-หนองคาย แค่ 3.15 ชม. คาดก่อสร้างปี 2565 เปิดให้บริการปี 2572
วันนี้ (22 ธ.ค.) ณ ห้องสุรนารี บอลรูม โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย)
ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
การประชุมครั้งนี้ ได้นำเสนอผลสรุปการศึกษาของโครงการ ตั้งแต่การก่อสร้างที่กำหนดเป็นทางรถไฟระดับพื้นระยะทาง 185 กิโลเมตร และเป็นทางรถไฟยกระดับระยะทาง 171 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 356 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 250,000 ล้านบาท มีสถานีรถไฟทั้งสิ้น 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย และมี สถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และ ที่ นาทา จ.หนองคาย
พร้อมด้วยหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาทา จ.หนองคาย มีจุดย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) 1 แห่ง ที่นาทา จ.หนองคาย ใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่งผลให้การเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ถึง หนองคาย ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที
สำหรับรูปแบบการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ได้กำหนดให้มีการแก้ไขปัญหาจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ โดยมี 5 รูปแบบ ดังนี้ สะพานรถไฟ จำนวน 120 แห่ง ใช้ในกรณีตัดกับทางหลวงแผ่นดินสายหลักที่มีปริมาณการจราจรบริเวณจุดตัดค่อนข้างสูง เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดในเขตเมืองที่มีถนนสายหลักและสายรองตัดผ่านในระยะห่างใกล้กันหลายแห่ง
สะพานรถยนต์ จำนวน 25 แห่ง ใช้ในกรณีที่จุดตัดถนนสายหลักมีปริมาณการจราจรค่อนข้างมาก และมีเขตทางเพียงพอ สะพานกลับรถรูปตัวยู จำนวน 23 แห่ง ใช้ในกรณีตัดกับถนนที่มีปริมาณจราจรน้อย มีอุปสรรคสิ่งกีดขวางทั้งสองด้าน เขตทางไม่พอให้สามารถออกแบบมาตรฐานในลักษณะทางตรงได้ ทางลอดรถไฟ จำนวน 84 แห่ง ใช้ในกรณีที่เป็นจุดตัดทางรถไฟกับถนนลำลองที่มีปริมาณการจราจรต่ำ บริเวณพื้นที่เกษตรกรรมสองข้างทางรถไฟ และ ทางบริการ จำนวน 3 แห่ง ใช้บริเวณที่แนวเส้นทางรถไฟตัดผ่านถนนท้องถิ่นหลายๆ สาย โดยเชื่อมถนนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน แล้วก่อสร้างทางลอดหรือทางข้ามเพียงจุดเดียว
ด้านผลการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมการพัฒนาเฉพาะช่วงนครราชสีมา-หนองคาย พบว่า มีความเหมาะสมคุ้มค่าโดยคิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 11.24% ส่วนผลวิเคราะห์ความเหมาะสมการพัฒนาทั้ง 2 ระยะ (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) คิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.10%
สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการในระยะถัดไปภายหลังศึกษาโครงการนี้แล้วเสร็จ รฟท.จะเริ่มดำเนินการขออนุมัติดำเนินโครงการ และออกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในปี 2564 จากนั้นจะดำเนินการประกวดราคา สำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ในปี 2565 โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน
จากนั้นจึงเป็นงานติดตั้งระบบ โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 ใช้ระยะเวลาการดำเนินการ 66 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2572