xs
xsm
sm
md
lg

RISC by MQDC เจาะลึกเทรนด์โลก ถอดรหัส Well-being Trend 2020-2021 จัดทำคู่มือเพื่อความอยู่ดีมีสุขในโลกยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ดำเนินงานตามพันธกิจ “For All Well-being” คือการคิดและสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสรรพสิ่งบนโลก จึงให้ความสำคัญกับความอยู่ดีมีสุข (Well-being) โดยทำการศึกษาวิจัยและนำเสนอไว้ในหนังสือ “Well-being Trend 2020-2021” ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้คนได้รับความรู้ เกิดแรงบันดาลใจ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน และร่วมสร้างโลกที่ดียิ่งขึ้น

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัย RISC สรุปว่า ความอยู่ดีมีสุข (Well-being) สำหรับประเทศไทยมี 7 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) มาตรฐานการดำรงชีพ 2) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 3) ความสัมพันธ์ทางสังคมและมีส่วนร่วมทางการเมือง 4) สุขภาพกายและสุขภาพจิต 5) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6) การศึกษา และ7) การบริหารงานของภาครัฐ โดย RISC ให้ความสำคัญมากที่สุดกับองค์ประกอบที่สี่และห้า ด้วยการมุ่งเน้นศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบเชิงลึกให้กับทั้งสององค์ประกอบดังกล่าว


“Well-being Trend 2020-2021” หนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความรู้และนำเสนอความเป็นไปได้สำหรับอนาคตเกี่ยวกับความอยู่ดีมีสุข โดยผ่านขั้นตอนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้ถึงแนวโน้มหลักที่ส่งผลกระทบระดับโลกและระดับภูมิภาค (Mega Trend) แนวโน้มในระดับมหภาค (Macro Trend) รวมถึง แนวโน้มใหม่ๆ หรือแนวโน้มย่อย (Micro Trend)

Mega Trends แนวโน้มหลักหรือแก่นความเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ที่มีการสำรวจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคมโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และยังช่วยคาดการณ์แนวโน้มและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมด้านนโยบายของทั้งภาครัฐและเอกชน


สำหรับ Mega Trends ที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ เทรนด์แรก ”สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม” โดยสังคมสูงวัยและกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงโลก มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เทรนด์ที่สอง “สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ” โดยการเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลก การเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการใหม่ และการเกิดนวัตกรรมสินค้าและบริการ จะเห็นได้ในอนาคตอันใกล้ เทรนด์ที่สาม “สถานการณ์การขยายตัวของเขตเมือง” จะเกิดสถานการณ์การเติบโตของเขตเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตเมือง และการเปลี่ยนชนบทเป็นเมือง เทรนด์ที่สี่ “ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เกิดปัญญาประดิษฐ์ ยุคแห่งข้อมูล อากาศยานไร้คนขับ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง และระบบอัตโนมัติ และเทรนด์ที่ห้า “สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรและสภาพภูมิอากาศ” เกิดวิกฤตด้านทรัพยากร โดยปัจจุบันเห็นได้ว่าแนวโน้มหลักเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว


ส่วน Macro Trends เป็นการสังเคราะห์สถานการณ์แนวโน้มหลักที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะเวลา 5-10 ปี ผ่านความต้องการและค่านิยมที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต โดย RISC ได้นำ Mega Trends 5 กลุ่มข้างต้น มาเชื่อมโยงไปสู่ Macro Trends ที่น่าสนใจ พร้อมกับคำอธิบายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เช่น “การเปลี่ยนแปลงทางสังคม” จะทำให้เกิด “เทรนด์ด้านสุขภาพและสุขภาวะ”คือเรื่องใหญ่ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ เทคโนโลยีอัจฉริยะจะนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ฯลฯ หรือ“พลังของชนชั้นกลาง” กลุ่มคนชั้นกลางจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและโลก ผ่านการใช้จ่ายและการลงทุน รวมทั้ง มีอิทธิพลในการเรียกร้องผ่านสื่อต่างๆ เป็นต้น

“การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ” จะทำให้เกิด “การเติบโตของเศรษฐกิจใหม่” ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเดิมเป็นฐานการผลิตให้ประเทศพัฒนาแล้ว กำลังก้าวเป็นผู้ผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ หรือ“ใครๆ ก็เริ่มธุรกิจได้” เพราะศักยภาพการจัดการงานร่วมกัน ประกอบกับกลุ่มคนที่เข้ามาแชร์ทรัพยากรความรู้จะเอื้อให้ภาคธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาวมากกว่าการฉายเดี่ยว บริษัทเล็กๆ และภาคประชาชนสามารถรวมกลุ่มเพื่อสร้างต้นทุนใหม่ได้ด้วยตนเอง ฯลฯ

“การขยายตัวของเขตเมือง” จะทำให้เกิด “เมืองหลากหลายรุ่น” การก้าวสู่สังคมสูงวัยท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้นส่งผลให้ในครัวเรือนมีเจนเนอเรชั่นเพิ่มขึ้น การออกแบบที่พักอาศัยจึงต้องให้ความสำคัญคนหลายรุ่นที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน ทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น

“ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ทำให้ได้เห็น “อุปกรณ์ต่างๆ ล้วนมีเซนเซอร์” หรือ “ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์” เป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดมากขึ้น และ“การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรและสภาพภูมิอากาศ” จะทำให้เกิดแนวโน้มใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีสะอาด การเก็บเกี่ยวพลังงาน การบริโภคอย่างมีจริยธรรม เป็นต้น


นอกจากนี้ RISC ยังได้เจาะลึก Micro Trends ถอดรหัสแนวโน้มย่อยๆ นับร้อย ที่ส่งสัญญาณต่อตลาด เป็นความต้องการของผู้บริโภคในระยะ 1-5 ปี โดยเฉพาะที่สอดคล้องกับเรื่องความอยู่ดีมีสุข (Well-being) ยกตัวอย่าง เทรนด์ด้านมาตรฐานการดำรงชีวิต เช่น ห้างสรรพสินค้าเสมือน ถนนอัจฉริยะ บ้านสะอาดปลอดเชื้อโรค หรือ เทรนด์ด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น สกุลเงินดิจิทัลโดยรัฐบาล รายได้พื้นฐานทั่วหน้า หรือ เทรนด์ด้านสุขภาพกายและจิต เช่น ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ต้นไม้ช่วยผ่อนคลาย ออกแบบเพื่อทุกเจเนอเรชั่น เมืองเดินได้คนสุขภาพดี สูงวัยอย่างมีคุณภาพ หรือ เทรนด์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ เช่น ใช้ให้คุ้มกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รีไซเคิลเพื่อรักษาทรัพยากร ขออากาศดีคืนมา ฯลฯ

เทรนด์ต่างๆ ดังกล่าว เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ยังมีตัวอย่างเทรนด์อีกมากที่นำเสนอในหนังสือ Well-being Trend 2020-2021 และไม่เพียงนำเสนอเทรนด์ในระดับต่างๆ แต่ยังมีความรู้เกี่ยวกับแนวคิด “ความอยู่ดีมีสุข” ว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด และทำไมจึงกลายเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรือความก้าวหน้าที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญมากขึ้น ท่ามกลางความท้าทายในโลกยุคใหม่