มาต่อเรื่องเงินหยวนดิจิทัล...จากตอนแรกที่รายงานไปว่าจีนกำลังเหยียบคันเร่งผลักดันเงินหยวนดิจิทัลซึ่งมีชื่อทางการคือ DCEP(Digital Currency Electronic Payment) โดยในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาได้ประกาศเขตทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลสี่แห่ง ได้แก่ เซินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู เขตพัฒนาใหม่สยงอันในมณฑลเหอเป่ย และจะทดลองใช้ฯในบริเวณที่จัดมหกรรมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022
ดังที่ทราบกันทั่วไป จีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสด โดยประชาชนใช้จ่ายเงินอิเลคทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์มบนสมาร์ตโฟนกันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แนวโน้มการใช้จ่ายเงินอิเลคทรอนิกส์มีแต่เพิ่มขึ้น ข้อมูลสถิติของธนาคารประชาชนจีนซึ่งเป็นธนาคารกลางระบุว่าปริมาณธุรกรรมใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือระหว่างไตรมาสแรกของปี 2019 เพิ่มขึ้น 79.6 เปอร์เซ็นต์เทียบปีต่อปี โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น สูงขึ้น 22.32 เปอร์เซ็นต์
เงินหยวนดิจิทัลมีความแตกต่างกับแพลตฟอร์มใช้จ่ายเงินอิเลคทรอนิกส์ที่ใช้กันในปัจจุบันอย่างไร ทำไมจีนต้องผลักดันเงินหยวนดิจิทัล และที่สำคัญกว่านี้คือ ประโยชน์แฝงเร้น คืออะไร?
ประการแรก เงินหยวนดิจิทัลมีพื้นที่การใช้ครอบคลุมกว้างขวาง...ในประเทศจีนสองยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มใช้จ่ายเงินอิเลคทรอนิกส์ คือ วีแชท เพย์ (WeChat Pay) กับอาลีเพย์ (Alipay) โดยต่างก็มีพื้นที่ของตน เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช “เถาเป่า” (Taobao) และ “ทีมอลล์”(Tmall) รับชำระเงินผ่านอาลีเพย์เท่านั้น...ไม่รับวีแชท เพย์ ส่วนเจดี ดอท คอม (JD.COM) หรือตงจิง รับชำระเงินผ่านวีแชท เพย์เท่านั้น...ไม่รับอาลีเพย์
สำหรับเงินหยวนดิจิทัลที่ธนาคารกลางเป็นผู้ออก คือเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน เพียงมีแพลตฟอร์มการใช้จ่ายอิเลคทรอนิกส์ ทุกฝ่ายต้องยอมรับ เหมือนกับการซื้อสินค้าด้วยเงินสดที่อีกฝ่ายไม่อาจปฏิเสธการรับชำระเงิน
ประการที่สอง เงินหยวนดิจิทัลไม่ต้องผูกกับบัญชีเงินฝากหรือบัตรธนาคารใด ส่วนการใช้อาลีเพย์ วีแชท เพย์ หรือการใช้จ่ายเงินอิเลคทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์มใดๆต้องผูกกับบัตรธนาคาร พูดอีกอย่างก็คือ เงินหยวนดิจิทัลเป็นอิสระจากระบบบัญชีธนาคาร เหมือนกับการใช้เงินสดนั่นเอง
ดังนั้น เงินหยวนดิจิทัลจึงมีความปลอดภัย ในแง่ที่ว่าหากวีแชท เพย์หรืออาลีเพย์เจ็งปิดกิจการหรือล้มละลาย เงินของผู้ใช้ที่ฝากไว้ในกระเป๋าของบริษัทเหล่านั้นก็จะไม่ปลอดภัย แม้ว่าอัตราที่บริษัทรายใหญ่อย่างอาลี เพย์ ธุรกิจที่ดำเนินการโดย แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) บริษัทในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) หรือวีแชท เพย์ ของเทนเซนท์ (Tencent Holdings) มีน้อยมากก็ตาม แต่มันก็ยังมีอยู่ ขณะที่เงินหยวนดิจิทัลที่อยู่ในสมาร์ทโฟนนั้นเหมือนการมีเงินสดอยู่ในมือ
ประการสุดท้าย เงินหยวนดิจิทัลมีข้อดีกว่าอีกอย่างตรงที่สามารถใช้ได้แม้ในพื้นที่ไร้สัญญาณอินเทอร์เน็ต (transacted offline) ในขณะที่วีแชท เพย์ และอาลี เพย์ ต้องมีสัญญาณเน็ตจึงทำธุรกรรมได้
ก่อนที่จะไปถึงประโยชน์ข้อต่อไปของเงินหยวนดิจิทัล ขอพูดถึงประโยชน์แฝงของการใช้เงินหยวนดิจิทัล
อาลีเพย์ และ วีแชท เพย์ ยึดครองตลาดธุรกรรมใช้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในจีนรวมกันราว 94 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลปี 2019 ที่รวบรวมโดยiResearch ระบุว่าส่วนแบ่งตลาดฯของอาลีเพย์เพิ่มเป็น 55.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวีแชท เพย์ ครองตลาดอยู่ 38.9 เปอร์เซ็นต์ จนได้ชื่อเป็น “ดูโอโพลี” (Duopoly) หมายถึงสองยักษ์ใหญ่ค่ายธุรกิจผูกขาดตลาด ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจในจีน Analysys ระบุว่าช่วงสามเดือน (ไตรมาสสอง)ของปี 2019 มูลค่าธุรกรรมการธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือในจีน เท่ากับ 56.2 ล้านล้านหยวน (8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ)
การที่บริษัทเอกชนอย่าง อาลีเพย์ กับวีแชท เพย์ ควบคุมธุรกรรมการเงินปริมาณมากขนาดนี้ เป็นเรื่องที่พญามังกรนิ่งดูดายมิได้แล้ว สื่อเทศสำนักข่าวรอยเตอร์สเผยในเดือนก.ค.ว่าธนาคารกลางได้เสนอให้คณะกรรมาธิการต่อต้านการผูกขาดของคณะรัฐบาลจีน รวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นฟ้องการผูกขาดตลาดของอาลีเพย์ กับวีแชท เพย์
นี่มิใช่ครั้งแรกที่อาลีเพย์ กับวีแชท เพย์ มีเรื่องขัดแย้งกับธนาคารกลางของพญามังกร รายงานข่าวของสื่อในอังกฤษ Financial Times เผยว่าในปีที่แล้ว (2019) เทนเซนท์ กับอาลีบาบา ปฏิเสธให้ความร่วมมือกับโครงการให้เครดิตทางสังคมของรัฐบาลจีน โดยไม่ยอมให้เข้าถึงขุมข้อมูลเงินกู้ของลูกค้าของพวกเขา
ขอแถมข่าวล่าสุดร้อนในวงการนั่นก็คือ แอนท์ กรุ๊ป ถูกสกัดขายหุ้นแก่สาธารรณะ (IPO) ซึ่งจะเป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในตลาดเซี่ยงไฮ้ และตลาดฮ่องกงเมื่อวันพฤหัส(5 พ.ย.) ด้วย “ประเด็นบางประการ” โดยเป็นการยกเลิกฯก่อนสองวันของกำหนดการเปิดขายฯ งานนี้แจ๊ค หม่าแห่งอาลีบาบาจะหัวทิ่มหัวตำขนาดไหน
สอดคล้องกับที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ในจีนท่านหนึ่งกล่าวถึงแผนการออกเงินหยวนดิจิทัลว่ารัฐบาลจีนต้องการที่จะดึงอำนาจครอบงำตลาดมาอยู่ในมือ สื่อในอังกฤษ Financial Times อ้างอิงกลุ่มที่ใกล้ชิดกับธนาคารกลางเผยเช่นกันว่าธนาคารกลางจีนหวังใช้เงินหยวนดิจิทัลลดการครอบงำตลาดการใช้จ่ายเงินอิเลคทรอนิอกส์ของอาลีบาบาและเทนเซนท์...
ประโยชน์อีกด้านของหยวนดิจิทัลคือ ปราบบรรดาอาชญากรรมการเงิน
การใช้จ่ายด้วยเงินสดหรือเงินธนบัตร ไม่ทิ้งร่องรอยใดๆทั้งสิ้น ดังนั้น ขบวนการฟอกเงิน การอัดฉีดเงินทุนให้ลัทธิก่อการร้าย เป็นต้น จึงมักใช้เงินสดกัน
ส่วนการใช้จ่ายเงินผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ ทั้งระบบโอนเงินผ่านธนาคาร การโอนเงินผ่านวีแชท เพย์ อาลีเพย์ หรือแพลตฟอร์มฝ่ายที่สามรายใดก็ตาม จะมีร่องรอยหลักฐาน ซึ่งสร้างปัญหาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
สำหรับการใช้จ่ายด้วยเงินหยวนดิจิทัล เป็นธุรกรรมระหว่างสองฝ่ายซึ่งกระบวนการเหมือนกับธุรกรรมเงินสดคือไม่ทิ้งร่องรอยเช่นกัน...แต่ที่หลังฉากธนาคารกลางเป็นฝ่ายที่สามที่กุมข้อมูลธุรกรรมไว้ ดังนั้นธนาคารกลางจึงสามารถติดตามกระแสไหลเวียนของเงิน ซึ่งทำให้สามารถติดตามอาชญากรรมการเงิน เช่น การฟอกเงิน พวกหลบหนีภาษี ตลอดจนการสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มลัทธิก่อการร้าย
นอกจากนี้การที่ธนาคารกลางกุมข้อมูลธุรกรรมมหาศาลจะเป็นประโยชน์ในเชิงมหภาค ได้แก่ สามารถควบคุมปริมาณเงินตรา กำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างแม่นยำ และประโยชน์ในเชิงจุลภาคก็คือ การติดตามธุรกรรมในกิจกรรมการกุศล การบริจาคช่วยเขตประสบภัยพิบัติ และการช่วยเหลือพื้นที่ยากจน ตลอดจนเอาไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ช่วยงานปราบปรามอาชญากรรมการเงิน และการฟอกเงิน
กลุ่มนักสังเกตการณ์จึงมองกันว่า ในยุคเงินหยวนดิจิทัล ธนาคารแห่งประชาชนจีนจะกลายเป็น “ซูเปอร์แบงค์ชาติ” ที่อาจเข้าไปแวะข้องชีวิตประจำวันและพฤติกรรมของประชาชนได้ หากไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพพอในการควบคุมอำนาจ มันอาจนำไปสู่การละมิดอำนาจต่อสังคมแล้วในที่สุด “ได้ไม่คุ้มเสีย”
ดังจะเห็นได้ว่าการที่ผู้นำจีนผลักดันเงินหยวนดิจิทัลได้ประโยชน์หลายสถาน เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว.
คลิกอ่าน จีนเปิดม่านยุคเงินหยวนดิจิทัล สู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง ตอนที่ 1