xs
xsm
sm
md
lg

Foxconn วิ่งสู้ฟัดขอเปิดรง.ผลิต iPhone ขณะจีนคง “ซัตดาวน์” การผลิตในกว่า 20 มณฑล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฟ็อกซ์คอนน์เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงผลกระทบจาการระบาดเชื้อโรคไวรัโคโรนาต่อภาคการผลิตจีนและซับพลายอิเลคทรอนิกส์โลก ภาพ: โลโก Foxconn ที่สำนักงานในกรุงไทเป ไต้หวัน (ภาพ รอยเตอร์ส)
จีนเป็น "โรงงานโลก” เป็นแหล่งผลิตสินค้าให้ทั่วโลกตั้งแต่ “สากกะเบือยังเรือรบ” แม้ปัจจุบันสถานภาพ “โรงงานโลก” ของจีนกำลังลดบทบาทลงเนื่องจากเงื่อนไขค่าแรงที่สูงขึ้นและภาคแรงงานที่หดตัวลงก็ตาม การผลิตสินค้าแบรนด์ดังโลกหลายๆแบรนด์ก็ยังรักษาพื้นฐานการผลิตในจีน

ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตในประเทศจีนย่อมส่งผลผลกระทบระดับโลก คราวนี้จีนถูกเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เล่นงานจากกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาโดยมีศูนย์กลางระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางภาคกลางของจีน

สถานการณ์ระบาดไวรัสโคโรนาในประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงปะทุใหญ่ จากข้อมูลนับถึงวันที่ 13 ก.พ.ที่เขียนบทความนี้ มีผู้ติดเชื้อฯในจีนถึง 59,883 ราย(เพิ่มจากวันก่อนหน้ากว่า 15,000) กรณีต้องสงสัยว่าติดเชื้อฯ 16,067 ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ 1,368 คน(เพิ่มจากวันก่อนหน้ากว่า 254) ส่วนการระบาดในประเทศอื่นนอกจีน ทั้งสิ้น 446 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย

หนึ่งในมาตรการหลักควบคุมการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลจีนคือ การขยายวันหยุดประจำเทศกาลตรุษจีนนานกว่าปกติจากเดิมระหว่างวันที่ 24 -30 ม.ค. ยาวไปถึงวันที่ 10-17 ก.พ. เพื่อไม่ให้คนจำนวนมากกลับมารวมตัวกันสร้างความเสี่ยงสูงขึ้นในการระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถติดต่อระหว่างคนสู่คน

ในวันจันทร์ที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ชาวจีนและแรงงานในจีนเริ่มทยอยกลับมาทำงาน ด้วยสถานการณ์ระบาดไวรัสฯที่จำนวนผู้ติดเชื้อฯและผู้เสียชีวิตยังทะยานสูง ทำให้จีนคงมาตรการควบคุมการรวมตัวของฝูงชนจำนวนมาก ดังนั้นกลุ่มบริษัทโดยเฉพาะโรงงานผลิตสินค้าซึ่งมีแรงงานจำนวนมากจึงไม่อาจกลับมาทำงานได้อย่างพร้อมหน้า

ในสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลท้องถิ่นในกว่า 20 มณฑลและเขตการปกครองในจีนได้ย้ำกับกลุ่มธุรกิจอย่าเพิ่งให้คนงานกลับมาทำงานก่อนวันที่ 10 ก.พ. นอกจากนี้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐยังเผยว่าบางมณฑลและบางเขตได้บอกให้กลุ่มบริษัทเลื่อนเปิดทำการออกไปอีกถึงวันที่ 1 มี.ค.

การเลื่อนวันเปิดทำการในภาคธุรกิจออกไปนานเท่าใดจะยิ่งส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจจีนและโลก จากตัวเลขของค่ายสื่อ CNBC ซึ่งคำนวณจากข้อมูล Wind Information ระบุว่าในปี 2019 ภาคธุรกิจดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศจีน และมีสัดส่วน 90 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออก

เมื่อกลุ่มบริษัทในจีนต้องเจอ “โรคเลื่อน” วันเปิดทำการ หรือขยายช่วง “ซัตดาวน์”การทำงานออกไปอีกหลังจากวันหยุดยาวตรุษจีนสิ้นสุดลงในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติรายแรกๆที่ออกมาวิ่งสู้ฟัดต้านผลกระทบจากโรคระบาดคือ บริษัท แอปเปิล ซึ่งมีโรงงานผลิตสินค้าทั้งหมดอยู่ในจีน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ฮ็อตฮิต iPhone 11, iPhone 11 pro และ AirPods กำลังขาดตลาด

บริษัทแอปเปิลกำลังอยู่ในช่วงโอกาสทองโกยรายได้ จากการแถลงผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2020 ที่สิ้นสุดในวันที่ 28 ธ.ค. 2019 ระบุว่ารายได้ประจำไตรมาสทั้งสิ้น 9.18 หมื่นล้านเหรียญ และยอดขายในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 61%

ทิม คุก ซีอีโอบริษัทแอปเปิลกล่าวว่ารายได้ประจำไตรมาสที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของ Apple นั้นเป็นผลมาจากความต้องการ iPhone 11 และ iPhone 11 Pro ที่มาแรงในตลาดโลก ในไตรมาสซึ่งเป็นช่วงเทศกาลวันหยุด จำนวนผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แอปเปิลเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาครวมทั้งสิ้นถึง 1,5 00 ล้านชิ้น” !

ผู้ที่ต้องรับหน้าแก้ปัญหาฝ่าทางตันเพื่อเปิดทางให้คนงานกลับมาผลิตสินค้าให้แอปเปิลและเหล่าลูกค้าอิเลคทรอนิกส์แบรนด์อื่นๆคือ บริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ซึ่งมีชื่อทางการคือ Hon Hai Precision Industry แห่งไต้หวัน สำหรับฟ็อกซ์คอนน์ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดฯจนเซเช่นกัน โดยมีรายงานเมื่อวันจันทร์(10 ก.พ.) ระบุรายได้ของฟ็อกซ์คอนน์หดหายไป 12 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนม.ค. คิดเป็นมูลค่า 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ร้านค้าปลีกของแอปเปิลทั่วประเทศจีนมีมากกว่า 40 แห่ง ยังปิดร้านอยู่โดยคาดว่าจะเปิดร้านราววันที่ 15 ก.พ. ภาพ: แอปเปิล สโตร์ในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2020 (ภาพ รอยเตอร์)
ฟ็อกซ์คอนน์เป็นบริษัทผู้รับจ้างผลิตและประกอบผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิกส์รวมทั้งสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มแบรนด์ระดับโลกทั้งสิ้น เอเซอร์ (Acer Inc) แอปเปิล (Apple) แบล็คเบอรี่ (BlackBerry) ซิสโก (Cisco) เดลล์(Dell) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) โซนี่ (Sony) หัวเว่ย (Huawei) เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) เป็นต้น ดังนั้นฟ็อกซ์คอนน์จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจาโรคระบาดฯต่อภาคการผลิตจีนและซับพลายอิเลคทรอนิกส์โลก

ฟ็อกซ์คอนน์ มีโรงงานตามเมืองต่างๆในจีน อาทิ เซินเจิ้น เจิ้งโจว คุนซาน เป็นต้น โรงงานที่เซินเจิ้นและโรงงานที่เจิ้งโจวเป็นสายการประกอบหลัก (assembly lines) สินค้าไอโฟนของแอปเปิล โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ในสองเมืองนี้เป็น “เมืองโรงงาน” ด้วยขนาดแรงงานนับแสนๆคน ได้แก่ โรงงานในเซินเจิ้นคนงานถึง 200,000 ถึง 400,000 คน (ตามการนับของข้อมูลชุดต่างๆ) ส่วนโรงงานที่เจิ้งโจว มีคนงาน 120,000 คน

ในขณะที่จีนยังต้องคงมาตรการควบคุมการระบาดไวรัสโคโรนา ดังนั้นการกลับมาเข้ามาทำงานของคนงานนับหมื่นนับแสนเป็นเรื่องที่จีนต้องคิดหนักน่าดูระหว่างการควบคุมโรคระบาดและการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ในวันจันทร์(10 ก.พ.) ฟ็อกซ์คอนน์ วิ่งเต้นขาขวิดเจรจากับทางการจีนให้คนงานกลับมาทำงาน…ค่ายสื่อบลูมเบิร์ก นิวส์ อ้างอิงข้อมูลภายในบริษัทฟ็อกซ์คอนน์เผยว่าตอนแรกบริษัทแจ้งคนงานว่า “ยังไม่ต้องการกลับมาทำงานจนกว่าจะมีประกาศแจ้งอีกครั้ง” แต่ในไม่กี่ชั่วโมงต่อมามีรายงานว่าจีนไฟเขียวให้คนงานราว10 เปอร์เซ็นต์ของโรงงานที่เซินเจิ้นและคนงานของโรงงานที่เจิ้งโจวซึ่งคิดเป็นจำนวนราว 20,000 คน และ 16,000 คนตามลำดับ กลับมาทำงานได้ กลุ่มคนงานที่กลับมาทำงานนี้จะต้องถูกกักตัวดูอาการอีกสองสัปดาห์จึงลงมือทำงานได้

เมืองเจิ้งโจวเป็นเมืองเอกของมณฑลเหอหนันติดกับมณฑลหูเป่ยโดยอยู่ห่างจากอู่ฮั่นศูนย์กลางการระบาดไวรัสโคโรนา ราว 482 กิโลเมตร ส่วนเซินเจิ้นในมณฑลกว่างตงมีพรมแดนติดกับฮ่องกง กว่างตงและเหอหนันเป็นสองมณฑลที่มีการระบาดสูงโดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อฯมากที่สุดรองจากมณฑลหูเป่ย

ประธานฟ็อกซ์คอนน์ หลิว หยางเหว่ย (Liu Young-Way) เผยในวันพุธ(12 ก.พ.) ว่าฟ็อกซ์คอนน์ตั้งเป้าว่าการผลิตของบริษัทจะกลับมาเดินเครื่องต่อถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนมี.ค. ล่าสุดบริษัทได้ไฟเขียวจากจีนเปิดโรงงานที่เมืองคุนซัน มณฑลเจียงซูโดยให้คนงานบางส่วนกลับมาทำงาน

Dan Ives นักวิเคราะห์ประจำWedbush Securities ยังคาดว่าความล่าช้าในการกลับมาเดินเครื่องผลิตสินค้านั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขนส่งสินค้าไอทีโลกอย่าง iPhone และผลิตภัณฑ์แบรนด์อื่นๆ

“อย่ามองแบบพวกโลกสวย... ความล่าช้าในการกลับมาผลิตนั้นจะช็อกระบบและทำให้ห่วงโซ่ซับพลายชะงักงันอย่างหนักทั้งระบบแฟรนไชส์ iPhone และการผลิต AirPods ซึ่งกำลังขาดตลาด” Ives ระบุในรายงานวิจัย

Ives คาดว่าการปิดโรงงานในจีนจะหั่นยอดขาย iPhone ถึง 5 ล้านเครื่องจากช่วงไตรมาสที่สองหากโรงงานเลื่อนเปิดทำการออกไปอีกสองสามสัปดาห์
ขณะที่ร้านค้าปลีกของแอปเปิลทั่วประเทศจีนมีมากกว่า 40 แห่ง ยังปิดร้านอยู่โดยคาดว่าจะเปิดร้านราววันที่ 15 ก.พ.

นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาด้านไอที Canalys คาดการณ์ว่าการขนส่งสินค้าสมาร์ทโฟนทั้งหมดในจีนจะลดลง 40 เปอร์เซนต์ ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงสองไตรมาสถัดไป ส่วนผลิตภัณฑ์ PCs จะลดลง 20 เปอร์เซ็นต์หากโรงงานยังเลื่อนเปิดทำการไปถึงปลายเดือนก.พ.

ส่วนในภาครถยนต์ ยักษ์ใหญ่โตโยต้า และ BMW แถลงว่าทางบริษัทขยายวันปิดโรงงานในจีนไปถึงสัปดาห์หน้า ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆเผยว่าพวกเขาเลื่อนการเปิดโรงงานออกไปเช่นกัน

จากตัวอย่างผลกระทบที่บริษัทแอปเปิลแห่งสหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่นี้...ขอจบด้วยอุปมา “เมื่อพญามังกรจาม สั่นสะเทือนไปถึงซีกโลกตะวันตกบาดเจ็บไม่แพ้กัน”

พนักงานกำลังกินอาหารในโรงอาหารของบริษัท CMIC Raffles Offshore Engineering เมืองเยียนไถ มณฑลซันตง  ทางบริษัทได้จัดมาตรการป้องกันเชื้อโรคระบาดโดยติดตั้งฉากกั้นที่โต๊ะอาหาร และติดป้ายมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสระบาดในกลุ่มพนักงาน อาทิ ลดเวลาการกินอาหาร รักษาระยะห่างขณะกินอาหาร, ไม่พูดคุยกันขณะกินอาหาร กินเสร็จแล้วรีบไป เป็นต้น (ภาพ รอยเตอร์ส)


กำลังโหลดความคิดเห็น