xs
xsm
sm
md
lg

ประชากรค่อนโลกหมดสิทธิ์! แฉบรรดาประเทศร่ำรวยจองวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่าครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มากกว่าครึ่งของวัคซีนโควิด-19 ในอนาคตจะตกอยู่ในมือของบรรดาประเทศร่ำรวยทั้งหลาย ซึ่งมีประชากรรวมกันคิดเป็นแค่ 13% ของประชากร จากคำเตือนของอ็อกซ์แฟม (Oxfam) แต่ทั้งนี้ในรายงานขององค์กรการกุศลองค์การแห่งนี้ไม่ได้พาดพิงถึงทางเลือกจากรัสเซียแต่อย่างใด


อ็อกซ์แฟมเตือนในถ้อยแถลงว่า ประชากรโลกเกือบ 2 ใน 3 อาจเข้าไม่ถึงวัคซีนโควิด-19 ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยกล่าวโทษไปต่อบริษัทยาทั้งหลายที่ปรารถนาปกป้องระบบผูกขาดของตนเอง และขายวัคซีนปกป้องชีวิตแก่ “ผู้เสนอราคาสูงสุด” แทนที่จะแบ่งปันวัคซีนให้ทั่วโลกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

5 ผู้ผลิตวัคซีนซึ่งเป็นเจ้าของวัคซีนตัวเต็งทั้งหลายที่ปัจจุบันเข้าสู่การทดลองเฟส 3 แล้ว ได้ลงนามในสัญญาต่างๆ สำหรับจัดหาวัคซีนแก่บรรดาดินแดนและประเทศพัฒนาแล้วบางแห่ง คิดเป็นมากกว่าครึ่งของวัคซีนที่จะถูกผลิตออกมาในอนาคตอันใกล้นี้ ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, อียู, ออสเตรเลีย, ฮ่องกง, มาเก๊า, ญี่ปุ่น, สวิตเซอร์แลนด์ และอิสราเอล ตามคำกล่าวของอ็อกซ์แฟม ซึ่งอ้างข้อมูลที่รวบรวมโดย Airfinity บริษัทชั้นนำด้านการวิเคราะห์ข้อมูล

นอกจากนี้แล้ว วัคซีนโดสที่เหลือมีคำสัญญาว่าจะมอบให้แก่อินเดีย, บังกลาเทศ, จีน, บราซิล อินโดนีเซีย และเม็กซิโก เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั้งนี้ จากข้อมูลของอ็อกซ์แฟมพบว่า ปริมาณการผลิตของผู้พัฒนาวัคซีนทั้ง 5 ราย คิดเป็นจำนวนไม่ถึง 6,000 ล้านโดส นั่นหมายความว่าจะมีประชากรโลกเพียงแค่ 3,000 ล้านคนที่จะได้รับวัคซีนในช่วง 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากโครงการวัคซีนส่วนใหญ่นั้นจำเป็นต้องใช้วัคซีน 2 โดสต่อ 1 คน

จากข้อมูลของอ็อกซ์แฟมพบว่า ประเทศต่างๆ อย่างเช่นสหราชอาณาจักร ได้สั่งจองอุปทานวัคซีนล่วงหน้า เทียบเท่ากับ 5 โดสต่อประชากร 1 คน ซึ่งดูเหมือนเป็นการเบียดเบียนบรรดาประเทศที่ไม่ร่ำรวยนักซึ่งไม่สามารถบรรลุข้อตกลงแบบเดียวกัน

อ็อกซ์แฟมได้กล่าวโจมตีโดยเฉพาะต่อโมเดอร์นา บริษัทยาสัญชาติสหรัฐฯ กล่าวหาว่าบริษัทแห่งนี้ปรารถนา “ทำกำไร” จากวัคซีน ด้วยการตั้งราคาขาย 12-16 ดอลลาร์ (375-500 บาท) ต่อโดสในสหรัฐฯ และ 35 ดอลลาร์ (ราว 1,100 บาท) ต่อโดสสำหรับประเทศอื่นๆ

“จากการคำนวณเผยให้เห็นระบบที่ผุพัง ที่ปกป้องระบบผูกขาดและการแสวงหากำไรของบรรดาบริษัทยา และเอื้ออำนวยแก่บรรดาประเทศร่ำรวย ในขณะที่การจำกัดกำลังผลิตตามอำเภอใจ ส่งผลให้ประชากรเกือบทั้งโลกต้องรอวัคซีนหนึ่งๆ นานเกินความจำเป็น” อ็อกซ์แฟมกล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการพัฒนาและผลิตในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "วัคซีนของประชาชน เข้าถึงได้สำหรับทุกคน ฟรีและแจกจ่ายอย่างยุติธรรมบนพื้นฐานแห่งความจำเป็น”

รายงานของอ็อกซ์แฟมได้ชื่นชม แอสตราเซเนกา บริษัทผลิตยาของอังกฤษ-สวีเดน ที่ได้ให้คำสัญญามอบวัคซีน 2 ใน 3 ที่พวกเขาผลิตแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย แต่บอกว่ามันยังไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของอ็อกซ์แฟมไม่ได้พาดพิงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าศูนย์วิจัยแห่งชาติกามาเลยาของรัสเซีย สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัฐที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาหนึ่งในวัคซีนโควิด-19 ที่มีแววซึ่งเคยบอกว่าพร้อมและมีความตั้งใจแบ่งปันเทคโนโลยีกับประเทศต่างๆ เกือบ 30 ชาติ

ทัตยานา โกลิโควา รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย ระบุว่า บราซิล, เวเนซุเอลา, อาเซอร์ไบจาน, คาซัคสถาน และเบลารุส อยู่ในรายชื่อว่าที่คู่หูของรัสเซียในการพัฒนาและผลิตวัคซีน แม้การถ่ายโอนเทคโนโลยีจะไม่ฟรีทั้งหมดตามข้อเรียกร้องของอ็อกซ์แฟม แต่ประเทศพันธมิตรแต่ละแห่งที่จับมือกับมอสโก สามารถเลือกทางเลือกต่างๆ สำหรับการทำงานร่วมกัน

เม็กซิโก คือหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมในการทดลองขั้น 3 กับวัคซีนของรัสเซีย และจะได้รับวัคซีน 2,000 โดสเพื่อจุดประสงค์นี้

ก่อนหน้านี้ คิริล ดมิทริเยฟ หัวหน้ากองทุนรัสเซียน ไดเรกต์ อินเวสต์เมนต์ ฟันด์ (Russian Direct Investment Fund) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพูดคุยกับประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับการซื้อวัคซีนและถ่ายโอนเทคโนโลยี เผยว่าอินเดียจะกลายเป็นศูนย์กลางหลักสำหรับการผลิตวัคซีน สปุตนิก V ของรัสเซีย

“อินเดียคือหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนชั้นนำ” ดมิทริเยฟกล่าว พร้อมระบุว่าหน่วยงานของเขากำลังเจรจาอย่างกระตือรือร้นกับรัฐบาลอินเดียและบรรดาบริษัทอินเดีย เพื่อบรรลุข้อตกลงผลิตในอินเดีย เพิ่มเติมจากที่มอสโกให้สัญญาว่าจะมอบวัคซีน 100 ล้านโดสแก่อินเดีย

(ที่มา : รัสเซียทูเดย์)


กำลังโหลดความคิดเห็น