xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียว“แอสตรา”กลับมาทดลองวัคซีนโควิด-19 แม้พบผู้ทดลองป่วยไม่ทราบสาเหตุ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทแอสตราเซเนกา กลับมาทดลองทางคลินิกวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) ซึ่งเป็นแคนดิเดตที่มีแววที่สุดและมีความคืบหน้าในการพัฒนามากที่สุด หลังได้รับไฟเขียวจากหน่วยงานเฝ้าระวังความปลอดภัย หลังจากก่อนหน้านี้ต้องหยุดการทดสอบชั่วคราว จากกรณีพบอาสาสมัครล้มป่วยอย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ

การทดลองขั้นสุดท้ายของวัคซีนที่ทางแอสตราเซเนการ่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ถูกระงับไปเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ หลังพบอาสาสมัครรายหนึ่งในสหราชอาณาจักร เกิดอาการป่วยที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ ก่อข้อสงสัยต่อกำหนดเวลาการเปิดตัววัคซีน

อย่างไรก็ตามล่าสุด แอสตราเซเนกา ระบุในถ้อยแถลงว่า "ในวันที่ 6 กันยายน กระบวนการทบทวนตามมาตรฐานซึ่งมีสาเหตุจากอาสาสมัครรายหนึ่ง ได้หยุดการทดลองทั่วโลกเพื่อเปิดทางให้มีการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยโดยคณะกรรมการอิสนะและคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบนานาชาติ"

แอสตราเซเนกาบอกต่อว่าคณะผู้ทบทวนด้านความปลอดภัยได้แนะนำสำนักงานกำกับดูแลยาและสุขภาพ(MHRA) แห่งสหราชอาณาจักร ว่ามันมีความปลอดภัยที่่จะกลับสู่การทดลอฃในสหราชอาณาจักร

แม้ไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานว่าอาสาสมัครรายดังกล่าวมีอาการทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของไขสันหลังที่หาได้ยากมาก ความผิดปกติที่เรียกว่า "ไขสันหลังอักเสบ" อย่างไรก็ตามทาง แอสตราเซเนกา ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองเคมบริดจ์ ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์เพิ่มเติม

"ทางบริษัทจะเดินหน้าทำงานร่วมกับบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลก และนำร่องแก่การทดลองทางคลิกนิกอื่นๆ เมื่อการทดลองคลินิกเหล่านั้นสามารถกลับมาทดลองได้อีกครั้ง เพื่อแจกจ่ายวัคซีนอย่างกว้างขวาง, เท่าเทียมและไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างโรคระบาดใหญ่นี้" แอสตราเซเนการะบุ

กระนั้นแอสตราเซเนกา ปฏิเสธคาดหมายว่าการทดลองทั่วโลกในที่อื่นๆนั้น จะหวนคืนสู่การทดสอบได้เมื่อไหร่

สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียบอกว่าะกลับมาทำการทดลองทางคลินิก ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากหน่วยงานควบคุมยาของอินเดีย ส่วน ANVISA คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านสาธารณสุขของบราซิล ระบุว่าจะรอทาง MHRA แจ้งยืนยันคืนสู่การทดลองทางคลินิกมาก่อน แล้วถึงจะคืนสู่การทดลองในบราซิล

รัฐบาลต่างๆทั่่วโลกกำลังดิ้นรนเสาะหาวัคซีนช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ ซึ่งคร่าชีวิตผู้นแล้วมากกว่า 900,000 รายและก่อความปั่นป่วนแก่เศรษฐกิจโลก และทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกา เป็นแคนดิเดตที่มีแววที่สุด

การทดลองขั้นสุดท้ายวัคซีนของแอสตราเซเนกา มีขึ้นทั้งในสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, บราซิล และแอฟริกา และมีแผนเปิดการทดสอบเพิ่มเติมในญี่ปุ่นและรัสเซีย

ปัญหาสะดุดของการทดลอง เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานว่าสหรัฐฯมีเป้าหมายอนุมัติสถานะ “fast track” หรือเห็นชอบวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งก่อนถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกระตุ้นให้บรรดาผู้พัฒนาวัคซีนจากทั้งสหรัฐฯและยุโรป ต้องออกมาให้คำสัญญาว่าจะยึดมั่นมาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิผลสำหรับวัคซีนทดลอง และไม่โอนอ่อนต่อแรงกดดันทางการเมืองที่ต้องการเร่งรัดกระบวนการต่างๆ
(ที่มา:รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น