ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ ผู้ที่เดินทางไปจีนและเว้นวรรคไม่ไปสักเพียงสองสามปี เมื่อกลับไปอีกครั้งจะพบความเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดจำกันแทบไม่ได้ว่านี่คือเมืองที่เราเคยมาหรือเคยอาศัยอยู่มาก่อน ผู้เขียนก็มีประสบการณ์ดังกล่าวโดยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2017 ได้กลับไปใช้ชีวิตทำงานในปักกิ่งนานเกือบปี ในตอนนั้นเมื่อมาถึงปักกิ่งไม่นานก็เกิดอาการ “ไปไม่ถูก...” ในการใช้ชีวิตประจำวันด้านหลักๆ อย่างเช่นการเดินทางในเมือง เนื่องจากปักกิ่งขยายเส้นทางรถไฟใต้ดินแผ่ขยายไปทั่วมุมเมืองอย่างน่าทึ่ง...
อีกเรื่องคือการใช้จ่ายเงิน จีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสดโดยส่วนใหญ่ไปแล้ว กระนั้นผู้เขียนก็ชอบใช้จ่ายด้วยเงินสดมากกว่า แต่ก็พบว่าแม้แต่คนค้าคนขายตามแผงลอยริมถนนไปยันห้างสรรพสินค้ายินดีต้อนรับเงินอิเลคทรอนิกส์ที่โอนจากโทรศัพท์มือถือมากกว่า ในที่สุดก็ต้องทำตัวตามสุภาษิตไทย “เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม” ต้องวิ่งไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจีนไว้สำหรับหักเงินจากบัญชีฯเวลาจับจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มที่เราเลือก โดยในจีนมียักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการใช้จ่ายเงินอิเลคทรอนิกส์สองค่ายคือ วีแชท เพย์ (WeChat Pay) และอาลี เพย์ (Alipay)
...ไม่ทันไร....จีนก็เปิดฉากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในด้านการใช้จ่ายเงินอีกครั้งสู่ยุค “เงินหยวนดิจิทัล” ซึ่งจะเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง โดยในสองสามเดือนมานี้จีนเดินหน้าเต็มสูบเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคเงินหยวนดิจิทัล
จีนได้ซุ่มวางแผนการใช้เงินหยวนดิจิทัลมาตั้งปี 2014 โดยธนาคารแห่งประชาชนจีนซึ่งเป็นธนาคารกลาง ได้เริ่มวิจัยการใช้เงินหยวนดิจิทัล... และในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาก็ได้ประกาศเขตทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลสี่แห่ง คือ เซินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู เขตพัฒนาใหม่สยงอันในมณฑลเหอเป่ย และจะทดลองใช้ฯในบริเวณที่จัดมหกรรมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022
ระหว่างที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เดินทางลงใต้ไปเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลอง “ครบรอบ 40 ปี การก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น” ณ เมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตงเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นเซินเจิ้นก็ได้ถือฤกษ์งามยามดีนี้เปิดเขตทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล พร้อมกับจัดกิจกรรมหมุนเลขจับสลากเพื่อแจกอั่งเปาเงินหยวนดิจิทัลให้กับประชาชน 50,000 คนในเขตหลัวหู ประชาชนที่ได้รับซองอั่งเปามูลค่า 200 หยวนนี้ สามารถนำเงินไปใช้จับจ่ายซื้อของตามห้างร้านที่กำหนด
ล่าสุดในวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้เผยร่างกฎหมายที่รับรองสถานภาพทางกฎหมายแก่เงินดิจิทัลจีน ที่ภาษาทางการเรียกว่า Digital Currency Electronic Payment โดยจะเป็นครั้งแรกที่เงินหยวนดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งของเงินตราของประเทศ ในร่างกฎหมายนี้ยังระบุห้ามผู้ใดผลิตเหรียญหรือเบี้ยเงินดิจิทัล (token) ออกมาในตลาดเพื่อใช้แทนเงินหยวน
“เงินหยวนดิจิทัล” คืออะไร
ทำไมต้องผลักดันเงินหยวนดิจิทัล ในเมื่อการใช้เงินอิเลคทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์ม อย่างเช่นอาลี เพย์ และวีแชท เพย์ ได้แพร่หลายมานับปีแล้ว จากข้อมูลสถิติของหน่วยงานจีนระบุว่าในปี 2018 อัตราการใช้จ่ายเงินผ่านสมาร์ตโฟนในจีน สูงเท่ากับ 83 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ 17 เปอร์เซ็นต์ เป็นการใช้จ่ายโดยที่ไม่ผ่านโทรศัพท์มือถือ อาทิ เงินสด และบัตรธนาคาร
ชื่อเรียก “เงินหยวนดิจิทัล” ที่ในทางสากลเรียก DCEP ย่อมาจาก Digital Currency Electronic Payment
เงินหยวนดิจิทัล (DCEP) คือ เหรินหมินปี้ (人民币) เป็นเงินตราที่กฎหมายให้การรับรอง ธนาคารกลางเป็นผู้ออก และใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในจีน
DCEP เป็น “ดิจิทัล” ไม่ใช่วัตถุที่จับต้องได้ ซึ่งมีข้อดีโดยตรงก็คือช่วยลดต้นทุนในการผลิตเงินตราออกมา ทั้งนี้ไม่ว่าเงินธนบัตรหรือเงินกระดาษ เหรียญกระษาปณ์ ต่างมีต้นทุนสูงมากในการผลิต การขนส่ง การจัดเก็บ การวิจัยเทคโนโลยีการปลอมเงินตรา เป็นต้น
ในยุคเงินหยวนดิจิทัล “เงินธนบัตร”จะเป็นสัญลักษณ์ที่เข้ารหัสลับ ใช้แอพฯบนมือถือโหลดออกมา เวลาจะใช้ก็สแกน QR โค้ด หรือผ่านระบบมือถือที่มีอยู่ก็สามารถใช้จ่ายได้
มู่ฉางชุน (穆长春) รองผอ. ฝ่ายชำระเงินและชำระดุล(Payment and Settlement Division) แห่งธนาคารกลางจีน อธิบายถึงการใช้เงินหยวนดิจิทัลอย่างง่ายๆว่า เพียงแค่สองฝ่ายมีเงินดิจิทัลอยู่ในกระเป๋าเงินดิจิทัลเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ต แค่โทรศัพท์มือถือมีแบตเตอรี่ เมื่อนำโทรศัพท์มือถือสองเครื่องมาแตะกัน ก็สามารถโอนเงินจากกระเป๋าเงินดิจิทัลไปเข้ากระเป๋าของอีกคน
มันเป็นการรับ-จ่ายเงินโดยที่สองฝ่ายไม่ต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ทำได้ นี่คือความเหนือชั้นกว่าของการใช้จ่ายเงินใช้จ่ายเงินอิเลคทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์มที่ใช้แพร่หลายกันอยู่ในปัจจุบัน