xs
xsm
sm
md
lg

“ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์” ยื่นไฟลิ่งขาย IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น เล็งเข้าตลาด mai

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์" ยื่นไฟลิ่งขาย IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น เล็งเข้าตลาด mai โดยมี บล.ทรีนีตี้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เผยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจ-ลงทุนในบริษัทอื่น

บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ ยื่น Filing version แรกเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 เนื่องจากบริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 37.50 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ และมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในครั้งนี้

วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจของบริษัทฯ และบริษัทย่อย, ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ และใช้เป็นงบประมาณเพื่อลงทุนในบริษัทอื่น

บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) เดิมชื่อ บริษัท ลีโอ กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลก (End - to - End Global Logistics Services)

โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทฯ มีบริษัทย่อย 2 แห่งที่ดำเนินธุรกรรมอยู่ คือ บริษัท วายเจซี ดีโปท์ เซอร์วิสเซส จำกัด (YJCD) ดำเนินธุรกิจหลักคือให้บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ระยะสั้นและระยะยาว และซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ และ บริษัท ลีโอ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ จำกัด (LML) ดำเนินธุรกิจหลักเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ประเทศพม่า และมีบริษัทร่วมอีก 2 แห่ง คือ บริษัท ซิโนคอร์ เมอร์ชานท์มารีน (ประเทศไทย) จำกัด (SKRT) ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนสายเดินเรือของซิโนคอร์ (Sinokor) จากประเทศเกาหลีใต้ และ บริษัท อาราเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (ARM) ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งพัสดุและเอกสารเร่งด่วนระหว่างประเทศ

ผลดำเนินงานงวด 3 เดือนปี 2563 สินทรัพย์รวม 518.06 ล้านบาท หนี้สินรวม 299.93 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 218.13 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการ 227.63 ล้านบาท รายได้รวม 228.13 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 222.02 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9.30 ล้านบาท

ในปี 60-62 รายได้รวมจากการให้บริการเท่ากับ 1,040.63 ล้านบาท 1,052.68 ล้านบาท 1,044.01 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการให้บริการในปี 61 เพิ่มขึ้นโดยมีสาเหตุหลักจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางอากาศ โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 37.16 เส้นทางหลักที่เติบโตมากที่สุด คือ เส้นทางอเมริกาเหนือ และเส้นทางยุโรป และรายได้จากการให้บริการสนับสนุนการให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรมีอัตราการเติบโตร้อยละ 2.15 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการบริการขนส่งภายในประเทศและผ่านแดนโดยรถบรรทุกและรถบรรทุกหัวลาก และรายได้จากการให้บริการด้านพิธีการศุลกากร ในขณะที่รายได้จากการให้บริการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเลลดลงเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 2.48 เนื่องจากรายได้จากการให้บริการส่งออกในเส้นทางอเมริกาเหนือ เอเชียใต้ และยุโรปที่ลดลง

รายได้จากการให้บริการในปี 62 ลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้บริการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเล (Sea Freight) เนื่องจากรายได้จากการขนส่งในเส้นทางกลุ่มเอเชียลดลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากค่าระวางตลาดโลกปรับตัวลดลง แม้ปริมาณการขนส่งโดยรวมจะเพิ่มขึ้น ตลอดจนการลดลงของรายได้จากการให้บริการสนับสนุนการให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร (ILS) ซึ่งมีสาเหตุมาจากรายได้จากบริการขนส่งภายในประเทศและผ่านแดนโดยรถบรรทุกและรถบรรทุกหัวลากที่ลดลงร้อยละ 9.98 เนื่องจากสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ตลอดจนโครงการก่อสร้างโรงงานในประเทศพม่าของลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าได้แล้วเสร็จ ทำให้การขนส่งสินค้าผ่านแดนในพม่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่งวด 3 เดือนแรกปี 62 และปี 63 บริษัทฯ มีรายได้รวมจากการให้บริการเท่ากับ 279.21 ล้านบาท และ 227.63 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลลดลงเท่ากับ 33.85 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 17.63 จากงวด 3 เดือนแรกปี 2562 รายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงเท่ากับ 19.09 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 46.91 จากงวด 3 เดือนแรกปี 2562 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับงานพิเศษในการขนส่งสินค้าทางเรือไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง ในขณะที่รายได้จากการให้บริการสนับสนุนโลจิสติกส์แบบครบวงจรเพิ่มขึ้นเท่ากับ 0.76 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 1.69 โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้การให้บริการขนส่งภายในประเทศและผ่านแดนโดยรถบรรทุกและรถบรรทุกหัวลาก ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อเหตุการณ์การระบาดดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และกำลังประเมินผลกระทบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการวางแผนเพื่อรับมือและแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว

ปี 60-62 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 17.75 ล้านบาท 26.86 ล้านบาท และ 47.03 ล้านบาท โดยในปี 61 กำไรสุทธิเติบโตจากปี 60 อย่างมีนัยสำคัญคิดเป็นร้อยละ 51.35 เนื่องจากรายได้ อัตรากำไรขั้นต้น และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลง ต่อเนื่องมาในปี 2562 กำไรสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญที่อัตราการเติบโตร้อยละ 75.09 จากความสามารถในการบริหารต้นทุนบริการจัดการขนส่งสินค้าทางทะเล และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น สำหรับกำไรสุทธิสำหรับงวด 3 เดือนแรกปี 62 และงวด 3 เดือนแรกปี 63 เท่ากับ 14.53 ล้านบาท และ 9.30 ล้านบาท ตามลำดับ กำไรสุทธิของบริษัทฯ ลดลงจากงวด 3 เดือนแรกปี 2562 เท่ากับ 5.23 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเลและทางอากาศ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกและนำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โครงการในอนาคต บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีแผนขยายธุรกิจทั้งในส่วนธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ ดังนี้

1. ธุรกิจ Leo Self-Storage & E-Fulfillment Center ปลายปี 59 บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการ Leo Self-Storage (LSS) บนถนนพระราม 3 ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่เพื่อให้เช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือ ลูกค้ารายย่อย ซึ่งได้แก่ ผู้อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม หรือผู้ประกอบการ SMEs และ e-commerce ในละแวกใกล้เคียง โครงการนี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พื้นที่ของคนเมือง ในปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการนี้ 1 แห่ง ตั้งอยู่บนถนนพระราม 3 ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 1,280 ตารางเมตร และในปัจจุบันก็มีอัตรา Utilization ที่ 75% ของพื้นที่ และเป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ และมีแผนที่จะพัฒนาโครงการใหม่ขึ้นอย่างน้อยปีละอีก 1 แห่งนับตั้งแต่ปี 2563 และจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัทฯ ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า โดยมีงบประมาณเงินลงทุน 17-20 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่ง LSS แห่งใหม่จะใช้แหล่งเงินทุนหลักจากการระดมทุนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) รวมถึงจะพิจารณาขยายขอบเขตการให้บริการในลักษณะ E-Fulfillment Center เพื่อรองรับลูกค้าในกลุ่ม E-Commerce อีกด้วย

2. พัฒนาระบบขนส่งผ่านแดนไปยังประเทศพม่า บริษัท ลีโอ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ จำกัด (LML) จึงมีแผนที่จะพัฒนาระบบขนส่งให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มความปลอดภัยของสินค้าให้มากขึ้น ด้วยระบบ Secured Cross-Border Containerization Service โดยใช้ Electronic Seal หรือ eSeal เพื่อใช้ในการตรวจสอบและติดตามสถานะการขนส่งและความปลอดภัยของสินค้า ที่ทางบริษัทย่อย LML ได้นำมาให้บริการในปี 59 บริษัทฯ ยังมีแผนลงทุนในอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมการขนย้ายสินค้าข้ามแดนโดยรถบรรทุกและรถหัวลาก เช่น การลงทุนในการซื้อและบริหารรถบรรทุกเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าผ่านแดน การลงทุนในการจัดตั้ง Distribution Center หรือ Warehouse เพื่อใช้ในการจัดเก็บและกระจายสินค้าในประเทศพม่า รวมถึงบริการเสริมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ (Value-Added Logistics Services) เพื่อให้สามารถบริการแก่ลูกค้าของบริษัทฯ ได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ซึ่งแหล่งเงินทุนหลักจะมาจากการระดมทุนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO)

3. ขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ โดยปัจจุบันบริษัทย่อยคือ YJCD มีธุรกิจให้พื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ระยะสั้นและระยะยาว และซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 17,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่ากับความสามารถรองรับตู้ได้ประมาณ 3,500 ตู้ ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อขยายลานรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี เพื่อให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 8,000 ตู้ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนหลักจะมาจากการระดมทุนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO)

4. ศึกษาเพื่อร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศ ASEAN บริษัทฯ มีเป้าหมายในช่วงปลายปี 64 ที่จะเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศ ASEAN ทั้งในรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการ และ/หรือ การร่วมลงทุน เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจและเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจการ ตลอดจนสร้างโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทฯ ในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯ จะทำการศึกษาโอกาสที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งมีธุรกิจที่สามารถต่อยอด (Synergy) กับธุรกิจหลักปัจจุบันของบริษัทฯ เช่น การเข้าลงทุนร่วมกับบริษัทอื่นในประเทศในการสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ และให้มีการบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และ/หรือ การขยายการให้บริการในต่างประเทศผ่านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม AEC โดยลักษณะการดำเนินธุรกิจจะคล้ายคลึงกับบริษัท ลีโอ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งแหล่งเงินทุนหลักจะมาจากการระดมทุนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO)

บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 31 มี.ค. 63 จำนวน 160 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 320 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 100 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 200 ล้านหุ้น และภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนในครั้งนี้จำนวน 120 ล้านหุ้น บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วรวม 160 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญทั้งสิ้น 320 ล้านหุ้น

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563 ประกอบด้วย นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ถือหุ้น 72,475,200 หุ้น คิดเป็น 36.24% หลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 22.65%, นายสมศักดิ์ ศรีสุทัศน์กุล ถือหุ้น 29,352,000 หุ้น คิดเป็น 14.68% หลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 9.17%, บริษัท ที เอส ซี โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 27,632,000 หุ้น คิดเป็น 13.82% หลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 8.64

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40.00 ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่างๆ ทั้งหมดแล้วทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ และบริษัทย่อย


กำลังโหลดความคิดเห็น