xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : 40 ปีกับการพัฒนาเมืองเซินเจิ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในไตรมาสแรกของปี 2020 นี้ จีดีพีของเมืองเซินเจิ้นเติบโต 0.1 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นเมืองเดียวของจีนในช่วงโควิด-19 ระบาดที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก ภาพ: เมืองเซินเจิ้นยามดึก (ภาพจาก Sougou.com)
ผู้เขียน ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)


เซินเจิ้นตั้งอยู่ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) เป็นเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ติดชายฝั่งทะเล เมื่อราว 40 ปีที่แล้วเมืองนี้เป็นเพียงชุมชนประมงเล็กๆที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 3 หมื่นคนเท่านั้น เมื่อจีนประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและนโยบายเปิดประเทศ ในปี 1979 เซินเจิ้นเป็นเมืองทดลองเพื่อเปิดเศรษฐกิจและพัฒนาความทันสมัย 40 ปี ผ่านไปเซินเจิ้นกลายเป็น 1 ในเมืองหลักของจีนที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน

ปัจจุบันเซินเจิ้นมีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,000 ตารางกิโลเมตรเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นสูงของจีนระดับโลกก่อตั้งและรวมตัวกันอยู่ที่นี่ ในไตรมาสแรกของปี 2020 นี้ GDP ของเซินเจิ้นเติบโต 0.1 เปอร์เซ็นต์ถือเป็นเมืองเดียวของจีนในช่วงโควิด-19 ระบาดที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก นี่ก็คือดรรชนีชี้วัดความแข็งแกร่งทางพื้นฐานเศรษฐกิจของเซินเจิ้นได้อย่างหนึ่ง ณ ปัจจุบันเซินเจิ้นได้ชื่อว่าเป็น “Silicon valley” ของจีนและเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งสัญลักษณ์ธุรกิจและการค้าที่สำคัญของจีน

ปีนี้เป็นปีแห่งการพัฒนาครบรอบ 40 ปีของเซินเจิ้น โดยในวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมาประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ไปร่วมงานเฉลิมฉลอง 40 ปีแห่งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ได้เน้นการเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีสู่การแข่งขันกับนานาชาติอย่างแข็งขัน


ทีนี้เรามาดูกันว่า 40 ปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาสำคัญต่างๆของเซินเจิ้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

-ปี 1979 ตำบลเป่าอัน มณฑลกวางต่ง ประกาศอัปเกรดเป็นเมืองเซินเจิ้น

-ปี 1980 คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 5 หรือสภานิติบัญญัติ อนุมัติการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของประเทศที่เมืองเซินเจิ้น

-ปี 1984 International Trade Building ตึกสูงแห่งแรกของเซินเจิ้นสร้างถึงชั้นสูงสุด ในขณะนั้นความรวดเร็วของการพัฒนาและขยายเมืองเซินเจิ้นถูกกล่าวขวัญไปทั่วประเทศ

-ปี 1989 ตลาดหุ้นแห่งแรกของจีนถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการที่เซินเจิ้น

-ปี 1993 เซินเจิ้นถูกจัดตั้งให้เป็นศูนย์ทางการเงินอย่างครบวงจรในขณะนั้น ทำให้ภาคการเงิน การธนาคารของเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว

-ปี 1999 เซินเจิ้นเป็นสถานที่จัดงาน “นิทรรศการการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี” แห่งแรกของจีน

-ปี 2001 เซินเจิ้นเป็นเมืองแรกของจีนที่เริ่มมีการอนุมัติให้มีการจัดสรรที่ดินเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ และเปิดให้เอกชนเช่าและพัฒนา ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีน

-ปี 2010 เซินเจิ้นทะยานขึ้นเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ของจีน

-ปี 2020-2025 เซินเจิ้นกำลังจะเป็นเมืองนำร่องเสริมสร้างสังคมนิยมแบบจีนและทดลองปฏิรูปแนวใหม่ทั้งระบบ อย่างในปีนี้ การใช้ “เงินหยวนดิจิทัล” Digital RMB ที่เซินเจิ้นเป็นการทดลองใช้ครั้งใหญ่ที่สุดจีน โดยในช่วงหลังวันชาติจีน (1 ต.ค.)ที่ผ่านมา ในเขตหลัวหูของเมืองเซินเจิ้นได้ปล่อยดิจิตัลอั่งเปา 10 ล้านหยวนให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น เพื่อเอาไปใช้จ่ายตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่ โดยได้มีการปรับเครื่องรับเงินของร้านค้าต่างๆให้เหมาะกับการใช้ Digital RMB จำนวน 3,000 กว่าเครื่อง โดยการใช้ Digital RMB ในเซินเจิ้นครั้งนี้ถือว่าเริ่มเร็วกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าการใช้ Digital RMB อย่างครอบคลุมในเมืองเซินเจิ้นน่าจะพร้อมใช้จริงในอนาคตอันใกล้นี้

ในปี 2020 นี้ การใช้ “เงินหยวนดิจิทัล”  Digital RMB ที่เซินเจิ้นเป็นการทดลองใช้ครั้งใหญ่ที่สุดของจีน ภาพ : เครื่อง POS แสดงออฟชั่นการรับจ่ายเงิน (ภาพจาก Huoxing.com)
หากย้อนกลับไปมองการพัฒนาเซินเจิ้นในยุคเริ่มต้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะมีฮ่องกงเป็นเพื่อนบ้านเรือนเคียงคอยส่งเสริม ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ของเซินเจิ้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงเริ่มต้นเซินเจิ้นโฟกัสด้านการเติบโตด้านอิเล็กทรอนิกส์มาตลอด โดยเริ่มจากการนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากฮ่องกง ต่อมาก็สร้างการผลิตเป็นของตัวเอง “หัวเหวย” (Huawei)ในช่วงแรกเป็นตัวแทนขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากฮ่องกง ส่วน ZTE ในขณะนั้นดำเนินธุรกิจประกอบชิ้นส่วนพัดลมและโทรศัพท์ หลังจากนั้นในช่วงสิบปีหลังเซินเจิ้นพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีไปพร้อมๆกัน อย่างเช่น บริษัทไอทีจีนที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ระดับโลกอย่าง Tencent ก็มีเริ่มบุกเบิกธุรกิจที่เซินเจิ้น แน่นอนว่าบริษัทที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ระดับโลกอย่างหัวเหวย และ ZTE ต่างก็มีจุดเริ่มต้นที่เซินเจิ้นเช่นกัน

ด้านการค้าระหว่างประเทศก็มีการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้า-ส่งออก ส่งผลให้หลายสิบปีแห่งการพัฒนาเซินเจิ้นมีบริษัทเอกชนเข้าไปทำธุรกิจมากมาย อีกทั้งการร่วมมือกับต่างประเทศก็เปิดกว้าง ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเซินเจิ้นจะได้วีซ่าทำงานง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆ

คนจีนมีการเปรียบเทียบเซินเจิ้นกับปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ว่าไม่เหมือนกันตรงที่ “เซินเจิ้นเปิดรับคนต่างถิ่นมากกว่า วันนี้คุณอาจจะเป็นเพียงคนธรรมดา พรุ่งนี้คุณอาจเป็นคนรวยได้” หมายความว่าสังคมของเซินเจิ้นเปิดรับความต่างได้มาก โอกาสมีมากกว่า กอปรกับความพร้อมห่วงโซ่อุตสาหกรรม ทำให้ทุกวันนี้เซินเจิ้นเป็นสวรรค์ของกลุ่ม Start up และคนทำงานด้านไอที

บางคนบอกว่าเซินเจิ้นเป็นเมืองที่มีการพัฒนาใหม่ดังนั้นไม่มีคำว่าคนพื้นที่หรือคนต่างถิ่น เซินเจิ้นพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ ทั้งด้านเทคโนโลยี การเงินธนาคาร และไอที กลายเป็นอุตสาหกรรมผลักดันการพัฒนา ดังนั้น “เซินเจิ้นคือเมืองที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา”

จากตัวเลขของรัฐบาลท้องถิ่นเซินเจิ้นรายงานถึงจำนวนธุรกิจเทคโนโลยีในพื้นที่ โดยในพื้นที่ทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตร จะมีธุรกิจด้านเทคโนโลยีอยู่ 8.51 บริษัท เซินเจิ้นมีบริษัทถูกจัดอันดับฟอร์ป 500 อยู่ 8 บริษัท ภายในเมืองเซินเจิ้น 96 เปอร์เซ็นต์คือบริษัทเอกชน โดยมีธุรกิจของรัฐบาลอยู่น้อยมาก และยังเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของบริษัทระดับโลกที่อยากจะเข้ามายังตลาดจีน


การขอสิทธิบัตรนานาชาติ PCT และสิทธิบัตรภายในประเทศของเมืองต่างๆทั่วประเทศจีน เซินเจิ้นนำมาเป็นอันดับ 1 หากคิดในอัตราเฉลี่ยของการขอสิทธิบัตรในเซินเจิ้นภายประเทศจีนในปี 2019 ประชากรในเซินเจิ้นทุก 10,000 คน จะมีการยื่นขอสิทธิบัตรทั้งสิ้น 106.3 ฉบับ สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ 8 เท่า ส่วนการขอสิทธิบัตรนานาชาติ PCT ในปี 2019 มีจำนวนการยื่นทั้งสิ้น 17,549 ฉบับ เซินเจิ้นเป็นเมืองเดียวของจีนที่มีจำนวนการขอสิทธิบัตรนานาชาติอันดับหนึ่งติดต่อกัน 16 ปี และด้านเทคโนโลยีที่ทุกคนจับตาอย่าง 5G แค่ในปีนี้ที่เซินเจิ้นมีเสาสัญญาณแล้วทั้งสิ้น 45,000 แห่งและในอนาคตอันใกล้ 5G จะครอบคลุมเมืองเซินเจิ้นทั้งหมดและกลายเป็นเมืองแรกของโลกที่มี 5G ใช้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่

   กว่าจะเป็นเซินเจิ้นอย่างที่เราเห็นในวันนี้ไม่ง่าย เซินเจิ้นในช่วงก่อร่างสร้างตัวมีคำขวัญของเมืองที่ว่า “เวลามีค่า ประสิทธิภาพคือชีวิต”ซึ่งเป็นคำขวัญนี้ที่ยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้คนฮึกเหิมและให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเวลาเป็นสิ่งมีค่า ในทุกๆปีรัฐบาลท้องถิ่นเซินเจิ้นจะอนุมัติงบประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ออกมาใช้ในด้านวิจัยและพัฒนา ดังนั้นไม่ใช่แค่เอกชนเท่านั้นที่มีบทบาทโดดเด่นในพื้นที่ รัฐบาลเองก็ต้องช่วยส่งเสริม สร้างสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่างๆที่เหมาะสมแก่ภาคธุรกิจเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น