xs
xsm
sm
md
lg

“อิสรภาพเชอร์รี่” ในจีนหายวับไปเมื่อผู้บริโภคหั่นรายจ่ายสุดฤทธิ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อิสรภาพเชอร์รี่” เป็นมีม (Meme) แห่งปี 2019 ของโลกชาวเน็ตจีน เป็นสัญลักษณ์ใหม่สำหรับวัดระดับความมั่งคั่งของกลุ่มชนชั้นกลางจีน (แฟ้มภาพ ไชน่าเดลี่)
MGR ONLINE--“อิสรภาพเชอร์รี่” (Cherry freedom) เป็นมีม (Meme) แห่งปี 2019 ของโลกชาวเน็ตจีน เป็นคำศัพท์เฉพาะใหม่ล่าสุด หมายถึงกลุ่มชนชั้นกลางจีนกระเป๋าหนักสามารถซื้อเชอร์รี่นำเข้าราคาแพงได้โดยที่ไม่ต้องคิดทบทวนเป็นเป็นครั้งที่สอง คำนี้มาจากปรากฏการณ์ในสังคมจีนที่ผลเชอร์รี่กลายเป็นของขวัญยอดฮิตที่กลุ่มชนชั้นกลางมอบให้กันในช่วงเทศกาล และชาวเน็ตจีนได้ใช้คำนี้เป็นสัญลักษณ์ใหม่สำหรับวัดระดับความมั่งคั่งของปัจเจกชน
แต่เวลานี้การเสพสุข “อิสรภาพเชอร์รี่” ของกลุ่มชนชั้นกลางในจีนดูสิ้นสุดลงแล้วหลังจากที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ระบาดใหญ่ซ้ำเติมเศรษฐกิจอย่างไม่ปรานีปราศรัย

สื่อในฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ได้รายงานผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19ที่มีต่อการใช้จ่ายของกลุ่มชนชั้นกลางจีน โดยระบุว่าความต้องการผลไม้นำเข้าราคาแพงอย่าง เชอร์รี่แดงชิลี และอะโวคาโวเปรูเป็นมาตรวัดที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มชนชั้นกลางจีนขณะนี้

ก่อนหน้านี้ผลไม้อย่างเชอร์รี่แดงชิลี และอะโวคาโดเปรูที่นำเข้ามาเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอสนองความต้องการของกลุ่มชนชั้นกลาง แต่ความต้องการฯดังกล่าวได้เหือดหายไปกับโควิด-19 แล้ว กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดค้าส่งผลไม้เจียงหนัน เมืองกว่างโจวซึ่งเป็นตลาดผลไม้แห่งใหญ่ที่สุดของประเทศจีนต่างขาดทุนไปตามๆกันเนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฝ่อแฟบลงท่ามกลางแนวโน้มการจ้างงานและรายได้ที่อับเฉาลง

“การค้าขายที่ตลาดเจียงหนันซบเซาลงอย่างมากนับจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 กลุ่มผู้ค้าปลีกวางออร์ดอร์สินค้ากันอย่างระมัดระวังมาก...พวกเราขาดทุนกันแบบหน้ามืดทั้งการขายผลไม้นอกและผลไม้ภายในประเทศ” หลี่ เสี่ยวเฉียง ผู้นำเข้าผลไม้รายหนึ่งในตลาดเจียงหนัน

“รายได้พวกเรากระเตื้องขึ้นมาหน่อยในช่วงสั้นๆระหว่างเทศกาลวันหยุดวันแรงงาน และวันแม่คือช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค. แต่ตลาดก็กลับมาซบเซาเหมือนกับช่วงเดือนมี.ค.และช่วงเดือนเม.ย.” หลี่ เล่าบรรยากาศการค้าขายในตลาดเจียงหนัน

“พวกเราได้ลดราคาลงหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น องุ่นชิลี ราคาขายส่งก่อนเกิดโรคระบาด อยู่ที่ 180 หยวน ต่อ 8 กิโลกรัม ขณะนี้ต้องหั่นราคาลงมาที่ 100 หยวน ถึง 80 หยวน กลุ่มผู้นำเข้าผลไม้อาจขาดทุนถึง 800,000 หยวนต่อองุ่นชิลีหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์”

“ส้มอียิปต์ขายกันที่ 100 หยวน ต่อ 15 กิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับราคาพอๆกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ขายกันที่เพียง 70 หยวนเท่านั้น ส่วนเชอร์รี่คงขายออกยากกว่า” หลี่ บอก

กลุ่มผู้ค้าที่ตลาดเจียงหนันเมืองกว่างโจวซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผักและผลไม้ใหญ่สุดในจีน กล่าวว่าการค้าขายซบเซาลงมากเนื่องจากผู้บริโภควิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 (แฟ้มภาพ)
ผู้ดูแลตลาดฯกล่าวว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผลไม้นำเข้าจะมาลงที่เจียงหนันก่อน ตอนนี้ตลาดเงียบเหงาจนผู้ค้าหลายคนต้องนั่งเล่นเกมมือถือเพื่อฆ่าเวลา

ผู้ค้า แซ่ หวัง กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วมีผู้สั่งซื้อส้มนำเข้า 60 ถึง 80 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน แต่ขณะนี้ปริมาณการขายตกฮวบ ขายออกแค่วันละประมาณ 15 ตู้คอนเทนเนอร์ และยังต้องหั่นราคาลงอีก 50 เปอร์เซ็นต์

“ส้มนำเข้าส่วนใหญ่จะใช้บริโภคในโรงแรม ภัตตาคาร คลับ และห้องคาราโอกะ..ถ้าส้มขายไม่ดีก็หมายถึงว่าอุตสาหกรรมบริการจีนกำลังแย่แล้ว” หวัง กล่าว

“บรรยากาศซบเซาจนรู้สึกราวกับว่าไม่มีใครกินผลไม้กันแล้ว ช่วงนี้ผมขายได้แค่ 1 ใน 3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว” ด้านพ่อค้าแตงโมครวญ และเล่าว่าเขาซื้อแตงโมจากฟาร์มในเมืองอู่ฮั่นที่ราคา 2.8 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม และตอนนี้เขาต้องหั่นราคาขาย 2.3 หรือ 2.4 หยวน

“ส้มนำเข้าส่วนใหญ่ใช้บริโภคในโรงแรม ภัตตาคาร คลับ และห้องคาราโอกะ..ถ้าส้มขายไม่ดีก็หมายถึงว่าอุตสาหกรรมบริการจีนกำลังแย่เช่นกัน” ผู้ค้าในตลาดเจียงหนัน กล่าว
การนำเข้าผลไม้เข้ามายังจีน มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจากมูลค่า 1,630 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2009 ขยายตัวมาจนมูลค่าพุ่งสูงถึง 10,300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 จากตัวเลขของกระทรวงการเกษตรและกิจการเขตชนบทจีน

ในช่วงสองสามปีมานี้แม้อัตราเติบโตเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง การบริโภคผลไม้นำเข้าในจีนก็ยังขยายตัวอย่างมั่นคง โดยมีอัตราเพิ่ม 23.2 เปอร์เซนต์ในปี 2019

จากข้อมูลสถิติกระทรวงเกษตรจีนระบุว่าระหว่างไตรมาสแรกของปี 2020 จีนได้นำเข้าผลไม้ เพิ่มขึ้นในอัตรา เท่ากับ 5.0 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 3,160 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กรมศุลกากรจีนแถลงว่า ระหว่างสี่เดือนแรกของปีนี้จีนนำเข้าผลไม้สดและผลไม้แห้งรวมทั้งพวกถั่ว รวมทั้งสิ้น 2.45 ล้านตัน คิดเป็นอัตราลดลง 10.5 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับปีก่อนหน้า

สำหรับผลไม้ที่ปลูกภายในประเทศก็ย่ำแย่เช่นกัน จากการสำรวจของกระทรวงเกษตรเผยราคาค้าส่งโดยเฉลี่ยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของผลไม้ท้องถิ่น 5 ชนิด ราคาตกลงไป 11.7 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี

“รายได้ของทุกคนลดลงในปีนี้ ดังนั้นผู้บริโภคจึงตัดรายจ่ายทุกอย่าง ขณะนี้กิจการในหลายภาคซบเซาไปหมด ทั้งการค้าปลีกผลไม้ไปถึงเชนสโตร์ ภัตตาคาร คาราโอกะ โรงแรม โรงภาพยนตร์ และซูเปอร์มาร์เก็ต” นาย เคน หลี่ เจ้าของคาเฟ่ในเมืองกว่างโจว กล่าว และว่าเมื่อสองสามสัปดาห์ที่แล้วธุรกิจของเขาก็แย่จนต้องตัดรายจ่ายทุกอย่าง หยุดซื้อผลไม้มาตกแต่งหน้าเค้ก และยังลดการสั่งซื้อทุกอย่าง นม ผลไม้ และไข่

“เมื่อเดือนที่แล้วฉันถูกตัดเงินเดือน และเพื่อนบางคนก็ตกงานเพราะผลกระทบจากโรคระบาด ทุกวันนี้เรื่องที่คิดอยู่ในหัวของฉันมีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นคือจะตัดรายจ่ายอย่างไร เพื่อที่จะสามารถจ่ายค่างวดสินเชื่อบ้าน” แพทริเซีย หลินพนักงานออฟฟิศในเซี่ยงไฮ้กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น