xs
xsm
sm
md
lg

‘แอปเปิล’ รับส่อพลาดเป้ารายได้ใน Q2 หลัง ‘ไวรัสโคโรนา’ ทำตลาดจีนซบเซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ‘แอปเปิล อิงค์’ เผยผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้อาจต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ ส่งผลให้กำลังผลิตและยอดขายในจีนลดลง

วิกฤตการระบาดดังกล่าวได้คร่าชีวิตพลเมืองจีนไปแล้วกว่า 1,700 คน และทำให้มีผู้ติดเชื้ออีกราว 70,500 คน ขณะที่ผู้คนนับล้านต้องเก็บตัวหนีโรคระบาด แม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมก็จำเป็นต้องเลื่อนวันเปิดทำการหลังเทศกาลตรุษจีนจนกว่าสถานการณ์จะทุเลาลง

แม้โรงงานไอโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในจีนของแอปเปิลจะเริ่มเปิดทำการบ้างแล้ว แต่ก็ยังผลิตได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ นั่นหมายความว่าจะมีไอโฟนถูกปล่อยออกสู่ตลาดโลกน้อยลงในช่วงไม่กี่เดือนนับจากนี้ และทำให้แอปเปิลกลายเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของตะวันตกที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตไวรัสโคโรนา

แอปเปิลสโตร์ในจีนบางสาขายังคงปิดให้บริการหรือลดชั่วโมงทำการลง ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบต่อยอดขายในไตรมาสที่ 2 (ม.ค.-มี.ค.)

ยอดจำหน่ายในจีนเมื่อไตรมาสที่แล้วคิดเป็นราวๆ 15% ของรายได้ทั้งหมดของแอปเปิล หรือประมาณ 13,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อปลายเดือน ม.ค. แอปเปิลได้เผยคาดการณ์ผลประกอบการสำหรับไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. เอาไว้ที่ 63,000-67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทว่าเมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) บริษัทได้ออกมายอมรับถึงผลกระทบของไวรัสโคโรนา โดยไม่ระบุคาดการณ์รายได้หรือผลกำไรใหม่

นักวิเคราะห์ได้ประเมินแล้วว่า ไวรัสโคโรนาจะทำให้อุปสงค์สมาร์ทโฟนในจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของสินค้าประเภทนี้ลดลงถึงครึ่งหนึ่งในไตรมาสแรก

“สุขภาพและสวัสดิภาพของทุกคนที่มีส่วนช่วยผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมาคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด” ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล ระบุในถ้อยแถลง พร้อมย้ำว่าแอปเปิลจะทยอยเปิดร้านจำหน่ายในจีน “อย่างต่อเนื่องและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้”

อย่างไรก็ตาม อุปทานไอโฟนทั่วโลกจะลดลงบ้างระหว่างที่แอปเปิลเร่งฟื้นกำลังการผลิตในจีน โดยบริษัทจะชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมตอนแถลงผลประกอบการไตรมาสแรกในเดือน เม.ย.

วิกฤตการณ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ยอดขายไอโฟนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่แล้วถูกมองว่าเป็นโอกาสดีสำหรับคู่แข่งอย่าง “ซัมซุง” ซึ่งเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตเพิ่มในเวียดนามและประเทศอื่นๆ

บริษัทคู่สัญญาของแอปเปิลเลือกที่จะขยายฐานการผลิตในจีนมากกว่าภายนอก โดยฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ตั้งโรงงานเพิ่มจาก 19 แห่งในปี 2015 กลายเป็น 29 แห่งในปี 2019 ส่วน เพกาตรอน คอร์ป ก็ขยายโรงงานจาก 8 เป็น 12 แห่ง

ในทางตรงกันข้าม ซัมซุงได้แถลงจุดยืนตั้งแต่สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เริ่มต้นใหม่ๆ ว่า บริษัทมุ่งตอบสนองอุปสงค์สมาร์ทโฟนในตลาดอเมริกาโดยไม่เน้นพึ่งจีนเป็นฐานการผลิต นอกจากนี้ซัมซุงยังเผชิญความเสี่ยงน้อยกว่าแอปเปิลในแง่ของการมีจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคขั้นสุดท้าย (end-market)


กำลังโหลดความคิดเห็น