xs
xsm
sm
md
lg

‘75 ปี UN’ : ‘โควิด-19’ เผย ‘ความไม่เท่าเทียม’ ทั่วโลก ชี้ “คนจนเจ็บที่สุด”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วอลคาน บอสคีร์ (ซ้ายหลัง) ประธานการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 75 ปราศรัยระหว่างการประชุมระดับสูงในวาระครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2020--แฟ้มภาพซินหัว
สำนักข่าวซินหัวรายงานการประชุมใหญ่เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติเมื่อวันจันทร์ (21 ก.ย.) เจ้าหน้าที่แห่งองค์การพิทักษ์โลกกล่าวว่าการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เผยให้เห็นถึงความเป็นจริงของความไม่เท่าเทียมทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศอย่างชัดเจน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คือ “กลุ่มคนที่ยากไร้ที่สุด”

“ประเทศที่ร่ำรวยสามารถจัดสรรเงิน 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 345.13 ล้านล้านบาท) ได้ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องดิ้นรนหาทรัพยากรเพียงน้อยนิดที่พวกเขาจำเป็นต้องมี” มูนีร์ อัคราม ประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) กล่าวระหว่างการประชุมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติ

วอลคาน บอสคีร์ จากประเทศตุรกีซึ่งเป็นประธานคนใหม่ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มีประเทศสมาชิก 193 ราย เป็นผู้เปิดการประชุมดังกล่าว ตามด้วยการปราศรัยของ อันโตนิอู กูแตร์เรช เลขาธิการสหประชาชาติ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ และบรรดาผู้แทนจากประเทศต่างๆ โดยการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อนาคตที่เราต้องการ สหประชาชาติที่เราต้องมี : ยืนยันพันธกิจร่วมต่อระบบพหุภาคี” (The future we want, the United Nations we need: reaffirming our collective commitment to multilateralism)


“เรากำลังเผชิญความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ การฟื้นตัวขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และการหลีกเลี่ยงหายนะด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะมาถึง” อัครามกล่าว โดยนอกจากจะเป็นประธานคณะมนตรีแล้ว เขายังเป็นผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติของปากีสถาน

อัครามกล่าวว่าทุกประเทศควรผนึกกำลังรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และเสริมว่าเมื่อวัคซีนโรคโควิด-19 ได้รับการพัฒนาเสร็จสิ้นและสามารถใช้งานได้เมื่อไร “ควรเปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนในทุกหนแห่งสามารถหาซื้อได้ในราคาย่อมเยา โดยไม่มีการกีดกันแบ่งแยก”

 “สหประชาชาติจะไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้หากนานาประเทศเลือกที่จะกระทำเพียงฝ่ายเดียวแทนการใช้แก้แบบพหุภาคี”มูนีร์ อัคราม ประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC)  --ภาพจากเว็บไซต์ un.org)
การจะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง “อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” ซึ่งอัครามกล่าวว่า “ไม่มีใครสามารถส่งเสริมความร่วมมือในระดับนี้ได้นอกจากสหประชาชาติและองค์กรในเครือ”

ในช่วงเวลาที่ปากีสถานเป็นประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติในปีนี้ อัครามระบุว่าปากีสถานจะให้ความสำคัญกับขั้นตอนที่ปฏิบัติได้จริงและปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเอาชนะความท้าทายทั้งสามประการข้างต้น ซึ่งรวมถึงการจัดสรรเงินทุนที่จำเป็น ขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน รวมถึงการประยุกต์ใช้และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ

“สหประชาชาติไม่สามารถปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ขององค์กรได้ หากคณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถเคลื่อนไหว และสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติถูกลดความสำคัญ” อัครามกล่าว “สหประชาชาติจะไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้หากนานาประเทศเลือกที่จะกระทำเพียงฝ่ายเดียวแทนการใช้แก้แบบพหุภาคี”

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่าโลกกำลังเอนเอียงไปยังเส้นทางที่จะบ่อนทำลายโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาสันติภาพและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งรวมถึงการบ่อนทำลายสหประชาชาติ พร้อมกล่าวกระตุ้นให้ทุกฝ่ายให้คำมั่นผ่านการประกาศว่าจะ “หันเหจากเส้นทางนี้” เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีของสหประชาชาติ

คำประกาศฉบับใหม่ระบุว่าปัญหาความท้าทายของโลกล้วนเกี่ยวพันกันและหนทางเดียวในการแก้ไขคือการกระชับความเข้มแข็งของระบบพหุภาคี อันเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งเพราะสิ่งที่โลกแสวงหามาโดยตลอดคือการ “สร้างโลกที่เท่าเทียม สมารถฟื้นตัวได้ และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น