xs
xsm
sm
md
lg

องค์การอนามัยโลกยืนยัน ต้องถึงกลางปีหน้าจึงจะมี‘วัคซีนป้องกันโควิด’ใช้กันอย่างกว้างขวาง ย้ำต้องเช็กประสิทธิภาพ-ความปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การอนามัยโลกไม่คาดหวังว่าจะมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 อย่างกว้างขวาง จนกว่าจะถึงกลางปีหน้า โฆษกและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO แถลงในวันศุกร์ (4 ก.ย.) พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจเช็กอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน

มาร์กาเรต แฮร์ริส โฆษกของ WHO บอกว่า ในบรรดาวัคซีนที่กำลังวิจัยพัฒนากันอยู่และมาถึงขั้นทดสอบทางเทคนิคระดับก้าวหน้าแล้วนั้น จนถึงเวลานี้ยังไม่มีตัวใดที่ส่ง “สัญญาณอย่างชัดเจน” ว่ามีประสิทธิภาพในระดับอย่างน้อย 50% ตามที่ทางองค์การอนามัยโลกเรียกร้องต้องการ

รัสเซียได้อนุมัติในทางกฎหมายตั้งแต่เดือนสิงหาคม ให้นำวัคซีนตัวหนึ่งมาใช้ป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้แล้ว แต่เนื่องจากวัคซีนตัวนี้ใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือนในการทดสอบกับมนุษย์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในโลกตะวันตกพากันตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รวมทั้งถึงแม้เพิ่งมีรายงานเมื่อวันศุกร์ (4) เช่นกันใน “แลนสิต” วารสารทางการแพทย์ชื่อดังว่า ผลการทดสอบในขั้นแรกๆ ของวัคซีนรัสเซียตัวนี้ ร่างกายของผู้รับวัคซีนสามารถพัฒนาภูมิต้านทาน และไม่มีอาการผลข้างเคียงร้ายแรง แต่ก็ยังถูกท้วงติงว่า ตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบเบื้องต้นนี้ยังมีแค่ 76 ราย ซึ่งน้อยเกินกว่าที่จะสามารถสรุปผล และจำเป็นต้องมีติดตามผลการทดสอบในวงกว้างขวางยิ่งกว่านี้

ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯและบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ แถลงในวันพฤหัสบดี (3) ว่า วัคซีนตัวหนึ่งที่วิจัยพัฒนาอยู่น่าจะพร้อมสำหรับการแจกจ่ายได้อย่างเร็วที่สุดคือปลายเดือนตุลาคมนี้ กำหนดเวลานี้หมายถึงไม่กี่วันก่อนหน้าการเลือกตั้งในสหรัฐฯวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งประเด็นเรื่องโรคระบาดโควิด-19 น่าจะเป็นปัจจัยใหญ่ประการหนึ่งในหมู่ผู้ออกเสียงที่จะเป็นผู้ตัดสินประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะได้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัยหรือไม่

“จริงๆ แล้ว เราไม่ได้กำลังคาดหมายว่าจะได้เห็นการใช้วัคซีนกันอย่างกว้างขวาง จนกว่าจะถึงกลางปีหน้า” แฮร์ริสนกล่าวในการแถลงข่าวของหน่วยงานชำนัญพิเศษของยูเอ็นแห่งนี้ที่นครเจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์

เธอย้ำว่า การทดสอบในเฟส 3 ที่เป็นขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นการทดสอบทางคลินิกในกลุ่มคนจำนวนมากนั้น เป็นการเทสต์ที่ “ต้องใช้เวลานานกว่าเฟสอื่นๆ เนื่องจากเราจำเป็นต้องดูว่าวัคซีนนี้สามารถป้องกันโรคได้อย่างแท้จริงแค่ไหน และเรายังจำเป็นต้องดูว่ามันปลอดภัยเพียงใดอีกด้วย”

ข้อมูลทั้งหมดจากการทดสอบทั้งหลาย ควรจะต้องมีการแบ่งปันแลกเปลี่ยนและเปรียบเทียบ แฮร์สินกล่าวต่อ “มีคนจำนวนมากแล้วที่ได้รับวัคซีน แต่เราก็ไม่ทราบเลยว่าวัคซีนได้ผลแค่ไหน ... ในขั้นตอนนี้เรายังไม่ได้เห็นสัญญาณอย่างชัดเจนเกี่ยวกับระดับความคุ้มค่าทางด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย”

ทางด้าน ซุมยา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) ประธานนักวิทยาศาสตร์ของ WHO แถลงต่อมาในวันดียวกันโดยย้ำว่า “แน่นอนที่ว่าเมื่อถึงกลางปี 2021 เราควรเริ่มที่จะเห็นวัคซีนบางตัวกำลังแจกจ่ายสู่ประเทศต่างๆ และประชากรตามที่ต่างๆ กันจริงๆ”

สวามินาธานชี้ว่า เวลานี้มีวัคซีนทดลองรวม 13 ตัวกำลังอยู่ในขั้นการทดสอบทางคลินิก ซึ่งเธอเห็นว่าเป็น “ฉากทัศน์ที่ก่อให้เกิดความหวังในแง่ดี” เนื่องจากธรรมดาอัตราความสำเร็จจะอยู่ที่ 10% จึงหมายความว่าน่าจะมีวัคซีนหลายตัวที่จะได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้

แต่เธอย้ำว่า ไม่ควรอนุมัติวัคซีนตัวใดให้แจกจ่ายใช้กันทั่วโลก จนกว่ามันมันจะผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดเพียงพอแล้ว

“ไม่มีวัคซีนตัวไหนที่จะนำไปใช้ในหมู่ประชาชนจำนวนมากมายกว้างขวาง จนกว่าทางหน่วยงานกำกับตรวจสอบมีความมั่นใจ รัฐบาลต่างๆ มีความมั่นใจ และ WHO มีความมั่นใจ ว่ามันได้มาตรฐานอย่างน้อยขั้นต่ำสุดในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพแล้ว” เธอกล่าว

ทั้งนี้คาดหมายได้ว่า ในวัคซีนที่กำลังแข่งขันกันซึ่งบางตัวเข้าสู่การทดสอบเฟส 3 อันหมายถึงการทดสอบในกลุ่มคนหลายพันคน จะมีผลออกมาได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2021

(ที่มา: รอยตอร์, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น