เชียงราย – รมช.คมนาคม ตรวจเยี่ยมท่าเรือเชียงแสน พบกิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้าน้อย-ขาดทุนปีละ 4-5 ล้าน จ่อชงแผนเปิดทางกลุ่มทุนไทย-เทศพัฒนาพื้นที่การท่าเรือไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ พร้อมหนุนตั้งเครนดันส่งออกผ่านตู้คอนเทนเนอร์เพิ่ม
วันนี้ (22 .ค.) นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม นำคณะตรวจเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน และท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมบรรยายสรุป-ให้ข้อมูล
ครบครันซึ่งพบว่าในปัจจุบันท่าเรือหลายแห่งในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 4 ชาติคือไทย สปป.ลาว เมียนมาและจีน มีการปิดดำเนินการโดยเฉพาะ สปป.ลาว ปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ท่าเรือของประเทศไทยได้เปิดให้มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ได้ ทำให้มีการส่งออกสินค้าไปยังท่าเรือบางแห่งที่เปิดรับสินค้าไทย เช่น ท่าเรือสบหรวย ประเทศเมียนมา ฯลฯ
นายอธิรัฐ กล่าวว่าผลประกอบการของท่าเรือแม่น้ำโขงที่เชียงราย ขาดทุนปีละ 4-5 ล้านบาท ทั้งที่มีศักยภาพสูงจึงเห็นว่าหากมีการบูรณาการกันทุกฝ่ายจะพัฒนาให้ดีกว่านี้ได้ โดยเฉพาะพื้นที่โล่งของท่าเรือที่มีประมาณ 30 ไร่ แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงควรจะเปิดให้มีการลงทุนภายในสถานที่ของท่าเรือแบบไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์หรือการค้าชายแดนเท่านั้น
“การดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม อาจสามารถประสานกลุ่มทุนในเครือข่าย โดยเฉพาะจากจีนเข้ามาลงทุน โดยมีการคิดค้นจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใน และเมื่อเห็นผลเป็นรูปธรรม การท่าเรือแห่งประเทศไทยก็สามารถหางบมาสนับสนุนพัฒนาเพิ่มเติมได้อีก”
รวมถึงกรณีภาคเอกชน จ.เชียงราย ได้ร้องขอให้มีการติดตั้งเครนยกสินค้าที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ด้วย เพราะที่ผ่านมาการของบประมาณทำไม่ได้เต็มที่ เพราะผลประกอบการที่ขาดทุน ปริมาณตู้สินค้า-กิจกรรมทางการค้าที่ท่าเรือยังไม่มากพอ แต่หากมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น การสนับสนุนก็จะง่ายขึ้น ทางกระทรวงคมนาคมจะรับประสานกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะให้เช่าเครนมาให้บริการภาคเอกชนไปก่อน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการพัฒนาในภาพรวมทั้งหมด และในอนาคตก็จะมีการจัดซื้อเครนใหม่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 แห่งนี้ต่อไป
ทั้งนี้ในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การท่าเรือแห่งประเทศไทยแจ้งว่าจากการประเมินการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 จะต้องมีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือเดือนละ 200-300 ตู้ แต่ปัจจุบันมีเพียงปีละประมาณ 100 ตู้เท่านั้น ดังนั้นจึงเปิดให้เอกชนนำเครนไปให้บริการผู้ประกอบการค้า
ขณะที่ภาคเอกชนระบุว่าที่ผ่านมาสินค้าที่ส่งออกมีทั้งที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ และเปิดตู้เพื่อทำพิธีการส่งออก รวมทั้งต้นทุนในการใช้บริการเครนยกสินค้าสูงถึงตู้ละ 10,000-20,000 บาท ทำให้สินค้าส่งออกแบบคอนเทนเนอร์เต็มรูปแบบมีน้อย แต่หากภาครัฐมีเครนสนับสนุนและคิดราคาต่ำกว่านี้ก็จะทำให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นมากเองโดยอัตโนมัติ
น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าปัจจุบันการจัดหาสินค้าส่งออกประเทศลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะจีนตอนใต้ทำกันแทบไม่ทัน เพราะตลาดมีความต้องการสินค้าประเภทผลไม้ ผัก อาหารแช่แข็ง ฯลฯ ในปริมาณมาก แต่ส่งออกช่องทางอื่นแทน แต่ถ้าท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนที่ถือเป็นศูนย์กลางการค้าลุ่มแม่น้ำโขงพัฒนาระบบเครนก็จะดึงดูดให้มีการส่งออกด้านนี้ได้มากและทำให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มมากขั้นตามมาเอง
โอกาสเดียวกันนี้ทางนายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย น.ส.ผกายมาศ และนางเกศสุดร สังขกร รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย-ประธานกลุ่มผู้ประกอบการค้าชายแดน อ.เชียงแสน ได้ยื่นหนังสือถึงนายอธิรัฐขอให้มีการพัฒนาท่าเรือด้วยระบบเครนดังกล่าวและประสานให้เกิดการทำพิธีสารระหว่างไทย-จีน ในสินค้าประเภทผัก ผลไม้ อาหารทะเลแช่แข็ง สินค้าเกษตร และเม็ดพลาสติก
เพื่อให้การส่งออกไปยังจีนตอนใต้โดยเฉพาะท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนที่ห่างจาก จ.เชียงราย เพียงประมาณ 265 กิโลเมตร สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อทางการจีนเปิดท่าเรือหลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในอนาคต
ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับเรื่องเอาไว้และรับจะขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปดูข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ในการเปิดกว้างให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในที่ดินของการท่าเรือด้วย
สำหรับท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 มีความยาวกว่า 250 เมตร มีแอ่งท่าเรือกว้างประมาณ 70 ไร่ รองรับเรือสินค้าได้วันละ 12-14 ลำ และยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งอาคาร สถานที่ ฯลฯ ขณะที่ด่านศุลกากรเชียงแสนระบุว่าในปี 2662 มีการส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือเชียงแสน 11,681.92 ล้านบาท นำเข้า 583.80 ล้านบาท และปี 2563 จนถึงเดือน เม.ย.2563 มีการส่งออกแล้ว 4,682.40 ล้านบาท และนำเข้า 245 ล้านบาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่คือน้ำมันเชื้อเพลิง โคและกระบือมีชีวิต ขิ้นส่วนไก่แช่แข็ง ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่คือกระเทียมสด เมล็ดดอกทานตะวัน มันฝรั่ง ฯลฯ.